พท.ผวาเสียงหาย! ครม.ถกวุ่นชาวนายี้ปุ๋ยคนละครึ่งเลิกแจกไร่ละพัน

"เศรษฐา" เต้น! โดนเกษตรกรยี้โครงการ "ปุ๋ยคนละครึ่ง" จี้ถามกลางวงประชุม ครม. "เกรียง" หวั่นพับโครงการไร่ละ 1 พันทำเสียฐานเสียงหนุนรัฐบาล "ธรรมนัส" แจงยิบคนละส่วน  ยันปุ๋ยจะทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น "ภูมิธรรม" เห็นด้วยช่วยประหยัดงบประมาณปีละกว่า 5 หมื่นล้าน สั่งลุยเดินหน้าปุ๋ยคนละครึ่งต่อ "ชาวบางระกำ" ร้องค้านสร้างภาระชาวนา "เสี่ยอ้วน" ระบุ 15 ก.ค.รายละเอียด "ดิจิทัลวอลเล็ต" ชัดเจน มั่นใจใช้ทันปลายปีนี้ "ครม." ไฟเขียว พ.ร.บ.งบฯ กลางปีเพิ่มเติม  1.22 แสนล้าน

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 9 ก.ค. เวลา 12.15 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า เรื่องสุดท้ายในการประชุม ครม. ได้พูดคุยกันและเป็นเหตุให้การประชุมเสร็จช้า เนื่องจาก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้มีการพูดคุยถึงรายละเอียดในโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง โดยแจ้งว่าโครงการชดเชยเยียวยาไร่ละ 1,000 บาท กับโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง เป็นคนละโครงการกัน ซึ่งโครงการชดเชยเยียวยา 1,000 บาท มีมาสมัยรัฐบาลที่แล้ว ที่เติมให้ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ เป็นโครงการช่วยเหลือในเหตุการณ์วิกฤตปีที่ผ่านมา ที่ราคาข้าวอยู่ประมาณ 7,000-8,000 บาทต่อตัน แต่ปัจจุบันราคาข้าวดีขึ้นแล้ว จึงทำให้เกิดโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง เพื่อลดต้นทุนของเกษตรกรชาวนา และเพิ่มจำนวนผลผลิตต่อไร่ของข้าว ซึ่งเป็นโครงการที่มีความยั่งยืนและใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า เป็นสิ่งที่พูดคุยกับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องเกษตรกรอย่างแท้จริง โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะชี้แจงรายละเอียดต่อไป

"อย่าลืมนะครับว่าไม่ใช่แค่ราคาข้าวต่อตันอย่างเดียวที่มีความสำคัญ ซึ่งเรามั่นใจว่าปีนี้ราคาข้าวจะดี จากการที่เราใช้เกษตรแม่นยำ ใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องตามการวิเคราะห์ดินโดยใช้หมอดิน ซึ่งมีอยู่หลายหมื่นคนทั่วประเทศ ทำให้เราทราบถึงความต้องการของปุ๋ยที่ถูกต้อง ซึ่งจะมีการสำรวจหน้าดินว่าขาดแคลนอะไรก่อน ตรงนี้ถึงมีความสำคัญ" นายเศรษฐากล่าว

ถามว่า ระหว่างทางที่ปุ๋ยจะถึงมือเกษตรกร มีการมองถึงอาจมีการทุจริตเกิดขึ้น นายกฯ กล่าวว่า  เรื่องนี้ได้มีการพูดคุยกันอย่างชัดเจน เรื่องการทุจริตประพฤติมิชอบต้องไม่ใช่ว่าตกอยู่ในมือผู้ค้าปุ๋ยแค่ 2-3 ราย ซึ่งทางกระทรวงเกษตรฯ พยายามหาผู้ค้าปุ๋ยมาประมาณ 40-50 ราย เราเน้นย้ำเรื่องการทุจริตด้วย

ซักว่ามีการวิจารณ์ถึงการที่รัฐบาลขุดโครงการปุ๋ยคนละครึ่งมา แล้วไปยกเลิกโครงการเยียวยา  1,000 บาท ในกรณีชาวนาเกิดวิกฤตน้ำท่วมน้ำแล้ง นายกฯ กล่าวว่า ตรงนี้เป็นสองเรื่องที่ต้องแยกกัน  โครงการปุ๋ยคนละครึ่งเป็นเรื่องของการเพิ่มผลผลิต ให้ความแม่นยำกับการปลูกข้าว แต่กรณีเกิดวิกฤต แน่นอนต้องพิจารณาตามความเหมาะสม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงท้ายการประชุม ครม. ร.อ.ธรรมนัสได้หารือในที่ประชุมถึงโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง หลังจากที่รัฐบาลมีมติในการประชุมครั้งที่ผ่านมา จนถูกวิพากษ์วิจารณ์และโยงว่ายกเลิกโครงการเยียวยาชาวนา 1,000 บาทต่อไร่ ซึ่งใช้เวลาพูดคุยนานกว่า 30 นาที ก่อนนายกฯ จะลงมาแถลงผลการประชุม โดยหลังการแถลงข่าว ร.อ.ธรรมนัสได้เดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าไปพร้อมกับนายกฯ

ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัสให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากนี้ทางกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมการข้าว ได้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ให้ดำเนินการตามกระบวนการต่อ ฉะนั้นถามว่าพี่น้องชาวนาต้องการหรือไม่ ซึ่ง ธ.ก.ส.และกรมส่งเสริมการเกษตรจะเปิดโอกาสให้เกษตรกรลงทะเบียนว่าสนใจโครงการนี้หรือไม่ ต้องดูตรงนี้ ไม่ใช่ไปบังคับยัดปุ๋ยให้ชาวบ้าน มันไม่ใช่ การสื่อสารต้องทำให้เข้าใจว่าเรื่องนี้เกษตรกรและชาวนาต้องลงทะเบียนเองว่ายินดีจะเข้าร่วมโครงการหรือไม่ ตรงนี้ต้องแยก บางคนไปวิพากษ์วิจารณ์มันเสียหาย โดยบอกว่าเป็นการเพิ่มภาระให้เกษตรกร ยืนยันหากเกษตรกรชาวนาไม่เข้าร่วมก็ไม่ได้บังคับ

รบ.เดินหน้าปุ๋ยคนละครึ่ง

"เมื่อเกษตรกรชาวนาลงทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ก็จะต้องไปเข้าแอปของ ธ.ก.ส.ด้วย สิ่งสำคัญที่มองกันว่าล็อกสเปกปุ๋ย ล็อกสูตรปุ๋ยและบริษัทหรือไม่ ตรงนี้บอกเลยว่าไม่ แต่เป็นการเปิดโอกาสผู้ประกอบการให้ทุกบริษัทและทุกยี่ห้อเข้าร่วมโครงการ ไม่ได้ไปล็อกสเปกสูตรนั้นสูตรนี้ เป็นการเปิดโอกาสทั้งหมด ขอให้เข้าใจตรงนี้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นการพัฒนาคุณภาพผลิตผลการเกษตรประเภทข้าว" ร.อ.ธรรมนัสกล่าว

ถามว่า หากชาวนาไม่ต้องการปุ๋ย แต่ต้องการไร่ละ 1,000 บาท รมว.เกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า  โครงการนี้เป็นโครงการของรัฐ เอาไว้ใช้เมื่อเกษตรกรมีปัญหาจากการปลูกข้าวที่ไม่มีคุณภาพ  ซึ่งเกิดจากน้ำแล้งหรือน้ำท่วม ส่งผลให้ข้าวเกิดความเสียหาย รัฐต้องเข้าไปเยียวยา ขณะเดียวกันถ้าราคาข้าวปีไหนที่ตกต่ำมาก ตันละ 7,000-8,000 บาท ชาวนาอยู่ไม่ได้ เพราะต้นทุนการผลิตสูงกว่า รัฐก็จะเข้าไปสนับสนุน โดยดูแลค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาท

"รัฐบาลนี้ประกาศชัดเจน เราจะต้องพัฒนาคุณภาพข้าว เพิ่มปริมาณต่อไร่ และราคาข้าวต้องสูง ไม่ควรจะต่ำกว่า 1.1 หมื่นบาท ถึง 1.5 หมื่นบาทต่อตัน ซึ่งแล้วแต่ชนิดพันธุ์ข้าว และเมื่อข้าวราคาสูง ถามว่ารัฐจะต้องเข้าไปสนับสนุนอีกหรือ   แต่ถ้าข้าวราคาต่ำ รัฐต้องเข้าไปสนับสนุนอยู่แล้ว  ตรงนี้มันคนละเรื่องกัน ต้องแยก ขอยืนยันว่าไร่ละ 1,000 บาทนั้นรัฐยังสนับสนุน หากเกิดวิกฤตกับพี่น้องชาวนาโครงการนี้ยังมีอยู่ ไม่ได้ยกเลิก" รมว.เกษตรและสหกรณ์กล่าว

มีรายงานว่า ประเด็นปุ๋ยคนละครึ่ง นายกฯ ได้สอบถามขึ้นมากลางวงประชุม ครม.ถึงกรณีโครงการของรัฐบาลที่จะช่วยเหลือชาวนาผ่านโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง หลังพิจารณาวาระอื่นเสร็จสิ้น โดยหลังจากที่นายกฯ ได้ลงพื้นที่ในภาคอีสาน ได้ถูกชาวบ้านและ สส.ในพื้นที่แสดงความไม่เห็นด้วยถึงโครงการปุ๋ยคนละครึ่งว่าช่วยเหลือชาวนาได้ไม่เต็มที่ เมื่อเทียบกับโครงการช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนไม่เกิน 20 ไร่ ซึ่งชาวนาจะได้เงินถึง 20,000 บาทต่อครัวเรือน ขณะที่โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง จะได้เงินแค่ 10,000 บาทต่อครัวเรือนเท่านั้น

โดยรัฐมนตรีหลายคนแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งฝ่ายที่เห็นด้วยกับโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง  นำโดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์, นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรฯ เป็นต้น ได้ชี้แจงถึงข้อดีการโครงการนี้ว่า จะประหยัดงบประมาณได้ปีละประมาณกว่า 5 หมื่นล้าน ที่จะไปช่วยการจ่ายชาวนาไร่ละ 1,000 บาท อีกทั้งยังช่วยให้เงินถึงมือเกษตรกรได้มากกว่าโครงการเดิมด้วย พร้อมต้องมองว่าปัจจุบันราคาข้าวได้ปรับตัวขึ้นมาดีอย่างต่อเนื่อง จึงไม่มีความจำเป็นในการใช้เงินสนับสนุนในโครงการเดิม แต่ถ้าหากมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนในการช่วยเหลือ เช่น ภัยแล้งหรือน้ำท่วม ก็พร้อมเข้ามาช่วยเหลือทันที

ขณะเดียวกัน มีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ เช่น นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย แสดงความเห็นว่าการยกเลิกโครงการไร่ละ 1,000 บาท จะทำให้เสียฐานเสียงประชาชนที่สนับสนุนรัฐบาล  ซึ่งเปรียบเหมือนกำแพงคอยปกป้องเรา ให้กลับมาโจมตีเราภายหลังได้ พร้อมทั้งขอเรียกร้องให้เดินทางทั้งสองแนวทางควบคู่กันไป

"แต่สุดท้ายแล้วที่ประชุมก็เห็นด้วยตามแนวทางให้ยกเลิกไร่ละ 1,000 บาท และใช้แนวทางปุ๋ยคนละครึ่งแทน ขณะที่นายกรัฐมนตรีก็มีความเห็นสอดคล้องกับแนวทางสนับสนุนปุ๋ยคนละครึ่ง เพราะจะช่วยลดภาระงบประมาณรัฐที่จะเข้าไปช่วยสนับสนุนลดลงมากกว่าเดิม" แหล่งข่าวระบุ

ชาวบางระกำโวยสร้างภาระ

ที่พรรคเพื่อไทย เวลา 14.30 น. มีการประชุมพรรค นำโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรค, นายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรค มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์, นายวิสุทธิ์  ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ และประธาน สส.พรรคเพื่อไทย ทำหน้าที่ดำเนินการประชุม โดยการประชุมวันนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรัฐมนตรีของพรรค อาทิ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม, นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย,  นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เข้าร่วมประชุมด้วย

โดยช่วงแรกของการประชุม​ สส.พื้นที่ภาคเหนือ มีการพูดถึงการแก้ไขราคาพืชผลทางการเกษตร​ โดยเฉพาะลำไย และมีการสอบถามเรื่องมาตรการปุ๋ยคนละครึ่ง นายภูมิธรรมได้ทำหน้าที่เป็นผู้ชี้แจงเรื่องดังกล่าวจนเป็นที่พอใจของบรรดา สส. โดยนายเศรษฐาได้กล่าวหลังจากที่นายภูมิธรรมชี้แจงว่า ทุกอย่างเป็นอย่างที่นายภูมิธรรมพูด รัฐบาลพร้อมรับฟังเพื่อนำข้อคิดเห็นไปสู่การแก้ปัญหา และถือว่าเราต้องช่วยกัน

จากนั้นนายภูมิธรรมให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า ในที่ประชุมมีการสอบถามเกี่ยวกับมาตรการปุ๋ยคนละครึ่งจะมาแทนมาตรการช่วยเหลือไร่ละ 1,000 หรือไม่ ซึ่งตนได้ชี้แจงว่าเราเข้าใจว่าประชาชนอยากได้เงินให้ถึงมือ แต่เรื่องนี้เป็นคนละเรื่องกัน เพราะเรื่องปุ๋ยคนละครึ่งเป็นมาตรการเพิ่มผลผลิตให้ประชาชนให้มีผลผลิตต่อไร่มากขึ้น มีการให้ปุ๋ยตรงกับดินที่ใช้

"มาตรการไร่ละพันนั้นเราไม่ได้ตัดทิ้ง แต่มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการช่วยเหลือประชาชน หากราคาข้าวตกต่ำในช่วงรัฐบาลก่อน ราคาข้าวตกต่ำ ได้รายได้เฉลี่ยไร่ละ 7,000 แต่ตอนนี้ราคาข้าวสูงขึ้น ได้ไร่ละ 1-2 หมื่นบาท สำหรับมาตรการช่วยเหลือนั้น จะเกิดขึ้นได้หลังจากตอนรู้ราคาขาย รู้ต้นทุน แต่ที่สุดหากประชาชนยังขาดทุนก็ยังสามารถออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนอย่างไร่ละ 1,000 บาทได้ ซึ่งเมื่อชี้แจงตรงนี้ไปแล้ว สส.ค่อนข้างเข้าใจ แต่ก็ยังอยากได้ไร่ละพันอยู่ จึงได้ย้ำไปว่าถ้าประชาชนเดือดร้อน มาตรการช่วยเหลือประชาชนยังคงมีอยู่" นายภูมิธรรมกล่าว

ที่หน้าศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก กลุ่มเกษตรกรชาวนาจังหวัดพิษณุโลก นำโดยนายสมยงค์ จ้อยทอง ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอบางระกำ และสมาชิกสภาเกษตรจังหวัดพิษณุโลก แกนนำชาวนา อำเภอบางระกำ และตำบลงิ้วงาม อำเภอเมืองจังหวัดพิษณุโลก จำนวนกว่า 40 คน เดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ว่าฯ พิษณุโลก และประธานสภาเกษตรสหกรณ์จังหวัดพิษณุโลก เพื่อเรียกร้องสิทธิ์ไม่เห็นด้วยกับโครงการปุ๋ยคนละครึ่งของรัฐบาล 

  นายสมยงค์กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับโครงการคนละครึ่ง โดยเห็นด้วยกับโครงการเดิมที่ทางรัฐบาลส่งเงินช่วยเหลือผ่านชาวนาเข้าสู่บัญชีธนาคาร ธ.ก.ส.ให้กับชาวนาโดยตรง ซึ่งชาวนาใช้เงินนี้เพื่อลดต้นทุนในการผลิต แต่ถ้าเป็นการกำหนดปุ๋ยแบบนี้ ชาวนาต้องไปซื้อปุ๋ยที่ร้านขายปุ๋ย ต้องหาเงินไปเติม ซึ่งปัจจุบันปุ๋ยแพง ลูกละ 500 บาทไม่มีอยู่แล้ว ชาวนาก็ต้องหาเงินไปเติมเพื่อจะได้ปุ๋ยออกมาใช้ ซึ่งปุ๋ยที่นำมาใช้จะตรงสเปกกับที่ชาวนาใช้หรือไม่ จึงเป็นที่มาที่ทำให้ชาวนาอำเภอบางระกำออกมาเรียกร้องในครั้งนี้

"ช่วงนี้เราก็ทราบดีว่าราคาข้าวพออยู่ได้ รัฐบาลจุนเจือเข้ามาอีก ชาวนาจะได้ลืมตาอ้าปากได้ ไม่เช่นนั้นชาวนาจะต้องอยู่แบบนี้ ถ้ารัฐบาลทอดทิ้ง นำโครงการนี้เข้ามา ผมไม่ได้มองว่าเป็นการช่วยเหลือ มองว่าเป็นการทำลายชาวนาโดยตรง เพราะจะต้องกำหนดกฎเกณฑ์ให้ชาวนาต้องหาเงินมาเติมในการซื้อปุ๋ย และเชื่อว่าหลายจังหวัดก็จะเห็นด้วยกับเกษตรกรอำเภอบางระกำที่มาเรียกร้อง คือของดีที่ดีอยู่แล้วก็ควรทำต่อไป รัฐบาลอย่าคิดว่าอันนี้เงินของโครงการของรัฐบาลเก่าไม่เอา  เอาโครงการใหม่เข้ามา ต้องมองว่าเกษตรกรได้ประโยชน์จากโครงการด้วย" ปธ.ชมรมกำนันผู้ใหญ่อำเภอบางระกำระบุ

วันเดียวกัน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้จะขึ้นเป็น 600 บาทภายใน 4 ปี ผ่านมา 1 ปีแล้วคิดว่าแนวโน้มจะไปถึงหรือไม่ว่า ก็พยายามอยู่ เมื่อสักครู่ก็ได้คุยกับนายพิพัฒน์  รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ซึ่งยืนยันว่า 400 บาททำได้ แต่คงยังไม่ไปถึง 600 บาททันที

15 ก.ค.เงินดิจิทัลชัดเจน

ส่วนนายภูมิธรรม เวชชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทว่า ในวันที่ 15 ก.ค. จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่มีนายกฯ เป็นประธาน โดยจะมีการพิจารณารายละเอียดทั้งหมด ทั้งรายละเอียดของสินค้าที่จะกำหนดให้มีการซื้อสินค้าใดได้หรือไม่ โดยการกำหนดเป็นสินค้าที่เข้าร่วมโครงการไม่ได้ (Negative list) วันลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ รวมถึงการเริ่มต้นโครงการโดยการโอนเงินให้ประชาชนใช้จ่ายได้ทันไตรมาสที่สุดท้ายของปีนี้

"ส่วนจะเป็นวันเวลาใดนั้น ยังระบุไม่ชัดเจน แต่ก็อยู่ใน 3 เดือนนี้ (ตุลาคม-ธันวาคม) เพื่อให้คนทำงานสามารถทำงานได้ยืดเวลาได้ หากครบแล้วขยับไป แต่ถ้าหากทำไม่ได้ตามเวลาที่กำหนด ก็จะมีปัญหาอีก หักค่าแรงแล้วทำไม่ได้ก็จะเป็นประเด็นดรามาอีก เพราะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้เป็นขอบเขตที่พอสมควร" นายภูมิธรรมกล่าว

ถามถึงแหล่งเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะต้องรอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.หรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ได้ส่งรายละเอียดไปตั้งเริ่มโครงการแล้ว ขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกากำลังพิจารณาอยู่ โดยในวันที่ 15 ก.ค.นี้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในรายละเอียดของทุกอย่าง ก่อนที่นายกฯ จะแถลงในวันที่ 24 ก.ค. หลังจากนั้นจะนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในวันที่ 30 ต่อไป

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง  กล่าวถึงการถามความเห็นกฤษฎีกาประเด็นใช้งบจาก ธ.ก.ส.ในโครงการดิจิทัลฯ ว่า งบในส่วนของ ธ.ก.ส.ที่จะใช้เป็นงบประมาณปี 68 จำเป็นต้องรอให้ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ผ่านก่อน

นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า รัฐบาลยังไม่ได้ส่งเรื่องการใช้งบประมาณจาก ธ.ก.ส.ใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมา เข้าใจว่าคงต้องรอให้เรื่องเรียบร้อยก่อน อย่างไรก็ดี หากเป็นงบประมาณปกติก็ไม่ต้องถาม ให้บริหารตามปกติไป

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุม ครม.ว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว พร้อมเอกสารประกอบงบประมาณ และให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป และมีมติเห็นชอบให้กำหนดจำนวนคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 พ.ศ. .... จำนวน 32 คน

โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เป็นจำนวนไม่เกิน 122,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ โดยประมาณการเงินที่พึงได้มาสำหรับจ่ายตามงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จากภาษีและรายได้อื่นโดยเป็นแหล่งเงินจากการจัดเก็บรายได้ที่เดิมไม่ได้กำหนดไว้ในประมาณการจำนวน 10,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 112,000 ล้านบาท จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติมาเพื่อดำเนินการ

 ทั้งนี้ สภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วาระที่ 1 ในวันที่ 17 ก.ค.2567 ก่อนพิจารณาต่อในวาระที่ 2 ในวันที่ 31 ก.ค.-1 ส.ค.2567 และเสนอให้วุฒิสภา พิจารณาต่อตามขั้นตอน 6 ส.ค. โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไปในวันที่ 13 ส.ค.นี้

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์ว่า  ครม.เห็นชอบตามความเห็นสำนักงบประมาณ ที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอปรับอัตราเงินหนุนสมทบเงินเดือนครูจาก 15,000 บาท เป็น 18,000 บาท โดยทยอยปรับภายในระยะเวลา 2 ปี รวมถึงการอุดหนุนเงินเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนขนาดเล็กที่มีนักเรียนไม่เกิน 200 คน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'บอร์ดดิจิทัลวอลเล็ต' เคาะแหล่งที่มาเงิน 4.5 แสนล้าน ไม่ง้อ ธ.ก.ส. ชง ครม. 23 ก.ค.

'บอร์ดดิจิทัลวอลเล็ต' เคาะงบ 4.5 แสนล้าน แจก 45 ล้านคน ตัดงบ ธ.ก.ส. ชง ครม. สัปดาห์หน้า แถลงใหญ่ 24 ก.ค. ยันลงทะเบียนไตรมาส 3 โอนเงินไตรมาส 4