วธ.จัดทำจดหมายเหตุเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บันทึกหลักฐานประวัติศาสตร์ชาติ พร้อมหนังสือที่ระลึก 5 เล่ม นำเสนอพระราชกรณียกิจ 10 ด้าน 10 ศิลปินแห่งชาติประพันธ์เผยแพร่พระเกียรติคุณ มหรสพสมโภชยิ่งใหญ่ 11-15 ก.ค. ทร.ชวนชมซ้อมฝีพายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
วันที่ 10 กรกฎาคม 2567 น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือจดหมายเหตุและหนังสือที่ระลึกงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ได้แต่งตั้งคณะกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือจดหมายเหตุและหนังสือที่ระลึกงานเฉลิมพระเกียรติฯ ดำเนินการจัดทำหนังสือจดหมายเหตุและหนังสือที่ระลึกการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ เนื่องในโอกาสมหามงคลนี้
ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้กำหนดจัดทำหนังสือจดหมายเหตุและหนังสือที่ระลึกทั้งหมด 6 เล่ม แบ่งเป็นหนังสือจดหมายเหตุการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 จำนวน 1 เล่ม โดยสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เป็นหนังสือที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานตามธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดแต่โบราณไว้ให้ปรากฏเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของชาติ ในครั้งนี้ ได้รวบรวมกฤตภาคข่าวออนไลน์จากหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ และส่งนักจดหมายเหตุไปสังเกตการณ์การประชุม จดบันทึกการดำเนินงานของคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ รวบรวมเอกสารและภาพถ่ายกิจกรรมที่จัดขึ้นทั่วประเทศ จดบันทึกเหตุการณ์และถ่ายภาพพระราชพิธี รัฐพิธี หรือพิธีที่เกี่ยวเนื่อง เริ่มตั้งแต่การประชุมคณะกรรมการอำนวยการ ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2566 จนเสร็จสิ้นระยะเวลาของโครงการกิจกรรม ประมาณวันที่ 31 ธ.ค.2567 จากนั้นจึงนำข้อมูลมาเรียบเรียงเป็นต้นฉบับตามลำดับเวลาของเหตุการณ์ ซึ่งจะต้องผ่านการตรวจสอบความถูกต้องจากผู้ทรงคุณวุฒิ ผ่านการอนุญาตจากสำนักพระราชวัง แล้วจึงจัดพิมพ์เป็นหนังสือจดหมายเหตุ แจกจ่ายเผยแพร่ตามห้องสมุดหน่วยราชการและโรงเรียนทั่วประเทศ
ในส่วนหนังสือที่ระลึก 5 เล่ม ประกอบด้วยหนังสือ “ทศพิธ ทศมรัช” โดยสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ นำเสนอพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แบ่งเป็น 10 ด้าน โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ และกวีที่เป็นศิลปินแห่งชาติ 10 คน ร่วมแต่งคำประพันธ์เป็นโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย เป็นร้อยกรองทั้งเล่ม และมีภาพประกอบ เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณ, หนังสือหกรอบนักษัตร ใต้ร่มฉัตรพระภูมินทร์ : ประมวลข่าวจากหนังสือพิมพ์พุทธศักราช 2495-2567 โดยสำนักหอสมุดแห่งชาติ รวบรวมข่าวพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระมหากรุณาธิคุณ พระอัจฉริยภาพด้านต่างๆ รวมถึงโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บทความเฉลิมพระเกียรติและสิ่งอนุสรณ์ ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ คัดกรองร้อยเรียงเรื่องราวให้ต่อเนื่องกันไปในแต่ละรอบนักษัตรจัดพิมพ์เป็นหนังสือ, หนังสือที่ระลึกพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ โดยสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย, หนังสือที่ระลึกในการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค โดยกองทัพเรือ รวบรวมข้อมูลการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค และหนังสือที่ระลึกรวบรวมผลการดำเนินงานของกรุงเทพมหานคร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยกรุงเทพมหานคร ระยะเวลาในการจัดทำหนังสือที่ระลึกแต่ละรายการจะแล้วเสร็จ ภายหลังจากสิ้นสุดแต่ละกิจกรรม เมื่อจัดพิมพ์หนังสือแล้วจะมอบให้แก่ห้องสมุด หน่วยงานราชการ และสถาบันการศึกษา รวมทั้งจัดทำเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-book) เผยแพร่ทางออนไลน์ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้สะดวก
น.ส.สุดาวรรณกล่าวว่า วธ.กำหนดจัดงานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ระหว่างวันที่ 11-15 ก.ค.2567 ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกร กำหนดพิธีเปิดงานวันที่ 11 ก.ค. เวลา 19.30 น. ณ ท้องสนามหลวง ก่อนพิธีเปิดเวลา 17.30 น. มีการเดินริ้วขบวนเฉลิมพระเกียรติฯ 26 ขบวน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมขบวนกว่า 3,000 คน และการแสดงโดรนเฉลิมพระเกียรติ 1,200 ลำ แปรขบวนแสดงเรื่องพระราชกรณียกิจในหลวง ชุด "รวมใจภักดิ์ ถวายพระพร" ขอเชิญชวนประชาชนร่วมงาน
วันเดียวกัน พล.ร.ท.วิจิตร ตันประภา รองเสนาธิการทหารเรือ สายงานกำลังพล ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดเตรียมความพร้อมขบวนเรือพระราชพิธี (ประธาน คตร.) ตรวจเยี่ยมการฝึกกำลังพลฝีพายในแม่น้ำเจ้าพระยา ณ จุดรวมพลใต้สะพานพระราม 8 (ฝั่งธนบุรี) ทั้งนี้ การฝึกซ้อมของกำลังพลฝีพายจากทุกพื้นที่ รวม 2,200 นาย จะเข้ารับการฝึกในเรือในแม่น้ำช่วง 8-30 ก.ค.2567 (15 วันหลัง) โดย 2 พื้นที่หลักคือ บริเวณสะพานพระราม 8 และอู่ทหารเรือธนบุรี โดยกองทัพเรือจะเปิดให้ประชาชนเข้าชมการฝึกซ้อมของกำลังพลฝีพายและเรือพระนั่ง ในวันที่ 8- 30 ก.ค. (เฉพาะวันราชการ) สามารถเข้าชมการฝึกซ้อมของกำลังพลฝีพาย ในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณใต้สะพานพระราม 8 ระหว่างเวลา 09.00-15.30 น., สามารถเข้าชมเรือพระนั่งสุพรรณหงส์, เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9, เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ได้ที่อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ ถนนอรุณอมรินทร์ ในวันและเวลาราชการ ระหว่างเวลา 08.30-16.30 น.
ผู้ที่มีความประสงค์จะชมการฝึกซ้อมฝีพายเรือพระที่นั่ง เข้าชมได้ระหว่างวันที่ 8-12 ก.ค. วันที่ 15-19 ก.ค. และ 23-26 ก.ค. ตั้งแต่เวลา 14.00-15.30 น. ในส่วนของการฝึกซ้อมกำลังพลฝีพายเป็นรูปขบวน จะเริ่มซ้อมย่อยเป็นรูปขบวนเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาครั้งแรกวันที่ 1 ส.ค. สามารถรับชมได้ตลอดสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 8-วัดอรุณราชวราราม ตั้งแต่เวลา 15.00-18.00 น. ส่วนซ้อมใหญ่ วันที่ 15 และ 22 ต.ค. และซ้อมเก็บความเรียบร้อย วันที่ 24 ต.ค. โดยพระราชพิธีกำหนดจัดขึ้นวันที่ 27 ต.ค.2567.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
สั่งประหารชีวิต ‘แอม ไซยาไนด์’ คุกผัวเก่า-ทนาย
ศาลพิพากษาประหารชีวิต "แอม ไซยาไนด์" วางยาฆ่าก้อย พร้อมชดใช้ 2.3 ล้าน