นิดโยนบาปรัฐบาลก่อน บี้อุทยานเร่งแก้ทับลาน

“เศรษฐา” โยนบาปพื้นที่ทับลาน  บอกเป็นฝีมือคนในป่ารัฐบาลที่แล้ว ท่องคาถาทุกอย่างทำตามกฎหมาย “พัชรวาท” แจงอยู่ในช่วงประชาพิจารณ์ สั่ง 3 ข้อด่วนให้กรมอุทยานฯ เร่งจัดการ “ธรรมนัส” ชิ่งชี้ยังไม่ถึงเวลาของ ส.ป.ก.  ระบุอย่าเหมารวม

เมื่อวันอังคารที่ 9 ก.ค. นายเศรษฐา ทวีสิน  นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีปัญหาข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนในอำเภอทับลาน จังหวัดนครราชสีมา เรื่องพื้นที่อนุรักษ์กับพื้นที่ทำกินของประชาชนว่า เรื่องนี้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้ชี้แจงไปแล้ว เรื่องนี้เป็นมติจากรัฐบาลที่แล้ว ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกฯ เคยกำกับดูแล เป็นเรื่องของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ที่ต้องไปตรวจสอบข้อเท็จจริง และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สิ่งสำคัญต้องรับฟังความคิดเห็นจากพี่น้องประชาชนก่อนจะเพิกถอน ซึ่งมีหลายกระบวนการที่ต้องดำเนินการตามกระบวนการกฎหมาย และนำเสนอ ครม.ต่อไป

เมื่อถามว่า สังคมอ่อนไหวกับข่าวที่มีนายทุนเข้าไปครอบครองพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว นายกฯ  กล่าวว่า ต้องเป็นไปตามกฎหมาย หากจะมาทำอย่างนั้นก็ไม่ได้ เข้าใจว่าพื้นที่ทับลานมีประชาชนที่เข้าไปอยู่กันอยู่แล้ว

ถามว่า จำเป็นต้องยกเลิกมติ ครม.ปี 2566 หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ยังไม่มี อยู่ระหว่างการศึกษา ต้องดูให้ครบขั้นตอนก่อน และเรื่องของวันแมปก็เป็นส่วนสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาตรงนี้ด้วย

ขณะที่ก่อนประชุม ครม. พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.ทส. กล่าวในเรื่องนี้ว่า เรื่องอยู่ระหว่างทำประชาพิจารณ์ ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 12 ก.ค.นี้ จากนั้นจะรวบรวมส่งเรื่องให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชพิจารณา และดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในภายใน 30 วัน โดยที่ดินของชาวบ้านในขณะนี้มีประมาณ 5 หมื่นไร่ ที่เราจะดูแลชาวบ้านเป็นหลักก่อน ส่วนที่ดินทั้งหมดมีประมาณ 2.6 แสนไร่

เมื่อถามถึงกระแสคัดค้านของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการนำพื้นที่อุทยานดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ เพราะอาจเอื้อนายทุน พล.ต.อ.พัชรวาทกล่าวว่า เรารับฟังทุกเสียง เมื่อมีกระแสคัดค้านเราก็รับฟัง และนำมาพิจารณา

ด้านนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นปัญหามาเป็นเวลา 40 ปี นับตั้งแต่ปี 2524 ซึ่งรัฐบาลพยายามแก้ปัญหาอยู่ และพื้นที่ที่มีประชาชนอยู่อาศัยให้คงสภาพเป็นที่ดินของรัฐ และที่ดิน ส.ป.ก.ยังถือเป็นที่ดินของรัฐอยู่ ใครใช้ประโยชน์จะต้องมีคุณสมบัติ หากคุณสมบัติไม่ถูกต้องจะถูกนำที่ดินกลับคืน ส่วนบุคคลใดที่ถูกดำเนินคดีในพื้นที่ดังกล่าวนั้น จะไม่ได้รับการยกเว้น

พล.ต.อ.พัชรวาทให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า ได้ให้นโยบายให้กรมอุทยานฯ ดำเนินการเร่งด่วนคือ 1.ให้พิจารณาสิทธิ์ชาวบ้านในการถือครองที่ดิน ส.ป.ก.ที่ทำกิน ต้องไม่มีนายทุนนักการเมืองถือครองเด็ดขาด พิสูจน์สิทธิ์ให้ชัดเจน 2.ให้ความเป็นธรรมชาวบ้านที่อยู่มาดั้งเดิมกว่า 20 ปี เพื่อให้ได้รับสิทธิ์ที่ดินอย่างถูกต้องเป็นธรรม ไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน คาดว่ามีประมาณ 5 หมื่นไร่ และ 3.การจัดสรรพื้นที่ให้ชาวบ้านทำกิน ต้องไม่ตัดผืนป่าอุดมสมบูรณ์ ห้ามตัดพื้นที่ต้นน้ำ หรือที่มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ ไม่อนุญาตให้แบ่งแยกออกไป เพราะต้องรักษาผืนป่าไว้อาจพิจารณาตัดแบ่งเฉพาะที่ประชาชนอาศัยและทำกินอยู่ก่อนแล้วเท่านั้น ซึ่งการดำเนินการทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย

ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขั้นตอนขณะนี้ไม่อยู่ในส่วนของ กษ. โดยที่ผ่านมาทุกเรื่องของ กษ.อยู่ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติทั้งหมด กรณีอุทยานแห่งชาติทับลาน เกิดขึ้นในรัฐบาลหลายยุค  แต่มาสรุปต้นปี 2566 ในรัฐบาลยุคที่แล้ว เรื่องการปรับแนวเขตปี 2543 โดยหลังจากที่ ครม.เห็นชอบ ก็เป็นเรื่องที่ ทส.ต้องไปดำเนินการ และขณะนี้ก็มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ขอให้เข้าใจว่าเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดปัจจุบัน อย่านำมาผสมผสานจนเข้าใจผิด ในฐานะที่กำกับดูแล ส.ป.ก. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับนโยบายจาก สคทช. หาก สคทช.เห็นชอบก็จะนำเสนอต่อ ครม. และเมื่อ ครม.เห็นชอบให้ ส.ป.ก.นำไปจัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกรทำกินก็จะต้องนำไปปฏิบัติ ทั้งนี้ ขอให้เข้าใจตรงนี้ เพราะเห็นสื่อบางสำนักไปโจมตี ส.ป.ก. ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหาย

เมื่อถามว่า ที่ดินที่มีปัญหาที่อุทยานแห่งชาติทับลานมีปัญหาคาบเกี่ยวกับบางรีสอร์ตที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เคยไปจัดสัมมนาเมื่อปี 2562 และต่อมาก็มีมติ ครม. ร.อ.ธรรมนัสปฏิเสธว่าไม่ทราบเรื่องนี้

ถามต่อว่า จำนวนที่ดินที่ทับซ้อนประมาณ 150,000 ไร่ ในจำนวนนี้พบว่ามีของนายทุนและชาวบ้านนั้น ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า ที่ดินเหล่านี้กรมอุทยานฯ มีคณะกรรมการตรวจสอบ และจำแนกชัดเจนว่าตรงไหนที่ประชาชนร้องเรียนมา ไม่ใช่เหมารวมทั้งหมด จนนำไปสู่การประชุมของคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน (คนช.) ย้ำว่าต้องมีการจำแนกให้ชัดเจนถึงแนวเขตว่าตรงไหนควรอนุรักษ์เป็นป่า ตรงไหนที่ชาวบ้านอยู่แล้ว หลายคนที่ออกมานำเสนอก็มีข้อมูลที่ถูกต้อง เพียงแต่ต้องเข้าใจก่อนว่ากรณีนี้เป็นการแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างรัฐกับประชาชน เพราะฉะนั้นขอให้ใจเย็นๆ เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนการทำประชาวิจารณ์อยู่ 

เมื่อถามอีกว่า ที่หลายคนกังวลใจว่าหากมีการออกแนวเขตจะเป็นการนิรโทษกรรมนายทุนทั้งหมด ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า ต้องจำแนกให้ชัดเจนว่าอะไรคือกลุ่มทุน อะไรคือเกษตรกร และนี่ไม่ใช่การงัดข้อกันระหว่าง กษ.กับ ทส. เพราะเรื่องนี้เราคุยกันตลอด และได้หารือกันกับทุกฝ่าย ทั้ง รมว.ทส.และปลัด ทส.ก็ไม่มีปัญหาอะไร และยังไม่ถึงกระบวนการที่ ส.ป.ก.จะเข้าไปดำเนินการ

ส่วนนายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ข้อมูลต่างๆ ยังต้องมีกระบวนการในการพิสูจน์และตรวจสอบอีก โดย กมธ.ที่ดินฯ จะบรรจุเรื่องนี้เข้าสู่วาระการประชุมในวันที่ 10 ก.ค.นี้ เพื่อขอมติที่ประชุมในการบรรจุวาระกรณีป่าทับลานเข้าสู่การพิจารณาในวันที่ 17 ก.ค. ซึ่งการประชุมของ กมธ.จะนำข้อมูลในส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมอุทยานฯ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และ ส.ป.ก. หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาประกอบการพิจารณา เพื่อให้เกิดความกระจ่างกับสังคม และจะแจ้งผลการพิจารณาให้ประชาชนรับทราบต่อไป

เมื่อถามว่า โดยหลักการแล้วพรรคก้าวไกลมีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร นายพูนศักดิ์กล่าวว่า คิดว่าในการบริหารจัดการพื้นที่ป่า โดยเฉพาะในเขตพื้นที่อุทยานฯ ทับลาน เราต้องมองแต่ละบริบทแตกต่างกันออกไป ในเขตพื้นที่ทับลานมีประชาชน 3 กลุ่มที่ทับซ้อนกันอยู่ในเขตพื้นที่ตรงนี้ กลุ่มแรก คือประชาชนที่อยู่มาก่อนการประกาศเขตอุทยานฯ  เมื่อปี 2524 กลุ่มที่สองคือประชาชนที่ได้รับ ส.ป.ก. และอนุญาตให้ทำกินในพื้นที่ ส.ป.ก. และกลุ่มที่สามคือกลุ่มที่เข้ามาหลังประกาศเขตอุทยานฯ และทำให้เกิดคดีความ ซึ่งเท่าที่เราทราบมีอยู่กว่า 400 คดี ที่กรมอุทยานฯ ได้ดำเนินการฟ้องร้องกับผู้ที่บุกรุกพื้นที่ 

 “3 กลุ่มนี้เราต้องดำเนินการในแต่ละเคสแยกแตกต่างกันออกไป ไม่ใช่รวมทุกอย่างเหมาเข่งรวมกัน และประกาศพื้นที่อุทยานฯ เลยทั้งหมด เพราะรวมทั้งหมดประชาชนกลุ่มแรกก็จะเสียสิทธิ์ ซึ่งเราต้องยอมรับว่าสิทธิ์ของประชาชนที่อยู่มาก่อนในพื้นที่ป่าต้องได้รับการพิสูจน์ และการพิสูจน์สิทธิ์นี้ต้องอาศัยกระบวนการดำเนินการ ซึ่งอาจจะล่าช้าไปบ้าง แต่คิดว่ามีความคุ้มค่าต่อประชาชนที่รอคอยสิทธิ์ตรงนี้มาตั้งแต่ปี 2524 ส่วนประชาชนกลุ่มที่ได้รับ ส.ป.ก. คิดว่าคงต้องดำเนินการไปตามนั้น เพราะว่าหน่วยงานรัฐคือ ส.ป.ก. เป็นคนออกเอกสารสิทธิให้เขา ส่วนกลุ่มสุดท้ายที่ถูกดำเนินคดีอยู่ คิดว่าก็ต้องปล่อยให้ไปสู่กระบวนการของศาล และต้องเร่งพิจารณา เพราะจะมีผลกระทบต่อการประกาศแผนที่วันแมปต่อเนื่องไปด้วย” นายพูนศักดิ์ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'บอร์ดดิจิทัลวอลเล็ต' เคาะแหล่งที่มาเงิน 4.5 แสนล้าน ไม่ง้อ ธ.ก.ส. ชง ครม. 23 ก.ค.

'บอร์ดดิจิทัลวอลเล็ต' เคาะงบ 4.5 แสนล้าน แจก 45 ล้านคน ตัดงบ ธ.ก.ส. ชง ครม. สัปดาห์หน้า แถลงใหญ่ 24 ก.ค. ยันลงทะเบียนไตรมาส 3 โอนเงินไตรมาส 4