จี้เลือกสว.เป็นโมฆะ ผู้สมัครบุรีรัมย์ยื่นกกต.แฉจ้างลงสมัคร/‘เสี่ยหนู’โต้อย่าด้อยค่า

กกต.จ่อรับรอง 200 ว่าที่ สว.หลัง 3 ก.ค. ยืนยันไม่ล่าช้าถ้ามีหลักฐานก็สอยทีหลังได้ ด้านอดีตผู้สมัคร สว.ยื่นฟ้อง กกต.ต่อศาล ปค.สั่งระงับประกาศผลเร่งตรวจสอบคุณสมบัติ ย้ำไม่ได้ด้อยค่า แต่บางคนอาจถูกหลอกลงสมัครกระจายให้ตรงเป้าหมาย 20 กลุ่ม ลั่นไม่เชื่อลมปาก “ปล่อยผ่านไปก่อนแล้วสอยทีหลัง” ส่วนผู้สมัคร สว.สละสิทธิ์ของอยุธยาออกมาแฉว่าที่ สว.แจ้งเอกสารเท็จ จี้ กกต.ระงับการรับรอง ขณะที่ผู้สมัคร สว.บุรีรัมย์พร้อมทนายดังบุกร้อง กกต.ให้เลือก สว.เป็นโมฆะเอาผิดคนที่เกี่ยวข้อง แฉยับ! จ้างคนมาลงสมัคร มีทั้งคนขับรถ หมอผี มัคนายก จึงไม่โปร่งใสตั้งแต่ต้น ทำให้บุรีรัมย์มี สว.ถึง 14 คน "อนุทิน" โชว์หล่อสมเพชคนด้อยค่า สว. ซัดทัศนคติเลวร้าย

เมื่อวันจันทร์ แหล่งข่าวจากสำนักงาน​คณะกรรมการ​การ​เลือกตั้ง​ (กกต.) เปิดเผยถึงกรณีมีผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เข้ายื่นร้องเรียนต่อ กกต.ในการเลือก สว.เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า ตามที่สำนักงาน กกต.ได้จัดให้มีการเลือก สว. ปี 2567 เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. และได้ 200 คนที่ได้รับเลือกเป็น สว. พร้อม 100 คนเป็นบัญชีสำรองนั้น ตามกฎหมายเมื่อได้ชื่อผู้ที่ได้รับเลือกเป็น สว.แล้ว ให้ กกต.รอไว้ 5 วันเพื่อรอการยื่นร้องเรียนการเลือกครั้งนี้ หากไม่มีอะไรก็ประกาศรับรองชื่อ 200 คนได้ และตามที่เลขาธิการ กกต.ได้แถลงคาดว่าจะสามารถประกาศรับรองชื่อได้ไม่เกิน 3 ก.ค. ซึ่งตอนนี้ กกต.อยู่ระหว่างการดำเนินการพิจารณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่มีคะแนนอยู่ในเกณฑ์ได้รับเลือกเป็น สว. ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ระยะเวลาอยู่บ้าง แต่ยืนยันว่าไม่ล่าช้า

 สำหรับการประกาศผลในวันที่ 3 ก.ค.เป็นกำหนดตารางการทำงานในเบื้องต้น แต่ในขณะนี้เนื่องจากมีประเด็นเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร จึงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบเพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย โดยยืนยันว่าจะดำเนินการโดยเร็วและให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

เมื่อถามว่า คาดว่าวันที่ 3 ก.ค.นี้จะประกาศรับรองชื่อ 200 คนได้หรือไม่ หรือประกาศไปก่อนแล้วค่อยมาสอยทีหลัง แหล่งข่าวจาก กกต.ระบุว่าคงต้องหลังวันนั้น ส่วนการจะสอยก่อนหรือหลังนั้น ถ้ามีหลักฐานก็สามารถสอยได้เลย เมื่อถามย้ำว่า ประกาศรับรองไม่ทัน 3 ก.ค.นี้จะผิดอะไรหรือไม่ แหล่งข่าวจาก กกต.ระบุว่าไม่ผิด กฎหมายบอกว่าให้รอไว้ 5 วัน ไม่ได้บอกว่าให้ประกาศภายในกี่วัน ช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานนั้นๆ

เมื่อเวลา 10.00 น. ที่สำนักงานศาลปกครอง นายจาตุรันต์ บุญเบ็ญจรัตน์ เลขาธิการกลุ่ม Clean Politic ในฐานะอดีตผู้สมัคร สว. กลุ่มที่ 20 กลุ่มอื่นๆ กรุงเทพมหานคร ได้ยื่นฟ้อง กกต.ต่อศาลปกครองสูงสุดว่า ปล่อยปละละเลยในการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร ไม่ดำเนินการจัดการเลือกตั้ง สว.ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ จึงขอให้ศาลเปิดไต่สวนฉุกเฉินเพื่อพิจารณาสั่งระงับการประกาศรับรองผลการเลือก สว.เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็น สว. 200 คน และผู้อยู่ในบัญชีสำรองอีก 100 คนว่ามีคุณสมบัติถูกต้องตามกฎหมาย

นายจาตุรันต์กล่าวว่า กระบวนการเลือก สว. 2567 ตั้งแต่การรับสมัคร มาถึงการเลือกระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. จะเป็นวิบากกรรม ประชาชนไม่มีส่วนร่วม แต่หลังการเลือกเสร็จกลับกลายเป็นวาระแห่งชาติ ประชาชนโฟกัสมาที่กลโกง การจัดตั้ง กลุ่มอาชีพของคนเป็นว่าที่ สว.ใหม่ ไม่ได้ด้อยค่าอาชีพ แต่กระบวนการได้เข้ามาของบางคนมีความเชื่อมโยงของบางกลุ่ม ที่พยายามจัดตั้งและนำคนเข้ามา เป็นการเข้ามาสมัครที่ปราศจากการอยากเป็น สว.ตามรัฐธรรมนูญ ที่เราเห็นคือการเลือกไม่ลงคะแนนให้ตัวเองถือเป็นความผิดปกติ และการเลือกลงในกลุ่มอาชีพที่อาจจะผิดมาตั้งแต่แรก โดยใช้เจ้าหน้าที่กลไกของกระทรวงมหาดไทย มีการอบรม การบอกว่าเป็นเจตนาของผู้สมัคร ซึ่งอาจจะทำหลายอาชีพ แล้วแบบนี้จะกำหนดไว้ทำไม 20 กลุ่ม ตนไม่ได้ด้อยค่าอาชีพ แต่บางคนอาจจะถูกหลอกจากคนจัดตั้งเพื่อกระจายไปยังกลุ่มต่างๆ เพื่อให้ตรงตามเป้าหมาย 20 กลุ่มให้ได้มากที่สุด 

เมินปล่อยผ่านสอยทีหลัง

 “เรื่องนี้หลายคนเห็นความผิดปกติ หากปล่อยว่าที่ สว. 200 คนเข้าไปทำหน้าที่ เกรงว่าบางคนจะไม่มีความเหมาะสมในการทำหน้าที่ สว. เนื่องจากอาจจะถูกครอบงำจากบางกลุ่มบางก้อน เลยมายื่นเรื่องให้ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครอง ไต่สวนฉุกเฉินในการที่ กกต.จะประกาศรับรองผล ซึ่งคาดว่าจะเป็นวันที่ 3 ก.ค.นี้ เรื่องนี้ยังมีเวลาไม่ต้องรีบ เพราะการปล่อยผ่าน สว.บางคนเข้าไป มองว่าการไปพิจารณารับรองบุคคลไปทำหน้าที่ในองค์กรอิสระก็ดี การไปพิจารณากฎหมายสำคัญที่มีผลกระทบกับประชาชนทั้งประเทศนั้น ไม่สามารถปล่อยผ่านได้จริงๆ"

นายจาตุรันต์ระบุว่า สำหรับหลักฐานที่นำมายื่นประกอบในวันนี้ มีทั้งหลักฐานจากที่ปรากฏผ่านสื่อ จากการไปเจอมา และหลักฐานจากนายสมชาย แสวงการ สว.  หนังสือท้วงติงจากนายกล้านรงค์ จันทิก ประธานคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา  และหลักฐานการนับคะแนนเป็นศูนย์คะแนนของผู้สมัคร สว. รวมถึงกลุ่มอาชีพ ที่นำมายื่นประกอบการพิจารณาของศาล

 “ไม่ได้ ผมไม่เชื่อมั่นในแนวทางนี้ จากการทำหน้าที่ที่ผ่านมาของ กกต.ตั้งแต่การเลือกตั้งใหญ่แล้ว ทุกวันนี้ให้ใบแดงใบเหลืองกี่คนหลังปล่อยผ่านเข้าไป เป็นคำพูดที่ กกต.สามารถพูดได้ แต่ความเชื่อมั่นของประชาชนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ดังนั้นบอกตรงๆ ว่ายังไม่เชื่อมั่นตรงนี้" นายจาตุรันต์ กล่าว เมื่อถามว่า กกต.ก็ชี้แจงว่าจะมีการรับรองไปก่อน แล้วค่อยสอยทีหลังก็ได้

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า มีคนบอกว่าไม่อยากให้ปล่อยยาวไป เพราะไม่อยากให้ สว.ชุดเดิมที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รักษาการต่ออีกยาว  นายจาตุรันต์กล่าวว่า เป็นคนละเรื่องกัน หาก กกต.ตรวจสอบอย่างจริงจัง ซึ่ง กกต.บอกว่ามีข้อมูลและได้มาก่อนที่ประชาชนจะรู้อีก หากเป็นเช่นนี้ก็เชื่อว่า กกต.มีหลักฐานเด็ด อยู่ที่ว่าจะกล้าใช้อำนาจของ กกต.หรือไม่ ที่ กกต.บอกว่ากรณีการฮั้ว หากไม่มีหลักฐานเรื่องการจ่ายเงินก็จะจับได้ยากนั้น ตนไม่เชื่อว่าคน 4 หมื่นคน แล้ว กกต.จะไม่มีหลักฐานการจ่ายเงิน อยู่ที่ว่าจะสืบคดีหรือไม่ ซึ่ง กกต.ต้องเร่งสร้างศักดิ์ศรีให้ตัวเอง

แฉผู้สมัครแจ้งเอกสารเท็จ

ขณะเดียวกัน ที่สำนักงาน กกต. นายพานิชย์ เจริญเผ่า ผู้สมัคร สว. อำเภอบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา กลุ่มที่ 17 กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์  ที่ผ่านเข้ารอบการคัดเลือกระดับจังหวัด แต่สละสิทธิ์ไม่ไปรับเลือก ซึ่งได้มายื่นหนังสือร้อง กกต.เรื่องขอให้การเลือกสว.จำนวน 200 คนครั้งนี้เป็นโมฆะ และขอให้ไม่รับรอง นายชินโชติ หรือนายประเทือง แสงสังข์ ผู้ได้รับเลือกเป็นสว.ในกลุ่มที่ 7 และขอให้ดำเนินคดีกับนายชินโชติ ในการนำเอกสารและใช้เอกสารอันเป็นเท็จมาลงสมัครรับเลือกสมาชิกวุฒิสภาในครั้งนี้

นายพานิชย์ให้สัมภาษณ์ว่า มายื่นเรื่องขอให้ถอดถอนบุคคลที่ได้รับการเลือกเป็น สว.กลุ่มที่ 7 กลุ่มแรงงาน เนื่องจากยื่นเอกสารอันเป็นเท็จต่อ กกต.ในการสมัครรับเลือก สว.ครั้งนี้ ซึ่งเป็นเอกสารของราชการทั้งสิ้น และอ้างอิงในศาล มีการฟ้องร้องในคดี โดยที่นายชินโชติขอร้องให้ไปถอนเรื่องการศึกษาที่ได้แจ้งเท็จไว้ในการเทียบโอน ตั้งแต่มัธยมต้น-มัธยศึกษาตอนปลายว่าเป็นเท็จ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการมีมติให้ถอดถอนทะเบียนโดยการเทียบโอนนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็ยังไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากมีการย้ายผู้บริหารคนใหม่มาแทน

"เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่มีการจัดตั้งกันอย่างเป็นขบวนการ ซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ตามกฎหมาย และเจตนารมณ์ที่ผมต้องการ ผมจึงปฏิเสธที่จะไปรับสมัครเลือก สว.ระดับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเป็นบุคคลเดียว และบุคคลที่มาร้องนั้นก็ลงสมัครใน จ.พระนครศรีอยุธยา และมาขอคะแนนจากผม ซึ่งบุคคลดังกล่าวเป็นลูกน้องคนเก่าผมในด้านแรงงาน และปัจจุบันนายชินโชติก็เป็นนักศึกษาชุดปัจจุบันของ กกต. ดังนั้น กกต.สามารถตรวจสอบประวัติได้ไม่ยากนัก ใช้อำนาจหน้าที่เรียกมาสอบสวนและดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป หาก กกต.ไม่ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย คงต้องพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรกับ กกต.ทั้ง 7 คนดังกล่าวต่อไป"

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า บุคคลที่มาร้องเกี่ยวข้องกับการฮั้วสมัครรับเลือก สว.หรือไม่ นายพานิชย์กล่าวว่า นายชินโชติเคยสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส.สมุทรปราการ ในพรรคที่ปัจจุบันมีอิทธิพล ฉะนั้นย่อมผูกพันกับในพรรคการเมืองดังกล่าว หากไม่จัดตั้งมาคงไม่ได้ 77 คะแนน ในระดับประเทศนั้นคงไม่น่าจะเป็นได้ เนื่องจากไม่ได้มีบทบาท หรือโด่งดังอะไร จึงมองว่าบุคคลคนนี้ไม่สมควรได้เข้าไปเป็น สว.ในการเลือกครั้งนี้

"กกต.ต้องระงับการรับรองบุคคลดังกล่าว หากรับรอง และเอกสารชัดเจน และไม่เรียกผมมาชี้แจงสอบสวน ถือว่า กกต.ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 ดังนั้นจึงต้องไปพิจารณาตามขั้นตอนกฎหมายต่อไปของ กกต." นายพานิชย์กล่าว

จี้ให้เลือก สว.เป็นโมฆะ

ที่ จ.บุรีรัมย์ อดีตตัวแทนผู้สมัคร สว.ในเขตพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ พร้อมด้วยนายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือทนายอั๋น และนายสุประดิษฐ์ แสนทวีสุข นักกฎหมายอิสระ ได้นำเอกสารหลักฐานเข้ายื่นร้องเรียนต่อ กกต.ประจำจังหวัดบุรีรัมย์ ให้ตรวจสอบการเลือก สว.ของ จ.บุรีรัมย์ โดยอ้างว่ากระบวนการไม่มีความถูกต้องโปร่งใสหรือเป็นไปตามรัฐธรรมนูญตั้งแต่เริ่มต้น มีการจ้างให้คนมาสมัคร จัดตั้งเข้าไปโหวตหรือเลือกคนที่วางตัวเอาไว้แล้ว ทั้งที่คุณสมบัติผู้สมัครหลายคนไม่ตรงปก เช่น หมอธรรม หมอผี และมัคนายก สามารถลงสมัครกลุ่ม 18 คือกลุ่มอาชีพสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม แต่กลับไม่ถูกตัดสิทธิ์ และยังผ่านเข้าไปเลือกในรอบอำเภอและจังหวัดได้ และมีการกระทำอีกหลายอย่างที่ส่อไม่โปร่งใส จึงอยากให้มีการตรวจสอบเอาผิด และขอให้การเลือก สว.ครั้งนี้เป็นโมฆะ 

ทนายอั๋นกล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 ระบุไว้ชัดเจนว่า การเลือก สว.ต้องการผลผลิตที่เกิดจากความสุจริตเที่ยงธรรม และต้องการสรรหาบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ และมีความหลากหลายในอาชีพไปนั่งในวุฒิสภา แต่ที่ จ.บุรีรัมย์มี 2 คนที่น่าจับตาตกเป็นกระแสข่าว คือคนขับรถให้อดีตนักการเมือง และอีกคนคือ อสม.  และเอาบุคคลที่คุณบัติไม่ตรงปกลงสมัครเพื่อให้ได้ สว. มากถึง 14 คน ซึ่งมองว่ากระบวนการจัดการเลือก สว.ครั้งนี้ไม่มีความสุจริตโปร่งใส จึงได้นำหลักฐานมาร้อง กกต.เพื่อให้ตรวจสอบเอาผิดกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง และขอให้การเลือก สว.ครั้งนี้เป็นโมฆะ

 ด้านนายณัฏฐชัย สวัสดี อดีตผู้สมัคร สว.กลุ่ม 18 เขต อ.โนนสุวรรณ กล่าวว่า ตนเห็นความผิดปกติของกระบวนการเลือก สว.มาตั้งแต่แรก ก่อนหน้านี้ก็ได้ร้องทั้งระดับอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ ถึงการเลือก สว.ที่ส่อไม่โปร่งใส โดยเฉพาะการปล่อยให้บุคคลที่คุณสมบัติไม่ตรงตามกลุ่มอาชีพจริง เช่น หมอธรรม หมอผี และมัคนายก สมัครในกลุ่มสื่อสารมวลชนได้ จึงอยากให้มีการตรวจสอบทั้งคุณสมบัติอดีตผู้สมัคร และกระบวนการคัดเลือก สว.ให้เกิดความถูกต้องด้วย

 ด้านนายสมชาย แสวงการ สว.และคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนฯ วุฒิสภา กล่าวถึงกรณีการเลือก สว.ว่า กมธ.ได้ติดตามมาตลอด ทั้งเรื่องการลงคะแนนที่เห็นปัญหา เช่นที่ จ.บุรีรัมย์ ที่เห็นชัดเจนว่าการไม่เลือกตัวเองเยอะมาก ในลักษณะการฮั้วและไม่บล็อกโหวต และที่ จ.ตรังน่าจะมีการบล็อกโหวต ส่วนที่มีหลักฐานชัดเจนคือ ภาพบันทึกวิดีโอและภาพถ่ายและตัวอย่างบัตรที่มีการฮั้วและการซื้อเสียงลงคะแนนที่ อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ ในก่อนการเลือกระดับอำเภอ ซึ่งประชาชนได้ส่งหลักฐานมาให้กรรมาธิการ

 นายสมชายกล่าวว่า นอกจากนี้จะติดตามถึงการใช้อำนาจหน้าที่ กกต.ที่มีข้อสงสัยมากเกี่ยวกับการบล็อกโหวต ซึ่งตนได้เรียกร้องให้ กกต.นับคะแนนใหม่ ขณะนี้ได้มีผู้ไปร้องเรียนแล้วและได้ยื่นไปยังศาลฎีกาแล้ว ทั้งเรื่องการลงคะแนนและการขานคะแนนไม่ลับ เรื่องการฮั้ว การบล็อกโหวต ซึ่งศาลได้ยกคำร้อง แต่ศาลได้บอกว่าให้ผู้ร้องไปร้องที่ กกต.ตามกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้เห็นว่าสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย เพราะ กกต.มีหน้าที่ต้องทำให้การเลือกต้องสุจริตและเที่ยงธรรม ทางที่ดี กกต.ต้องชะลอการประกาศรับรอง ถ้า กกต.เดินหน้าไปโดยไม่ตรวจสอบและเกิดการทุจริต กกต.ก็มีสิทธิ์ที่จะถูกดำเนินคดี และก็ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเหมือน กกต.ในอดีต

'อนุทิน' ซัดทุเรศด้อยค่า สว.

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีเสียงด้อยค่าของ สว.ว่า ตนรู้สึกสมเพชคนด้อยค่า เป็นการแสดงที่ให้เห็นชัดเจนว่า คนที่พูดอย่างเช่นว่า สว.ไม่มีการศึกษา, สว.ขายก๋วยเตี๋ยว, สว.เป็นคนขับรถ,  สว.เป็นชาวนา คนที่พูดตนเห็นว่าด้อยค่ายิ่งกว่า สว.อีก ตนพูดในฐานะที่เป็นผู้อ่านข่าวคนหนึ่ง อยากให้เข้าใจว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่ากัน นี่คือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญชุดนี้ ที่ต้องการให้มีคนหลากหลาย

"อยากฝากประชาชนได้ตั้งข้อสังเกต อย่าง สส.ต้องจบปริญญาตรี ซึ่งระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือรัฐมนตรีต้องจบปริญญาตรีเป็นขั้นต่ำ แต่ในการเลือก สว.ครั้งนี้ ไม่มีการระบุเรื่องของการศึกษา ไม่เรียนหนังสือยังเป็นได้เลย  เพราะเขาต้องการเอาคนที่หลากหลาย มีประสบการณ์ในการดำรงชีวิตมา ซึ่งถ้าเราได้มาตามกระบวนการทุกอย่างแล้ว เราก็ต้องเดินต่อไป ป่วยการไปพูดว่าคนนี้มีอาชีพอะไร หรือการศึกษาเป็นอย่างไร ซึ่งตนเห็นว่าเป็นการขัดเจตนารมณ์ และเป็นการแสดงทัศนคติที่เลวร้าย ใช้ไม่ได้" นายอนุทินกล่าว

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวว่า เงื่อนไขและคุณสมบัติของ สว.แต่ละคนได้กำหนดไว้ในกฎหมายเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นการที่แต่ละบุคคลมีความรู้จักและคุ้นเคยกันในแต่ละพื้นที่ ตนคิดว่าเป็นเรื่องปกติ สังคมในต่างจังหวัดการรู้จักมักจี่ หรือการทำงานก็เป็นเรื่องปกติที่จะรู้จักกัน แต่หากทุกคนมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กติกากำหนดไว้ก็ไม่น่ามีปัญหา ส่วนการทำงานก็คิดว่าคงจะมีการเริ่มในเร็วๆ นี้ การที่มีความหลากหลายในสาขาอาชีพ การทำงานอาจมีมิติใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดภารกิจสำคัญ 'สว.ชุดใหม่' เลือกองค์กรอิสระ 12 ตำแหน่ง พ้นวาระปีนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า ก่อนที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะประกาศผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 200 คน และบัญชีสำรองอีก 100 คนนั้น ซึ่งตามอำนาจหน้าที่ของ สว. นอกจากการกลั่นกรองพิจารณากฎหมาย และการติดตามตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลแล้ว

โฆษกก้าวไกล ชี้บทพิสูจน์ผลงาน สว.ชุดใหม่ ออกแบบ ส.ส.ร. ต้องมาจากเลือกตั้ง 100%

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ว่า ทุกอย่างเป็นผลลัพธ์กระบวนการเลือก สว.ในรัฐธรรมนูญ แต่เรื่องสำคัญเฉพาะหน้าคือ ทำอย่างไรให้คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.)