"เศรษฐา" วางคิว 3 ส.ค.ควงนายกฯ มาเลเซียลงพื้นที่ 3 จว.ชายแดนใต้ "ชูศักดิ์" มือ กม.เพื่อไทยเสียงแข็ง "ชาญ" หยุดปฏิบัติหน้าที่ต้องรอ "ศาล" สั่งเท่านั้น บอกกฤษฎีกาชี้เป็นคดีทั่วไป "มหาดไทย" ประสานเสียง "ผู้ว่าฯ ปทุมฯ" มีอำนาจชี้ขาด "อนุทิน" แนะยึดตาม กม. หากให้ถึงมือ "รมว.มท." ปลดออกลูกเดียว "ปชป.-ปิยบุตร" สะกิด "ว่าที่นายก อบจ.ปทุมฯ" แสดงสปิริตลาออกจบเรื่องวุุ่น "ศาล รธน." รอตรวจพยานหลักฐานคดียุบพรรคก้าวไกล 9 ก.ค. พร้อมนัดถกต่อ 17 ก.ค. "ป๊อก" รับเตรียมพรรคสำรองเรื่องปกติ "พิธา" ยก MOU ครั้งตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ ทวงสัญญาพรรคการเมือง-ครม.กลางสภา ขอให้ผลักดัน 3 ข้อ "รัฐสภาก้าวหน้า-นิรโทษฯ-ปฏิรูปกองทัพ"
เมื่อวันที่ 3 ก.ค. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีเตรียมลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับนายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ว่าในวันที่ 3 ส.ค. จะลงพื้นที่พร้อมกัน แต่ถ้าเกิดมีความจำเป็นก็สามารถลงไปได้ก่อน ซึ่งคิวที่สามารถลงพร้อมกันได้คือวันที่ 3 ส.ค.
"ส่วนเหตุคาร์บอมบ์ในแฟลตตำรวจบันนังสตา จังหวัดยะลา ก็ได้พูดคุยใกล้ชิดเรื่องนี้กับ ผบ.ทบ. และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทยแล้ว" นายกฯ กล่าว
ขณะที่ นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณี นายชาญ พวงเพ็ชร์ ว่าที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ถูกร้องเรียนเรื่องทุจริตและศาลรับฟ้องแล้วจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ว่า ในความเห็นตนคิดว่าเรื่องที่กฤษฎีการะบุไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เป็นเรื่องของมติทั่วไป คนที่พ้นจากตำแหน่งและกลับมามีตำแหน่งแล้วมีคดีแบบนี้ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ อันนั้นคือคดีทั่วไป
นายชูศักดิ์กล่าวว่า กรณีนายชาญความเห็นของตนคือมีคำร้องที่ศาลอาญาทุจริตแล้ว ซึ่งศาลมีอำนาจในการสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ และเมื่อมีคำร้องไปที่ศาลให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็ต้องเป็นเรื่องที่ศาลต้องสั่ง ไม่ใช่เป็นเรื่องของใครที่จะสั่ง
"เรื่องไปที่ศาลแล้ว ศาลประทับรับฟ้องแล้ว และศาลมีอำนาจทางกฎหมาย ในการที่จะสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ควรจะเป็นไปตามแนวนี้" นายชูศักดิ์กล่าว
ถามถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย เป็นผู้ชี้ขาด นายชูศักดิ์กล่าวว่า ความเห็นของตนถามว่าใครเป็นโจทก์ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ก็ควรร้องเข้าไป ถ้าต้องการให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ และเมื่อเรื่องไปถึงศาล ศาลก็ต้องใช้ดุลยพินิจว่าจะให้หยุดหรือไม่ให้หยุด ไม่ใช่อำนาจของมหาดไทย
ด้านนายอนุทินกล่าวว่า ทุกอย่างมีข้อกฎหมาย ในความเป็นส่วนราชการเราต้องทำตามข้อเสนอแนะของเลขาฯ กฤษฎีกา ซึ่งเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาก็ได้รับรายงานมาในระดับหนึ่ง คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบเบื้องต้น คือผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะมีแนวทางในการดำเนินการ มีขั้นตอนอยู่แล้ว และหากผู้ว่าราชการจังหวัดมีข้อสั่งการใดออกมา และผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ปฏิบัติตาม ผู้ว่าฯ จะตั้งคณะกรรมการสอบสวน และนำเสนอ รมว.มหาดไทยให้มีคำสั่ง ซึ่งหน้าที่ของ รมว.มหาดไทยมีเพียงสั่งปลดอย่างเดียว
"เราอย่าไปให้ถึงจุดนั้นเลย เพราะผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ขอให้ทุกท่านได้ทำตามกฎหมายให้ได้มากที่สุด จะได้ไม่ต้องใช้มาตรการอะไร ซึ่งผมไม่รู้สึกหนักใจอะไร แม้จะเป็นคนของพรรคเพื่อไทย หรือต่อให้เป็นพรรคเดียวกันก็แล้วแต่ ทำผิดกฎหมายเพื่อเอื้อพรรคพวกเพื่อนพ้องไม่ได้ เพราะมีโทษทางอาญา เราคงไปทำอะไรที่ผิดกฎหมายไม่ได้" รมว.มหาดไทยกล่าว
ผู้ว่าฯ ปทุมฯ ตัดสินปม 'ชาญ'
ส่วนนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปฏิเสธกรณีมีกระแสข่าวนายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ทำรายงานส่งให้นายอนุทินเพื่อชี้แจงกรณีนายชาญจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะได้สอบถามอธิบดี สถ.ยืนยันไม่ได้มีการทำหนังสือแจ้งเรื่องดังกล่าว มีแต่การแจ้งเรื่องที่กฤษฎีกาเสนอความคิดเห็นแนวทางการปฏิบัติเท่านั้น
"หาก กกต.ประกาศรับรองให้นายชาญเป็นนายก อบจ.ปทุมธานีแล้ว ก็ต้องมาพิจารณากันอีกครั้ง โดยผู้ว่าฯ ปทุมธานีในฐานะกำกับดูแลผู้บริหารท้องถิ่น จะเป็นผู้พิจารณาว่าจะสั่งให้นายชาญหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ โดยผู้ว่าฯ ปทุมธานีอาจจะทำเรื่องมาที่ส่วนกลางเพื่อหารือถึงเรื่องดังกล่าวหากไม่มั่นใจ ถึงตอนนั้นทางกระทรวงมหาดไทยจะพิจารณากันอีกครั้งหนึ่ง โดยต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป" ปลัด มท.กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร สส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า กรณีนายชาญไม่ว่าผู้ถูกกล่าวหาจะพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว และได้รับเลือกตั้งกลับมาดำรงตำแหน่งเดิมอีกในวาระใหม่ ก็ไม่ได้ทำให้ผลของกฎหมายเปลี่ยนแปลงไป ผู้ถูกกล่าวหาจึงยังต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามผลของกฎหมาย โดยไม่ต้องรอการสั่งการใดๆ อีก
"ระหว่างที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ผมอยากให้ลุงชาญแสดงสปิริต แถลงข่าวยุติการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสมัครใจ โดยไม่ต้องรอให้สังคมและภาคส่วนต่างๆ กดดันไปมากกว่านี้ เพื่อให้กฎหมายได้ดำเนินไปตามครรลองแห่งความยุติธรรม เพื่อสร้างจิตสำนึกและสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับการเมืองท้องถิ่น" อดีตผู้สมัคร สส.พรรค ปชป.ผู้นี้ระบุ
เช่นเดียวกับ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวว่า เรื่องนายชาญส่วนตัวขอให้ความเห็นทางกฎหมาย แบ่งเป็น 2 ประเด็น คือ 1.ประเด็นเกี่ยวกับระบบกฎหมายคดีทุจริตของนักการเมือง ว่าการออกแบบระบบตอนนี้มันลักลั่น คือถ้าไปสมัครรับเลือกตั้ง แต่มีคดีที่ยังอยู่ในศาลก็สามารถสมัครได้ แต่ถ้าสมัครแล้วได้เป็น กลับถูกสั่งห้ามปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งคดีแบบนี้ต้องใช้เวลานานเป็น 10 ปี 20 ปี
"สามารถแก้เรื่องนี้ได้ 2 แบบคือ แก้ด้วยสปิริต ใครที่ได้รับเลือก โดนคดีทุจริตแบบนี้ก็ลาออกเลย เปิดทางให้มีเลือกตั้งใหม่ หรือพรรคการเมืองหรือตนเองก็อย่าไปลงสมัคร ฉะนั้นการแก้ด้วยสปิริตนั้นสำคัญ ถ้าหากโดนกล่าวหาแบบนี้ ก็ลาออกเสีย หรือไม่กลับมาลงสมัครอีกแล้ว รอจัดการตนเองให้เสร็จ แต่ในกรณีนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ทางกฎหมายมี 2 แนวทางคือ แนวของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ครั้งที่แล้วได้มีการสั่งหยุดไปแล้ว แล้วได้กลับมาเป็นใหม่ ก็ต้องหยุดต่อเลย โดยที่ไม่ต้องออกคำสั่งใหม่ และแนวที่เมื่อเขาลงสมัครไปแล้ว ก็ให้เขาเป็นไปก่อน แล้วค่อยสั่งให้เขาหยุดใหม่" นายปิยบุตรกล่าว
เลขาธิการคณะก้าวหน้ากล่าวว่า ประเด็นที่ 2 ควรเอาคำพิพากษามาดู เอาคำสั่งศาลมาดูว่าคดีนี้ศาลไม่ได้สั่งให้นายชาญหยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งในมาตรา 81 เป็นการหยุดโดยอัตโนมัติ ถ้าศาลรับฟ้องเมื่อไหร่ก็หยุดอัตโนมัติ เว้นแต่ศาลสั่งเป็นอย่างอื่น ซึ่งในกรณีนี้ศาลไม่ได้สั่งเป็นอย่างอื่น ก็คือหยุดอัตโนมัติ ซึ่งถ้าอยู่ต่อเนื่องเลย คนรักษาการนายก อบจ. จะเป็นปลัด อบจ. ซึ่งเป็นข้าราชการประจำ แต่ถ้าหากให้นายชาญดำรงตำแหน่งก่อน แล้วให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่อีกครั้ง คนรักษาการก็จะเป็นรองนายก อบจ.
ถามว่าทางออกเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร นายปิยบุตรกล่าวว่า กกต.ก็จะประกาศรับรองถ้าไม่มีเรื่องอื่น แต่ก็ยังถกเถียงกันอยู่แค่นี้ว่าจะให้หยุดอัตโนมัติ หรือให้นายชาญเป็นไปก่อนแล้วให้ผู้ว่าฯ สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งข้อกฎหมายชัดเจนอยู่แล้ว เรื่องนี้ควรจะเป็นเรื่องของสปิริต ใช้กฎหมายจะเกิดความลักลั่น
นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการ เขียนบทความในรูปถาม-ตอบ เรื่อง “ชนะเลือกตั้ง แต่ห้ามทำงาน?” ตอนหนึ่งระบุว่า เห็นด้วยกับกฤษฎีกาว่านี่เป็นมาตรการเพื่อความปลอดภัยของราชการ ไม่ให้คนที่ต้องคดีคอร์รัปชันยังคงอยู่ในตำแหน่งอีก เขาอาจไปยุ่งเหยิงกับพยาน หรือถ้าเป็นพยานบุคคล ก็จะยิ่งไม่กล้าพูดอะไรเลย ทั้งนี้ อำนาจและความรับผิดชอบตรงที่สุดคือ ผู้ว่าฯ ปทุมธานีที่ต้องกำกับดูแลราชการ อบจ.ปทุมธานี ให้เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย หากนิ่งเฉยปล่อยให้นายชาญในวาระใหม่สั่งราชการไปโดยไม่มีอำนาจ ผู้ว่าฯ ปทุมต้องรับผิดชอบ
"ตัวคุณชาญเองรู้ทั้งรู้ว่าคาคดีมีข้อห้ามทำงานติดตัวอยู่อย่างนี้ ก็ไม่ควรลงสมัครตั้งแต่แรกแล้ว เห็นว่ามีคดีซื้อของแพงถึงสองคดี ทั้งซื้อถุงยังชีพ และซื้อเครื่องออกกำลังกาย โดยค่าเสียหายของ อบจ.เป็นเงินถึงสามสี่สิบล้านเลยทีเดียวไม่ใช่หรือ เห็นอยู่ทางเดียวครับว่าเขาควรลาออก และขอโทษประชาชนด้วย" นายแก้วสรรระบุ
พิธาทวง 'MOU' กลางสภา
ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการอภิปรายในคดีที่ กกต.โดยนายทะเบียนพรรคการเมืองขอให้ศาล รธน.พิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล และเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรค โดยศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาคดีให้รอฟังผลการตรวจพยานหลักฐานของคู่กรณีในวันอังคารที่ 9 ก.ค.67 และนัดพิจารณาคดีครั้งต่อไปในวันพุธที่ 17 ก.ค. เวลา 09.30 น.
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวถึงการพิจารณาคดียุบพรรคก้าวไกลว่า ในทางการเมืองต้องมีการตระเตรียมในอนาคต ก็คงเตรียมพร้อมไว้เรียบร้อยแล้ว ยืนยันว่าระหว่างนี้พรรคก้าวไกลคงไม่เสียสมาธิ ตั้งอกตั้งใจทำงานในฐานะ สส.
ถามถึงพรรคสำรอง นายปิยบุตรกล่าวว่า เป็นธรรมดา ประเทศนี้ยุบกันมาไม่รู้กี่พรรคต่อกี่พรรค แต่ละพรรคก็ต้องเตรียมเรื่องพวกนี้ไว้ เมื่อถามว่ามีการปล่อยข่าวงูเห่าออกมาตลอด มองว่าคนปล่อยหวังผลอะไร นายปิยบุตรกล่าวว่า เป็นเรื่องธรรมดา มันเป็นเทศกาล เวลาพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ดูเหมือนจะถูกยุบในไม่ช้า ก็จะมีคนตั้งคำถามว่าจะมีการดึง สส.
"ขอฝากคนที่อยากจะดึงไป ผมว่าไม่มีประโยชน์ เพราะเสียงคุณขาดลอยไปแล้ว ดึงไปก็ไม่มีประโยชน์ รัฐบาลก็มีเสถียรภาพเข้มแข็งดี” นายปิยบุตรกล่าว
เมื่อถามว่า หากตั้งพรรคใหม่ นโยบายแก้ไข ม.112 ควรจะนำไปหาเสียงด้วยหรือไม่ นายปิยบุตรกล่าวว่า อยู่ที่กรรมการบริหารพรรคว่าคิดอ่านอย่างไร แต่ส่วนตัวต้องรอดูว่าความจำเป็นของการแก้ไขยังมีอยู่หรือไม่ พิจารณาเทียบกับแนวความคิดของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะทำอะไรได้บ้าง แต่สุดท้ายขึ้นอยู่กับพรรคว่าจะมีความเห็นอย่างไร
ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม ซึ่งที่ประชุมเปิดโอกาสให้ สส.หารือประเด็นต่างๆ โดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หารือว่า ขอฝากไปยังนายกรัฐมนตรี, ครม., สส.และพรรคการเมือง ให้ร่วมผลักดันตามที่ได้สัญญาไว้ในบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU ที่พวกเรา พรรคการเมืองต่างๆ ทำร่วมกันเมื่อวันที่ 3 ก.ค.66 หรือ 1 ปีที่ผ่านมา อาจไม่ใช่ MOU จัดตั้งรัฐบาลที่เราทำได้ไม่สำเร็จ แต่เป็น MOU ที่เกี่ยวข้องกับการร่วมเสนอชื่อบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ 2 คน ที่ปัจจุบันยังดำรงตำแหน่ง
"ขอให้ผลักดัน 3 ประเด็นดังนี้ การทำให้รัฐสภาไทยก้าวหน้า โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพและเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ความคืบหน้านิรโทษกรรมคดีการเมืองเพื่อความยุติธรรม นิติรัฐ นิติธรรม แก้วิกฤตการเมือง และคนไทยที่เห็นต่าง ไม่ต้องติดคุก ไม่ต้องลี้ภัย และแก้ไขกฎหมายเพื่อปฏิรูปกองทัพ อันได้แก่ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ที่ ร่าง พ.ร.บ.กฎอัยการศึก และร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งขณะนี้ติดอยู่ที่นายกฯ เพราะถูกตีความว่าเป็นกฎหมายการเงิน ทั้งหมดเพื่อปฏิรูปกองทัพให้ทันสมัย และเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง" นายพิธากล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทอน-เท้งไม่กล้าแตะแม้ว ร้องกกต.ซื้อเสียง52เรื่อง
“อิทธิพร” ยืนยันความพร้อมเลือกตั้งสมาชิก-นายก อบจ.
งบปี69ยึด3เป้า ย้ำขรก.ใช้คุ้มค่า คัด‘ปธ.ธปท.’อืด
นายกฯ มอบนโยบายจัดทำงบปี 69 วาง 3 เป้าหมาย ไม่ลดสัดส่วนนักลงทุน-ไม่เพิ่มงบ-ไม่เพิ่มอัตรากำลัง
สภาไฟเขียว‘สุราชุมชน’ ตีปี๊บซอฟต์พาวเวอร์ไทย
มติสภาเอกฉันท์ 415 เสียง ไฟเขียว "กม.สุราชุมชน" เปิดโอกาสเกษตรกรรายย่อยผลิต-มีเครื่องกลั่นสุรา
อิ๊งค์หวิดโดนตุ๋น/3ทุนใหญ่งาบ
อึ้ง! "นายกฯ อิ๊งค์" หวิดโดนคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงิน
ลากทักษิณขึ้นเขียง แพทยสภาเปิดวอร์รูมตรวจเวชระเบียนชั้น14เร่งจบมี.ค.
แพทยสภาเข็นนักโทษเทวดาขึ้นเขียง “หมออมร” เปิดวอร์รูมนัดแรกตรวจเอกสารลับ
27ม.ค.โอนเงินหมื่นเฟส2 คลังยันคุยธปท.ดันศก.โต
นายกฯ สรุปทิศทางทำงบปี 69 ย้ำต้องตอบโจทย์พัฒนาประเทศ