โพลยกพิธาเหนือนิด ซัดกกต.2มาตรฐาน

"เศรษฐา" ร่ายผลงานทัวร์อีสาน 4 จังหวัด โปรยยาหอมเรื่องน้ำ-สินค้าเกษตร "นิด้าโพล" ทำนายกฯ สะเทือน ประชาชนพาเหรดหนุน "พิธา-ก้าวไกล" เหมาะนั่งผู้นำบริหารประเทศ  "เสี่ยนิด" รับสภาพต้องปรับยุทธศาสตร์ ชี้มีหลายอย่างที่อยากทำแต่ไม่ได้ทำ พร้อมรับฟังโพล แต่ข้องใจถามแต่จังหวัดใหญ่ "แดดดี้ทิม" ได้ทีขอบคุณทุกภาคส่วนที่ทำงานจริงจังใน 5 ปี เมินคำเตือนศาลรัฐธรรมนูญ แถลงย้ำเรื่องยุบพรรคอีกรอบ  มั่นใจรอดทั้งศาล-ป.ป.ช.

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน ถือเป็นวันสุดท้ายในการปฏิบัติภารกิจขอนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในการลงพื้นที่ภาคอีสาน โดยขณะที่ลงพื้นที่ อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ นายกฯ ได้แวะทักทายและถ่ายรูปกับประชาชนอย่างเป็นกันเอง โดยชาวบ้านขอให้นายกฯ มีสุขภาพที่แข็งแรง พร้อมบอกว่า “รักนายกฯ เศรษฐา ดีใจที่นายกฯ มาใกล้ชิดประชาชน นายกฯ มาวันนี้อากาศเย็นสบาย ดีใจจังเลย เป็นขวัญใจประชาชน ชาวรัตนบุรี” ขณะที่คุณยายถึงกับร้องไห้ด้วยความดีใจที่ได้เจอนายกฯ บอกที่ผ่านมาไม่เคยมีนายกฯ คนใดลงมาในพื้นที่

ทั้งนี้ ในการลงพื้นที่ จ.สุรินทร์ นายกฯ  ยังใช้รถยนต์ทะเบียน 8 กผ 1127 กรุงเทพมหานคร คันเดิม

ต่อมานายเศรษฐาได้ให้สัมภาษณ์ถึงการลงพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และสุรินทร์ ตั้งแต่วันที่ 28-30 มิ.ย.ว่า จ.ร้อยเอ็ด ถือว่าเป็นจังหวัดอีสานตอนใต้ที่มีศักยภาพสูง ได้ไปดูการขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยแก้ว พื่อเพิ่มปริมาณการกักเก็บน้ำ ที่ช่วยทั้งในช่วงฤดูแล้งและฤดูฝน สร้างประโยชน์ให้ประชาชนมีน้ำใช้ในทุกครัวเรือน ส่วน จ.อุบลราชธานี ปัญหาหลักๆ คือเรื่องน้ำท่วม น้ำแล้ง และได้ไปดูเรื่องกระบวนการทำเทียนพรรษา ซึ่งควรส่งเสริมให้เป็นเฟสติวัลหรืออีเวนต์ประจำปีของจังหวัด โดยในวันที่ 20-21 ก.ค.2567 จะมีงานใหญ่ก็จะพยายามเคลียร์ตารางงานเพื่อจะมาร่วมงานด้วย

นายกฯ กล่าวต่อว่า จ.ร้อยเอ็ด ที่มีผลการจับกุมเรื่องยาเสพติดมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ ของพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง รวมถึงการขาดสถานที่รักษาผู้ติดยาเสพติดให้เพียงพอ ได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันทำงานอย่างบูรณาการ ขณะที่ จ.ศรีสะเกษ ดูเรื่องสินค้าเกษตร ปัญหาราคาหอมแดง ซึ่งก่อนมาเป็นรัฐบาลราคาอยู่ที่ 10 บาทต้นๆ ต่อกิโลกรัม ซึ่งปีนี้จะต้องทำให้ได้ 20 บาทต่อ กก. รวมถึงราคาพริก 35 บาทต่อ กก.

โพลยกก้นพิธาเหนือเสี่ยนิด

ขณะเดียวกัน ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่องการสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ 2/2567 โดยสำรวจประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปรวม 2,000 หน่วยตัวอย่าง

โดยเมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ ในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 45.50% ระบุว่าเป็นนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เพราะชื่นชอบอุดมการณ์ทางการเมือง มีความรู้ และความสามารถรอบด้าน, 20.55% ระบุยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้, 12.85% นายเศรษฐา เพราะมีความเป็นผู้นำ กล้าตัดสินใจ และมีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาของประเทศ,  6.85% นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เพราะมีภาพลักษณ์ที่ดี มีความน่าเชื่อถือ การทำงานมีความซื่อสัตย์ สุจริต, 4.85% น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เพราะมีวิสัยทัศน์ มีความเป็นผู้นำ และมีความรู้ ความเข้าใจปัญหาของประเทศ, 3.40% คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เพราะเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ด้านการบริหารที่โดดเด่น และมีความน่าเชื่อถือ, 2.05% นายอนุทิน ชาญวีรกูล เพราะมีประสบการณ์ทำงานด้านการบริหาร เข้าถึงประชาชน และชื่นชอบนโยบายที่ผ่านมา, 3.40% ระบุอื่นๆ  ได้แก่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน, นายวราวุธ ศิลปอาชา, นายชัยธวัช ตุลาธน, นายชวน หลีกภัย, นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง, นายเทวัญ ลิปตพัลลภ, นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส และ 0.55% ระบุว่าไม่ตอบ/ไม่สนใจ

เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้ พบว่า 49.20% พรรคก้าวไกล, 16.85% พรรคเพื่อไทย, 15% ยังหาพรรคการเมืองที่เหมาะสมไม่ได้,  7.55% พรรครวมไทยสร้างชาติ, 3.75% พรรคประชาธิปัตย์, 2.20% พรรคภูมิใจไทย, 1.75% พรรคพลังประชารัฐ, 1.55% พรรคไทยสร้างไทย, 1.05% ระบุอื่นๆ  ได้แก่ พรรคชาติไทยพัฒนา, พรรคชาติพัฒนา, พรรคประชาชาติ, พรรคเสรีรวมไทย, พรรคเพื่อไทยรวมพลัง และพรรคไทยภักดี และ 1.10% ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

รับต้องปรับยุทธศาสตร์

นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์อีกครั้งถึงการลงพื้นที่ในหลายจังหวัด แต่ผลโพลสำรวจยังออกมาพบว่านายกฯ ยังได้รับความนิยมเป็นรองจากนายพิธา จะมีการปรับยุทธศาสตร์อย่างไรหรือไม่ ว่ายุทธศาสตร์เรามีการปรับตลอดเวลา จะมีโพลหรือไม่มีโพลก็ตาม เพราะการลงพื้นที่แต่ละครั้งถือว่าไม่สมบูรณ์แบบจริงๆ ยังมีข้อร้องเรียน ข้อเรียกร้อง ระยะเวลา และความลึกการลงพื้นที่ รวมถึงเวลาที่ให้กับพ่อแม่พี่น้อง มีหลายๆ ปัญหาที่ยังไม่ถูกนำมาพูดถึง แต่ทุกครั้งเวลาลงพื้นที่เวลากลับไปจะพูดคุยกันว่าจะทำอย่างไรให้ทุกอย่างดีขึ้น ไม่ใช่แค่ลงพื้นที่อย่างเดียว เราคงมีการปรับตัว โพลก็เป็นส่วนหนึ่งที่ให้ฟีดแบ็กกับเรา

นายเศรษฐากล่าวต่อว่า ต้องยอมรับว่าเรายังไม่ได้ทำอะไรที่อยากทำ และนโยบายหลักก็ยังไม่ได้คลอดออกไป งบประมาณเพิ่งใช้ได้ไม่ถึง 2 เดือนนี้เอง ซึ่งก็ไม่ได้อยากอ้างงบประมาณตลอดเวลา แต่ทุกๆ คำถามทุกๆ โพลที่ออกมาเราก็น้อมรับ ส่วนการจะไปถามครอบคลุมทุกภาคส่วนหรือเปล่า สื่อมวลชนต้องไปดู ว่าเข้ามาสำรวจในจังหวัดสุรินทร์หรือในพื้นที่รอบๆ ครบหรือเปล่า หรือถามแต่จังหวัดใหญ่ๆ

 “ผมไม่มั่นใจอะไรทั้งสิ้น เพราะตื่นเช้ามาก็ทำงานทุกวัน และผลโพลก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราสามารถมั่นใจหรือไม่มั่นใจ และวันนี้ผลโพลยังไม่ดีพอ เราก็ยังไม่มั่นใจ ความไม่มั่นใจไม่ได้เป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่เป็นสิ่งที่เตือนสติให้เราทำงานหนักขึ้น เราต้องพยายามที่จะหามาให้ได้ว่าพี่น้องประชาชนยังต้องการอะไรอีก และพยายามพัฒนาต่อไป เพราะปัญหามันเยอะเหลือเกิน” นายเศรษฐาตอบเมื่อถามว่ามั่นใจในคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยใช่หรือไม่

ด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวถึงผลนิด้าโพลเป็นการตอกย้ำว่าหากยิ่งยุบพรรคจะยิ่งโตหรือไม่ว่า ไม่ได้ตอกย้ำตรงนั้น การได้คะแนนนิยมเป็นอันดับ 1 ต้องยกความดีความชอบให้เพื่อนๆ พรรคก้าวไกลทุกคน รวมถึงทีมงานจังหวัด ทีมพื้นที่ พนักงาน สมาชิกพรรค ว่าที่ผู้สมัคร และ สส. ที่ทำงานกันอย่างหนัก พิสูจน์ตัวเองในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้พี่น้องประชาชนให้ความไว้วางใจ

นายพิธายังระบุว่า ผลคนโหวตหาบุคคลเหมาะสมไม่ได้ สะท้อนว่าการเมืองทั้งระบบไม่ตอบโจทย์ ซึ่งก็ตรงกับที่อภิปรายงบประมาณ ซึ่งไม่ได้เล่นคำ Ignite กับ Ignore ให้เป็นวาทกรรม แต่รู้สึกว่ามีคนที่ถูกทอดทิ้งในระบบการเมืองไทยจริงๆ มีคนไม่มีปากเสียงในระบบการเมืองไทยจริงๆ แล้วอยากรู้ว่าตัวเลข 20% ที่ขึ้นลง สะท้อนอะไรบ้างเมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่ หลังจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เมื่อถามว่า ตามโพล นายเศรษฐามาเป็นอันดับ 3 มองปรากฏการณ์อย่างไรนายพิธาย้ำว่า คงจะพูดในมุมที่อยากจะพูดกับตนเองเหมือนกัน ว่าต้องพิสูจน์ตัวเองในการทำงานหนัก ไม่ได้ต้องรู้สึกผิดหวังจากตัวเลขที่ลดลง ตนเองก็เคยโพลลดลง มันก็ไม่ได้ทำให้ย่อท้อหรือรู้สึกว่าอยากจะทำงานการเมืองน้อยลง ขณะเดียวกันก็ไม่ได้รู้สึกว่าเสียกำลังใจ เพราะในช่วงที่บ้านเมืองลำบากยากแค้นขนาดนี้ ต้องมีกำลังใจดี และพร้อมที่จะทำงานเพื่อประชาชนอยู่เสมอ ตนขอเป็นกำลังใจให้นายกรัฐมนตรี

วันเดียวกัน นายพิธายังกล่าวแถลงความคืบหน้าคดียุบพรรคต่อเนื่องจากคำแถลงครั้งก่อน โดยเน้นไปที่ข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริง ซึ่งเริ่มต้นด้วยการทบทวน 9 ข้อต่อสู้ของพรรคก้าวไกล ว่าแบ่งเป็นสัดส่วน เขตอำนาจและกระบวนการ, ข้อเท็จจริง และสัดส่วนโทษ พร้อมย้ำว่า กระบวนการในชั้นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กกต.กำลังทำให้การยุบพรรคมี 2 มาตรฐาน บางพรรคใช้มาตรา 92 และบางพรรคใช้มาตรา 93 ถ้าเราดูอย่างเห็นได้ชัดมาตรา 92 และ 93 ไม่สามารถใช้แยกกันได้

ตอกย้ำ กกต. 2 มาตรฐาน

 “บางพรรคที่ กกต.อยากจะส่งขึ้นทางด่วนก็ใช้มาตรา 92 พอ มาตรา 93 ไม่ต้องใช้ ถ้าปล่อยให้ใช้แยกกัน หมายความว่าพรรคก้าวไกลขึ้นทางด่วน ส่วนพรรคอื่นไปทางธรรมดา เรายังยืนยันว่าไม่สามารถตีความมาตรา 92 และ 93 อย่างที่ กกต. ตีความได้ เราไม่สามารถให้การยุบพรรคมี 2 ช่องทางให้ กกต.ใช้ด้วยอำเภอใจ” นายพิธากล่าว

นายพิธากล่าวอีกว่า ศาลเคยยกคำร้องเพราะ กกต.ไม่ทำตามกระบวนการมาแล้วในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ เพราะนายทะเบียนพรรคการเมืองไม่ได้ทำความเห็นก่อนส่งเรื่องเข้า กกต. โดยยังเชื่อมั่นว่าถ้า กกต.เปิดประตูให้เข้าไปชี้แจงต่อ กกต. มีความเป็นไปได้สูงในการที่จะยกคำร้องตั้งแต่ชั้น กกต.

นายพิธายังกล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าพรรคก้าวไกลไม่ได้กระทำตามข้อกล่าวหา จะมีการฟ้องกลับ กกต.หรือไม่ ว่าคิดว่ายังคงไกลไปเยอะที่จะคิดเรื่องนั้น เรื่องที่เราอยากจะขอย้ำ และขอยืนยันว่าคำร้องของ กกต.นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีส่วนร่วม ไม่มีการถ่วงดุล และผิดขั้นตอนของทาง กกต.เอง ไม่ควรที่จะให้ตีความแบบ กกต.ว่าแยกมาตรา 92 กับ 93 กรณีนั้นทำให้เกิดสองมาตรฐาน บางพรรคถ้ากรณีที่ใช้ดุลยพินิจแล้วเกิดแยกขึ้นมา ยืนยันว่าไม่ได้กล่าวหา กกต.โดยตรง แต่โดยหลักการถ้ามีสองมาตรฐานแบบนี้ได้

เมื่อถามว่า มองเรื่องของการรับรู้ของศาลมองเป็นการฟอกข่าวให้ กกต.หรือไม่ นายพิธากล่าวว่า ไม่อาจก้าวล่วงไปที่ทางศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่สามารถก้าวล่วงไปในมุมของ กกต.ได้ ในขณะเดียวกันก็ทราบว่าศาลถามอะไรไปที่ กกต.ก็ทราบคำตอบ ตั้งใจที่จะแถลงข่าวอย่างตรงไปตรงมาและยึดที่ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายของฝั่งตนเอง ไม่อาจไปก้าวล่วงไปที่ผู้ร้อง เน้นที่ฝั่งของตัวเองที่ถูกกระทบหรือถูกกระทำ ไม่ได้ต้องการที่จะไปก้าวล่วงในขอบเขตของคนอื่น

เมื่อถามว่า ในส่วนตัวของพรรคก้าวไกลนั้นมั่นใจหรือไม่ว่ากรณีนี้จะถูกยุบพรรค นายพิธากล่าวว่า ถ้ามีความสม่ำเสมอในการใช้มาตรฐานในการทำคำร้องคดีและมาตรฐานในการตัดสินคดี ตนมีความมั่นใจ

เมื่อถามว่า กรณีนี้ตัวพรรคก้าวไกลมั่นใจว่าจะไม่ถูกยุบกับการที่เทียบคดีที่มีการร้อง ป.ป.ช. เรื่องของจริยธรรมที่มี สส. ก้าวไกล 44 คน เข้าชื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เรื่องของคดีนั้นกับคดีนี้ อันไหนมีแนวโน้มว่าจะมีความเชื่อมั่นมากกว่ากัน นายพิธากล่าวว่า เชื่อมั่นพอๆ กัน ยังเชื่อมั่นในตัวเองไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเจตนาของพวกเราที่มีเจตนาดีกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ว่าจะเป็นการกระทำใดที่ผ่านมาที่มีคำอธิบายได้ เราประกันตัว เพราะเป็นสิทธิที่เป็นหลักการสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ไว้ก่อน การที่เรามีผู้ต้องหามาตรา 112 เป็นสมาชิกพรรคหรือเป็น สส.พรรค ก็ต้องให้โอกาสเขาในการที่จะพิสูจน์ เพราะคดีก็ยังไม่ถึงที่สิ้นสุด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง