หมอเกศเต้น!กกต.จ่อฟัน ‘แจ๊ส’ร้องเพิกถอน‘ชาญ’

กกต.จ่อลงดาบ "หมอเกศ" ปมใช้วุฒิการศึกษาหลอกลวงให้ลงคะแนนเลือกเป็น สว.  หลังสั่งรับ 2 คำร้องเป็นสำนวนตั้งแต่ก่อนประกาศรับรอง ขณะที่ “ดิเรกฤทธิ์” รอ “สว.พันธุ์ใหม่” ยื่นศาลฯ ตรวจสอบจริยธรรมกันเอง ด้าน "ทีม กม.บิ๊กแจ๊ส" ร้องเพิกถอนสิทธิรับเลือกตั้ง "ลุงชาญ"

กรณีปัญหาวุฒิการศึกษาของ น.ส.เกศกมล เปลี่ยนสมัย สมาชิกวุฒิสภา (กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ) มีรายงานในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ​  ขณะนี้พบว่า มีการรับ 2 คำร้องที่ขอให้ กกต.ตรวจสอบว่า การที่ น.ส.เกศกมลระบุประวัติการศึกษาว่าเป็นศาสตราจารย์ จบปริญญาเอกจาก California University ในใบเอกสารแนะนำตัวสมาชิกวุฒิสภา (สว.3) เข้าข่ายเป็นการกระทำหลอกลวง จูงใจให้บุคคลอื่นเข้าใจผิดในคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถ หรือชื่อเสียงเกียรติคุณเพื่อให้ผู้สมัครหรือผู้มีสิทธิเลือกลงคะแนนให้แก่ตนตามมาตรา 77 (4) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)​ ว่าด้วยกันได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2561 หรือไม่ เป็นสำนวนเพื่อดำเนินการตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และวินิจฉัยชี้ขาด 2566 โดยเลขาธิการ กกต.มีคำสั่งรับเป็นสำนวนเมื่อวันที่ 1 ก.ค. และอีกคำร้อง กกต.มีมติสั่งรับเป็นสำนวนเมื่อวันที่ 5 ก.ค.

ส่วนที่ กกต.ประกาศรับรอง น.ส.เกศกมลให้เป็น สว.เมื่อวันที่ 10 ก.ค. ทั้งที่รับ 2 คำร้องดังกล่าวเป็นสำนวนแล้ว แหล่งข่าวระบุว่า เนื่องจากตามกฎหมายไม่ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้สมัคร สว.ว่าต้องมีวุฒิการศึกษาระดับใด น.ส.เกศกมล จึงไม่มีประเด็นที่ถูกร้องเรื่องขาดคุณสมบัติ แต่เป็นการกล่าวหาว่าข้อมูลประวัติการศึกษาในใบ สว.3 เป็นการหลอกลวงให้ลงคะแนนเลือก ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบ หาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ โดยต้องประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงต้องให้ความธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาตามที่ระเบียบ กกต.กำหนด กกต.จึงประกาศรับรอง น.ส.เกศกมลไปก่อน และขณะนี้กำลังเร่งสืบสวนไต่สวนตามคำร้อง

อย่างไรตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.2561 มาตรา 77 กำหนดไว้ว่า ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ (4) หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้บุคคลอื่น เข้าใจผิดในคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถ หรือชื่อเสียงเกียรติคุณของผู้สมัครใด เพื่อจูงใจให้ผู้อื่นสมัครเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือถอนการสมัคร หรือกระทำการใดๆ อันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ผู้นั้นหมดสิทธิที่จะเลือกหรือได้รับเลือก หรือเพื่อจูงใจให้ผู้สมัครหรือผู้มีสิทธิเลือกลงคะแนนหรือไม่ลงคะแนนให้แก่ผู้ใด  ต้องระวางโทษจำคุก 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี

นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม อดีตสมาชิกวุฒิสภา ให้ความเห็นว่า เมื่อครั้งทำหน้าที่ สว. สงสัยถึงความสุจริตของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ร่วมลงชื่อเป็น 1 ใน 40 สว. ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบวินิจฉัยมาตรฐานจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่ง มาคราวนี้ไม่ได้ทำหน้าที่ สว.แล้ว มีข้อสงสัยถึงความสุจริตในการศึกษาของ สว.บางท่านที่อ้าง เรียนจริง จบจริง และทำให้ประชาชนเข้าใจได้ว่าตนเป็นผู้สอนในมหาวิทยาลัย ทั้งมีคำนำหน้าชื่อเป็นศาสตราจารย์ เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยต่างประเทศ หรืออื่นๆ แพร่เป็นข่าวทั่วไปในสื่อสาธารณะ จึงทำได้แต่เพียงคาดหวังและเฝ้าคอยดูว่าจะมี สว.67 พันธุ์ใหม่กลุ่มใด ท่านใดบ้าง จะร่วมลงชื่อนำข้อสงสัยนี้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ตรวจสอบวินิจฉัยความสุจริตตามมาตรฐานจริยธรรมที่ สว.ต้องมี

ที่สำนักงาน กกต. นายปณต เขตต์สันเทียะ ทีมกฎหมายของ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปทุมธานี ยื่นหนังสือต่อ กกต. เพื่อขอให้เพิกถอนสิทธิรับการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี  ของนายชาญ พวง​เพ็ชร์ เนื่องจากพบว่าขาดคุณสมบัติในการลงสมัครรับการเลือกตั้งนายก อบจ. จากกรณีมีคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 35/2560 ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้พ้นจากหน้าที่โดยไม่ได้รับค่าตอบแทน แม้นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้กลับเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ตามเดิม แต่ในปี 2564 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีมติชี้มูลว่ากระทำการทุจริตต่อหน้าที่ กรณีการจัดซื้อถุงยังชีพเมื่อปี 2555 และยื่นฟ้องต่อศาลอาญาทุจริต

นายปณตกล่าวว่า คำร้องที่มายื่น กกต.ในครั้งนี้ เห็นว่าการลงสมัครนายก อบจ.ของผู้สมัครรายดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะขาดคุณสมบัติ เนื่องจากในปี 2560 คสช.เคยมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ และในปี 2564 ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดว่าทุจริตต่อหน้าที่ ขณะนี้ กกต.ยังไม่รับรองผลการเลือกนายก อบจ.ปทุมธานี เราเห็นว่าเมื่อมีหลักฐานดังกล่าวจึงมายื่นร้อง

เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ระบุว่าจะไม่ยื่นเรื่องร้องเรียน นายปณตกล่าวว่า  พล.ต.ท.คำรณวิทย์ไม่ได้ติดใจการแพ้ชนะ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องข้อกฎหมาย ซึ่งจะเป็นผลต่อการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาว่าบุคคลที่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติแล้ว กกต.ตรวจไม่พบ หรือมีเหตุอะไรก็แล้วแต่ เพราะคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ เป็นคำสั่ง คสช.ในปี 2560 และในปี 2563 ที่ลงสมัคร ไม่มี คสช.แล้ว กกต.ก็อาจไม่ได้ตรวจสอบไปยังหน่วยงานดังกล่าวว่าเคยถูกคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะการถูกชี้มูลให้มีความผิดผลก็ต้องกลับไปให้หมดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งนับแต่วันที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นกฎหมายที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม ไม่ใช่เรื่องของ พล.ต.ท.คำรณวิทย์

"ลำพังตัวท่านบอกว่าแพ้ก็แพ้ แต่ทีมกฎหมายเสนอว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของกฎหมาย ไม่ใช่เฉพาะตัวท่าน แต่จะต้องเป็นบรรทัดฐานต่อไปว่า ถ้าบุคคลที่ถูกชี้มูลแล้วยังสามารถลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่ว่าจะลงที่ไหนอย่างไร ก็ต้องตรวจสอบให้ชัดเจน ว่ามีคุณสมบัติที่จะรับหรือไม่รับ" นายปณตกล่าว

เมื่อถามว่า พล.ต.ท.คำรณวิทย์ต้องการให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ และให้มีการจัดเลือกตั้งใหม่ใช่หรือไม่ นายปณตกล่าวว่า ต้องการให้ผลคดีถึงที่สุดว่าการกระทำของบุคคลผู้ที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ถ้ามีมูลความผิดอาญาฐานประพฤติมิชอบ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตสามารถไปลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้บริหารทั้งระดับท้องถิ่น หรือเลือกตั้งระดับชาติได้หรือไม่ เพราะตามมาตรา 50 ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือบริหารท้องถิ่น 2562 กำหนดลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้ว่า (8) เคยถูกสั่งให้พ้นจากรัชกาล หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ ซึ่งนายก อบจ.ที่บุคคลดังกล่าวเคยดำรงตำแหน่ง และถูกที่มูลก็ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะแม้จะถูกให้หยุดปฏิบัติหน้าที่และมีคำสั่งให้กลับมาดำรงตำแหน่ง  แต่ในตอนท้ายก็ถูกชี้มูลความผิด ประกอบกับมาตรา 81 และมาตรา 53 ซึ่งก็ยังมีปัญหาว่าหากได้รับการรับรอง จะทำหน้าที่ได้หรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการสัมภาษณ์​นายปณตพยายามหลีกเลี่ยงที่จะระบุชื่อนายชาญ  โดยระบุเพียงว่าผู้สมัครรายหนึ่งเท่านั้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง