โต้ขายชาติปล่อยเช่าที่ดิน99ปี

"นายกฯ-รมต.คลัง"   ประสานเสียงโต้ไม่ใช่นโยบายขายชาติ  หลังลุยแก้กฎหมายเปิดทางต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี ชี้มุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ยันไม่กระทบสิทธิอาณาเขตบนพื้นดินไทย “อนุทิน” แจงกรมที่ดินพิจารณาอยู่ ยังไม่เข้า ครม. การันตีมีมาตรการไม่ให้คนไทยตกเป็นพลเมืองชั้นสอง "สว.สมชาย"  ซัดผลประโยชน์ทับซ้อนเอื้ออสังหาฯ  ครอบครัวและพวกพ้อง แนะช่องสอย "เศรษฐา" รอบ 2 

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 25   มิถุนายน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการแก้ไขกฎหมายให้ต่างชาติเช่าที่ดินได้ 99 ปี และถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดได้ร้อยละ  75 จากเดิมร้อยละ 49 ซึ่งก่อนหน้านี้มีการวิจารณ์ว่าเมื่อตอนพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้านได้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลชุดที่แล้วว่าเป็นกฎหมายขายชาติ ว่า ตรงนี้ที่กระทรวงการคลังเสนอให้ไปศึกษาคือเรื่องของการเช่าระยะยาว ไม่ได้เป็นการขายที่ดิน จึงไม่เกี่ยวอะไรกับการขายชาติ

ทางด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กรมที่ดินกำลังไปพิจารณาร่างกฎหมายอยู่ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ได้สั่งการเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และวันนี้ (25 มิ.ย.) เข้า ครม.ไม่ทัน เพราะตนยังไม่เห็น  อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นมติ ครม. แต่ต้องไปดูข้อสั่งการให้สอดคล้องกับการวิเคราะห์ปัจจัยด้านบวก ปัจจัยลบของกรมที่ดินที่กำลังไปพิจารณา

เมื่อถามว่า การแก้กฎหมายจะทำให้สิทธิของคนไทยลดน้อยลง กลายเป็นพลเมืองชั้นสองหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่มีข้อในการกระทำที่เป็นการเลี่ยงบาลีอยู่แล้ว กฎหมายส่วนใหญ่ต้องเขียนเงื่อนไขต่างๆ เอาไว้ ซึ่งตนได้แจ้งไปยังอธิบดีกรมที่ดินว่าต้องทำให้ดีที่สุด นำข้อกังวลของประชาชนมาพิจารณา แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจต้องเดินหน้า และปกป้องผลประโยชน์ของประเทศให้มากที่สุด ขอให้มั่นใจว่าสิทธิประชาชนยังอยู่ และไม่ต้องกังวล เพราะไม่มีใครรู้เรื่องที่ดินมากไปกว่ากรมที่ดิน

 “มั่นใจถ้าเป็นข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี หรือ ครม. ไม่มีการเอื้อผลประโยชน์ให้กลุ่มนายทุนอยู่แล้ว ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็จะพูดลักษณะนี้ แต่รับรองว่านายกรัฐมนตรี และนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ สั่งการก็ไม่มีเกี่ยวข้องธุรกิจของท่าน” นายอนุทินระบุ

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า   เรื่องดังกล่าวเป็นแนวคิดหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการหมุนเวียนมากขึ้น ไม่ได้เป็นนโยบายขายชาติ เพราะพื้นที่ สิทธิสภาพ สิทธิอาณาเขตบนพื้นดินของไทยไม่ได้หายไป

ทั้งนี้ ต้องชี้แจงว่าแนวคิดดังกล่าวไม่ได้เป็นการให้สิทธิ์ขาดกับต่างชาติ เพียงแต่เป็นการเปิดช่องให้มีกลไกในการที่จะจูงใจให้มีการเข้ามาถือครองมากขึ้น แต่ไม่ได้มอบสิทธิในการออกเสียงของนิติบุคคล ไม่ใช่ว่าเมื่อต่างชาติเข้ามาถือครองแล้วจะเปลี่ยนสภาพจากห้องชุดเป็นโรงแรม หรือเป็นอาคารประเภทอื่นได้ เขาทำไม่ได้ และไม่ได้ให้ทำแบบนั้น ดังนั้นจึงยืนยันว่าแนวคิดนี้ไม่น่าจะกระทบเรื่องอาณาเขต สิทธิสภาพบนพื้นดินของประเทศไทย

 “รัฐบาลไม่ค่อยชอบสังคมอีแอบอยู่แล้ว อย่างที่นายกรัฐมนตรีได้เคยพูด เราต้องยอมรับความจริงว่าในสภาพปัจจุบันก็มีต่างชาติที่มีการถือครองที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด หรือถือครองเกินกว่า 49% โดยใช้รูปแบบต่างๆ ที่เป็นการหลบเลี่ยงอยู่แล้วส่วนหนึ่ง ตรงนี้ก็ต้องยอมรับตามจริงว่ามี และต้องเข้าใจว่าทุกวันนี้โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว และสำหรับประเทศไทย เราต้องการสร้างให้เป็นพื้นที่ระดับโลก หมายความว่ามีการดึงดูดทั้งนักท่องเที่ยวและคนต่างชาติที่มีทักษะจำเพาะ เพื่อที่จะมาพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยในด้านต่างๆ เราจะเป็นต้องเปิดรับการลงทุน เช่น เรื่อง Data Center เซมิคอนดักเตอร์ จุดต่างๆ เหล่านี้ท้ายที่สุดจะมีความจำเป็นในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเราจำเป็นจะต้องเปิดกว้าง ให้มีการพัฒนา ส่วนการให้ต่างชาติเข้ามาบางส่วนจะมีประโยชน์ในเรื่องการถ่ายโอนองค์ความรู้ และปัจจุบันการกระตุ้นการลงทุนและการจ้างงานในประเทศก็อยู่ในระดับที่ใช้ได้ ดังนั้นเรื่องนี้จึงเชื่อว่าจะไม่ได้มีผลกระทบต่ออัตราการจ้างงานของคนไทย” นายจุลพันธ์ ระบุ

รมช.การคลังกล่าวว่า การให้สิทธิ์ในการเช่ากับคนต่างชาตินั้น ปัจจุบันก็มีการดำเนินการเป็นปกติอยู่แล้ว ที่ 30 ปี บางพื้นที่ที่มีกฎหมายพิเศษ ก็อยู่ที่ 50 ปี และต่อได้อีก 50 ปี ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องพิเศษอะไร เพียงแต่เป็นการเปิดช่องให้มีกลไกในการจูงใจให้มีการเข้ามาถือครองได้โดยไม่มีสิทธิ์ในการออกเสียงของนิติบุคคลเท่านั้น ยืนยันว่าไม่ได้กระทบกับอาณาเขตในเรื่องสิทธิสภาพบนพื้นดินอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของกระทรวงมหาดไทยที่รับผิดชอบจะต้องไปศึกษารายละเอียดอย่างรอบคอบ  ไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงการคลัง ดังนั้นข้อเสนอหรือข้อเรียกร้องต่างๆ จึงต้องรอการศึกษาให้เรียบร้อยก่อนว่าแนวคิดดังกล่าวมีผลรอบด้านอย่างไร ค่อยกลับมาสรุปกันอีกครั้ง เพื่อเสนอกลับเข้าไปให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาอีกครั้ง

นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เป็นนโยบายที่เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน เอื้อนายทุนอสังหาริมทรัพย์ที่กลุ่มแสนสิริของครอบครัวนายเศรษฐา กลุ่มเอสซีแอสเสทของเครือชินวัตร และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่ครอบครัวรัฐมนตรี สส.บางคนถือหุ้นอยู่ ดังนั้น มติ ครม.ดังกล่าวจึงน่าจะเข้าข่ายการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญหลายมาตรา อาทิ มาตรา 185, 186 และอาจผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในหลายมาตราด้วยเช่นกัน

หากมีผู้ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินคดี และ ป.ป.ช.ชี้มูลว่ามีความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ต้องดำเนินการฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองต่อไป แต่ความผิดเรื่องนี้ สส. สว. สามารถยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ให้สิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 ได้เช่นกัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ชาญ’นำ‘แจ๊ส’นายกอบจ.ปทุม

ลุ้นมันหยด ศึกเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมธานี กกต.ปทุมฯ ตั้งเป้าผู้ออกมาใช้สิทธิ์ร้อยละ 70 ผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ "บิ๊กแจ๊ส" กับ "ลุงชาญ" คะแนนเบียดกันสูสี ก่อนที่ลุงชาญจะขึ้นนำในช่วงท้าย