พท.ขู่!บี้‘ชาญ’ละเมิดอำนาจศาล

"เพื่อไทย" ฉุน "ปิยบุตร" พูดเกินเลยปม "ชาญ" พร้อมจี้ลาออก ถามถ้าแพ้จะมีใครมาไล่บี้หรือไม่ ยันต้องรอให้ศาลมีคำสั่ง ขู่พวกออกมาให้ข้อมูลระวังละเมิดอำนาจศาล "เทพไท" ดักคอ เชื่อ "พท." หวังตั้งรองนายก อบจ.มาคุมแทนหากนายกหยุดปฏิบัติหน้าที่ "เศรษฐา" โต้ "ก้าวไกล" ไม่เคยหนีสภา ฟุ้งเทียบกับนายกฯ คนอื่นตัวเองถือว่ามาสภาโอเคแล้ว "สุริยะ" ซัด "พิธา" ยังจมอยู่กับอดีต "นิกร” แย้ม กมธ.นิรโทษฯ เคาะตั้ง คกก.-แนวทางล้างผิด ให้หน่วยที่เกี่ยวข้องรับคำร้องและวินิจฉัย พร้อมเปิดช่องยื่นอุทธรณ์ ลุ้นเหมา ม.112 หรือไม่

เมื่อวันที่ 4 ก.ค. นายสรวงศ์ เทียนทอง สส.สระแก้ว ในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.)  ออกมาตอบโต้นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กรณีระบุปัญหาของนายชาญ พวงเพ็ชร์ ว่าที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)  ปทุมธานี มีสองแนวทางคือ ให้เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย หรือให้นายชาญออก ว่าที่นายปิยบุตรพูดนั้นเกินเลยไปแล้ว สิ่งที่นายชาญโดนอยู่ตอนนี้เป็นคดีเก่า และการเลือกตั้งก็ผ่านมาแล้ว   สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือรอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรอง

"เรื่องคดีความของนายชาญ ก็ต้องว่าไปตามกระบวนการยุติธรรมของศาล ฉะนั้นการออกมาให้ข้อมูลต่างๆ ผมมองว่าน่าจะเป็นการละเมิดอำนาจศาล" นายสรวงศ์กล่าว

ถามว่า หากรอให้ศาลอาญาทุจริตสั่งอาจต้องลากยาวจนกว่าจะถึงที่สุด ระหว่างนี้ก็ให้ดำเนินต่อไป คือมีทีมรองนายก อบจ. หากที่สุดศาลสั่งจะสร้างปัญหาการทำงานในทีมหรือไม่ เลขาฯ พรรค พท.กล่าวว่า ในส่วนของพรรค พท. เรามองว่าขั้นตอนอยู่ในกระบวนการของศาล หากจะให้ศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ต้องมีคนร้อง เพราะวันที่ศาลประทับรับฟ้อง ไม่มีคำสั่งห้อยท้ายว่าให้หยุดปฏิบัติหน้าที่

"หากนายชาญได้เป็นนายก อบจ. แล้วเข้าไปแต่งตั้งรองนายก อบจ. ถ้าศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่รองนายก อบจ. ก็สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือในกรณีที่ไม่ได้ตั้งใครเลย แต่ กกต.รับรองเป็นนายกอบจ.แล้ว ปลัด อบจ.เป็นผู้รักษาการแทน และตัวนายชาญก็ต่อสู้ในคดีความที่ตนเองถูกกล่าวหาต่อไป" เลขาฯ พรรค พท.ระบุ

เมื่อถามถึงกรณีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย อ้างไม่อยากเสี่ยง พร้อมบอกจะเดินตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ หากเข้ารับตำแหน่งแล้วต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที ถ้าไม่หยุดให้ผู้ว่าฯ ตั้งกรรมการสอบหยุดปฏิบัติหน้าที่ นายสรวงศ์กล่าวว่า   นายอนุทินก็กำกับกระทรวงมหาดไทย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ท่านจะสอบถามไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ที่ออกมาให้ความเห็นคือเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

"คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นองค์คณะ ท่านจะออกคำตอบมาไม่เหมือนกับเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ได้ แต่หากออกมาเหมือนแล้วมีการปฏิบัติอย่างไร ผมย้ำว่าเราน้อมรับ และตัวนายชาญก็ต้องยอมรับสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น แต่อยากให้แยกออกจากกัน ระหว่างเรื่องของการเลือกตั้งกับการปฏิบัติหน้าที่" นายสรวงศ์กล่าว

ซักถึงกระแสเรียกร้องให้พรรค พท.แสดงสปิริตออกมาขอโทษประชาชน และให้นายชาญลาออก  นายสรวงศ์กล่าวว่า นายชาญมีคุณสมบัติเป็นผู้สมัครนายก อบจ. 100% และก่อนที่จะรับสมัครเราก็ตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว ซึ่งก็ไม่มีอะไร มีเพียงแค่คดีติดตัว หากไปดูในสภา ก็มีคนที่มีคดีติดตัว แต่ตัวเองอยู่ในขั้นตอนการต่อสู้ และหากศาลสั่งว่ามีความผิดก็ต้องออก นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น

 “นายชาญไม่ใช่กรณีแรก การที่พรรคเพื่อไทยส่งนายชาญไม่มีอะไรผิด เพราะนายชาญมีคุณสมบัติเป็นผู้สมัคร และ กกต.ก็รับรองเป็นผู้สมัครจนการเลือกตั้งเสร็จไปแล้ว ลองถามกลับกัน  หากคุณชาญแพ้จะมีใครมาไล่บี้แบบนี้หรือไม่ ฉะนั้นผมมองว่าต้องแยกแยะเรื่องของการเลือกตั้งและการปฏิบัติหน้าที่” นายสรวงศ์กล่าว

พท.ซัด 'พิธา' ยังจมกับอดีต

ขณะที่ นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์คลิปและเนื้อหาบนโพสต์บุ๊กในหัวข้อ “พรรคเพื่อไทยขอโทษประชาชน และนายชาญ พวงเพ็ชร์ ลาออก” ตอนหนึ่งระบุว่า พรรคเพื่อไทยก็คงจะดันทุรังต่อไปให้ถึงที่สุด โดยต้องการให้ปัญหาดังกล่าวยุติที่คำสั่งของศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งกว่าจะมีคำสั่งออกมาได้ อาจจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง เมื่อถึงตอนนั้น กกต.รับรองผลการเลือกตั้งให้นายชาญ พวงเพ็ชร์ เป็นนายก อบจ.ปทุมธานีแล้ว และได้แต่งตั้งทีมบริหารคือ รองนายก อบจ. ที่ปรึกษานายก อบจ. และเลขานุการนายก อบจ. ครบทุกตำแหน่ง

นายเทพไทกล่าวว่า ถ้าถึงที่สุดแล้วโชคร้าย ศาลมีคำสั่งยุติการปฏิบัติหน้าที่ ก็สามารถใช้รองนายก อบจ.เป็นผู้บริหารปฏิบัติหน้าที่แทนนายก อบจ. ยังดีกว่าให้ปลัดองค์การ อบจ.ปทุมธานีเป็นผู้รักษาการ ซึ่งเป็นฝ่ายข้าราชการประจำ ไม่สามารถสนองนโยบายได้เหมือนกับรองนายก อบจ. ที่เป็นทีมงานเดียวกัน

"ผมเห็นว่าเรื่องนี้ เพื่อเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางการเมือง และเป็นการแสดงสปิริตทางการเมือง กอบกู้ศรัทธาของประชาชนต่อพรรคเพื่อไทย ให้กลับคืนมาได้มีหนทางเดียว คือพรรคเพื่อไทย ต้องออกมาขอโทษต่อประชาชน และให้นายชาญ พวงเพ็ชร์ ลาออกจากตำแหน่งนายก อบจ. เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนชาวปทุมธานีตัดสินใจเลือกนายก อบจ.คนใหม่ เพราะถ้าหากยังฝืนดันทุรัง และยืดเยื้อออกไปเช่นนี้ คดีทุจริตยังคงค้างอยู่ 2 คดี ยังไม่รู้ว่าจะเสร็จสิ้นเมื่อไหร่ หากศาลมีคำพิพากษาให้เป็นความผิด ก็จะพ้นจากตำแหน่งนายก อบจ.ไป ยิ่งทำให้ประชาชนเสียโอกาสในการมีนายก อบจ.ที่เลือกเข้ามา การตัดสินใจคืนอำนาจให้กับประชาชน เพื่อเลือกตั้งใหม่นายก อบจ.ใหม่อีกครั้ง จะเป็นความสง่างามทางการเมืองมากที่สุด" นายเทพไทระบุ

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำจังหวัดปทุมธานี นายป้องปราการ โสธรเทวาพิทักษ์ ผู้อำนวยการ กกต.ปทุมธานี กล่าวว่า การรับรองผลการเลือกตั้งซึ่งผู้สมัครหมายเลข 1 นายชาญ พวงเพ็ชร์นั้น มีระยะภายใน 30 วัน ในการรับรองผล ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนของเอกสารต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบ จึงจะประกาศรับรองผลได้ ส่วนเรื่องการหยุดปฏิบัติหน้าที่ไม่เกี่ยวกับ กกต.

ที่รัฐสภา เวลา 13.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าร่วมการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง  พ.ศ.2567 โดยนายเศรษฐากล่าวก่อนเข้าร่วมประชุมกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เรียกร้องนายกฯ, ครม. รวมถึง สส. ให้ผลักดันสัญญาที่ให้ไว้ตามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ในการผลักดันกฎหมายสำคัญต่างๆ  ในสภาว่า อะไรที่ผ่านมาจาก ครม. ตนจะพยายามให้ผ่านไปให้เร็วที่สุด ส่วนเรื่องเอ็มโอยู เป็นเรื่องของสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติที่ต้องไปจัดการกันเอง

เมื่อถามว่า สมาชิกฝ่ายค้านโดยเฉพาะพรรคก้าวไกลพุ่งเป้าอยากให้นายกฯ มาตอบกระทู้ด้วยตัวเอง นายเศรษฐากล่าวว่า ตนก็พยายามมาเองบ้าง ถ้าดูจากประวัติ ถ้าเปรียบเทียบกับนายกรัฐมนตรีท่านอื่น ก็ถือว่าตนมาโอเคนะ ก็พยายามมา ไม่ได้จงใจหลีกเลี่ยง

นายกฯ ยังกล่าวถึงการส่งหลักฐานคดีที่ 40 สว.ร้องแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีว่า เมื่อช่วงเที่ยงวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้ส่งหลักฐานเพิ่มเติมไปยังศาลรัฐธรรมนูญครบถ้วนแล้ว

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คมนาคม กล่าวถึงกรณีนายพิธาทวงถามเรื่อง MOU ว่า นายพิธายังจมอยู่กับในอดีต เรื่องผ่านไป 1 ปีแล้ว และเรื่องนี้รายละเอียดขอให้ไปถามกับนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์

เคาะ คกก.-แนวทางนิรโทษฯ

ที่รัฐสภา นายนิกร จำนง เลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร แถลงผลการประชุม กมธ.ว่า ที่ประชุมมีมติ 2 เรื่องคือ การนิรโทษกรรมโดยใช้รูปแบบผสมผสาน จะมีการดำเนินการนิรโทษกรรมโดยใช้กลไก 2 ส่วน คือกลไกที่ให้ผู้ได้รับสิทธินิรโทษกรรมตามกฎหมาย และประสงค์ใช้สิทธิให้ยื่นคำร้องต่อหน่วยราชการในกระบวนการยุติธรรมที่คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของหน่วยราชการนั้น  ให้หน่วยราชการที่รับคำร้อง มีอำนาจรับคำร้องและพิจารณาหรือวินิจฉัยให้สิทธินิรโทษกรรมคดีที่เข้าองค์ประกอบที่จะได้รับการ นิรโทษกรรมตามบัญชีฐานความผิดแนบท้ายพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด

นายนิกรกล่าวว่า กลไกที่ 2 ให้ผู้ได้รับสิทธินิรโทษกรรมตามกฎหมายขออุทธรณ์ กรณีที่หน่วยราชการปฏิเสธไม่ให้สิทธินิรโทษกรรม ให้คณะกรรมการนิรโทษกรรมแบบผสมผสานมีองค์ประกอบ อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานกรรมการ, ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นรองประธานกรรมการ 

คณะกรรมการดังกล่าวมีหน้าที่และอำนาจ 1.พิจารณารายงานคดีที่จะให้มีการนิรโทษกรรมที่หน่วยงานราชการในกระบวนการยุติธรรมเสนอ หากมีความเห็นแย้งให้ตอบกลับหน่วยงานราชการในกระบวนการยุติธรรมภายในกำหนดเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงานนั้น 2.พิจารณาอุทธรณ์กรณีผู้ใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อหน่วยราชการในกระบวนการยุติธรรมที่คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาได้รับการปฏิเสธไม่ดำเนินการ ให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการนิรโทษกรรมมีผลผููกพันหน่วยราชการดังกล่าวให้พิจารณาการให้นิรโทษกรรม

3.หยิบยกคดีที่ได้รับผลตามพระราชบัญญัตินี้แต่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องไม่ได้หยิบยกขึ้นมาพิจารณาเพื่อส่งให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งกรณีที่คณะกรรมการเห็นเองหรือกรณีที่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้เสียหายและผู้เกี่ยวข้องร้องขอ 4.พิจารณาชี้ขาดกรณีที่มีปัญหามาสู่คณะกรรมการว่าคดีใดได้รับสิทธิตามพระราชบัญญัตินี้หรือไม่ จากการเสนอของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้เสียหายและผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงกรณีที่คณะกรรมการพบเห็นเอง 5.จัดทำรายงานผลการปฏิบัติหน้าที่ประจำปีเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อรัฐสภาเพื่อทราบ และเผยแพร่ต่อสาธารณชน 6.สื่อสารสร้างความเข้าใจสาธารณะเพื่อนำไปสู่การสร้างความปรองดอง และ 7.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้

ถามถึงวาระการพิจารณาความผิดตามมาตรา 112 นายนิกรกล่าวว่า คดีนี้จะมีการพิจารณาทีหลัง เพราะเดิมจากที่ศึกษามาใน 17 ฐานความผิดนั้นไม่มี แต่จากที่ทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเสนอมา เราก็นำมารวมอยู่ด้วย และจะต้องมีการตัดสินใจอีกครั้งว่าจะรวมหรือไม่รวม แต่ขณะนี้ข้อมูลครบหมดแล้ว เข้าใจว่าสัปดาห์หน้าก็จะมีการพิจารณาเรื่องนี้ แต่หากไม่ได้พิจารณาในสัปดาห์หน้าก็จะเป็นอีกสัปดาห์หนึ่ง

เมื่อถามว่า น่าจะเคาะได้เลยใช่หรือไม่ นายนิกรกล่าวว่า น่าจะเคาะได้ ตอนนี้ตนเริ่มทำรายงานในส่วนของอนุกรรมาธิการและสั่งพิมพ์แล้ว เหลือเพียงแค่ชุดใหญ่ ตั้งใจไว้ว่าสิ้นเดือน ก.ค.จะสามารถเสนอเข้าสู่ที่ประชุมของสภาได้ แต่หากไม่ทันก็อาจจะขยับไปไม่เกิน 2 สัปดาห์

ซักว่าจะเคาะเรื่องความผิดมาตรา 112 เลยใช่หรือไม่ นายนิกรกล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ พูดว่าจะมีการพิจารณาเรื่องนี้ เพราะตอนนี้โครงสร้างเสร็จหมดแล้วและการร่าง พ.ร.บ.นี้ต้องมีบัญชีแนบท้ายที่ว่าการจะนิรโทษกรรมจะรวมฐานความผิดอะไรบ้าง เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภา ส่วนที่ประชุมสภาจะเอาอย่างไรก็แล้วแต่ ย้ำว่า กมธ.ชุดนี้มีหน้าที่แค่ชี้แนวทางในการทำร่างกฎหมาย ไม่ได้มีหน้าที่ยกร่าง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง