ค้านเพิกถอนป่า‘เหมาเข่ง’ กมธ.ยันสอบสิทธิให้ถูกกม.

ภาคประชาชนค้าน “มติ ครม.” เพิกถอนสิทธิ์ที่ดินทับลานแบบ “เหมาเข่ง” ด้าน กมธ.ที่ดินฯ เตรียมเรียกหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าแจง 17  ก.ค.นี้ ย้ำต้องมีการตรวจสอบสิทธิ-เอาผิดผู้ครอบครองโดยมิชอบ “ธรรมนัส” ชี้ปรับปรุงแนวเขตทับลานไม่เกี่ยว ส.ป.ก. อย่าโจมตียกที่ดินให้นายทุน

ที่รัฐสภา วันที่ 11 กรกฎาคม นายพสิษฐ์ เอี๋ยวพานิช นายกสมาคมอุทยานแห่งชาติ พร้อมด้วยนายภานุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเครือข่ายพันธมิตรเพื่อสิ่งแวดล้อม ยื่นหนังสือต่อนายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอคัดค้านกรณีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน

โดยนายภานุเดชกล่าวว่า เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือน มี.ค.2566 ให้เพิกถอนพื้นที่ป่าออกไป แต่ในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมามีการพยายามที่จะนำประเด็นดังกล่าวไปให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เป็นคนดำเนินการอนุมัติเพิกถอนพื้นที่อุทยานใหม่ โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มที่อยู่มาไม่เกินปี 2557 ตามประกาศอุทยานแห่งชาติปี 2562 ได้มีการผ่อนปรนให้สามารถอยู่ในพื้นที่ได้ แต่ก็ยังมีกลุ่มที่มีพื้นที่กว่าแสนไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ในระหว่างการติดตามการดำเนินคดีการตรวจสอบ หลายๆ แปลงอยู่ในระหว่างคำพิพากษาของศาลอยู่ ประเด็นนี้ทำให้เรารู้สึกว่าถ้าเราเหมาเข่งกลุ่มประเด็นปัญหาทั้ง 3 พื้นที่มารวมกัน แล้วเพิกถอนจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จะเป็นลักษณะของการนิรโทษกรรมผู้ที่อาจจะทำผิดในพื้นที่ตรงนี้ และทำให้กระบวนการในการดูแลจัดการพื้นที่อนุรักษ์ได้รับผลกระทบกระเทือนทั่วประเทศ

นายภาณุเดชกล่าวต่อว่า อีกทั้งพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานยังเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ ซึ่งการเพิกถอนพื้นที่จะก่อให้เกิดผลกระทบกับผืนป่าและสัตว์ และคุณค่าความสำคัญของความเป็นมรดกโลกอย่างแน่นอน และก็น่าจะเป็นข้อกังวลที่คณะกรรมการมรดกโลกเองก็มีความห่วงใยอยู่ หากกลไกในการดำเนินการเรื่องเหล่านี้เป็นกลไกที่ไม่ชอบธรรม ก็จะกลายเป็นตัวอย่างกับพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป จึงขอให้ติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงในแนวทางที่ควรจะเป็น

ด้านนายพสิษฐ์กล่าวว่า เนื่องจากในปี 2524 เราได้สำรวจรังวัดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากออกโฉนดอาจจะเกิดการขายให้นายทุนและบุกรุกที่ดินไปเรื่อยๆ ขอให้มีการพิสูจน์สิทธิ์ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ ซึ่งหากทำงานจริง ไม่เห็นแก่ใคร มั่นใจว่าจะได้การพิสูจน์ที่คนได้โฉนดเป็นคนจนจริงๆ ที่สำคัญพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานก็เป็นหนึ่งในพื้นที่มรดกโลก ถ้ามีการเพิกถอนสิทธิ์ก็จะมีการออกข่าวสร้างความเสียหายให้ประเทศ แค่เรื่องเศรษฐกิจก็แย่มากพอแล้ว จึงขอสนับสนุนให้ราษฎรที่ครอบครองที่ดินสามารถครอบครองที่ดินต่อได้

เครือข่ายพันธมิตรสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า เส้นแนวเขตนี้นอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไรแล้ว ยังทำให้มีปัญหาใหม่เพิ่มเติมขึ้นมา เพราะว่าไม่ใช่จะมีแค่ส่วนที่จะเพิกถอนออกไป แต่ยังมีพื้นที่ที่จะถูกผนวกเข้ามารวมกับพื้นที่อุทยานอีก ซึ่งในนี้ก็มีประชาชนถือครองทำกินอยู่แล้ว จากการใช้งบประมาณแผ่นดินทำเป็นป่าชุมชนที่บูรณาการร่วมกัน ไม่สามารถนำมาผนวกเพิ่มได้ นอกจากนี้ ยังมีความห่วงใยในเรื่องการดำเนินการแต่ละกลุ่มปัญหา เพราะบริบทในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน ก็ควรจะมีการบังคับใช้หรือแก้ไขด้วยบริบทที่แตกต่างกันออกไปด้วย จึงไม่สามารถนำทุกปัญหามาใช้มาตรการเดียวกันได้ เพราะจะไม่เกิดความเป็นธรรมกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเลย แล้วก็จะไม่สามารถคลายข้อกังขาของประชาชนทั่วประเทศได้ และในวันที่ 17 ก.ค.นี้ จะมีการเชิญหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงเพื่อให้ข้อมูล อาทิ สคทช., สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.), กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกรมอุทยานฯ

ส่วนนายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะเลขานุการ กมธ. กล่าวว่า กมธ.จะรับมาพิจารณาด้วยความระมัดระวัง เพื่อให้เกิดประโยชน์ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย คือในแง่ของการปกป้องคุ้มครองทรัพยากรไม่ให้ถูกทำลาย และการคุ้มครองสิทธิ์ของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่ง กมธ.เห็นตรงกันกับข้อเรียกร้องของทางภาคประชาชนที่ว่า 'จะต้องไม่เหมาเข่ง'  โดยต้องสแกนส่วนที่เป็นชาวบ้านที่อยู่มาก่อน ซึ่งเขาควรได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายที่มีอยู่ ในกรณีนี้จะมีอยู่ 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่อยู่มาก่อนก็ควรจะได้รับการออกเอกสารสิทธิ ส่วนกลุ่มที่มาอยู่ทีหลังแต่ก่อนปี 2557 ที่มีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองตามนโยบายของรัฐบาล ก็ควรเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองตามนโยบายของรัฐบาล

นายเลาฟั้งกล่าวด้วยว่า ในส่วนของการคุ้มครองพื้นที่มีการบุกรุก ก็จำเป็นต้องมีการตรวจสอบเช่นเดียวกัน ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มนายทุนที่ครอบครองโดยมิชอบ ซึ่งรวมไปถึงการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ กลุ่มนี้ก็จะต้องมีการตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ หรือสิทธิการครอบครอง ที่แม้อาจจะมีการเปลี่ยนมือ แต่ก็จะต้องเป็นการใช้เพื่อการเกษตร หากถือครองผิดเงื่อนไขจะต้องมีการดำเนินการตามกฎหมายยึดคืนมาเป็นของรัฐ  อีกส่วนหนึ่งที่ละเลยไม่ได้คือการมีข้าราชการที่รู้เห็นเป็นใจในการออกเอกสารสิทธิให้แก่กลุ่มนายทุนโดยไม่ชอบ ก็จำเป็นที่จะต้องมีการตรวจสอบด้วยเช่นเดียวกัน

ทางด้าน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกระแส #saveทับลาน ว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับ ส.ป.ก. เรื่องนี้เกิดจากการที่ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการทับซ้อนของแนวเขตที่ดินของรัฐ นำเรื่องร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ต่อมาผู้ตรวจการแผ่นดินมีความเห็นว่าประชาชนได้รับความเดือดร้อนและไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกำหนดแนวเขตที่ดินของรัฐซึ่งทับซ้อนกัน จึงมีคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนวทางการแก้ไขบัญหาให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแก้ไขปรับปรุงแนวเขตให้ถูกต้อง จากนั้นคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) มีมติปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดย สคทช.นำมติเสนอ ครม.ชุดที่แล้ว ซึ่ง ครม.เห็นชอบให้ดำเนินการตามโครงปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4000 (One Map)

สำหรับที่ดินที่จะตัดออกจากแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน 265,000 ไร่ ครม.เห็นชอบให้ส่งมอบให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) มาจัดสรรให้ราษฎรตามกฎหมายปฏิรูปที่ดิน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งเป็นหน่วยงานปฏิบัติเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามขั้นตอนของกฎหมาย ใช่เรื่องที่ ส.ป.ก.ดำเนินการแต่อย่างใด ส่วนการดำเนินการขั้นต่อไป ขอให้เสร็จสิ้นกระบวนการของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก่อน ยืนยันว่าการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินมีหลักเกณฑ์การจำแนกลักษณะพื้นที่เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ รวมทั้งจำแนกคุณสมบัติผู้ครอบครองว่าถูกต้องตามกฎหมายปฏิรูปที่ดินหรือไม่ อย่านำกระแส #saveทับลาน มาโจมตีว่า ส.ป.ก.จะนำที่ดินไปให้นายทุน

นายโชคดี ปรโลกานนท์ หรือลุงโชค อดีตเจ้าหน้าที่มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยฯ ผู้ฟื้นผืนป่าเขาแผงม้า เจ้าของสวนลุงโชค บ้านคลองทุเรียน ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า  การที่ชาวบ้านมาอยู่ก่อนในยุคนั้นทรัพยากรมันมีมากมาย การให้ความรู้กับชุมชนในการใช้ทรัพยากรก็ไม่มีใครบอก การตัดไม้ทำลายป่าเห็นจนเคยชิน เพราะรัฐให้คนนอกชุมชนมาสัมปทานตัดไปจะได้ค่าภาคหลวงเท่าไหร่ชาวบ้านไม่รู้

“หน่วยงานภาครัฐว่าปลูกพืชชนิดนี้จะได้เงินชาวบ้านก็ทำตาม รัฐบอกว่าพื้นที่ตรงนี้ต้องเป็นพื้นที่อุทยานเราก็ยอมประกาศไปก่อนเดี๋ยวค่อยกันหมู่บ้านออก เราก็เชื่อ อยู่ไปค่อยปรับแนวเขตอุทยานเราก็ฟังและทำตาม NGO บอกว่าต้องอนุรักษ์ด้วยการฟื้นฟูป่าเราก็ช่วย ททท.บอกว่าให้เราทำเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเราก็ปลูกเบญจมาศ เกษตรบอกว่าท่องเที่ยวเกษตรจะดีกว่าเราก็ทำตาม หลายคนมานอนบ้านเราแล้วไปยิงหนังสติ๊กที่ผาเก็บตะวันแล้วบอกว่ามาปลูกป่า สรุป เราถูกหลอกมา 43 ปี วันนี้เราถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นผู้บุกรุกป่าไม่ควรที่จะได้รับเอกสารสิทธิ เขาปรามาสไว้ว่าเราไม่มีปัญญาที่จะดูแลเอกสารสิทธินั้นได้ น่าสงสารจังพ่อแม่พี่น้องชาว ต.ไทยสามัคคี ใครจะด่าทอท่านอย่างไรอย่าไปตอบโต้เขาเลย คิดว่าเป็นกรรมของพวกเรา”.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง