คลังสวน‘ธปท.’ ดิจิทัลไร้ช่องโหว่

"เศรษฐพุฒิ" ทำหนังสือเตือน "เศรษฐา" ปมดิจิทัลวอลเล็ตโค้งสุดท้าย หวั่นเกิดการทุจริต-ป่วนระบบชำระเงิน "เผ่าภูมิ" โต้ทันควันไม่มีอะไรกังวล ย้ำรัฐบาลไม่ได้เยียวยา แต่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ “จุลพันธ์” เผยใครเคยทำผิดโครงการคนละครึ่ง-เที่ยวด้วยกันหมดสิทธิ์ได้เงินหมื่น รวมถึงมาตรการในอนาคต "นายกฯ" ปูดให้ลงทะเบียนได้ 1 ส.ค. ในเวลา 1 เดือนครึ่ง ฝ่ายค้านลับมีดรอสับถกร่างเพิ่มเติมงบ 1.22 แสนล้านบาท อัดพูดย้อนแย้งไหนบอกไม่กู้ ครม.ไฟเขียวหวยเกษียณ ทุ่มงบ 780 ล้านบาทให้เป็นรางวัลจูงใจหวังเริ่มปีหน้า

เมื่อวันอังคารที่ 16 กรกฎาคม 2567  มีความเคลื่อนไหวในโครงการแจกเงินหมื่นดิจิทัลหรือดิจิทัลวอลเล็ตที่น่าสนใจ  เมื่อนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  ได้ทำหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต  ที่มีการประชุมเมื่อวันที่ 15 ก.ค.  

โดยหนังสือ ธปท.ระบุว่า ขอนำส่งข้อคิดเห็นต่อประธานกรรมการนโยบายฯ เพื่อเป็นประโยชน์ในการติดตามความคืบหน้าของโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ประกอบด้วย  ประเด็นแรก เรื่อง 1.ระบบเติมเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ตตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นผู้รับผิดชอบ และไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. ตามพระราชบัญญัติระบบการชำระเงิน พ.ศ.2560 เพื่อให้มั่นใจว่าระบบเติมเงินจะให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรติดตามการพัฒนาระบบเติมเงินและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงว่าการดำเนินการเป็นไปตามมาตรฐาน ทั้งด้านความปลอดภัย ความน่าเชื่อถือ และเสถียรภาพใช้งานได้ต่อเนื่อง โดยควรตรวจสอบก่อนเริ่มใช้งานในส่วนของระบบเติมเงิน, ระบบลงทะเบียนเพื่อตรวจสอบสิทธิของประชาชนและผู้ประกอบการ รวมถึงการพิสูจน์และยืนยันตัวตน ต้องได้มาตรฐานเทียบกับการบริการในภาคการเงิน ป้องกันความเสี่ยงของการถูกสวมรอย

2.ศักยภาพตรวจสอบเงื่อนไขและอนุมัติรายการชำระเงิน บันทึกบัญชี และอัปเดตยอดเงินเมื่อมีการใช้จ่ายหรือถอนเงินออกได้ โดยต้องรอบรับการตรวจสอบหากเกิดปัญหาชำระเงินไม่สำเร็จ มีการทดสอบระบบก่อนใช้จริง ควรมีคอลเซ็นเตอร์หรือช่องทางการรับแจ้งปัญหา และ 3.การดำเนินการในลักษณะเป็นระบบเปิด ที่เชื่อมต่อกับภาคธนาคารและนอนแบงก์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดทำและนำส่งพิมพ์เขียวที่แสดง system architecture ของ payment platform ให้ธนาคารและนอนแบงก์โดยเร็วที่สุด สำหรับเตรียมความพร้อมในการพัฒนาและทดสอบการเชื่อมต่อระบบ เพื่อประเมินความเสี่ยงและมีแนวทางปิดความเสี่ยง ช่องโหว่ และทดสอบการเจาะระบบ โดยให้แจ้ง ธปท.ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนเริ่มให้บริการเนื่องจากการเชื่อมต่อ payment platform กับ mobile application เป็นการเปลี่ยนแปลงด้านระบบไอทีอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะกระทบลูกค้าและการให้บริการเป็นวงกว้าง โดย ธปท.จะสอบทานผลการประเมินและผลทดสอบความเสี่ยงด้านต่างๆ และอาจขอข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อตรวจสอบความเชื่อมโยงกับระบบอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม

ประเด็นที่สอง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรชี้แจงกลไกการลดความเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือทุจริตในขั้นตอนต่างๆ ให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น รวมถึงมีมาตรการในการติดตามการดำเนินโครงการต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีกระบวนการที่รัดกุมเพียงพอที่จะป้องกันปัญหาต่างๆ เช่น การซื้อขายสินค้าที่ผิดเงื่อนไขของโครงการ และการขายลดสิทธิ์ระหว่างประชาชนและร้านค้า

 “ส่วนกรณีเกี่ยวกับการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 จำนวน 122,000 ล้านบาท หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดทำและชี้แจงแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจนในการใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าวให้สอดคล้องกับหลักการของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ”

ขณะที่ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในเรื่องนี้ว่า ธปท.ได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องตัวระบบของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยเฉพาะมิติของความปลอดภัย ความเสถียร ความรัดกุม ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ และไม่มีอะไรต้องกังวล

โต้แบงก์ชาติมองคนละมุม

ส่วนกรณีแสดงความเป็นห่วงว่าแม้จะลดกรอบวงเงินโครงการเหลือ 4.5 แสนล้านบาทจาก 5 แสนล้านบาท ยังเป็นตัวเลขที่สูงอยู่นั้น นายเผ่าภูมิระบุว่า  ความเห็นส่วนนี้ของ ธปท. ยังคล้ายๆ  ความเห็นเดิม ซึ่งเป็นจุดยืนเดิมของ ธปท. ที่มองว่าควรใช้งบประมาณเพื่อช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเปราะบาง 16 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลก็ยังยืนยันตามเดิมว่าไม่ตรงกับจุดประสงค์ของโครงการที่ต้องการทำเพื่อให้เกิดการกระตุ้นการผลิตด้วย ไม่ใช่แค่กระตุ้นการบริโภคเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

 “เรื่องกรอบงบประมาณโครงการอาจมองกันคนละวัตถุประสงค์ ก็ไม่เป็นไร ตรงนั้นก็เป็นความเห็นของ ธปท. ซึ่งก็มีมาตั้งแต่แรกๆ อยู่แล้ว และที่ผ่านมารัฐบาลก็ชี้แจงไปหลายครั้งแล้วด้วยเช่นกัน เรามองว่านี่ไม่ใช่โครงการเพื่อเยียวยาคนเดือดร้อน แต่เป็นโครงการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ" นายเผ่าภูมิระบุ

นายเผ่าภูมิกล่าวอีกว่า งบประมาณที่จะใช้ในโครงการหลักๆ จะมาจากงบประมาณปี 2567 วงเงิน 1.65 แสนล้านบาท แบ่งเป็นงบรายจ่ายเพิ่มเติม ปี 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท และที่เหลืออีก 4.3 หมื่นล้านบาท จะมาจากการบริหารจัดการตามวิธีการงบประมาณ และอีกส่วนคืองบประมาณปี 2568 จำนวน 2.85 แสนล้านบาท แบ่งเป็นงบรายจ่ายปี 2568 จำนวน 1.52 แสนล้านบาท และอีกส่วนมาจากการบริหารจัดการงบประมาณ 1.32 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลสามารถบริหารจัดการได้อย่างแน่นอน โดยได้วางเป็นออฟชั่นไว้หมดแล้ว มีกระบวนการงบประมาณที่มีหลายช่องทางที่บริหารจัดการได้

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวว่า ธปท.ยังห่วงเรื่องงวินัยการเงินการคลังว่า ในที่ประชุมไม่มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวินัยการเงินการคลัง โดยมี 2 ประเด็นคือ ตัวระบบ ที่ต้องมั่นคงปลอดภัย และต้องขอให้ ธปท.เข้ามาดูระบบภายใน 15 วัน ก่อนเปิดใช้ระบบ ซึ่งก็พร้อมที่จะส่งให้ ธปท.เข้ามาตรวจสอบ ส่วนอีกประเด็น คือ ให้ระวังการใช้ผิดประเภท ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้เสนอตัดสิทธิ์ กลุ่มคนที่เคยประพฤติขัดต่อข้อตกลงโครงการของรัฐในอดีต เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งมีการนำเงินไปใช้ผิดประเภท นำไปแลกเป็นเงินสดหรือไม่ได้ใช้บริการจริง แต่ใช้สิทธิ์เพื่อที่จะเอาเงินมาแบ่งกัน ซึ่งเคยมีคดีความเกิดขึ้น กลุ่มนี้จะไม่ได้รับสิทธิ์ 10,000 บาท จากโครงการดิจิทัลฯ รวมทั้งอาจโดนตัดสิทธิ์ในโครงการช่วยเหลืออื่นๆ จากภาครัฐในอนาคตด้วย

“การแถลงใหญ่ในวันที่ 24 ก.ค.นี้ นอกจากชี้แจงถึงรายละเอียดและกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนแล้ว จะนำตัวอย่างแอปพลิเคชันมาสาธิตการเข้าใช้ระบบ คนที่ถูกตัดสิทธิ์ ระบบจะแจ้งสาเหตุให้ทราบ เช่น มีรายได้เกินกว่าที่เงื่อนไขกำหนด ซึ่งระบบจะมีกระบวนการในการอุทธรณ์โต้แย้งสิทธิ์ และหากตรวจสอบซ้ำพบว่ามีความผิดพลาดจะมีการคืนสิทธิ์ให้”

นายจุลพันธ์ย้ำว่า ระบบมีความพร้อม และเปิดลงทะเบียนได้ในวันที่ 1 ส.ค.นี้ ตามที่นายกฯ ประกาศเอาไว้ ประชาชนสามารถเข้าไปยืนยันตัวตน หรือ KYC ผ่านแอปทางรัฐได้ตั้งแต่วันนี้ ล่าสุดมียอดการยืนยันตัวตนแล้วหลักล้านคน และขอเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อเว็บไซต์ปลอมหลอกลงทะเบียน ซึ่งรัฐบาลจะใช้ลงทะเบียนผ่านแอปทางรัฐเท่านั้น

ให้เวลาลงทะเบียน 1 เดือนครึ่ง

ส่วนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม. กรณีโพสต์เฟซบุ๊กระบุว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเปิดลงทะเบียนได้ในวันที่ 1 ส.ค.ว่า ครับตามนั้น ตามที่เสนอไป

เมื่อถามว่า ต้องมีอะไรเพิ่มเติมที่ต้องชี้แจงทำความเข้าใจหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า ให้คอยวันที่ 24 ก.ค. เมื่อถามอีกว่า ระยะเวลาการใช้ไม่เกิน 6 เดือนใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ตามนั้นครับ ส่วนระยะเวลาการลงทะเบียนประมาณ 1 เดือนครึ่ง

นายเศรษฐายังกล่าวอีกว่า ในวันที่ 17 ก.ค. เวลา 09.00 น. จะเดินทางเข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2567 ที่ ครม.เป็นผู้เสนอวงเงินจำนวนไม่เกิน 122,000 ล้านบาท โดยจะแถลงด้วยตัวเอง

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาณฯ กล่าวในเรื่องนี้ว่า คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาเพียงวันเดียวน่าจะเพียงพอ เพราะเป็นงบประมาณก้อนเดียว ไม่ได้แยกเป็นรายกระทรวง หรือมีรายละเอียดมากมาย โดยรัฐบาลก็ต้องชี้แจงว่าจำนวนที่ขอเท่าไหร่ งบประมาณมาจากไหนและจะไปใช้อย่างไร ขณะที่สมาชิกก็ต้องอภิปรายว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับที่รัฐบาลเสนอ ก็เป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับการประชุม ส่วนจะพิจารณา 3 วาระรวดหรือไม่นั้น ก็ขึ้นกับที่ประชุม แต่โดยปกติแล้วก็จะพิจารณากัน 3 วาระ

นายสรวงศ์ เทียนทอง สส.สระแก้ว และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า พรรคไม่ได้กำชับอะไร เพราะข้อมูลทุกคนก็ทราบกันดีอยู่แล้ว โดยจะใช้เวลา 1 วันในการพิจารณา รวมถึงการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ขึ้นมา คาดว่าจะใช้การพิจารณาไม่นาน เพราะมีเพียงไม่กี่มาตรา และคาดว่าจะพิจารณาวาระ 2 และ 3 ภายในสิ้นเดือน ก.ค.นี้ และนำเสนอต่อ สว.ชุดใหม่พิจารณาต่อไป

 “ในการทานข้าวกับพรรคร่วมรัฐบาลเมื่อวันที่ 15 ก.ค. ได้พูดคุยถึงเรื่องนี้แล้ว ซึ่ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก็ได้พูดคุยกับหัวหน้าพรรคร่วมทุกพรรคแล้ว ก็ไม่มีประเด็นอะไร ทุกคนก็ร่วมมือกันดี สามารถชี้แจงกับฝ่ายค้านได้ทั้งหมด” นายสรวงศ์ระบุ

ด้านนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิทักษ์สกุล  สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า พรรคเตรียมผู้อภิปรายไว้ 10-11 คน ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แจ้งมาแล้ว 3 คน และจะเพิ่มเติมภายหลัง โดยจะอภิปรายในหลายแง่มุม ทั้งกฎหมาย วิธีการงบประมาณ ความคุ้มค่า ค่าเสียโอกาส และข้อกังวลที่เกี่ยวเนื่องจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

ฝ่ายค้านลับมีดสับงบ 1.22 แสนล้าน

 “อยากทำความเข้าใจกับหลายคนที่มองว่ารัฐบาลทำตามที่หาเสียงไว้ ว่าเวลาพูดถึงนโยบายหาเสียง โดยเฉพาะที่ใช้งบประมาณ อยากให้มอง 3 ส่วน คือ งบมาจากไหน ทำอะไร ผลจะเกิดอะไรขึ้น อยากให้มองย้อนกลับไปที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ คือไม่กู้ ไม่เบ่งงบประมาณแบบนี้ แต่ตอนนี้ที่มางบเปลี่ยนแปลงจนไม่เหลือเค้าเดิม เหลือแค่วิธีการแจกเงิน 1 หมื่น ซึ่งตอนนี้ก็ไม่ถ้วนหน้าด้วย ถือว่าไม่เหมือนเดิมด้วยซ้ำ ถ้ามองกันจริงๆ นโยบายที่หาเสียงไว้คืออะไร กับนโยบายที่รัฐบาลกำลังทำ ผมคิดว่านโยบายตอนนี้ไม่ใช่นโยบายที่เพื่อไทยหาเสียงไว้เลย” นายปกรณ์วุฒิระบุ

นายศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง สส.สงขลา และรองโฆษกพรรค ปชป. แถลงภายหลังการประชุม สส.พรรคว่า ที่ประชุม สส.ของพรรคส่วนใหญ่เห็นว่างบกลางเป็นงบสำคัญที่รัฐบาลควรใช้ขับเคลื่อนประเทศ อีกทั้งนายกฯ เคยกล่าวไว้ว่าจะไม่มีการกู้ใดๆ เพื่อมาแจกในโครงการดิจิทัลฯ และงบกลางเป็นงบที่ต้องใช้ในความจำเป็นเร่งด่วนฉุกเฉินเท่านั้น แต่ขณะนี้มีกระแสข่าวว่านายกฯ จะมีการกู้เงินเพื่อนำมาแจกในโครงการดิจิทัลฯ ถือเป็นการพูดย้อนแย้ง และเป็นการพูดกลับคำ นอกจากนี้ ในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2568 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ ก็เคยตั้งข้อสังเกตเรื่องการเบิกจ่ายงบกลางปี 2567 ว่ามีการเบิกจ่ายต่ำ เพราะรัฐบาลจงใจและตั้งใจจะนำเงินดังกล่าวไปใช้ในโครงการดิจิทัลฯ หรือไม่อย่างไร

“สัดส่วนการอภิปรายของพรรคได้เวลา 90 นาที ขณะนี้มี สส.แสดงเจตจำนงที่จะอภิปราย 3-5 คนแล้ว ขอให้พี่น้องประชาชนได้ติดตามการทำหน้าที่ของ สส.พรรคที่จะทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ”

วันเดียวกัน นายเศรษฐายังแถลงภายผลประชุม ครม.ว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการที่กระทรวงการคลัง เสนอแนวทางในการส่งสริมการออมทรัพย์ของสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อรองรับการเกษียณผ่านโครงการสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ เป็นสลากดิจิทัลผ่านช่องทางออนไลน์ จำกัดการซื้อสลากต่อคนได้สูงสุดไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน โดยเงินที่ซื้อสลากจะถูกเก็บเป็นสะสมเฉพาะบุคคล โดยจะได้รับเงินที่ซื้อสลากคืนทั้งหมดในรูปแบบของเงินบำเหน็จเมื่ออายุ 60 ปีบริบูรณ์ โดยโครงการนี้จะเกิดประโยชน์ในการส่งเสริมให้เกิดการออม ซึ่งรัฐบาลสร้างแรงจูงใจในรูปแบบของเงินรางวัลและทำให้รัฐสามารถลดงบประมาณในการดูแลกลุ่มเปราะบางเฉพาะนี้

ทุ่ม 780 ล้าน!ทำหวยเกษียณ

นายเผ่าภูมิกล่าวถึงรูปแบบหวยเกษียณว่า ต้องเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซื้อหวยเกษียณผ่านแอปพลิเคชันของ กอช. เป็นลักษณะหวยดิจิทัลซื้อ 50 บาท จะได้สลาก 1 ใบ ซื้อได้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจะได้ลุ้นรางวัลทุกวันศุกร์ เวลา 17.00 น. โดยหวยเกษียณมี 2 รางวัล ได้แก่ รางวัลที่ 1 วงเงิน 1 ล้านบาท จำนวน 5 รางวัล รางวัลที่ 2 วงเงิน 1,000 บาท จำนวน 10,000 รางวัล หากถูกไม่ครบก็จะถูกยกไปงวดต่อไป ส่วนเงินต้นที่ไม่ถูกรางวัลก็จะถูกเก็บเป็นเงินออมในชื่อเจ้าของที่เปิดบัญชีไว้กับ กอช. สำหรับเงินออมนั้น กอช.จะนำเงินไปลงทุนผ่านกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่ผลตอบแทนไม่สูงมาก ทั้งนี้ ประชาชนจะได้ 3 เด้ง คือได้ลุ้นเงินล้านทุกสัปดาห์ มีเงินออม เงินไม่หายไปไหน ไม่ถูกหวยกิน และผลตอบแทนที่ได้จากการจัดการบริหารกองทุน

นายเผ่าภูมิกล่าวอีกว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ กอช.ต้องแก้ไข พ.ร.บ.กอช.ต่อไป โดยคาดว่าจะเริ่มจำหน่ายได้ประมาณช่วงต้นปี 2568 ซึ่งในเฟสแรกมี 3 กลุ่มเป้าหมายคือ คนที่เป็นสมาชิก กอช.อยู่แล้ว แรงงานนอกระบบ และผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ในส่วนของรัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณเป็นเงินรางวัล 1 งวด ใช้ 15 ล้านบาท 1 ปีจะใช้งบประมาณ 700-800 ล้านบาท ส่วนเฟส 2 กับเฟส 3 เข้าใจดีว่ามีกลุ่มอื่นที่อยากเข้าร่วม โดยจะเร่งพิจารณาให้เร็วที่สุด ซึ่งในเฟสแรกจะครอบคลุมกลุ่มแรงงานนอกระบบก่อน เพราะคนกลุ่มนี้มีความจำเป็นสูงสุด มีรายได้ไม่แน่นอน และมีปัญหาด้านการออมสูงที่สุด

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า โครงการนี้จะออกสลากเริ่มต้นที่ 5 ล้านฉบับต่อสัปดาห์ จำหน่ายฉบับละ 50 บาท โดยจะออกทุกสัปดาห์สัปดาห์ละ 5 ล้านฉบับ ดังนั้น ยอดจำหน่ายจะเท่ากับ 250 ล้านบาทต่องวดต่อสัปดาห์ เป็นยอดสะสมทรัพย์ต่อปี 13,000 ล้านบาท คนที่จะซื้อสลากได้คือสมาชิก กอช.ในปัจจุบัน และผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แห่งพ.ร.บ.ประกันสังคม ซึ่งมีกว่า 10 ล้านคน สมาชิก กอช.ปัจจุบันกว่า 2 ล้านคน ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และผู้ทำงานนอกระบบที่มีอายุไม่เกิน 60 ปี

“พูดง่ายๆ คือซื้อได้ตั้งแต่อายุ 15-60 ปี ซื้อไปเท่าไหร่พออายุ 60 จะได้คืนเท่ายอดสะสมที่ซื้อไป ซื้อได้สูงสุดต่อเดือนไม่เกิน 3,000 บาท โดยโครงการนี้จะขอรับงบสนับสนุนจากรัฐบาล 780 ล้านบาท ส่วนงบพัฒนาระบบแอปพลิเคชัน วงเงิน 20 ล้านบาท งบโครงสร้างระบบลงทะเบียน 30 ล้านบาท กอช.จะดูแลเอง ดังนั้น มติครม.คือคำตอบที่ยืนยันได้ว่าหวยเกษียณมีแน่นอน และคาดว่าไม่เกินปีหน้าจะได้เริ่มโครงการ” นายชัยกล่าว

นายเศรษฐายังกล่าวถึงการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าราคาแพงว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน ไม่ได้เข้าประชุม ครม. แต่ก็จะมีการโทรศัพท์ไปพูดคุยและสั่งการไปว่าคราวหน้าน่าจะมีมาตรการออกมา

เมื่อถามว่า จะใช้วิธีการตรึงราคาไว้หรือปรับมาตรการใหม่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ตามที่บอกไปเมื่อกี้ครับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง