ปชช.62%เชื่อ ‘บ้านใหญ่’คุม เลือก‘ท้องถิ่น’

โพลเผยประชาชน 62% ฟันธงบ้านใหญ่มีอิทธิพลต่อการเลือกตั้งท้องถิ่น คนส่วนใหญ่ยังเชื่อ “ก้าวไกล” จะแก้ไขปัญหาท้องถิ่นดีที่สุด “เรืองไกร” จี้ กกต.เร่งตรวจสอบปมเลือกตั้ง อบจ.ปทุมธานี หลังยื้อมา 1 เดือน

เมื่อวันที่ 14 ก.ค.2567 สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในพื้นที่ภาคกลาง  ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้  เรื่องประชาชนคิดอย่างไรกับการเลือกตั้งนายก  อบจ. จากกลุ่มตัวอย่าง 1,188 คน โดยเมื่อถามถึงประชาชนรู้หรือไม่ว่าช่วงนี้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น หรือการเลือกตั้งนายก อบจ.ในหลายพื้นที่  พบว่า 41.16% รู้ และทราบรายละเอียดการเลือกตั้ง, 36.95% รู้ แต่ไม่ทราบรายละเอียดการเลือกตั้ง และ 21.89% ไม่รู้เลยว่ามีการเลือกตั้ง

เมื่อถามต่อว่า ประชาชนคิดว่าการเลือกตั้งนายก อบจ. มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันในด้านใดบ้าง พบว่า 70.76% การพัฒนาท้องถิ่น, 58.81% การพัฒนาสาธารณูปโภค, 55.68% การพัฒนาเศรษฐกิจและการสร้างงาน,  52.63% การบริการสาธารณะ และ 50.42% การดูแลสุขภาพและสาธารณสุข ส่วนเมื่อถามว่าประชาชนคิดว่าตนเองและครอบครัวได้รับประโยชน์จากการเลือกตั้งท้องถิ่นหรือไม่ พบว่า 39.14% ได้รับประโยชน์น้อย, 36.78% ได้รับประโยชน์มาก, 18.02% ไม่ได้รับประโยชน์ และ 6.06% ไม่แน่ใจ

ส่วนเมื่อถามต่อว่า ประชาชนคิดว่าบ้านใหญ่มีอิทธิพลต่อการเลือกตั้งท้องถิ่นในพื้นที่มากน้อยเพียงใด พบว่า 62.21% มีอิทธิพลมาก, 18.86% มีอิทธิพลน้อย, 9.93% ไม่แน่ใจ และ 9% ไม่มีอิทธิพล และเมื่อถามต่อว่า ประชาชนคิดว่าผลการเลือกตั้งนายก อบจ. จะส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองในการเลือกตั้งระดับชาติครั้งต่อไปหรือไม่ พบว่า 77.44% มีผล และ 22.56% ไม่มีผล ส่วนเมื่อถามว่าประชาชนคิดว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจะมีการซื้อสิทธิขายเสียงหรือไม่ พบว่า 57.66% มี, 26.01% ไม่แน่ใจ และ 16.33% ไม่มี

สุดท้ายเมื่อถามว่า ในเรื่องการแก้ปัญหาท้องถิ่น ประชาชนเชื่อมั่นในพรรคใดมากที่สุด พบว่า 32.53% พรรคก้าวไกล, 19.79% พรรคเพื่อไทย,  17.30% พรรคพลังประชารัฐ, 9.29% พรรคภูมิใจไทย และ 6.63% พรรคประชาธิปัตย์

วันเดียวกัน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ผลการเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมธานีที่ยังเป็นข่าวอยู่นั้น มีการร้องกล่าวหาผู้สมัครด้วย ตามใบรับคำร้อง อบจ.ปทุมธานี เลขที่ อบจ.1/2567 วันที่ 14 มิ.ย.2567 รายละเอียดคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรทราบดีแล้วนั้น แต่การร้องผ่านมาประมาณ 1 เดือนแล้ว ยังไม่ปรากฏข่าวการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวว่ามีผลประการใด ทั้งที่ตามพยานหลักฐานและเอกสารประกอบ รวมทั้งภาพและคลิปในคำร้องมีพอสมควร กรณีจึงมีเหตุอันควรขอให้ กกต.ตรวจสอบเรื่องนี้โดยเร็ว โดยได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (อีเอ็มเอส) เพื่อขอให้ กกต.ตรวจสอบตามใบรับคำร้อง อบจ.ปทุมธานี เลขที่ อบจ.1/2567 นี้ โดยเฉพาะความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 65 วรรคหนึ่ง (3) และ (4) และมาตรา 126 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น โดยทำการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่างๆ รวมทั้งจัดเลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด

“ขอให้ กกต.นำมาตรา 106 มาดำเนินการตรวจสอบการหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานีกับพวก ตามใบรับคำร้องที่ อบจ.1/2567 ลงวันที่ 14 มิ.ย.2567 ว่ามีผู้ใดที่กระทำการหาเสียงที่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 65 (3) และ (4) หรือไม่ และมีผู้ใดที่ฝ่าฝืนจะมีความผิดตามมาตรา 126 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 หรือไม่ ทั้งนี้ ขอให้นำคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13545/2556 มาเป็นแนวทางในการตรวจสอบด้วย” นายเรืองไกรระบุทิ้งท้าย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง