ไฟเขียว‘หวยเกษียณ’ ทบทวนปุ๋ยคนละครึ่ง

ครม.ทุ่ม 780 ล้าน ลุย "หวยเกษียณ" ลุ้นได้ 3 เด้ง ออกรางวัลทุกศุกร์ ชิงเงิน 15 ล้านต่องวด เริ่มปีหน้า ไฟเขียวประกันข้าวนาปี 67 นายกฯ สั่งศึกษามาตรการเยียวยาป้องกันหนี้เสียในอนาคต “ปุ๋ยคนละครึ่ง” ยังไม่ชัดไปต่อหรือพอแค่นี้ "ธรรมนัส" แจงแค่ไม่ทันความต้องการชาวนาปีนี้

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม เวลา 12.30 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงภายผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการที่กระทรวงการคลัง เสนอแนวทางในการส่งสริมการออมทรัพย์ของสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อรองรับการเกษียณผ่านโครงการสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ เป็นสลากดิจิทัลผ่านช่องทางออนไลน์ จำกัดการซื้อสลากต่อคนได้สูงสุดไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน โดยเงินที่ซื้อสลากจะถูกเก็บเป็นสะสมเฉพาะบุคคล โดยจะได้รับเงินที่ซื้อสลากคืนทั้งหมดในรูปแบบของเงินบำเหน็จเมื่ออายุ 60 ปีบริบูรณ์ โดยโครงการนี้จะเกิดประโยชน์ในการส่งเสริมให้เกิดการออม ซึ่งรัฐบาลสร้างแรงจูงใจในรูปแบบของเงินรางวัล และทำให้รัฐสามารถลดงบประมาณในการดูแลกลุ่มเปราะบางเฉพาะนี้

ด้านนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงรูปแบบหวยเกษียณว่า ต้องเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซื้อหวยเกษียณผ่านแอปพลิเคชันของ กอช. เป็นลักษณะหวยดิจิทัลซื้อ 50 บาท จะได้สลาก 1 ใบ ซื้อได้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจะได้ลุ้นรางวัลทุกวันศุกร์ เวลา 17.00 น. โดยหวยเกษียณมี 2 รางวัล ได้แก่ รางวัลที่ 1 วงเงิน 1 ล้านบาท จำนวน 5 รางวัล รางวัลที่ 2 วงเงิน 1,000 บาท จำนวน 10,000 รางวัล หากถูกไม่ครบก็จะถูกยกไปงวดต่อไป ส่วนเงินต้นที่ไม่ถูกรางวัลก็จะถูกเก็บเป็นเงินออมในชื่อเจ้าของที่เปิดบัญชีไว้กับ กอช. สำหรับเงินออมนั้น กอช.จะนำเงินไปลงทุนผ่านกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่ผลตอบแทนไม่สูงมาก ทั้งนี้ ประชาชนจะได้ 3 เด้งคือ ได้ลุ้นเงินล้านทุกสัปดาห์ มีเงินออม เงินไม่หายไปไหน ไม่ถูกหวยกิน และผลตอบแทนที่ได้จากการจัดการบริหารกองทุน

ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ กอช.ต้องแก้ไข พ.ร.บ.กอช.ต่อไป โดยคาดว่าจะเริ่มจำหน่ายได้ประมาณช่วงต้นปี 2568 ซึ่งในเฟสแรกมี 3 กลุ่มเป้าหมาย คือ คนที่เป็นสมาชิก กอช.อยู่แล้ว แรงงานนอกระบบ และผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ในส่วนของรัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณเป็นเงินรางวัล 1 งวด ใช้ 15 ล้านบาท 1 ปี จะใช้งบประมาณ 700- 800 ล้านบาท ส่วนเฟส 2 กับเฟส 3 เข้าใจดีว่ามีกลุ่มอื่นที่อยากเข้าร่วม โดยจะเร่งพิจารณาให้เร็วที่สุด ซึ่งในเฟสแรกจะครอบคลุมกลุ่มแรงงานนอกระบบก่อน เพราะคนกลุ่มนี้มีความจำเป็นสูงสุด มีรายได้ไม่แน่นอน และมีปัญหาด้านการออมสูงที่สุด

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า โครงการนี้จะออกสลากเริ่มต้นที่ 5 ล้านฉบับต่อสัปดาห์ จำหน่ายฉบับละ 50 บาท โดยจะออกทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 5 ล้านฉบับ ดังนั้น ยอดจำหน่ายจะเท่ากับ 250 ล้านบาทต่องวดต่อสัปดาห์ เป็นยอดสะสมทรัพย์ต่อปี 13,000 ล้านบาท คนที่จะซื้อสลากได้คือสมาชิก กอช.ในปัจจุบัน และผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แห่งพ.ร.บ.ประกันสังคม ซึ่งมีกว่า 10 ล้านคน สมาชิก กอช.ปัจจุบันกว่า 2 ล้านคน ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และผู้ทำงานนอกระบบที่มีอายุไม่เกิน 60 ปี

“พูดง่ายๆ คือซื้อได้ตั้งแต่อายุ 15-60 ปี ซื้อไปเท่าไหร่พออายุ 60 จะได้คืนเท่ายอดสะสมที่ซื้อไป ซื้อได้สูงสุดต่อเดือนไม่เกิน 3,000 บาท โดยโครงการนี้จะขอรับงบสนับสนุนจากรัฐบาล 780 ล้านบาท ส่วนงบพัฒนาระบบแอปพลิเคชัน วงเงิน 20 ล้านบาท งบโครงสร้างระบบลงทะเบียน 30 ล้านบาท กอช.จะดูแลเอง ดังนั้น มติ ครม.คือคำตอบที่ยืนยันได้ว่าหวยเกษียณมีแน่นอน และคาดว่าไม่เกินปีหน้าจะได้เริ่มโครงการ” นายชัย ระบุ

วันเดียวกัน นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการปุ๋ยคนละครึ่งว่า ในที่ประชุม ครม. ไม่มีการหารือเรื่องนี้ ส่วนจะเดินหน้าหรือจะหยุดโครงการนั้น ให้ ร.อ.ธรรมนัสพิจารณาอยู่

นายเศรษฐาเปิดเผยด้วยว่า ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอโครงการให้ประกันข้าวนาปี ปีการผลิต 2567 โดยให้เกษตรกรเป็นผู้รับประโยชน์จากค่าสินไหมทดแทน 100% จากทุกกรณี และให้มีการศึกษามาตรการเยียวยาเกษตรกร เพื่อไม่ให้เกิดภาวะหนี้เสียหรือเอ็นพีแอลในอนาคต 

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2567 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ดูแลเกษตรกรพื้นที่เป้าหมาย 21 ล้านไร่ ใช้งบประมาณอุดหนุน 2,302 ล้านบาท โดยรัฐบาลอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย 1,569 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. ทดรองจ่ายเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้แก่ลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. 690 ล้านบาท ลูกค้า ธ.ก.ส.จึงไม่ต้องจ่ายเบี้ยประกัน โดยให้เกษตรกรผู้เอาประกันภัยเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวน

สำหรับกลุ่ม Tier 1 1.ลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. คิดเบี้ยประกัน 115 บาทต่อไร่ 2.เกษตรกรทั่วไปอยู่พื้นที่ความเสี่ยงต่ำ (พื้นที่นำร่อง) 70 บาทต่อไร่ พื้นที่ความเสี่ยงปานกลาง 199 บาทต่อไร่ พื้นที่ความเสี่ยงสูง 218 บาทต่อไร่ ส่วนกลุ่ม Tier 2 พื้นที่ความเสี่ยงต่ำ 27 บาทต่อไร่ พื้นที่ความเสี่ยงปานกลาง 60 บาทต่อไร่ พื้นที่ความเสี่ยงสูง 110 บาทต่อไร่ ทั้งนี้ การให้ความคุ้มครอง (1) ภัยธรรมชาติ 7 ภัย Tier 1 จำนวน 1,190 บาทต่อไร่ และ Tier 2 จำนวน 240 บาทต่อไร่ (2) ศัตรูพืชหรือโรคระบาด Tier 1 จำนวน 595 บาทต่อไร่ และ Tier 2 จำนวน 120 บาทต่อไร่

อัตราการอุดหนุนเบี้ยประกันภัย (เฉพาะ Tiier 1) รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม (1) ลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. 124.12 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุน 78.12 บาทต่อไร่ ธ.ก.ส.อุดหนุน 46 บาทต่อไร่ จำกัดไม่เกิน 30 ไร่ต่อราย สำหรับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนปีการผลิต 2566-2567 และ (2) เกษตรกรทั่วไป พื้นที่ความเสี่ยงต่ำ (พื้นที่นำร่อง) 75.47 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุน 70.97 บาทต่อไร่ เกษตรกรจ่าย 5 บาทต่อไร่ ส่วนพื้นที่ความเสี่ยงปานกลาง 214 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุน 84 บาทต่อไร่ เกษตรกรจ่าย 130 บาทต่อไร่ และพื้นที่ความเสี่ยงสูง 234.33 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุน 85.33 บาทต่อไร่ เกษตรกรจ่าย 149 บาทต่อไร่

ทั้งนี้ ธ.ก.ส.เริ่มจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยทั่วประเทศ (63 จังหวัด) ตั้งแต่วันที่ ครม.มีมติถึง 31 ก.ค.2567 ยกเว้นภาคใต้ (14 จังหวัด) สิ้นสุด 31 ธ.ค.2567

ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการปุ๋ยคนละครึ่งว่า เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ได้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน หารือกันถึงแนวทางปุ๋ย โดยพบว่าชาวนาได้ทำนาไปแล้ว และไม่ทันต่อการทำนาในฤดูนี้ ประกอบกับว่าเงินที่จะสมทบอีก 500 บาท ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไม่สามารถสมทบให้ได้ ดังนั้นจึงมีการเข้าสู่การประชุมหารือเพื่อทบทวนโครงการในช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ ซึ่งจะได้คำตอบภายในวันเดียวกันนี้

 “อยากให้แยกโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง กับโครงการพัฒนาคุณภาพข้าวและผลผลิตต่อไร่ให้มีจำนวนที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องการลดต้นทุนการผลิต ส่วนโครงการไร่ละ 1,000 บาท รัฐบาลต้องเข้าไปช่วยสนับสนุนในช่วงที่เกิดปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภัยพิบัติปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ขอให้แยกกันอย่างชัดเจน” ร.อ.ธรรมนัสระบุ

เมื่อถามว่า หากราคาข้าวไม่ตกต่ำ รัฐบาลจะไม่เยียวยาชาวนาใช่หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า เรื่องนี้มีปัจจัยหลายอย่าง และเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทุกครั้งต้องมีการประชุม ซึ่งการประกันราคาข้าวทางกระทรวงพาณิชย์จะต้องเป็นคนเสนอขึ้นมาพิจารณา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลาประมาณ 14.30 น. นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ได้เดินทางเข้าพบ ร.อ.ธรรมนัส ที่ห้องทำงานกระทรวงเกษตรฯ โดยใช้เวลาประมาณ 20 นาที จากนั้นนายประยูรได้เดินทางออกจากห้องทำงาน รมว.เกษตรฯ และไม่มีการแถลงข่าวใดๆ จึงยังไม่มีความชัดเจนว่าจะยกเลิกโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง หรือเลื่อนไปฤดูกาลเพาะปลูกหน้าแทน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วีระ ข้องใจทักษิณประกาศไฟฟ้าปีนี้ต้องเห็นเลข 3 ถาม ลูกหรือพ่อเป็นนายกฯกันแน่?

วีระ สมความคิด ประธานเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชัน แชร์โพสต์ของ Suthichai Yoon นำคำพูดของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บนเวทีปราศรัย