กฤษฎีกาเบรกชาญนายกอบจ.

เลขาฯ ป.ป.ช.แจงปมชี้มูล “ชาญ”   ทุจริตอยู่ขั้นสืบพยานในชั้นศาล เลขาฯ กฤษฎีกา ฟันเปรี้ยง! เมื่อเข้ารับตำแหน่งนายก อบจ.ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่อัตโนมัติ เพราะไม่ต้องการให้ยุ่งเหยิงกับคดี และเป็นไปตามกฎหมาย แต่ "ภูมิธรรม-สรวงศ์" ตะแบงอ้างตอนโดนคดีไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ จึงไม่ต้องหยุดอัตโนมัติ ต้องรอให้ศาลสั่งเท่านั้น "อนุทิน" โบ้ยไม่เกี่ยว มท. เปิดหนังสือเวียน สถ.ย้ำศาลรับฟ้องต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ หากฝ่าฝืนสั่งให้พ้นตำแหน่งได้

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีนายชาญ พวงเพ็ชร์ ชนะการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปทุมธานี แต่ปรากฏว่าเป็นผู้ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายก อบจ.ปทุมธานี เกี่ยวกับการจัดซื้อถุงยังชีพ โดยศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 มีคำสั่งประทับรับฟ้อง และเรื่องอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ ป.ป.ช.มีการชี้มูลเมื่อนานมาแล้ว และยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของทางศาล อยู่ในชั้นการสืบพยาน ณ วันนี้พ้นจากมือของ ป.ป.ช.ไปแล้ว คงทำอะไรไม่ได้ ก็นำสืบพยานกันต่อไป เพราะมีการชี้มูลและส่งเอกสาร หลักฐานไปหมดแล้ว ส่วนจะมีผลต่อการได้รับเลือกเป็นนายก อบจ.ปทุมธานีครั้งนี้หรือไม่นั้น ตนไม่สามารถบอกได้ เป็นเรื่องของทางกระทรวงมหาดไทย

ด้านนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สัมภาษณ์กรณีนายชาญว่า เมื่อไหร่ที่เข้ารับหน้าที่ก็ต้องหยุด เพราะวัตถุประสงค์ของคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้เหตุผลทุกกรณีไว้ว่า หากถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่โดย ป.ป.ช.ชี้มูล และมีคำถามว่า ระหว่างนั้นเขาพ้นตำแหน่งแล้วกลับเข้ามาทำหน้าที่ใหม่จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ซึ่งโดยตรรกะต้องหยุด  เพราะไม่ต้องการให้ยุ่งเหยิงกับคดีที่ผ่านมา และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นหลักกฎหมายปกติ ไม่ต้องมีหน่วยงานใดมาชี้ เพราะเป็นไปตามผลของกฎหมายอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า นายชาญมีสิทธิ์ไม่เชื่อความเห็นของกฤษฎีกาหรือไม่ นายปกรณ์กล่าวว่า หากนายชาญไม่เชื่อ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) จะเป็นคนชี้ เพราะมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลเรื่องของการเข้าสู่ตำแหน่ง การดำรงตำแหน่ง และการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น สถ.จึงเป็นผู้มีคำสั่งดำเนินการกับผู้เกี่ยวข้องต่อไป

เมื่อถามว่า ใครจะทำหน้าที่แทนนายชาญ นายปกรณ์กล่าวว่า คงเป็นปลัด อบจ.ปทุมธานี  ซึ่งเป็นข้าราชการประจำ ในรายละเอียดเรื่องนี้อยากให้สอบถามอธิบดี สถ. และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อมีปัญหาข้อกฎหมาย ก็ให้เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย แต่โดยส่วนตัวแล้วไม่รู้จักนายชาญเป็นการส่วนตัว จึงไม่ได้โทรศัพท์พูดคุยแสดงความยินดี ซึ่งเป็นหน้าที่ของพรรคเพื่อไทยที่จะดำเนินการ ตนไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว แต่ก็พร้อมที่จะพัฒนาร่วมกันเมื่อพรรคเพื่อไทยเลือกนายชาญมาเป็นนายก อบจ.ปทุมธานี

ขณะที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ว่า กรณีที่ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ และมีการประทับรับฟ้องแล้วนั้น ขณะนั้นนายชาญไม่ได้อยู่ในตำแหน่ง ศาลจึงไม่ได้มีคำสั่งอะไรออกมา ถือว่าจบไป ส่วนหนังสือเวียนของกฤษฎีกาที่ออกมานั้น ถือเป็นเพียงความเห็นของกฤษฎีกา การที่นายชาญจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่นั้น ต้องศาลสั่งเท่านั้น มันไม่ได้เป็นไปตามอัตโนมัติอย่างที่กังวลใจกันอยู่ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ เป็นสถานการณ์ใหม่ในการดำเนินการ ดังนั้นนายชาญก็ยังมีสิทธิ์ เพราะตอนสมัครยังไม่ขาดคุณสมบัติ ตอนนี้ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้องปล่อยให้เป็นไปตามข้อกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ปัจจุบันยังไม่มีข้อกฎหมายใดบังคับ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ตามกฎหมายของ ป.ป.ช. ยังไม่ชี้ชัดพอใช่หรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ยังหรอก เพราะศาลยังไม่มีคำสั่งว่านายชาญผิด แค่รับเรื่องมาพิจารณา ดังนั้นถือว่ายังอยู่ในกระบวนการ หากศาลมีคำสั่งชัดเจนว่าผิดก็จะถือว่าจบ  ยังไม่ชัดเจน และตามกระบวนการยุติธรรมเท่าที่ดูหลายเรื่องยังไม่ชัดเจน จึงขึ้นอยู่กับอำนาจศาลที่จะตัดสินใจ วันนี้เพียงประทับรับฟ้อง คือปล่อยให้จำเลยมีสิทธิ์ต่อสู้และตามกระบวนการยุติธรรม ใครที่ถูกดำเนินคดีกฎหมายยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ต้องมีการพิสูจน์ทราบชัดเจนว่ามีความผิดก่อน อย่าเพิ่งไปกังวลใจ หรือไปคิดไกล ไม่ใช่กฤษฎีกาบอกอย่างนั้นอย่างนี้แล้วทุกคนต้องดำเนินการ ต้องดูความเป็นจริงที่เกิดขึ้น มีหลายเรื่องที่เป็นความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วตัดสินเป็นอย่างอื่นได้ ดังนั้นจึงเป็นดุลยพินิจที่เราไม่ควรไปก้าวล่วง

พท.อุ้ม 'ชาญ' อ้างรอศาลสั่ง

"นายชาญไม่ได้อยู่ในวิถีที่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะตอนนั้นเขาไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ เรื่องดังกล่าวจึงต้องจบตรงนั้น ส่วนกระบวนการในตอนนี้ กกต.พิจารณาแล้วว่าคุณสมบัติไม่ขัด เพราะยังไม่ใช่ผู้ที่ถูกตัดสินแล้วว่าผิด และที่บอกว่าจำเป็นต้องออกเพราะสร้างความเสียหายนั้น เขาไม่จำเป็นต้องออกก็ได้ เพราะเขาเชื่อในความบริสุทธิ์ของตัวเอง เราอย่าไปวินิจฉัยแทน ให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ถึงที่สุดค่อยมาว่ากัน"

เมื่อถามอีกว่า ประเด็นนี้ทราบก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใช่หรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า เรื่องนี้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าดำเนินการ เลือกใครมาเขาคงเลือกดีแล้ว แต่รายละเอียดตนไม่ทราบ เพราะไม่ได้เข้าไปอยู่ในพรรคมาก

ถามว่า หากที่สุดแล้วการเข้าบริหารงานของนายชาญต้องเลื่อนออกไป จะส่งผลเสียต่อชาวปทุมธานีหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า เรายังไม่รู้เลยว่าจะให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ อันนี้เป็นเรื่องจินตนาการ เราต้องปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมทำหน้าที่ ให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ มีดุลยพินิจออกมา แล้วค่อยดำเนินการ และไม่ต้องโทษใคร ไปคิดว่าใครกลั่นแกล้งใคร ใครจะมารื้อฟื้น เพราะเรายึดกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

นายสรวงศ์ เทียนทอง สส.สระแก้ว และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวเช่นกันว่า กรณีของนายชาญ เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น เป็นกรณีทั่วไป คดีดังกล่าวอยู่ในอำนาจศาล ควรให้ศาลเป็นผู้สั่งหากกระทรวงมหาดไทยสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ถือเป็นคำสั่งทางปกครอง ผู้ถูกคำสั่งสามารถฟ้องร้องไปยังศาลปกครองได้ ฝ่ายกฎหมายของพรรคเพื่อไทยได้มีการตรวจสอบข้อมูลเรื่องดังกล่าวแล้ว มีความเห็นว่า ป.ป.ช.เป็นโจทก์ฟ้องในขณะที่ศาลประทับรับฟ้อง นายชาญไม่มีตำแหน่งหน้าที่ จึงไม่มีกรณีที่ต้องให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาล ถ้าจะต้องให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ป.ป.ช.ที่เป็นโจทก์ต้องยื่นคำร้องต่อศาล

นายสรวงศ์กล่าวว่า การให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ไม่มีบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.วิธีพิจารณาของศาลอาญาทุจริต เพียงแต่เขียนไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช.เท่านั้น และเป็นดุลพินิจของศาล ว่าต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ไม่ใช่เป็นการให้หยุดปฏิบัติหน้าที่โดยอัตโนมัติ จากนี้เป็นหน้าที่ของ กกต. เพราะได้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้รับสมัคร จนเสร็จสิ้นกระบวนการเลือกตั้ง นายชาญได้คะแนนมาเป็นลำดับที่ 1 และในท้ายที่สุด กกต.ได้รับรองนายชาญให้เป็นนายก อบจ.ปทุมธานีแล้ว

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ยังไม่ได้รับรายงาน วันนี้ประชุม ครม.อยู่ที่ จ.นครราชสีมา แต่หากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) สั่งก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ใช่หรือไม่ ขึ้นอยู่กับกฎหมายและการตีความ เป็นเรื่องของท้องถิ่นและเป็นการเลือกตั้งโดยประชาชน ส่วนจะหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ เป็นเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะด้านกฎหมายกระทรวงมหาดไทยไม่เกี่ยว ไม่สามารถบอกได้ตอนนี้ เพราะยังไม่รู้เรื่อง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องของกระทรวงมหาดไทยที่จะไปสั่งให้ใครหยุดหรือไม่หยุดปฏิบัติหน้าที่

เมื่อถามว่า กฤษฎีกาบอกว่า สถ.สามารถสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ นายอนุทินกล่าวว่า คงต้องรอถามเลขาฯ กฤษฎีกา

สถ.ชี้หากไม่หยุดสั่งพ้นเก้าอี้ได้

 ผู้สื่อข่าวจึงสอบถามต่อว่า เลขาฯ  กฤษฎีกาบอกว่านายชาญต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่โดยอัตโนมัติ เว้นแต่เจ้าตัวไม่เห็นด้วยจึงเป็นหน้าที่ของ สถ.ที่ต้องสั่งให้หยุด นายอนุทินกล่าวว่า สถ.คงไม่ได้สั่งอะไร และคงต้องฟังกฤษฎีกา ซึ่งเรื่องพวกนี้ต้องเป็นคำสั่งของศาลอาญาฯ  เพราะหากมีความเห็นแย้งอะไรก็ต้องให้ศาลอาญาฯ สั่ง และเป็นไปตามนั้น และต้องทำตามกฎหมาย ดีแล้วอย่าให้เกี่ยวกับ มท.เลย แค่นี้ก็ปวดหัวตายอยู่แล้ว

มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2567 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) โดยนายเอกวิทย์ มีเพียร รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดี สถ. ได้ทำหนังสือแจ้งเวียนผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เกี่ยวกับการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 ว่า กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติชี้มูลความผิดผู้บริหารท้องถิ่นรองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่น แล้วส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินคดีอาญากับบุคคลดังกล่าว และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้มีคำสั่งประทับรับฟ้องแล้ว บุคคลดังกล่าวไม่หยุดปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 81 ประกอบมาตรา 93 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561

เพื่อให้การหยุดปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น เป็นไปตามบทบัญญัติกฎหมายประกอบความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 1486/2565 จึงแจ้งแนวทางปฏิบัติให้ดำเนินการ ดังนี้

1.ให้บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องรายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอในฐานะผู้กำกับดูแลตามกฎหมายทราบโดยด่วน ตามนัยหนังสือกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ น.826/2582 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2482

2.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอในฐานะผู้กำกับดูแลตามกฎหมาย พิจารณากำชับให้บุคคลดังกล่าวหยุดปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด

3.บุคคลใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามหรือจงใจปกปิดข้อเท็จจริง ไม่รายงานการถูกฟ้องคดีอาญาตามข้อ 1 หรือไม่หยุดปฏิบัติหน้าที่ตามข้อ 2 อาจเข้าข่ายเป็นการประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อย ซึ่งนายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัดอาจดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน แล้วรายงานผู้ว่าราชการจังหวัด หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาสั่งให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง