อ่วม!ค่าไฟจ่อขึ้นท้ายปี

กกพ.เคาะแล้ว ค่าเอฟทีไฟฟ้างวดส่งท้ายปี 2567 ขึ้นแน่ ตั้งแต่ระดับ 0.47-1.83 บาท/หน่วย เปิดให้โหวต 3 ทางเลือก 12-26 ก.ค.ก่อนกำหนดราคาจริง ชี้หากขึ้นสูงสุด 6.01 บาท/หน่วย เจ็บแล้วจบ ปีหน้าค่าไฟลด  เผยหากรัฐต้องการตรึงราคา ต้องหาเงินมาโปะ 2.8 หมื่นล้าน

เมื่อวันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม 2567 นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์  เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. แถลงถึงการประชุมคณะกรรมการ กกพ.ว่า ที่ประชุมเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2567 เป็น 3 แนวทางปรับเพิ่มขึ้นในระดับหน่วยละ 46.83-182.99 สตางค์ เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่หน่วยละ 3.7833 บาท ส่งผลให้ค่าไฟฟ้างวด ก.ย.-ธ.ค.2567 เพิ่มขึ้น 0.47-1.83 บาท เป็นค่าไฟฟ้าเรียกเก็บกับประชาชน 4.65-6.01 บาทต่อหน่วย เทียบจากงวดนี้ (พ.ค.-ส.ค.) อยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย โดยมอบให้สำนักงาน กกพ. นำสมมุติฐานดังกล่าว เปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชน ตั้งแต่วันที่ 12-26 ก.ค.2567 ก่อนสรุปและประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป

สำหรับ 3 แนวทางที่เปิดรับฟังความเห็น ประกอบด้วย 1.จ่ายค่าเชื้อเพลิงคืนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทั้งหมด 98,495 ล้านบาท ภายในสิ้นปีนี้ ส่งผลให้ค่าเอฟทีเพิ่มขึ้น 222.71 สตางค์ต่อหน่วย รวมค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.01 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 44% จากงวดปัจจุบัน 2.จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. 3 งวด 3 งวด งวดละ 32,832 ล้านบาท จะมีภาระต้นทุนคงค้างที่ กฟผ. รับภาระแทนประชาชนเหลืออยู่ที่ 65,663 ล้านบาท ส่งผลให้ค่าเอฟทีเพิ่มขึ้น 113.78 สตางค์ต่อหน่วย รวมค่าไฟฟ้าฐาน ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.92 บาท หรือเพิ่มขึ้น 18% และ 3.จ่ายคืนภาระต้นทุน กฟผ. 6 งวด งวดละ 16,416 ล้านบาท หรือภายใน 2 ปี บวกมูลค่าส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงกับราคาก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บเดือน ก.ย.-ธ.ค.2566 (เอฟเอฟก๊าซ)  15,083.79 ล้านบาท ส่งผลให้ค่าเอฟทีเพิ่มขึ้น 86.55 สตางค์ต่อหน่วย รวมค่าไฟฟ้าฐานที่หน่วยละ 3.78 บาท ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย ปรับเพิ่มขึ้นเป็นหน่วยละ 4.65 บาท หรือเพิ่มขึ้น 11% จากปัจจุบัน เพื่อให้ กฟผ.มีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้น สามารถดำเนินการตามแผนชำระคืนหนี้เงินกู้ที่วางไว้เพื่อรักษาระดับความน่าเชื่อถือ และลดภาระดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น โดยคาดว่า ณ สิ้นเดือน ธ.ค.2567 จะมีภาระต้นทุนคงค้างที่ กฟผ. รับภาระแทนประชาชนคงเหลืออยู่ที่ 82,079 ล้านบาท

 “ค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายของปีนี้ที่เพิ่มขึ้นมาจากต้นทุนเชื้อเพลิงก๊าซ ทั้งก๊าซในอ่าวไทย และราคาก๊าซธรรมชาติเหลวแบบสัญญาจร และเป็นช่วงที่ค่าเงินบาทอ่อนค่า ในขณะที่ความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาวในปลายปี  เมื่อรวมกับการทยอยคืนหนี้สะสมทั้งในส่วนของ กฟผ. 98,495 ล้านบาท และค่าภาระหนี้ของระบบที่ต้องจ่ายคืนให้ผู้ขายก๊าซคือ ปตท.และ กฟผ. อีก 15,000 ล้านบาท จึงทำให้ต้องปรับค่าไฟเพิ่มขึ้น” นายพูลพัฒน์กล่าว

นายพูลพัฒน์กล่าวต่อว่า หากภาคนโยบายต้องการตรึงราคาค่าไฟฟ้าที่หน่วยละ 4.18 บาทเท่าเดิม รัฐต้องหางบประมาณมาเพิ่ม 28,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปได้ใน 2 แนวทาง คือยืดจ่ายหนี้ กฟผ. จาก 0.2723 เหลือ 0.05 สตางค์ แต่จะทำให้มีหนี้คงค้าเพิ่มขึ้นจาก 98,495 ล้านบาทบวก 28,000 ล้านบาท เป็น 126,495 ล้านบาท หรือไปการใช้วิธีนำมูลค่าส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงกับราคาก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บเดือน ก.ย.-ธ.ค.2566 มาใช้ คือตรึงค่าแก๊สในส่วนที่ต้องจ่าย ปตท. และกฟผ. ในฐานะชิปเปอร์ เพื่อมาทดแทนในส่วนของ 28,000 ล้านบาท ซึ่งขึ้นอยู่กับแนวทางของนโยบาย

 “ตอนนี้ยังไม่มีการประกาศอะไรออกมา ต้องรอนโยบายจากภาครัฐ รวมถึงการดูแลกลุ่มเปราะบางที่จะตรึงค่าไฟให้อยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วยด้วย ซึ่งขณะนี้ทั้ง 3 ทางเลือกเป็นการคืนหนี้ให้ กฟผ. ทั้งสิ้น โดยถ้าเลือกแนวทางยอมให้ปรับขึ้นหน่วยละ 6.01 บาท ถือว่าเจ็บแต่จบ จะใช้หนี้ กฟผ.หมดในงวดเดียว และหลังจากนั้นงวดแรก ปี 2568 ก็มีโอกาสที่ค่าเอฟทีจะลดลงหน่วยละ 1.80 บาท ทำให้ค่าไฟลดลงจากหน่วยละ 6.01 เหลือประมาณหน่วยละ 4.20 บาทได้”นายพูลพัฒน์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฟ้องต้นตอหมอคางดำ

สภาทนายความฯ เตรียมฟ้องแพ่งบิ๊กเอกชน-หน่วยงานรัฐ ต้นตอ "เอเลี่ยนสปีชีส์"

‘เนวิน’รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดมิวสิคัลเทิดพระเกียรติ

“เนวิน” รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดเทิดพระเกียรติ 72 พรรษา แสดง แสง สี เสียง มิวสิคัล “ลมหายใจของแผ่นดิน” โดยบุรีรัมย์ออร์เคสตรา แสดงความจงรักภักดี 28-30 ก.ค.2567 สนามช้างอารีนา บุรีรัมย์