ศก.ฟื้นช้าฉุดดัชนีอุตฯดิ่ง ‘เอดีบี’คงจีดีพีไทย2.6%

“เอดีบี” คงคาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้  2.6% อานิสงส์ท่องเที่ยว-การบริโภคฟื้นตัวต่อเนื่อง  ห่วงความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดต่ำ ชี้ลงทุนรัฐยังอืด  ลุ้นเศรษฐกิจปีหน้าโต 3% "ส.อ.ท." โอดเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ดึงดัชนีภาคอุตฯ หดตัว 3 เดือนติด หวั่นขึ้นค่าแรง 400 ผู้ประกอบการ SME ไปต่อไม่ไหว  แนะรัฐหนุนใช้สินค้าผลิตในไทย

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม นายอัลเบิร์ต พาร์ค หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารพัฒนาเอเชีย   (เอดีบี) เปิดเผยว่า ธนาคารยังคงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวที่ 2.6% โดยได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าการบริโภคยังคงเติบโตได้จากการใช้จ่ายในภาคบริการที่ปรับตัวสูงขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ในปี 2568 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ในอัตรา 3% ส่วนอัตราเงินเฟ้อในปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 0.7% และปี 6825 ที่ 1.3%

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอาจลดต่ำลงเนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว ส่วนการลงทุนภาคเอกชนในภาคบริการคาดว่าจะขยายตัวได้ตามการซื้อขายและบริการภายในประเทศที่เข้มแข็ง ในขณะที่การลงทุนภาครัฐยังคงอยู่ในระดับต่ำ  เนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2567 ที่ล่าช้า

นายอัลเบิร์ตกล่าวว่า ธนาคารได้ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียและแปซิฟิกในปีนี้ โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ 5% จากเดิมที่ 4.9% เนื่องจากการส่งออกในภูมิภาคที่ปรับตัวสูงขึ้น ช่วยเสริมอุปสงค์ภายในประเทศให้ปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย ส่วนแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2568 คาดว่าจะอยู่ที่ 4.9% ด้านอัตราเงินเฟ้อของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียและแปซิฟิกจะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 2.9%    ในปีนี้ ท่ามกลางราคาอาหารโลกที่ผ่อนคลายลง   รวมถึงผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ การฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งได้รับอานิสงส์จากอุปสงค์ในประเทศเป็นหลัก ส่งผลให้การส่งออกปรับตัวสูงขึ้น และยังช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอีกด้วย ความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซมิคอนดักเตอร์ที่ใช้สำหรับงานเทคโนโลยีขั้นสูงและปัญญาประดิษฐ์  ช่วยส่งเสริมการส่งออกให้กับหลายประเทศในเอเชียอย่างต่อเนื่อง

ด้านเงินเฟ้อทั้งภูมิภาคแม้จะชะลอตัวลงสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาด แต่แรงกดดันด้านราคายังคงเพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศ อัตราเงินเฟ้อด้านอาหารยังคงสูงในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้  และแปซิฟิก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยและข้อจำกัดในการส่งออกอาหารในบางประเทศ

 “พื้นฐานของภูมิภาคยังคงแข็งแกร่ง แต่ผู้กำหนดนโยบายยังต้องให้ความสนใจกับความเสี่ยงหลายประการที่อาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการเติบโต ตั้งแต่ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งในประเทศเศรษฐกิจหลักๆ ไปจนถึงการตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์” นายอัลเบิร์ตระบุ

วันเดียวกัน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน มิ.ย.2567 ว่า อยู่ที่ระดับ 87.2 ปรับตัวลดลงจาก 88.5 ในเดือน พ.ค.2567 โดยปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนีฯ พบว่ามีปัจจัยลบจากเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้า จากอุปสงค์ในประเทศที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคยังอ่อนแอ จากปัญหาหนี้เสีย (เอ็นพีแอล)  ที่เร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย รถยนต์ บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ส่งผลให้การบริโภคในประเทศชะลอลง 

ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 93.4 ปรับตัวลดลง จาก 95.7 ในเดือน พ.ค.2567 ต่ำสุดในรอบ 33 เดือน นับตั้งแต่เดือน ต.ค.2564 โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านต้นทุนประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ขณะที่ความไม่แน่นอนของปัญหาทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและห่วงโซ่การผลิตในตลาดโลก นอกจากนี้ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนรอบใหม่ จากการที่สหรัฐอเมริกาประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มเติม อาจทำให้สินค้าจากจีนเข้ามาแข่งขันในไทยเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการ SME ยังประสบปัญหาสภาพคล่อง ขาดเงินหมุนเวียนในกิจการ และเข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้น เนื่องจากสถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อ นอกจากนี้ ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเรือขนส่งสินค้ายังเป็นปัญหาต่อเนื่อง ทำให้ค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ความไม่แน่นอนทางการเมืองส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ

อย่างไรก็ตาม ในเดือน มิ.ย. ยังมีปัจจัยสนับสนุนมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศช่วงโลว์ซีซัน และมาตรการฟรีวีซ่าช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่การขยายตัวของอุปสงค์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดสหรัฐ อาเซียน  อินเดีย และจีน ที่เริ่มฟื้นตัว ตลอดจนการอ่อนค่าของเงินบาท ส่งผลดีต่อภาคการส่งออก และยังมีปัจจัยบวกจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ปี 2567 ช่วยหนุนเศรษฐกิจให้เติบโต

นายเกรียงไกรกล่าวด้วยว่า ส.อ.ท.ได้รวบรวมข้อเสนอแนะของภาคเอกชนที่มีต่อภาครัฐ ดังนี้ 1.เสนอให้ภาครัฐหาแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ รวมถึงค่าระวางเรือ และค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มต่างๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้นในทุกเส้นทาง อาทิ ออกมาตรการอุดหนุนค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งให้กับผู้ประกอบการ SME 2.เสนอให้ภาครัฐออกมาตรการป้องกันสินค้าต่างชาติที่เข้ามาทุ่มตลาดในประเทศ เพื่อลดผลกระทบให้กับผู้ประกอบการ  ตลอดจนส่งเสริมให้มีการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศไทย และ 3.เร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐให้ได้ตามเป้าหมาย และให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณากำหนดระยะเวลาการส่งมอบงานให้เร็วขึ้น เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายได้ทันภายในเดือน ก.ย.2567.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปชน.ขนทัพใหญ่ หาเสียงทิ้งทวน! หวังปักธง‘สีส้ม’

“ปชน.” ปูพรมโค้งสุดท้าย ขนทัพใหญ่ดาวกระจาย 6 สายทั่วพื้นที่ “ปิยบุตร” ขอโอกาสปักธงสีส้ม “พิธา” เชื่อคะแนนยังสูสี พรรคประชาชนมีโอกาสพลิกชนะ