กมธ.รุมขยี้แขวนงบ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’

กมธ.งบฯ "ก้าวไกล" รุมไล่บี้ "ดิจิทัลวอลเล็ต" ข้องใจเพิ่มรายการใหม่ในงบกลางกลับไม่มีเจ้าภาพ "จุลพันธ์" รับไร้รายละเอียดจริง สั่งทำเอกสารรายงาน กมธ.อีกครั้ง พร้อมชิงปิดประชุม "คลัง" ดับฝัน "คนละครึ่ง"  แจงเดินเครื่องศึกษาตั้งกองทุนวายุภักษ์  3 หวังฉีดเงินเข้าตลาดทุน มั่นใจปังแน่นอน

ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน   เวลา 10.00 น. มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 โดยมีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง   ในฐานะรองประธาน กมธ. ทำหน้าที่ประธานการประชุม ซึ่งเป็นการพิจารณาเรียงตามรายมาตรา มีการเชิญสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, กระทรวงการคลัง,   ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงบประมาณ เข้าชี้แจง

เมื่อเข้าสู่การพิจารณาในมาตรา 6  งบกลาง จำนวน 805,745 ล้านบาท มีการเชิญสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ   เข้าชี้เแจงเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ โดย กมธ.ส่วนใหญ่จากพรรคก้าวไกลได้ซักถามในประเด็นดังกล่าว

อาทิ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะ กมธ. สอบถามถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่อ้างว่ากระตุ้นเศรษฐกิจว่า หากพิจารณาตามมาตรา 22 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลัง การจะตั้งเป็นงบกลางต้องกรณีที่ไม่สามารถจัดสรรหรือไม่ควรจัดสรรให้หน่วยงานที่รับผิดชอบได้ ซึ่งวันนี้น่าจะชัดเจนแล้วว่าสำนักงานปลัดกระทรวงการคลังที่มาชี้แจงเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการนี้ใช่หรือไม่ เมื่อยังไม่มีเจ้าภาพที่ชัดเจนในการจัดงบปี 2568 แต่เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้ว การจะนำกลับไปอยู่กับสำนักงบประมาณคงจะเป็นไปไม่ได้แล้ว

"จึงขอถามว่า ทำไมจึงต้องมาเพิ่มในรายการใหม่ และค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เข้าใจว่ามีการคำนวณว่าเป็นรายจ่ายลงทุน ตกลงแล้วจาก 1.52 แสนล้านบาทนี้ คิดเป็นรายจ่ายลงทุนกี่เปอร์เซ็นต์ เพราะหากจะระบุว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น อาจจะตีความได้ว่าบางส่วนเป็นรายจ่ายลงทุนเหมือนในอดีตที่เคยใช้ในการลงทุนภาครัฐ ท้องถิ่น หรือเศรษฐกิจฐานราก แต่เมื่อเป็นการใช้จ่ายเพื่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ตทำไมจึงมีการระบุว่า 80 เปอร์เซ็นต์เป็นรายจ่ายลงทุน เพราะไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆ  หรือมติ ครม.ก็ไม่ได้บอกว่าโครงการนี้จะมีกฎเกณฑ์นี้ให้ประชาชนใช้ในการลงทุนหรือซื้อสิ่งของที่เป็นไปในแนวทางการลงทุน เพราะเขาอาจจะใช้ในการบริโภคก็ได้ ดังนั้น การกำหนดสัดส่วนสูงเช่นนี้ จะสมควรเหตุสมผลหรือไม่ และหากหักลบในส่วนนี้ออกไปจากรายจ่ายลงทุนจริงจะทำให้รายจ่ายลงทุนของงบประมาณปี 2568 เหลืออยู่เท่าไหร่" น.ส.ศิริกัญญาระบุ

นายวีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร กมธ. สัดส่วนพรรคก้าวไกล สอบถามว่า กรณีที่มีการชี้แจงการใช้จ่ายงบกระตุ้นเศรษฐกิจในวัตถุประสงค์เขียนว่าอีกครั้งยังเป็นการรักษาความสามารถการแข่งขันของประเทศ จึงขอให้ชี้แจงว่าจะรักษาความสามารถการแข่งขันอย่างไร     ด้านนายวิจักขณ์ฤทธิ์ จิวจินดา กมธ. จากพรรคก้าวไกล ซักว่า กรณีที่มาของเงิน 3 ฝ่ายคือ งบกลางในปี 2568 งบบางส่วนในปี 2567 และจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  (ธ.ก.ส.) ขณะนี้ได้มีการชี้แจงจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าไม่สามารถใช้เงินจาก ธ.ก.ส.ได้ ฉะนั้น จึงขอถามว่าจะนำเงินจากส่วนไหนมาใช้ทดแทน

นายวีระ ธีระภัทรานนท์ กมธ. พรรคก้าวไกล ถามว่า เราจะใช้เงินกว่า 1.52 แสนล้านบาท แต่กลับไม่มีรายละเอียด เช่น ที่มาของโครงการ ประมาณการได้ผลมากน้อยแค่ไหน หรือการจับจ่ายใช้สอย มีแต่บอกเป็นมติ ครม.ควรจะเอารายละเอียดตั้งแต่เริ่มต้นทั้งหมดมาให้ที่ประชุมพิจารณา เพราะข้อมูลที่สำนักงบประมาณให้มามีน้อยมาก ควรจะกลับไปทำข้อมูลมาใหม่จะดีกว่า

ขณะที่ตัวแทนสำนักงานปลัดกระทรวงการคลังชี้เแจงว่า เหตุผลที่ต้องใช้งบกลาง เพราะไม่รู้เป้าหมายและยังไม่รู้หน่วยงาน กระทรวงการคลังแค่เป็นผู้จัดทำคำขอของวงเงินนี้ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ส่วนเรื่องหน่วยงานของรัฐที่จะเป็นแหล่งที่มาของเงินนั้น เรายังมองอยู่ ธ.ก.ส. แต่ยังไม่ได้หารือไปที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งจะมีการหารือภายในเกี่ยวกับข้อกฎหมายในเบื้องต้นก่อน อย่างไรก็ตาม เราได้พิจารณาแล้วในเรื่องจัดส่วนการจัดงบประมาณการกู้เงินหนี้ของประเทศยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง ส่วนข้อมูลรายละเอียดของโครงการจะทำเอกสารกลับมาเสนอต่อ กมธ.อีกครั้ง

ส่วนตัวแทนสำนักงานงบประมาณ ยืนยันว่า โครงการนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมให้มีเม็ดเงินในระบบได้

ด้านนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ   สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะ กมธ. กล่าวว่า พยายามตั้งใจฟังการอภิปรายของ กมธ.หลายคน และการชี้แจงของหน่วยงาน เห็นว่ายังมีรายละเอียดที่สำคัญอีกเยอะ จึงคิดว่าจำเป็นต้องแขวนไว้ก่อนจนกว่าจะมีเอกสาร เพื่อให้ กมธ.ได้อ่านรายละเอียด หากจะให้พิจารณาผ่านๆ ไปไม่ดีแน่นอน ซึ่งสนใจเอกสารคำขอของงบประมาณแต่ละขั้นตอน เอกสารการพิจารณาตั้งรายการใหม่ขึ้นมาทั้งเหตุผลและหน่วยงานที่เป็นผู้ชงเรื่อง รวมถึงเอกสารการคำนวณว่าเป็นรายจ่ายลงทุน และส่งผลอย่างไร วันนี้ให้พูดไปเรื่อยๆ คงไม่จบแน่นอน

นายวีระกล่าวเสริมว่า เรื่องนี้มาจากคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต หากต้นเรื่องอยู่ที่นั่น ควรเอารายงานทั้ง 3 ครั้งมาให้ กมธ.ดูด้วย จะได้รู้ว่ามีการถกกันอย่างไรถึงได้กลายมาเป็นแบบนี้โดยไม่มีหน่วยงานเจ้าภาพ ทั้งเม็ดเงินทั้ง 3 ก้อน รวมทั้งการคำนวณรายจ่ายลงทุนเป็น 80 เปอร์เซ็นต์นั้นไม่ถูกต้อง ควรจะต่ำกว่านั้น

หลังจากนั้น กมธ.จากสัดส่วนพรรคก้าวไกลได้ขอเอกสารเพิ่มเติมโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่อัปเดตล่าสุด รายการค่าใช้จ่ายฉุกเฉินในงบปี 2566 และปี 2567 มติ ครม.ที่เกี่ยวข้องด้วย รวมถึงเอกสารแผนการดำเนินงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สามารถให้หน่วยงานนำนโยบายไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างเหมาะสม

จากนั้นนายจุลพันธ์กล่าวว่า ในฐานะที่ดูแลงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจ สามารถชี้แจงด้วยวาจาได้ แต่อยากชี้แจงทางเอกสารมากกว่า แม้จะนั่งเป็น กมธ.ในฝ่ายรัฐบาล ฟังการชี้แจงของหน่วยงานยังงงว่าทำไมสรุปได้ขนาดนี้ ถ้าตนอยู่ฝ่ายค้านก็เห็นด้วยกับการแขวน ดังนั้น จึงขอกลับไปทำเอกสารมาใหม่ แล้วจะนำกลับมารายงานในห้อง กมธ.อีกครั้งเมื่อมีความพร้อม และขอย้ำว่าต้องเป็นเอกสารครบถ้วนตั้งแต่เริ่มมีมติ ครม. การตั้งคณะกรรมการนโยบายฯ ที่ลงรายละเอียด รวมถึงอนุกรรมการที่ลงในเนื้องาน รวมถึงข้อสงสัยของ กมธ. เพื่อนำกลับมาเสนออีกครั้ง ก่อนจะปิดประชุมเนื่องจากหมดวาระในการพิจารณาวันนี้

ที่กระทรวงการคลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ในระหว่างที่ยังรอมาตรการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ออกมาในช่วงปลายปีนี้ ส่วนโครงการคนละครึ่งนั้น รัฐบาลยังไม่ได้มีการพูดคุยหรือไม่ได้มีการพิจารณาในเรื่องนี้

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังได้มีการออกมาตรการกระตุ้นตลาดทุนไปแล้ว โดยเฉพาะการปรับเงื่อนไขกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (TESG) ซึ่งคาดว่าในช่วงเวลา 4-5 เดือนของปีนี้ จะมีเม็ดเงินลงทุนเข้ามาราว 3 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันประเมินว่ารัฐจะสูญเสียรายได้จากภาษีไปราว 1.3 หมื่นล้านบาท จากการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีครบทุกระดับอายุของฐานที่เสียภาษีนั้น มองว่ามาตรการนี้ถือว่าคุ้มค่า เพราะอยากให้มองใน 2 ส่วน ไม่ใช่แค่เม็ดเงินลงทุนที่จะเข้ามาเมื่อเทียบกับรายได้ภาษีที่จะเสียไปเท่านั้น แต่จากการศึกษาของกรมสรรพากรและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เชื่อว่าจะมีเม็ดเงินเข้ามาในตลาดทุนไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาทอย่างแน่นอน นอกจากนี้จะช่วยดันให้มาร์เก็ตแคปของตลาดขยายตัวขึ้นได้อย่างมาก

ส่วนแนวคิดที่จะฟื้นกองทุนรวมวายุภักษ์นั้น ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการหารือเบื้องต้น แต่ยืนยันว่าจะเร่งพิจารณาให้เร็วที่สุด โดยหลักคิดคือ ต้องการที่จะให้มีเม็ดเงินเติมเข้าไปในตลาดทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียน

"เราอาจจะมีการพิจารณาในการตั้งกองทุนขึ้นมาใหม่อีกกอง เป็นกองที่แยกต่างหาก แต่รูปแบบ การจัดตั้ง สัดส่วนต่างๆ จะเป็นอย่างไร ก็ต้องมาดูกัน โดยรูปแบบที่เคยทำแล้วและประสบความสำเร็จในกองทุนวายุภักษ์ก่อนหน้า ซึ่งกองทุนรวมวายุภักษ์ 1 และ 2 มีเม็ดเงินอยู่แล้วราว 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งหากมีการตั้งกองใหม่ขึ้นมา ก็อาจจะขายให้ประชาชนทั่วไป ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท โดยประชาชนจะได้รับการการันตีผลตอบแทนขั้นต่ำและขั้นสูง ตรงนี้ถือว่าประสบความสำเร็จมาก ดังนั้นหากถามว่าจะทำอีกครั้งหรือไม่ ก็ต้องบอกว่ากำลังพิจารณาอยู่” รมช.การคลังระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง