อุทธรณ์แก้โทษจำคุกกปปส. สุเทพเหลือ1ปียืนสู้ถึงฎีกา

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ลดโทษจำคุก "สุเทพ" เเกนนำ กปปส.เหลือปีเดียว ไม่รอลงอาญา  คดีนำมวลชนชัตดาวน์กรุงเทพฯ ปี 57 ส่วนแกนนำอีก 13 ราย รับโทษหลั่นกันไป ขณะที่ 4 คนรอลงอาญา ยกฟ้อง 19 ราย พร้อมให้ประกันตัวทั้ง 14 คน ระหว่างฎีกาห้ามออกนอกประเทศ ยึดพาสปอร์ต

ที่ห้องพิจารณา 704 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีกบฏ กปปส.ชุดใหญ่ หมายเลขดำ  อ.247/2561 ที่อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. กับพวกแกนนำและแนวร่วม กปปส. รวม 39 คน (มีเสียชีวิต 2 คน) เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ, ก่อการร้าย, ยุยงให้หยุดงานฯ, กระทำให้ปรากฏด้วยวาจาหรือวิธีการอื่นใดฯ ทำให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในราชอาณาจักรฯ, อั้งยี่, ซ่องโจร, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองฯ, บุกรุกในเวลากลางคืนฯ และร่วมกันขัดขวางการเลือกตั้งฯ

คดีนี้อัยการโจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 23 พ.ย.2556-1 พ.ค.2557 ต่อเนื่องกัน นายสุเทพ จำเลยที่ 1 ได้จัดตั้งคณะบุคคลชื่อ “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หรือกลุ่ม กปปส.  มีนายสุเทพเป็นเลขาธิการ โดยร่วมกันมั่วสุมเป็นอั้งยี่ ซ่องโจร กองกำลังแบ่งหน้าที่กันกระทำก่อความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ฐานเป็นกบฏเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ทั้งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ โดยร่วมกันยุยง ปลุกระดมให้ประชาชนทั่วประเทศกระด้างกระเดื่องร่วมชุมนุมขับไล่ ก่อความไม่สงบเพื่อขับไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ให้ออกจากตำแหน่ง

รวมทั้งขัดขวางการเลือกตั้ง สส.ทั่วไป เพื่อมิให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่เข้าบริหารประเทศ จากนั้นจะแต่งตั้งคณะบุคคลเข้าบริหารประเทศเป็นรัฐบาลประชาชน เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งจะออกคำสั่งแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและ ครม. โดยจะนำรายชื่อขึ้นกราบบังคมทูลเอง รวมทั้งจัดตั้งกองกำลังส่วนหนึ่งพร้อมอาวุธเข้าไปบุกยึดสถานที่ราชการและหน่วยงานสำคัญต่างๆ หลายแห่ง เช่น ทำเนียบรัฐบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานเขตหลักสี่ รวมทั้งการปิดกั้นขัดขวางเส้นทางคมนาคมขนส่ง เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน     

นอกจากนี้ ช่วงระหว่างวันที่ 13 ม.ค.-2 มี.ค.2557 พวกจำเลยได้บังอาจปิดกรุงเทพมหานครด้วยการตั้งเวทีปราศรัยทั่วกรุงเทพฯ รวม 7 จุด ปิดกั้นเส้นทางการจราจร จัดตั้งกองกำลังรักษาพื้นที่ วางเครื่องกีดขวาง ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง การกระทำของพวกจำเลยล้วนไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงอำนาจบริหารตามรัฐธรรมนูญ เหตุเกิดในกรุงเทพมหานคร และอีกหลายท้องที่ทั่วราชอาณาจักรเกี่ยวพันกัน นายสุเทพกับพวกจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธต่อสู้คดี และได้รับการประกันตัว            

ต่อมาวันที่ 24 ก.พ.2564 ศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุกจำเลยรายสำคัญ โดยเห็นว่า ในส่วนความผิดฐานกบฏและก่อการร้าย พฤติการณ์ชุมนุมไม่มีการใช้กำลังประทุษร้ายบุคคลใด เพื่อล้มล้างการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ นิติบัญญัติ อำนาจบริหาร จึงไม่เป็นความผิดฐานกบฏและก่อการร้าย เเต่นายสุเทพและจำเลยอื่นรวม 26 คน  ศาลตัดสินจำคุกในความผิดฐานยุยงให้เกิดการหยุดงานเพื่อบังคับรัฐบาล, ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา, ร่วมกันมั่วสุม 10 คนขึ้นไป, ร่วมกันบุกรุกสำนักงานผู้อื่นในเวลากลางคืน, ร่วมกันบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น และร่วมกันกระทำการโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย

ในช่วงเช้าวันนี้ นายสุเทพและแกนนำ กปปส. รวม 37 คน ต่างทยอยเดินทางมาฟังคำพิพากษาตามนัด โดยมีมวลชนและบุคคลใกล้ชิดกว่า 100 คน เดินทางมาให้กำลังใจ

สำหรับการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันนี้ ศาลไม่ได้ให้สื่อมวลชนเข้าฟังการอ่าน เนื่องจากมีบุคคลจำนวนมาก โดยจะมีการเเจ้งผลคำพิพากษาให้ทราบภายหลังกระบวนการอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น

นายสุเทพให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า ไม่รู้สึกกังวล ไม่ว่าคำพิพากษาจะออกมาเป็นอย่างไรพร้อมน้อมรับ พร้อมยกมือไหว้ขอบคุณมวลชนที่ยังคงให้กำลังใจมาจนถึงทุกวันนี้

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว พิพากษาแก้โทษ รวมโทษจำคุกนายสุเทพ จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 1 ปี, จำคุกนายชุมพล จุลใส จำเลยที่ 3 เป็นเวลา 1 ปี 8 เดือน, จำคุกนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ จำเลยที่ 4 เป็นเวลา 1 ปี, จำคุกนายอิสสระ สมชัย จำเลยที่ 5 เป็นเวลา 1 ปี 8 เดือน, จำคุกนายถาวร เสนเนียม จำเลยที่ 7 เป็นเวลา 1 ปี, จำคุกนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ จำเลยที่ 8 เป็นเวลา 1 ปี 8 เดือน, จำคุกนายสมศักดิ์ โกศัยสุข จำเลยที่ 15 เป็นเวลา 1 ปี, จำคุกนายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือพระพุุทธะอิสระ จำเลยที่ 16 เป็นเวลา 1 ปี 8 เดือน, จำคุก ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ จำเลยที่ 24 เป็นเวลา 1 ปี 8 เดือน, จำคุกนายคมสัน ทองศิริ จำเลยที่ 26 เป็นเวลา 1 ปี, จำคุกนายสาวิทย์ แก้วหวาน จำเลยที่ 29 เป็นเวลา 1 ปี, จำคุกนายสำราญ รอดเพชร จำเลยที่ 33 เป็นเวลา 8 เดือน, จำคุกนายอมร อมรรัตนานนท์  จำเลยที่ 34 เป็นเวลา 1 ปี, จำคุกนายกิตติชัย ใสสะอาด จำเลยที่ 37 เป็นเวลา 1 ปี

จำคุก น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก จำเลยที่ 10 เป็นเวลา 1 ปี ปรับ 8,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา, จำคุกนายถนอม จำเลยที่ 14 เป็นเวลา 1 ปี ปรับ 8,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา, จำคุกนายสาธิต จำเลยที่ 17 เป็นเวลา 1 ปี โทษจำคุกให้รอลงอาญา ปรับ 8,000 บาท, จำคุกนางทยา ทีปสุวรรณ จำเลยที่ 38 เป็นเวลา 8 เดือน ปรับ 13,333 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา (รวมไม่รอลงอาญา 14 คน รอลงอาญา 4 คน) ส่วนจำเลยที่เหลืออีก 19 คนให้ยกฟ้อง

ภายหลังคำพิพากษา นายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความของสุเทพ เทือกสุบรรณ เผยว่า วันนี้ศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษามีรายละเอียดค่อนข้างมาก เเต่เท่าที่จดมาทันคือศาลอุทธรณ์ยกฟ้องในข้อหากบฏเเละก่อการร้ายพิพากษาลดโทษจำคุกนายสุเทพกับพวก ที่เดิมโดนตั้งเเต่ 4-9 ปีกว่าก็ลดกันมาเหลือคนละ 1 ปี-1 ปีเศษ เเบบนายสุเทพกับนายถาวร เสนเนียม เหลือคนละ 1 ปี เเต่ไม่รอลงอาญา เหตุผลที่ศาลอุทธรณ์ลดโทษเนื่องจากมองว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวเหตุต่อเนื่องกัน  ต่างจากศาลชั้นต้นที่มองเป็นการกระทำหลายกรรมโทษเลยสูง โดยที่พิพากษาจำคุกไม่รอลงอาญาทั้งหมด 14 คน ส่วนรายอื่นก็มีพิพากษาเเก้ยกฟ้อง เเละมีเพิ่มโทษ จำเลยที่ไม่รอลงอาญาขณะนี้อยู่ระหว่างยื่นประกันในชั้นฎีกา ซึ่งคาดว่าศาลจะมีคำสั่งได้ในวันนี้เลย เรื่องจากศาลชั้นต้นสามารถสั่งเองได้ เเต่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจว่าจะส่งศาลฎีกาหรือไม่ หลักทรัพย์เดิมเราเตรียมไว้พร้อมเเล้ว

ต่อมาเวลา 16.20 น. นายสวัสดิ์เปิดเผยว่า ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้ง 14 ระหว่างฎีกา โดยใช้หลักทรัพย์เดิมในศาลชั้นต้นประมาณรายละ 6-8 เเสนบาท โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นได้รับอนุญาตจากศาล โดยให้นำพาสปอร์ตมาวางศาลไว้

นายสุเทพกล่าวถึงกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาเเก้ลดโทษจำคุกเเต่ไม่รอลงอาญาว่า ทุกอย่างเป็นกระบวนการยุติธรรมที่เป็นไปตามดุลพินิจของศาล พวกตนที่เป็นจำเลยตั้งใจมาตั้งแต่ตอนต่อสู้คดีในศาลชั้นต้นแล้ว ไม่ว่าศาลจะมีคำพิพากษาใดๆ เราน้อมรับคำพิพากษาของศาล ซึ่งวันนี้ศาลอุทธรณ์ได้ยกฟ้องจำเลยเพิ่มขึ้น จากเดิม 12 คน เป็น 19 คน ส่งผลให้ครอบครัวของจำเลยมีความสุขไม่ต้องกังวล ส่วนพวกเราที่ศาลจำคุกไม่รอลงอาญาจะสู้คดีต่อในชั้นศาลฎีกา

"ที่ถามว่าสองศาลไม่รอลงอาญาหนักใจหรือไม่นั้น ขอบอกว่าเจตนาที่เราออกมาตั้งแต่ต้นเป็นเจตนาดีที่เราทำเพื่อประเทศชาติ เมื่อเรามั่นใจว่าทำความดี เราก็จะต้องรับผลถึงที่ดี ใจเราก็ดีมาตั้งแต่ต้น ไม่มีความกังวลอะไร ส่วนในชั้นฎีกา ก็ต้องไปปรึกษาทนายเพื่อต่อสู้คดีในชั้นฎีกาอีกครั้งหนึ่ง" นายสุเทพระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เสด็จฯพระราชพิธีสมมงคล

"ในหลวง" เสด็จฯ ไปในการพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าสมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี