เลือกอบจ.ปทุมฯพท.ขาดทุนยับ!

กรุงเทพฯ ๐ กูรูวิเคราะห์เลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมฯ เพื่อไทยขาดทุนยับ ชี้ "ทักษิณ" ห่างเหินจากการเมืองมาเป็นเวลานาน แถมมีการใช้กระบวนการที่คนทั่วไปรู้สึกว่าใช้อภิสิทธิ์หลายเรื่อง ทำให้คะแนนนิยมลดน้อยถอยลง แนะกลับไปประเมินการเมืองระดับประเทศจะกลับมาได้หรือไม่

เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2567 นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักวิชาการ ให้สัมภาษณ์ถึงการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานีที่ผ่านมา ที่ทั้งสองฝ่ายผลออกมาคะแนนฉิวเฉียด ส่งผลถึงคะแนนนิยมของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่า ก็ต้องมีผลอยู่แล้ว เมื่อนายทักษิณและผู้นำพรรคเพื่อไทยลงพื้นที่ไปช่วยหาเสียง และชนะกันแค่ 1,000 กว่าคะแนน ซึ่งก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญอยู่แล้ว แต่ตนคิดว่ามีปัจจัยอื่นเกี่ยวพันกันหลายเรื่อง คือจังหวัดปทุมธานีคือพื้นที่เดิมของพรรคเพื่อไทย แล้วช่วงหลังมาเสียพื้นที่ให้กับพรรคก้าวไกล  ฉะนั้นพรรคเพื่อไทยจะต้องชนะให้ได้ และนายชาญ พวงเพ็ชร์ ว่าที่นายก อบจ.ปทุมฯ เองก็เคยเป็นนายก อบจ.หลายสมัย แต่ในสมัยที่ผ่านมาได้แพ้ให้กับ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง

นอกจากนี้ตนขอตั้งข้อสังเกตว่า การเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมธานีทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา เลือกตั้งในช่วงปิดเทอม ซึ่งจังหวัดปทุมธานีมีมหาวิทยาลัยเยอะ นักศึกษาปิดเทอมก็กลับบ้านไม่ได้มาเลือกตั้ง

นายปริญญากล่าวว่า เรื่องใหญ่ที่ขอฝากไว้คือ ไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้า ซึ่งควรจะต้องมีการแก้ไขเรื่องนี้ จึงจะต้องมีการเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องแก้ไขกฎหมายท้องถิ่นให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้า นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตว่าการชนะเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการการันตีว่าในปทุมธานีพรรคเพื่อไทยจะชนะหรือไม่ชนะในครั้งหน้า เพราะครั้งนี้พรรคก้าวไกลไม่ได้ส่งคนลง แต่อย่างน้อยก็ถือว่าในท้องถิ่นพรรคเพื่อไทยได้กลับมา เพื่อหวังชนะพรรคก้าวไกลในครั้งหน้า

แต่สิ่งที่สำคัญจะมีการประกาศรับรองนายชาญเมื่อไหร่ และจะปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่ เพราะถ้าต่อให้ชนะการเลือกตั้งแต่ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ก็ไปไม่ได้กับสิ่งที่ตั้งใจจะได้ ซึ่งคนที่จะประกาศให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นกระทรวงในของพรรคร่วมรัฐบาลคือพรรคภูมิใจไทย แต่ก็ต้องเข้าใจว่านายชาญคุณสมบัติครบถ้วน ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็พูดถูกว่าไม่ได้ขัดคุณสมบัติแม้แต่ข้อเดียว เพราะศาลยังไม่พิพากษา แต่ว่าการชนะเลือกตั้งแต่ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้

นายปริญญากล่าวว่า เรื่องนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาตอบข้อหารือของกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่เดือน ธ.ค.65 เพราะในปีนั้นมีการเลือกตั้งท้องถิ่น และเคยเกิดกรณีแบบนี้ขึ้นมาแล้ว ซึ่งตรงนี้ก็ถือว่ามีความเห็นของกฤษฎีกาออกมาแล้วชัดเจน ตรงนี้ กกต.ตอนที่สมัครได้แจ้งนายชาญหรือไม่ได้ ว่าได้รับเลือกก็จริง ไม่ขัดคุณสมบัติ แต่อาจจะไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ เพราะแนวทางเคยเกิดมาแล้ว

เขาย้ำว่า พรรคเพื่อไทยไม่ผิด เพราะตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว แต่แนวทางที่กฤษฎีกาออกมาพรรคเพื่อไทยทราบหรือไม่ เพราะหากทราบแล้วยังทำ ก็ถือว่าผิดพลาด เชื่อว่าเรื่องนี้พรรคภูมิใจไทยคงไม่มาทำให้ตัวเองเสี่ยง ในเรื่องซึ่งกฤษฎีกามีความเห็นมาแล้ว และมองว่าถ้าจะจบคงไปจบที่ศาล เพราะมาตรา 81 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ศ.2561 เมื่อศาลรับคำร้องแล้ว ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ศาลสามารถมีคำสั่งได้เป็นอย่างอื่นได้ ซึ่งนายชาญหรือพรรคเพื่อไทยก็สามารถไปร้องต่อศาลได้

ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวว่า หากมองจากคะแนนเสียงที่นายชาญสามารถเอาชนะ พล.ต.ท.คำรณวิทย์เพียงไม่กี่คะแนนนั้น ต้องมองภาพให้ออกว่าการเลือกตั้งนายก อบจ.ต่างจากการเลือกตั้ง สส. เพราะการเลือก อบจ. การวางแผนเครือข่าย อาศัยนักการเมืองท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่เป็นผู้ทำคะแนนให้ จากผลที่ชนะกัน ไม่ได้บ่งบอกว่าการเลือก สส.ครั้งต่อไปจะชนะการเลือกตั้งหรือไม่ เพราะ สส.จะเป็นการเลือกแบบเขตใครเขตมัน 

"การเลือก อบจ.ที่ผ่านมา ฝั่งที่ชนะใช้ชื่อพรรคการเมืองและบุคคลสำคัญของพรรคลงไปช่วยทำคะแนน แต่ผู้ที่แพ้การเลือกตั้งเป็นการสมัครแบบอิสระ เพราะฉะนั้นแม้จะชนะการเลือกตั้ง แต่ใช้ชื่อพรรคการเมืองและบุคคลสำคัญของพรรคมาช่วย ส่วนตัวมองว่ายังขาดทุนอยู่ เพราะชนะเพียงฉิวเฉียดเท่านั้น"

นายสมชัยกล่าวอีกว่า จะมีการร้องเรื่องการทุจริตการเลือกตั้งก็ขึ้นอยู่กับคู่แข่งว่าจะไปร้องหรือไม่ ซึ่งตนเชื่อว่าการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นมีการใช้เงินและอิทธิพลจำนวนมาก แต่ กกต.จะมีการเอาจริงเอาจังกับการให้ใบเหลืองหรือใบส้มกับผู้ชนะการเลือกตั้งหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ผลแพ้ชนะที่ออกมาเพียงฉิวเฉียด สะท้อนความนิยมของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ลดน้อยลงหรือไม่ อดีต กกต.ผู้นี้ตอบว่า นายทักษิณห่างเหินจากการเมืองมาเป็นเวลานาน และการกลับมาหลายอย่างมีการใช้กระบวนการที่คนทั่วไปรู้สึกว่าใช้อภิสิทธิ์หลายเรื่อง ทำให้คะแนนนิยมลดน้อยถอยลง แม้จะใช้ความพยายามในการเดินสาย พยายามสร้างผลกระทบทางการเมืองต่างๆ ขึ้นมา แต่ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นส่วนตัวมองว่ายังได้ไม่เท่าที่ควร  เรื่องนี้นายทักษิณ พรรคเพื่อไทย ต้องกลับไปประเมินว่าหากจะทำการเมืองระดับประเทศให้พรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นที่นิยม วิธีการที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นประโยชน์จริงหรือไม่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง