ลุ้นกกต.รับรองสว.ใหม่

ลุ้นต่อ! กกต.ยังไม่เคาะประกาศรับรองผล สว.ชุดใหม่ นัดถก 10 ก.ค. “อิทธิพร” โต้เฟกนิวส์ไม่ได้ลาพักร้อน "วิษณุ​" ชี้​ชุดรักษาการยังทำงานได้ สิ้นสุดหลังชุดใหม่ปฏิญาณตน​ “กมธ.ศึกษาเลือก สว.” ลั่นหมดหน้าที่ทันทีเมื่อรับรองผล 200 สว. ยันทำตรงไปตรงมาตามกรอบเวลา

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ยืนยันว่า ในช่วงนี้ยังคงปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีการลาพักร้อนหรือลาหยุดตามกระแสข่าวลือ ซึ่งเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จ และวันนี้ยังคงมีการประชุม กกต.เพื่อพิจารณาวาระต่างๆ รวมถึงพิจารณารับรองการประกาศผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ซึ่งเป็นการพิจารณาต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการ กกต.ได้เริ่มประชุมในเวลา 13.00 น. มีวาระพิจารณาประกาศรับรองผลการเลือก สว. รวมถึงเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับกระบวนการเลือก สว. ซึ่งเป็นการประชุมต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมถึงวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ เนื่องจากกรรมการหลายคนมีความเห็นที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับการประชุมวันที่ 9 ก.ค. ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ปรากฏว่ายังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะมีการประกาศรับรอง สว.ชุดใหม่ ทำให้นัดประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 10 ก.ค. ​เวลา 09.00 น.

แหล่งข่าวจาก กกต.เปิดเผยว่า สำหรับแนวทางในการรับรอง สว.ที่หลายฝ่ายสงสัยว่าจะรับรองเพียงบางส่วน หรือว่ารับรองทั้ง 200 คนแล้ว ค่อยมาตามสอยคนที่ทำผิดหรือไม่นั้น ตามทิศทางคือจะมีการรับรองไปทั้ง 200 คน เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้ เมื่อเดือน เม.ย.2543 เรื่องที่ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 266 กรณีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา ซึ่งตอนนั้น กกต.จัดเลือกตั้ง สว.รวม 200 คน เมื่อวันที่ 4 มี.ค.2543 แต่รับรองผลเพียง 122 คน ทำให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ และมีความเห็นแย้งกัน 2 ฝ่าย ระหว่าง สว.ที่ครบวาระ แต่ต้องรักษาการจนกว่าจะได้ สว.ใหม่ครบ กับอีกฝ่ายคือ สว.ใหม่ ที่เห็นว่าจำนวน สว.เท่าที่มีสามารถทำงานได้ ประธานสภาฯ จึงส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าฝ่ายไหนควรเป็นผู้หน้าที่ แล้วหากเป็น สว.ใหม่ที่ยังไม่ครบจำนวนนั้น จะสามารถดำเนินการให้มีการประชุมเพื่อปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่

ซึ่งศาลพิจารณาวินิจฉัยว่า 1.สว.ที่ได้รับเลือกยังไม่ครบ 200 คน ไม่อาจดำเนินการให้มีการประชุมเพื่อปฏิบัติหน้าที่ สว.ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนี้ได้ และ 2.ในระหว่างที่ สว.ที่ได้รับเลือกยังไม่ครบ 200 คนนั้น สว.ที่สมาชิกภาพสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 21 มี.ค.2543 ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่วุฒิสภาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนี้ได้

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ​ เครืองาม​ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี​ กล่าวถึงกรณีหาก กกต.รับรอง สว.ชุดใหม่ 200 คน​ไปก่อน แล้วค่อยมาสอยทีหลัง ในทางกฎหมายจะมีปัญหาหรือไม่​ว่า ​ ไม่ว่าแบบใดมีปัญหาทั้งนั้น ไม่ประกาศมีปัญหาอีกแบบหนึ่ง กกต.จะถูกตั้งคำถามว่าทำได้หรือไม่ และหากประกาศไปแล้วมาสอยทีหลัง จะมีปัญหา ​ เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะดำเนินการแล้วเสร็จ​ ซึ่งไม่ขอแสดงความเห็นถึงประเด็นดังกล่าว​ และประเด็นดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล​

เมื่อถามว่า สว.ชุดเก่าจะสิ้นสุดเวลาการปฏิบัติหน้าที่เมื่อใด​ นายวิษณุกล่าวว่า​ เมื่อ สว.ชุดใหม่ปฏิญาณตน​ เพราะแม้ กกต.ประกาศรับรองผล ยังไม่หมดวาระ ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 7 วัน สว.ชุดใหม่จึงสามารถเปิดประชุมวุฒิสภา จากนั้นจะเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภา​ จึงจะสามารถปฏิญาณตนได้ ไม่เช่นนั้นจะเกิดช่องว่าง เนื่องจาก สส.และ สว.จะต้องอยู่ด้วยกัน และขณะนี้ สว.ชุดเก่ายังคงสามารถประชุมได้​

เมื่อถามถึงกรณี สว.ชุดเก่าสามารถตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขึ้นมาเพื่อศึกษาอะไรในช่วงนี้ได้หรือไม่ นายวิษณุปฏิเสธตอบคำถาม พร้อมกล่าวว่า ไม่อยากไปทะเลาะกับเขาเปล่าๆ

ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 12.30 น. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาตรวจสอบการเลือกสมาชิกวุฒิสภา แถลงภายหลังการประชุมว่า เป็นการประชุมนัดแรก มีการแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ และกรอบเวลาในการทำงาน โดยจะทำงานภายใต้ขอบเขตที่ได้รับ คือตรวจสอบว่ากระบวนการเลือก สว.มีข้อเท็จจริงอะไรที่บ่งชี้ไปในทางที่ทำให้การเลือกเป็นไปโดยไม่สุจริตเที่ยงธรรมหรือไม่ ส่วนประเด็นปัญหาหาอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ คงจะต้องเป็นภารกิจของหน่วยงานอื่นหรือองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้อง  ที่จะมาช่วยกันศึกษาเพื่อถอดบทเรียนในประเด็นอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น เรื่องความชอบด้วยระเบียบต่างๆ ที่ กกต.ได้ออกประกาศไว้ ทั้งกระบวนการรับสมัคร ขั้นตอนการรับสมัคร การรับรองคุณสมบัติของบุคคล เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดของเวลา กมธ.จะพยายามทำหน้าที่ให้ได้ข้อมูลมากที่สุด

เมื่อถามว่า กมธ.เอาข้อมูลมาจากไหน หรือมีการรับฟังจากเจ้าหน้าที่และผู้สมัคร นายสุรชัยกล่าวว่า ที่ประชุมได้กำหนดไว้เบื้องต้นแล้ว เนื่องจากมีผู้ร้องเรียนและส่งข้อมูลให้กับ กมธ.สามัญของวุฒิสภา 2 คณะ คือ กมธ.องค์กรอิสระ และ กมธ.สิทธิมนุษยชน เราจะขอความร่วมมือจากทั้งสองคณะมาประกอบ รวมทั้งข้อมูลจากกรรมาธิการในคณะนี้ที่ได้ติดตามเป็นการส่วนตัว ขอให้ส่งข้อมูลมาเพื่อให้ฝ่ายเลขาธิการ กมธ.ได้รวบรวมข้อมูล และสรุปข้อเท็จจริงทั้งหมดเพื่อที่ประชุม กมธ.ได้ศึกษา ในเบื้องต้นกำหนดว่า จะเริ่มลงมือศึกษาข้อเท็จจริงทั้งหมดในวันที่ 11 ก.ค.นี้  จากนั้นจะมาพิจารณาอีกครั้งว่าข้อเท็จจริงที่ได้มาทั้งหมดนั้น มีข้อเท็จจริงอะไรที่ยังขาดความชัดเจน  ซึ่งจำเป็นต้องขอไปยังหน่วยงานหรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องอีกหรือไม่

อย่างไรก็ตาม หาก กกต.รับรอง สว.ชุดใหม่ ภารกิจของ กมธ.ก็เสร็จสิ้นเท่านั้นเอง ไม่ต้องกังวลอะไร เราจะทำเท่าที่กรอบเวลาให้ทำได้ ขณะเดียวกันพยายามทำงานให้เสร็จให้เร็วที่สุด เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราอยากได้คำตอบเร็วที่สุด เพราะอยากเห็น กกต.รับรอง สว.ชุดใหม่ได้เร็วที่สุดเช่นเดียวกัน ภายใต้คำตอบที่สามารถตอบได้ชัดเจนว่าทุกอย่างเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม ทั้งนี้ คงไม่ส่งไม้ต่อ เพราะ สว.ชุดใหม่คงไม่สอบตัวเอง

"ด้วยข้อจำกัดของเวลา หากหาข้อเท็จจริงได้เร็ว เราจะแยกรายงานออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนที่หนึ่งเป็นรายงานข้อเท็จจริงว่ามีอะไรเป็นตัวบ่งชี้ที่ทำให้เห็นว่า การเลือก สว.ครั้งนี้ไม่สุจริตเที่ยงธรรมหรือไม่ และอีกส่วนคือประเด็นข้อกฎหมาย หากมีเวลาทำงาน จะศึกษาต่อว่ามีอะไรบ้างที่เป็นปัญหาและอุปสรรคในการนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขต่อไป โดยในการประชุม กมธ. วันที่ 11 ก.ค. จะคัดข้อเท็จจริงออกมาดูว่ามีพยานหลักฐานน่าเชื่อถือแค่ไหน และรับฟังได้มากน้อยแค่ไหน โดยจะทำหน้าที่ตรงไปตรงมามากที่สุด" นายสุรชัยระบุ

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ในเมื่อกติกาเป็นเช่นนี้ สิ่งที่สำคัญคือต้องทำอย่างไรให้การเปลี่ยนผ่านอำนาจราบรื่นและเร็วที่สุด เพื่อให้กลไกทางการเมืองสามารถเดินหน้าต่อไปได้ แต่หากมีผู้สมัครคนใดกระทำอะไรที่ผิดกฎหมายต้องเร่งตรวจสอบ ส่วนโจทย์ที่ต้องคิดคือ จะออกแบบโครงสร้าง อำนาจที่มาของรัฐสภาในอนาคตอย่างไร ต้องชวนประชาชนมาร่วมกันถกว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีวุฒิสภาอยู่หรือไม่ หลายประเทศทั่วโลกที่เป็นระบอบประชาธิปไตยใช้ระบบรัฐสภาเดี่ยว ส่วนผู้ที่มองว่ายังจำเป็นต้องมีอยู่ จะต้องมาออกแบบที่มาว่าจะเป็นอย่างไรให้มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ตอบโจทย์เหตุผลที่ควรมีอยู่ของวุฒิสภา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง