จัดทัพคุมอำนาจสว. ค่ายสีน้ำเงินซุ่มเปิดเซฟเฮาส์/จ่อยื่นศาลเบรกประกาศผล

"สว.สีน้ำเงิน" ขยับแล้ว รอเปิดเซฟเฮาส์พบปะหลังวันพุธ 3 ก.ค. หึ่ง! แคนดิเดตชิงรองประธานวุฒิฯ หลายชื่อเริ่มโผล่ "สรชาติ อดีต สส.หนองบัวลำภู"-"บุญส่ง อดีต กกต." ส่วน "บิ๊กเกรียง" ยังแรงคั่วประมุขสภาสูง นายกฯ ชี้เลือก สว.กติกาถูกเซตมาแล้ว มีผิดหวังสมหวัง ใครเห็นช่องโหว่ควรปรับปรุง ต้องตั้ง ส.ส.ร.แก้ในสภา "แกนนำ ชทพ." แนะให้โอกาส สว.ชุดใหม่ อย่าด้อยค่าดูถูกเพื่อนร่วมชาติ "สว.สมชาย" ยกทฤษฎีต้นไม้พิษ จี้ กกต.ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครทั้ง 4.8 หมื่นคน "อดีตผู้สมัคร สว." จ่อยื่นศาลปกครองสูงสุดขอไต่สวนฉุกเฉินคุ้มครองชั่วคราวประกาศผลเลือก สว. เหตุไม่ตรงปกยิ่งกว่าสภาผัว-เมีย จะปล่อยไปไม่ได้   

 เมื่อวันอาทิตย์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง พ.ศ.2567 ตั้งแต่ 3 ก.ค.เป็นต้นไป ปรากฏว่า ล่าสุด นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ออกหนังสือนัดประชุมสภาฯ นัดแรก ในวันพุธที่ 3 ก.ค.นี้ทันที รวมถึงได้นัดประชุมสภาฯ วันพฤหัสบดีที่ 4 ก.ค.นี้แล้วเช่นกัน

ขณะที่ในส่วนของสมาชิกวุฒิสภา (สว.)  ขณะนี้ทางสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภากำลังรอการประกาศรับรองรายชื่อ สว.ชุดใหม่ ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) บอกว่าจะประกาศในวันพุธที่ 3 ก.ค.อยู่

โดยขั้นตอนเมื่อ กกต.ประกาศรายชื่อในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ก็จะทำให้ สว.ชุดปัจจุบันพ้นจากหน้าที่โดยทันที ส่วน สว.ชุดใหม่ ก็จะต้องไปเอาหนังสือรับรองจาก กกต. แล้วมารายงานตัวต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาต่อไป โดยหาก กกต.ไม่เลื่อนการประกาศรับรอง ก็คาดว่า สว.จะเริ่มทยอยมารายงานตัวตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค.นี้ และหลังจากนั้นคาดว่าสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาก็จะออกหนังสือนัดประชุมวุฒิสภานัดแรกในสัปดาห์ที่สองของเดือน ก.ค. ช่วง 8-12 ก.ค.ต่อไป ซึ่งจะมีการเลือกประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่งและรองประธานวุฒิสภาคนที่สองทันที

สำหรับขั้นตอนการเลือกประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภา จะดำเนินไปตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ.2562 ข้อที่ 5 โดยมีขั้นตอนดังนี้ เริ่มจากเลขาธิการวุฒิสภาเชิญสมาชิกผู้มีอายุสูงสุดซึ่งอยู่ในที่ประชุมวุฒิสภาเป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุม เพื่อให้ที่ประชุมวุฒิสภาดำเนินการเลือกประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภา

 โดยการเลือกประธานวุฒิสภา สมาชิกแต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อสมาชิกได้หนึ่งชื่อ การเสนอนั้นต้องมีผู้รับรองไม่น้อยกว่าสิบคน และก่อนที่จะดำเนินการเลือกประธานวุฒิสภานั้น ให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อตามวรรคหนึ่งกล่าวแสดงวิสัยทัศน์ในการที่จะดำรงตำแหน่งต่อที่ประชุมวุฒิสภาด้วย

มีรายงานความเคลื่อนไหวสำหรับรายชื่อแคนดิเดตคนที่จะได้รับการเสนอชื่อให้ชิงเก้าอี้ประธานวุฒิสภาคนใหม่ และรองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่งและคนที่สอง

สว.สีน้ำเงินคุมโผเลือก ปธ.สว.

แหล่งข่าวจากว่าที่ สว.ชุดใหม่ "ขั้วสีน้ำเงิน" เปิดเผยว่า ขณะนี้ สว.ในกลุ่มได้รับสัญญาณมาว่าให้ว่าที่ สว.ทุกคนหลีกเลี่ยงการให้สัมภาษณ์กับสื่อ เพื่อตอบโต้กรณีว่าที่ สว.ในกลุ่มถูกวิจารณ์ทางการเมือง โดยให้ทุกคนปักหลักในพื้นที่ รอ กกต.ประกาศรับรองรายชื่อในวันพุธนี้ 3 ก.ค. จากนั้นเมื่อแต่ละคนไปรายงานตัวต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาที่กรุงเทพมหานครแล้ว ก็คาดว่าจะมีการนัดพูดคุยกัน ที่อาจมีเรื่องของการเตรียมตัวเลือกประธานวุฒิสภา ซึ่งถึงตอนนี้เต็งหนึ่งยังคงเป็น “บิ๊กเกรียง” พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ อดีต ผช.ผบ.ทบ. อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 อดีตประธานคณะที่ปรึกษา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย ตามที่มีกระแสข่าว แต่ก็ต้องรอดูสัญญาณว่าจะยังคงเป็นชื่อเดิมหรือไม่ในช่วงก่อนการโหวต หรือจะเปลี่ยนเป็นชื่ออื่น

 “ส่วนรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 กับรองประธานคนที่ 2 ตอนนี้ว่าที่ สว.ในกลุ่มก็กำลังติดตามข่าวอยู่ แต่เท่าที่คุยกันก็คือหากบิ๊กเกรียงเป็นประธาน สว.จริง รองประธานก็ควรได้คนที่มีประสบการณ์ทางการเมือง เคยผ่านงานในสภามาก่อน สามารถประสานได้กับทุกฝ่าย โดยอาจเป็นอดีต ส.ส.ก็ได้ ทำให้ว่าที่ สว.ในกลุ่มก็เริ่มมีการพูดถึงชื่อหลายคน เช่น นายสรชาติ วิชย สุวรรณพรหม อดีต สส.หนองบัวลำภู ยุคพรรคความหวังใหม่ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งได้คะแนนมาอันดับหนึ่งในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หรือกลุ่ม 13 และตอนนี้ก็ได้ข่าวว่าว่าที่ สว.อีกบางส่วนก็อาจผลักดันนายบุญส่ง น้อยโสภณ อดีต กกต. อดีตผู้พิพากษา ลงชิงรองประธานวุฒิสภา โดยความชัดเจนทั้งหมดคงต้องรอหลังวันที่ 3 ก.ค.” แหล่งข่าวจาก สว.สายสีน้ำเงินระบุ และคาดว่าถึงช่วงก่อนการโหวตเลือกประธาน สว.และรองประธานคงจะมีรายชื่อแคนดิเดตออกมาอีกหลายรายชื่อ โดยเฉพาะกลุ่มว่าที่ สว.สีน้ำเงินว่าจะผลักดันใคร  

นายสรชาติ วิชย สุวรรณพรหม ว่าที่ สว.จากกลุ่ม 13 ที่ได้คะแนนมาอันดับ 1 ของกลุ่ม  กล่าวถึงการเลือกประธาน สว.และรองประธาน  อีก 2 คนว่า คงต้องรอให้ กกต.ประกาศรับรองรายชื่อก่อน ส่วนคนที่จะเป็นประธานเห็นว่าต้องเป็นบุคคลที่ประสานงานได้กับทุกฝ่าย ทั้งอำนาจเก่าและอำนาจใหม่ ประสานงานได้กับทุกฝ่าย เป็นที่ยอมรับของทุกคน และต้องมีความเป็นกลาง ทำให้งานของวุฒิสภาเดินไปได้อย่างราบรื่น ส่วนรองประธานคนที่ 1 กับรองประธานจะเป็นใครนั้น ไม่ต้องห่วง มีคนทำงานได้อยู่แล้วในแต่ละด้าน

วันเดียวกัน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงผลการเลือก สว. ที่มองกันว่ามีช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญว่า คงต้องตอบในฐานะนายกรัฐมนตรีของประชาชนคนไทย กติกาถูกเซตมาแล้ว และเชื่อว่าทุกคนก็ลงเล่นกัน มีคนผิดหวังและสมหวังบ้าง และเราอยากให้กติกานี้เป็นกติกาที่เป็นตัวแทนของประชาชนจริงๆ ส่วนผลออกมาอย่างไร ตนในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่งน้อมรับ ส่วนจะมีใครไม่เห็นด้วยและจะไปปรับปรุงแก้ไขอย่างไร ก็ต้องไปแก้ที่สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และเข้าไปในสภาเพื่อจะแก้ไขต่างๆ 

เมื่อถามว่า การพ่ายแพ้ของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ ถูกเชื่อมโยงมองไปถึงคะแนนความนิยมของพรรคเพื่อไทยด้วย นายเศรษฐากล่าวว่า เข้าใจว่าความเชื่อมโยงมีแค่คำของความเป็นเครือญาติ แต่ความเชื่อมโยงระหว่างพรรคกับตัวบุคคลผู้สมัครไม่มีความเชื่อมโยงกัน

ชทพ.แนะปล่อย สว.ใหม่ทำงาน

นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา โพสต์เฟซบุ๊กว่า เห็นว่าควรมีวุฒิสภามาช่วยกลั่นกรองกฎหมาย และจะดีที่มาจากสาขาอาชีพต่างๆ แม้ในครั้งนี้จะมีปัญหาอยู่บ้างในระบบขั้นตอนของการได้มาตามกฎหมายในครั้งนี้ ที่เมื่อเราได้เรียนรู้ข้อผิดพลาดแล้วค่อยแก้ไขในโอกาสต่อไป แต่ก็ถือว่าแนวนั้นมาถูกทางแล้ว ไม่เห็นด้วยกับการมีวุฒิสมาชิกมาจากการแต่งตั้ง ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกโดยตรง เพราะจะเกิดปัญหาตัวแทนประชาชนซ้อนกัน ไม่เห็นด้วยกับการไปด้อยค่าวุฒิสมาชิกชุดนี้ เราด่าว่าวุฒิฯ ที่มาจากหอคอยงาช้าง หรือมาจากการแต่งตั้ง แต่พอเราได้จากกลุ่มที่มาจากอาชีพต่างๆ    เราก็ไปด้อยค่าเขาอีก อยากให้ กกต.ไปดำเนินการตรวจสอบไปตามกฎหมายที่เขามีหน้าที่ จากนั้นให้ สว.ที่ผ่านการตรวจสอบทำหน้าที่ของเขากันไปก่อน ถึงค่อยมาใช้สิทธิว่ากล่าวเขาตามที่ควรเป็นเพื่อบ้านเมือง ไม่ใช่เพื่อความสะใจของเรา

"เราควรจะให้เวลากับท่านสมาชิกวุฒิสภาชุดนี้กันสักระยะหนึ่ง โดยไม่ดูถูกความเป็นเพื่อนร่วมชาติผู้เสนอตัวเข้ามาทำหน้าที่กันไม่ดีกว่าหรือ? ครบปีแล้วค่อยมาว่ากล่าวกันก็ยังทันครับ"  นายนิกรระบุ

ด้านนายสมชาย แสวงการ สว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊กว่า ขอเสนอให้ กกต.พิจารณาตรวจสอบอย่างจริงจังดังนี้ 1.ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ “ผู้สมัคร” สมาชิกวุฒิสภา ทั้ง 48,000 กว่าคน มิใช่ตรวจสอบเพียงเฉพาะผู้สมัครที่ได้รับเลือกแล้วแค่ 200 คน และตัวสำรอง 100 คนเท่านั้น เพราะการไม่สุจริตนั้นอาจเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นทาง คือการสมัครระดับอำเภอที่อาจปล่อยให้คนที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามหรือไม่มีประสบการณ์ 10 ปีจริง ได้เป็นผู้สมัคร สว.ด้วยเหตุเพราะผู้สมัครที่ขาดคุณสมบัติ ได้สิทธิลงคะแนนโหวตเลือกทั้งในระดับอำเภอ ระดับจังหวัดหรือระดับประเทศ ทั้งไม่ว่าจะลงคะแนนให้ตนเองหรือไปร่วมลงคะแนนฮั้วให้คนอื่น ย่อมทำให้กระบวนการเลือก สว.ทั้งหมดเป็นโมฆะได้ #ทฤษฎีผลไม้พิษ

2.เท่าที่ได้สุ่มทดสอบตรวจผู้สมัครในระดับอำเภอต่างๆ เบื้องต้น พบว่า มีข้อสงสัยการยืนยันคุณสมบัติตนเองและการรับรองกันเองในกลุ่มต่างๆ จำนวนมากทั่วประเทศ อาทิ การรับรองประสบการณ์ที่น่าจะไม่ตรงกับกลุ่มที่สมัครหรือไม่ถึง 10 ปี กกต.ควรพิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร สว.ใหม่ทั้งหมดทั้ง 48,000 กว่าคน อาจพบข้อสงสัยว่าขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามจำนวนมากหรือไม่ เพราะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปีด้วย

3.กกต.ควรแสดงความกล้าหาญตรวจพิสูจน์ blockvote ด้วยการตรวจนับคะแนนในระดับประเทศใหม่ทั้งหมด โดยให้นำบัตรลงคะแนนทั้งหมดมาแสดงหลักฐานต่อสื่อมวลชน พร้อมถ่ายทอดสดให้ประชาชนทราบเพื่อพิสูจน์ว่ามีการจัดเรียงคะแนนในบัตรลงคะแนนเป็นชุด blockvote ตามที่มีการตั้งข้อสังเกตหรือไม่

4.กกต.มีหน้าที่ตรวจสอบการเลือก สว.ทุกคนก่อนให้การรับรองในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การสมัครการเลือกกันเองโดยตรง การเลือกไขว้ ทุกระดับ ตั้งแต่อำเภอ จังหวัด ประเทศ ให้สุจริตและเที่ยงธรรมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 107 วรรคสอง และมิได้มีบทบัญญัตติของรัฐธรรมนูญใด ให้ กกต.เร่งรัดรับรองทันทีหรือภายใน 60 วัน เหมือนการเลือกตั้ง สส.ในมาตรา 85 ที่ให้รับรองใน 60 วัน หรือที่ให้อำนาจ กกต.รับรองไปก่อน แล้วไปสอยทีหลัง

ยื่นศาลเบรกประกาศผล

ขณะที่ นายจาตุรันต์ บุญเบ็ญจรัตน์  เลขาธิการกลุ่ม Clean Politic อดีตผู้สมัคร สว. กลุ่มที่ 20 เปิดเผยว่า ตนเตรียมยื่นศาลปกครองสูงสุด ในวันที่ 1 กรกฎาคม เวลา 10.00 น. เพื่อขอให้ศาลเปิดไต่สวนฉุกเฉินคุ้มครองชั่วคราวการประกาศรับรองผลการเลือก สว.ไม่ตรงปก หวั่นการเมืองสภาสูง เสียศูนย์ยิ่งกว่าสภาผัวเมีย จากการติดตามข้อมูลข่าวสาร และประสบการณ์ตรงในการเลือก สว. น่าจะเป็นการเลือกที่สกปรกทางการเมืองครั้งหนึ่ง ผู้สมัครกรอกประวัติอาชีพ ไม่ตรงกลุ่มก็มี กกต.ปล่อยมาได้อย่างไร และจากมีกลุ่มก้อนทางการเมืองเข้ามาจัดการ

"อยากให้ กกต.สร้างประวัติศาสตร์เร่งกู้ศักดิ์ศรี ความเชื่อมั่นต่อองค์กร ด้วยการสั่งฟันว่าที่ สว.นกแล เหตุเส้นทางเชื่อมโยงพรรคการเมืองชัดเจน รวมถึงผู้สมัครแจ้งประวัติอาชีพกับกลุ่มที่สมัครไม่ตรงกัน ส่อเจตนาบางประการ การเลือก สว.คราวนี้เต็มไปด้วยกลยุทธ์ หักเหลี่ยม เฉือนคม โกหก หลอกลวง หักหลังกันอย่างน่าเกลียด น่าเวทนา จนไม่สามารถปล่อยผ่าน คือการสมัครเข้ามาเพื่อไม่ได้อยากเป็น สว.อย่างบริสุทธิ์ใจ ผิดเจตนาของรัฐธรรมนูญคือ ให้คนมาสมัครเพื่อเสนอตัวเป็นสมาชิกวุฒิสภาผู้ทรงเกียรติ"

นายจาตุรันต์กล่าวอีกว่า ถ้าได้คนที่ไร้วุฒิภาวะ ขาดเจตนาในการมาสมัครด้วยตนเอง และขาดความรู้ขาดประสบการณ์ในวิชาชีพด้านนั้น จริงๆ นึกภาพไม่ออกประเทศชาติจะเป็นอย่างไร  สุดท้ายการพิจารณากฎหมายก็ดี แต่งตั้งองค์กรอิสระก็ดี จะถูกสั่งซ้ายหันขวาหันจากพรรคหรือบุคคลเบื้องหลังที่หวังผลประโยชน์ทางการเมืองได้จัดตั้งเข้าไป ซึ่งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่า สว.ต้องเป็นอิสระ เป็นกลาง ปราศจากการครอบงำทางการเมือง

"ในฐานะผู้เสียหายโดยตรงซึ่งทั้งเป็นอดีตผู้สมัคร สว.ปี 67 ในครั้งนี้ และเสียหายโดยตรงอีกทางหนึ่งก็คือเป็นประชาชนผู้เสียภาษีเพื่อเป็นเงินประจำตำแหน่งให้กับ สว.และผู้ช่วยอีก 8 คนในชุดนี้ จึงร้องขอให้ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาไต่สวนฉุกเฉินคุ้มครองการประกาศรับรองผล สว.  ซึ่งคาดว่า กกต.จะประกาศรับรองในวันที่ 3 ก.ค.นี้ออกไปก่อน ที่จะรับรอง สว.ที่ได้มาโดยผิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และผิดกฎหมายตามมาตรา 74 รู้ว่าตนไม่มีสิทธิ์ แต่ก็มาสมัครรับเลือกตั้งตามกลุ่มวิชาชีพ 20 กลุ่ม ถือว่าเป็นการติดกระดุมเม็ดแรกผิดของ กกต. ซึ่งให้เจ้าหน้าที่รับสมัครเป็นผู้พิจารณาตีความโดยอะลุ่มอล่วย ไม่ยึดหลักเกณฑ์ตามกลุ่มวิชาชีพที่กำหนดมาอย่างชัดเจน ทำให้ผู้สมัครที่ถูกจัดตั้งมาได้สมัครในกลุ่มที่มีผู้พยายามจัดตั้งคนมาลงสมัครโดยผิดธรรมชาติของวิชาชีพ" นายจาตุรันต์กล่าว และว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของอนาคตประเทศชาติโดยรวม จึงไม่สามารถไปตายเอาดาบหน้า ปล่อยผ่านการตรวจสอบอย่างถูกต้องไปก่อนได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ชาญ’นำ‘แจ๊ส’นายกอบจ.ปทุม

ลุ้นมันหยด ศึกเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมธานี กกต.ปทุมฯ ตั้งเป้าผู้ออกมาใช้สิทธิ์ร้อยละ 70 ผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ "บิ๊กแจ๊ส" กับ "ลุงชาญ" คะแนนเบียดกันสูสี ก่อนที่ลุงชาญจะขึ้นนำในช่วงท้าย