ทสท.ปูดแม่ค้า บ่นค่าครองชีพ เรียกหายุคลุงตู่

“เจ๊มนพร” บอก กมธ.ยังไม่ได้ขีดเส้นงบดิจิทัลวอลเล็ตเข้าที่ประชุมเมื่อใด รอความพร้อมมากที่สุด “ศิริกัญญา” แฉบอกเงิน 1.7 แสนล้านที่จะล้วงจาก ธ.ก.ส.ยังไม่เสนอเข้าบอร์ดเลย   หวั่นกระทบสภาพคล่องธนาคาร แต่เชื่อหาก “เศรษฐา” หัวทิ่มก็ยังมีคนสานต่อ “ไทยสร้างไทย”  ปูดพ่อค้าแม่ค้าเริ่มเรียกหารัฐบาลลุงตู่

เมื่อวันที่ 7 ก.ค.2567 นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการประชุม กมธ.ในสัปดาห์นี้ว่า ได้พิจารณาถึงมาตรา 13 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  (อว.) ซึ่งน่าจะจบภายในวันจันทร์ที่ 8 ก.ค.นี้ จากนั้นจะพิจารณามาตรา 14 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมาตรา 15 กระทรวงคมนาคม

เมื่อถามถึงงบโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่ยังถูกแขวนอยู่ในชั้น กมธ. จะสามารถนำเข้าสู่การพิจารณาได้ในช่วงใด นางมนพรกล่าวว่า นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง ให้หน่วยงานของกระทรวงการคลังเก็บข้อมูลให้พร้อม จากนั้นจึงจะนำกลับเข้ามาใหม่ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดวันที่จะนำกลับเข้ามาพิจารณาใหม่ ซึ่งต้องอยู่ที่กระทรวงการคลัง โดยสามารถนำเข้าช่วงใดก็ได้ แต่ต้องมีความพร้อมเรื่องข้อมูลที่สุด

ด้าน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะ  กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2568 กล่าวถึงภาพรวมการพิจารณาว่า เป็นไปอย่างราบรื่น และเป็นปกติที่ กมธ.จะมีคำถามที่เกี่ยวข้องกับงบปี 2568 และการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ซึ่งในส่วนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็ได้พูดคุยถึงการต้องนำเงินกว่า 170,000 ล้านบาท มาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่ง ธ.ก.ส.ก็ยืนยันว่าไม่ได้พูดคุยของมติในบอร์ด ธ.ก.ส. และยังไม่ได้ส่งรายละเอียดเพิ่มเติมในกระบวนการ ซึ่งแสดงว่ายังไม่ได้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าขัดต่อวัตถุประสงค์กับ ธ.ก.ส.หรือไม่ และมีการพูดคุยถึงสภาพคล่องที่คงเหลือของ ธ.ก.ส. โดย ธ.ก.ส.ชี้แจงว่ามีสภาพคล่องล้นอยู่ที่ 2-3 หมื่นล้านบาท แต่หากต้องใช้เงินส่วนนี้ในโครงการดิจิทัลฯ อาจต้องถ่ายเทสินทรัพย์หมุนเวียนอื่นๆ ที่จะมีอยู่ประมาณ 2-3 แสนล้านบาท ซึ่งก็ได้สอบถามว่าจะกระทบกับต้นทุนที่ต้องไปแย่งชิงเม็ดเงินจากผู้ที่ออกตราสารหนี้เอกชนหรือไม่ แต่ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนเท่าไหร่ ตรงนี้ก็มีผู้ที่แสดงความเป็นห่วงว่า ท้ายที่สุดอาจต้องเพิ่มทุนให้กับ ธ.ก.ส. เพื่อทำให้อัตราการถือครองกองทุนต่างๆ ดำรงความเสี่ยงของ ธ.ก.ส.ยังคงเป็นไปได้อยู่

“มีการพูดคุยถึงหนี้รัฐบาลที่ติดค้างตอนนี้ยอดอยู่ที่ประมาณเกือบ 8 แสนล้านบาทแล้ว และยังคงเป็นการผ่อนชำระไปเรื่อยๆ แบบที่ ธ.ก.ส.เองก็ให้ความชัดเจนไม่ได้ว่าปีนี้จะมีเงินต้นหรือดอกเบี้ยมาชำระเท่าไร ขึ้นอยู่กับงบประมาณแผ่นดินในแต่ละปี ท้ายที่สุดก็ไม่ได้มีความชัดเจนในแต่ละปีว่าจะมีความต้องการเงินสดจาก ธ.ก.ส.เท่าไหร่ จึงเป็นปัญหากับการบริหารจัดการของ ธ.ก.ส.พอสมควร ซึ่งเราได้ท้วงติงไปหลายปีงบประมาณแล้ว ว่าต้องวางแผนให้ชัดเจนว่าจะคืนปีละเท่าไหร่ เพื่อให้สุดท้ายไม่เป็นภาระกับประชาชนที่ต้องเพิ่มทุนหรือจะต้องแก้ปัญหาหนี้เสียของ ธ.ก.ส.

น.ส.ศิริกัญญาย้ำว่า ตัวแทน ธ.ก.ส.มีเอกสารชัดเจนครบถ้วน โดยเข้ามาในฐานะเจ้าหนี้ เพราะงบประมาณที่มาขอทั้งหมดเป็นหนี้ที่รัฐบาลติดค้างเขาอยู่ ตั้งแต่ปี 2551 จึงขอมาทั้งหมดกว่า 600,000 ล้านบาท แต่ได้ไปไม่ถึง 60,000 ล้านบาท 

เมื่อถามถึงเอกสารงบกลางในโครงการดิจิทัลฯ จะวนกลับมาประชุมอีกครั้งเมื่อไหร่ น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า เป็นหน้าที่ของสำนักปลัดกระทรวงการคลังที่ต้องชี้แจงอีกรอบ แต่ยังไม่ได้นัดหมายอีกครั้งว่าจะเข้ามาพร้อมเอกสารที่ครบถ้วนเมื่อไหร่ คงต้องให้ประธานและฝ่ายเลขาฯ ทำหนังสือนัดประชุมอีกรอบ ส่วนกังวลว่าจะไม่ทัน เพราะรัฐบาลวางกรอบโครงการดิจิทัลวอลเล็ตให้ชัดเจนในสิ้นปีนี้นั้น จะบอกว่ารัฐบาลวางกรอบชัดเจนแต่ก็ยังไม่ชัดเจน เพราะยังไม่รู้ว่าเป็นเมื่อไหร่ของไตรมาส 4 ด้วยซ้ำ อาจจะเป็น ต.ค., พ.ย. หรือ ธ.ค.ก็อาจเป็นไปได้

“ก็เอาใจช่วย ลุ้นอยู่เหมือนกันว่าสามารถทำได้ทันหรือไม่ เพราะยังไม่มีความชัดเจนในหลายเรื่อง และหวังว่าน่าจะแถลงข่าวอีกครั้ง เพื่อให้ประชาชนมาลงทะเบียนปลายเดือน ก.ค.นี้ ซึ่งยังไม่รู้ว่าตอนแถลงจะลงทะเบียนเมื่อไหร่อยู่ดี ก็ได้แต่ลุ้นว่าจะมีงบประมาณเพียงพอ และระบบต่างๆ พร้อมที่จะใช้งานในกำหนดเวลาที่รัฐบาลได้บอกไว้ล่วงหน้าหรือไม่” น.ส.ศิริกัญญากล่าว

เมื่อถามว่า หากคดีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง โครงการดิจิทัลฯ ยังเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า โครงการนี้ใช้หลายภาคส่วนนอกเหนือจากนายกฯ แม้ว่าจะมีอุบัติเหตุอะไรเกิดขึ้น ก็คิดว่ามีทีมงานที่จะช่วยทำโครงการนี้ต่อ หากไม่ถึงขั้นข้ามพรรคการเมือง

ขณะที่ นายทิวากร สุระชน รองโฆษกพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชน และมีโอกาสพูดคุยกับพ่อค้าแม่ขายอยู่หลายครั้ง ได้รับฟังเสียงแห่งความทุกข์ ความยากลำบากในการทำมาหากิน การค้าการขายฝืดเคืองท่ามกลางเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ทั้งตลาดในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเฉพาะตนเองมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ จ.หนองบัวลำภู ได้ลงพื้นที่สำรวจตลาดต่างๆ  ในพื้นที่ภาคอีสานตอนบน ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

“นโยบายของพรรคเพื่อไทยจะทำให้คนไทยมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีกินมีใช้ ไปพร้อมๆ กันนั้น ดูแล้วน่าจะเลือนราง ซ้ำร้ายค่าใช้จ่ายในครัวเรือนโดยเฉพาะ ไฟฟ้า ประปา และก๊าซหุงต้มไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ปรับขึ้นตลอดเวลา และการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลคาดหวังจะได้เห็นจากการแจกเงินดิจิทัลฯ  เป็นพายุหมุนนั้น แม่ค้าร้านเล็กๆ ในตลาดตามชุมชนต่างๆ ล้วนแต่อยากได้เป็นเงินสด อยากได้เงินหมุนรายวัน ไม่ใช่ต้องรอเงินในระบบ หากเป็นดังนี้เสียงสะท้อนต่างๆ ที่ได้ยินไม่อยากจะเชื่อว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะถูกเปรียบเทียบว่าบริหารงานช่วยเหลือพ่อค้าแม่ขายสู้รัฐบาลลุงตู่ไม่ได้ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง ราคาสินค้าให้กับพี่น้องประชาชนโดยด่วน เพราะบริหารประเทศมาเกือบ 1 ปี ประชาชนเริ่มโหยหารัฐบาลลุงตู่แล้ว” นายทิวากรกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง