จ่อชงครม.ช่วย ค่าน้ำมัน120บ. ‘บัตรคนจน’3ด.

“พีระพันธุ์” เผยมติ กบง.อุ้มค่าก๊าซแอลพีจีต่ออีก 3 เดือน ถัง 15 กก.ให้อยู่ที่ 423 บาท พร้อมชง ครม.ช่วยเหลือผู้ถือบัตรคนจนแจกค่าน้ำมัน 120 บาทในช่วง ต.ค.-ธ.ค. “แบงก์ชาติ” เผยเศรษฐกิจไทย พ.ค.ยังมีทิศทางฟื้นตัวแต่ชะลอจากเดือนก่อนหน้า ชี้ภาครัฐเร่งเบิกจ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาส 2 เป็นต้นไป

เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2567 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ครั้งที่ 2/2567 ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาทบทวนการกำหนดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของประชาชน และได้มีมติให้คงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นก๊าซแอลพีจีที่ 20.9179 บาทต่อกิโลกรัม (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยมีกรอบเป้าหมายเพื่อให้ราคาขายปลีกแอลพีจีอยู่ที่ประมาณ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2567 ถึงวันที่ 30 ก.ย.2567 และให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) พิจารณาบริหารจัดการเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับแนวทางการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซแอลพีจีต่อไป

นายพีระพันธุ์กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้พิจารณามาตรการบรรเทาผลกระทบด้านราคาน้ำมันสำหรับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 13,570,169 ราย และเป็นประชาชนกลุ่มเปราะบางที่แท้จริง โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการบรรเทาผลกระทบราคาน้ำมันสำหรับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งจะให้สิทธิเพิ่มวงเงินช่วยเหลือค่าน้ำมัน (กลุ่มเบนซินและกลุ่มดีเซล โดยให้ใช้กับยานพาหนะ) แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 120 บาท/คน/เดือน เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือน ต.ค.-ธ.ค.2567 และมอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงานหารือกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สถาบันการเงิน และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอเรื่องขออนุมัติหลักการจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)

วันเดียวกัน นางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยเดือนพฤษภาคมยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว แม้ชะลอลงบ้างหลังจากเร่งไปในเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับการคาดการณ์ โดยแรงขับเคลื่อนยังมาจากภาคการบริการและการท่องเที่ยว แต่ยังต้องติดตามภาคการส่งออกและภาคการผลิตที่ยังคงมีความเสี่ยงในระยะข้างหน้า โดยการใช้จ่ายภาครัฐจะเข้ามามีบทบาทช่วยกระตุ้นการเติบโตเศรษฐกิจตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป ทำให้โดยรวมน่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปีก่อน ซึ่ง ธปท.ยังคงติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งล่าสุดสัดส่วนการเบิกจ่ายยังคงเป็นไปตามคาดการณ์ ทั้งนี้ ธปท.คาดการณ์การใช้จ่ายภาครัฐในปี 2567 จะอยู่ที่ 1.8% และการลงทุนภาครัฐอยู่ที่ 3.6% โดย ธปท.ยังคงมีมุมมองเดิมหรือสูงกว่าคาดเล็กน้อย

"สรุปภาวะเศรษฐกิจเดือน พ.ค.ทิศทางฟื้นตัว แต่อาจชะลอบ้าง โดยเรายังคงต้องตามผลของการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ เนื่องจากงบประมาณภาครัฐคิดเป็นสัดส่วน 22% ของจีดีพี รวมถึงต้องมาตรการภาครัฐ การฟื้นตัวของการส่งออกและการผลิต ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์"

นางปราณีกล่าวอีกว่า ภาวะการเงินในเดือน พ.ค. พบว่าภาคการส่งออกสินค้า (ไม่รวมทองคำ) ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า หดตัว -1.7% เป็นผลมาจากการเร่งตัวของการส่งออกทุเรียน และหมวดยานยนต์ส่งออกไปออสเตรเลียที่ชะลอตัว รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า-เครื่องปรับอากาศ ส่งผลให้ภาคผลิตอุตสาหกรรมลดลง -0.6% จากเดือนก่อนหน้า แต่โดยรวมภาคการผลิตโดยรวมทั้งไตรมาสยังปรับเพิ่มขึ้น การลงทุนภาคเอกชนลดลง 3% โดยปรับลดลงทั้งในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ การก่อสร้าง สอดคล้องความเชื่อมั่นด้านการลงทุนปรับลดลงทั้งภาคการผลิตและไม่ใช่ภาคการผลิต ส่วนการบริโภคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น 0.3% มาจากหมวดบริการ

 “ดัชนีความเชื่อมั่นปรับลดลงทั้งปัจจุบันและ 6 เดือนข้างหน้า มาจากราคาน้ำมันและเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้ผู้บริโภคกังวล แม้มีความเชื่อมั่นต่อการท่องเที่ยว ราคาพืชผล และมาตรการท่องเที่ยวเมืองรอง” นางปราณีระบุ

นางปราณีกล่าวอีกว่า ภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและรายรับ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนนี้ขยายตัวอยู่ที่ 2.6 ล้านคน มาจากนักท่องเที่ยวระยะใกล้ เช่น มาเลเซียและจีน ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการวีซ่าฟรี ส่วนรายรับปรับเพิ่มขึ้น 4.1% ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวสูง และเข้ามามีบทบาทมากขึ้นหลังพระราชบัญญัติงบประมาณปี 2567 ผ่าน โดยรายจ่ายประจำขยายตัว 36.9% รายจ่ายการลงทุน 35.8% ตามการเร่งเบิกจ่ายหน่วยงานภาครัฐ และรายจ่ายรัฐวิสาหกิจ 13.3% มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ส่งผลให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

 “หากดูเครื่องชี้วัดหลายตัวเร่งไปก่อนหน้านี้ ทำให้เศรษฐกิจในเดือน พ.ค.ชะลอลงเล็กน้อย แต่หากดูแนวโน้มเศรษฐกิจในเดือนมิถุนายน ยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐและภาคการท่องเที่ยว แต่ภาคการส่งออกสินค้าและภาคผลิตอุตสาหกรรมยังฟื้นตัวช้า” นางปราณีกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง