พิชัยโอดศก.ไทย ต่ำกว่าศักยภาพ ปัญหารอบด้าน

เอวัง! กมธ.งบฯ แขวน "ดิจิทัลวอลเล็ต"   รมว.คลังนั่งเป็นประธานทำเป็นบ่นเอกสารมีแค่ 3-4 แผ่นมันน้อยไป โยนเผือกร้อนใส่มือปลัดคลังเต็มๆ กำชับคราวหน้าต้องครบถ้วน ไม่ไหวแล้ว!  “พิชัย” โอดเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพ รับส่งออกไม่เหมือนเดิม การผลิตตกต่ำ จ้างงาน-บริโภคลดลง

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2567 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่ประชุม กมธ.มีมติแขวนงบประมาณในส่วนของค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจในมาตรา 6 งบกลาง ซึ่งเป็นงบประมาณที่จะนำมาใช้ในการทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า ยังไม่มีกำหนดเวลากลับมา แต่คาดว่าน่าจะอีกประมาณ 1-2 สัปดาห์คงจะนำกลับเข้ามา และคงไม่ต้องนำไปต่อท้าย ซึ่งในข้อเท็จจริงไม่มีอะไร เป็นกระบวนการพิจารณางบประมาณตามปกติ ขอทำความเข้าใจว่า คำว่าแขวนคือต้องนำกลับมา และเท่าที่ตนเคยเป็น กมธ.มา ก็มีการแขวนแทบจะทุกครั้งเมื่อเอกสารไม่ครบถ้วนหรือมีเรื่องที่ค้างคาใจ

นายจุลพันธ์กล่าวต่อว่า เมื่อวานนี้ตนนั่งเป็นประธานที่ประชุมตลอดวัน ซึ่งการพิจารณาภาพรวมของงบประมาณผ่านไปด้วยดี จนกระทั่งมาถึงงบประมาณในส่วนของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในช่วงบ่าย ที่เมื่อดูในรายละเอียดของเอกสารที่มาแล้วก็พบว่าน้อยจริงๆ มีเพียงแค่ 3-4 แผ่นเท่านั้น ตนในฐานะที่เป็น กมธ.มาหลายปี เป็นฝ่ายค้านหลายครั้ง ก็บอกให้กลับไปทำข้อมูลมาเพิ่ม บวกกับจังหวะที่หน่วยงานที่กำกับในส่วนนี้คือสำนักงานปลัดกระทรวงการคลังที่มาชี้แจงติดภารกิจด้วย เพราะเมื่อปลัดกระทรวงการคลังมาชี้แจงในภาพรวมเสร็จก็ต้องไปพบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลต่อ เพื่อประชุมเกี่ยวกับเรื่องของการค้าการลงทุน จึงได้มอบหมายให้รองปลัดชี้แจงแทน แต่รองปลัดไม่เคยเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการชุดใดเลย จึงอาจจะทำให้ตอบคำถามลำบาก ประกอบกับเอกสารไม่ครบ

"หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก แล้วผมได้นั่งเป็นประธานขณะนั้นก็จะบอกแบบนี้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้ผมบอกให้หน่วยงานกลับไปรวบรวมข้อมูลและรายละเอียดให้ครบ เพราะจริงๆ ข้อมูลมีครบแล้ว ซึ่งคำถามที่ กมธ.ถามมาก็เป็นคำถามที่ตอบได้ไม่ยาก และเมื่อกลับเข้ามาสู่การพิจารณาในชั้น กมธ.อีกครั้งก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร  และคงผ่านไปอย่างราบรื่น"

ผู้สื่อข่าวถามว่า มั่นใจว่าจะเดินหน้าไปได้ใช่หรือไม่ เพราะประชาชนก็รออยู่ นายจุลพันธ์ยืนยันว่า แน่นอน กลไกการพิจารณางบประมาณก็เป็นเช่นนี้ ทั้งนี้ นอกจากตนจะเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังแล้ว ก็เป็น สส.ด้วย ฉะนั้นการทำงานอย่างให้เกียรติกับเพื่อนสมาชิกที่เป็น กมธ.ก็เป็นเรื่องสำคัญ ส่วนเรื่องข้อมูลที่ต้องครบถ้วนก็เป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่งเช่นเดียวกัน ฉะนั้น เราจะไม่ปล่อยผ่านอะไรที่ยังไม่ชัดเจน ตนเป็นประธาน หากถามว่าตนตอบได้หรือไม่ ตนก็ตอบได้ แต่โดยบทบาทไม่สามารถตอบได้ จึงบอกว่าครั้งหน้าให้ปลัดกระทรวงการคลังสะดวกแล้วมาตอบด้วยตนเองให้ได้พร้อมกับข้อมูลที่ครบถ้วน

ด้านนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน Thailand Investment Opportunity ว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญปัญหาหลายด้าน เช่น หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงเกินกว่า 90% ต่อจีดีพี ขณะที่ในช่วงที่ผ่านมาเจอสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้รัฐบาลต้องเร่งอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบจำนวนมาก ส่งผลให้หนี้ภาครัฐเพิ่มสูงขึ้น โดยปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ที่ 63% ต่อจีดีพี แต่ระดับดังกล่าวก็ยังต่ำกว่ากรอบเป้าหมายวินัยการเงินการคลังที่กำหนดเพดานหนี้สาธารณะไม่เกิน 70% ต่อจีดีพี

ทั้งนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้คาดการณ์ตัวเลขจีดีพีของไทยในปี 2567 จะขยายตัวที่ระดับ 2.4-2.5% ส่วนปี 2568 คาดว่าจะเติบโตได้มากกว่า 3% โดยตัวเลขจีดีพีในปีนี้ยังมองว่าอยู่ในระดับต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะขยายตัวได้ถึง 3.5% ซึ่งเศรษฐกิจที่โตต่ำกว่าศักยภาพนั้น ต้องมีอะไรที่ทำให้เกิดความผิดปกติ ซึ่งหากพิจารณาจะเห็นว่าไทยพึ่งพาการส่งออกมาก แต่ปัจจุบันการส่งออกไม่เหมือนเดิม ส่งออกได้น้อย ราคาไม่ดี ขณะที่ภาคการผลิตตกต่ำ การจ้างงานน้อย การบริโภคน้อยลง

นอกจากนี้ ไทยยังเจอปัญหาในเรื่องของผลิตและส่งออกได้น้อย และปัญหาขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงไทยยังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้าง ประชากรในประเทศยังไม่เพิ่มมากนัก รวมถึงคนยังขาดทักษะในแรงงานที่มีความต้องการ

 “หากขนาดเศรษฐกิจใหญ่ หนี้ก็ใหญ่ได้ หากอยากให้เปอร์เซ็นต์ของหนี้ไม่เยอะ ก็มีทางเลือกคือหาเงินไปใช้หนี้ กับทำให้ขนาดเศรษฐกิจใหญ่ขึ้น คำตอบของเราไม่มีทางเลือก ต้องสู้กับชาวโลก ต้องแข่งขันได้ เพื่อให้หนี้เล็กลง ไม่มีประเทศไหนในโลกที่อยู่ไปแล้วหนี้ลดลง แต่หนี้มันจะดูเล็กลงเองเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ”

นายพิชัยกล่าวอีกว่า ปัญหาเร่งด่วนที่ต้องเร่งแก้ไขคือ ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการ โดยเฉพาะรายเล็ก  รายกลาง ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ รัฐบาลได้อนุมัติมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงิน 100,000 ล้านบาท โดยจะให้ธนาคารออมสินปล่อยกู้ต่อกับธนาคารพาณิชย์ในอัตราดอกเบี้ย 0.1% เท่านั้น เพื่อนำไปปล่อยให้กับผู้ประกอบการรายกลางและเล็ก ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3.5% ขณะเดียวกัน ในเร็วๆ นี้จะมีมาตรการดูแลภาคอสังหาริมทรัพย์ออกมาด้วย

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการหารือในรายละเอียดเกี่ยวกับการพิจารณากรอบเงินเฟ้อในปัจจุบันว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ โดยหากได้ข้อสรุปจะเร่งหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และส่วนงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาความชัดเจนเกี่ยวกับการกำหนดกรอบอัตราเงินเฟ้อใหม่ต่อไป ซึ่งกระบวนการในการหารือทั้งหมดจะต้องเป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุด โดยเบื้องต้นมี 2 ทางเลือกคือ 1.กรอบเดิมที่ 1-3% ส่วนจะเพิ่มหรือจะลดลงนั้นยังอยู่ระหว่างพิจารณา และ 2.ใช้ในลักษณะค่ากลาง เหมือนในบางประเทศ เช่น ค่ากลางที่ 2% บวกลบ 0.5%

โดยหากถามว่าอัตราเงินเฟ้อระดับไหนที่จะเหมาะสมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้น นายเผ่าภูมิระบุว่า เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ไม่อยากพูดตอนนี้ โดยจากนี้จะต้องมีกระบวนการพูดคุย หารือเพื่อกำหนดกรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่เหมาะสมร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งหมด ต้องมาตกลงร่วมกัน หาจุดยืนร่วมกัน หากแต่ละฝ่ายมองคนละจุดที่ไม่ตรงกัน ก็อาจจำเป็นจะต้องถอยกันคนละก้าวเพื่อหาจุดที่ลงตัว โดยกระบวนการหารือร่วมกันของทุกฝ่ายจะเป็นไปอย่างเร็วที่สุด

นอกจากนี้ ความเห็นส่วนตัว รวมถึงความเห็นของหลายส่วนในคลัง มองว่าควรจะต้องมีมาตรการที่ให้ทุกฝ่ายมีความรับผิดชอบมากขึ้นในการที่จะทำให้เงินเฟ้อเข้าสู่กรอบเป้าหมาย ไม่ว่าข้อสรุปเรื่องกรอบเงินเฟ้อใหม่จะออกมาเป็นช่วงคาดการณ์หรือค่ากลาง แต่การปฏิบัติเพื่อให้เงินเฟ้อเข้าสู่กรอบเป้าหมายเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะที่ผ่านมาสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเงินเฟ้อหลุดกรอบเป้าหมาย คือ หน่วยงานที่รับผิดชอบก็จะมีหน้าที่ทำรายงานมาที่กระทรวงการคลัง ว่าทำไมถึงหลุดกรอบ และจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้หลุดกรอบเป้าหมาย และสิ่งที่คลังทำได้คือ รับหนังสือชี้แจงดังกล่าวมาแต่ทำอะไรไม่ได้ นอกจากรับทราบว่ามีแนวทางดังนี้ อาจจะมีการท้วงติง มีการพูดคุยกันบ้าง แต่ก็ทำได้เพียงเท่านั้น ดังนั้นจากนี้จะต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการและการดำเนินการเพื่อให้อัตราเงินเฟ้อเข้าสู่กรอบเป้าหมายให้ได้เป็นหลัก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง