ทุ่ม3หมื่นล้าน ‘ปุ๋ยคนละครึ่ง’ ลุ้นข่าวดีค่าไฟ

ครม.ไฟเขียว “ปุ๋ยคนละครึ่ง” ลดภาระต้นทุนช่วยชาวนาปี 67/68 วงเงินเกือบ 3 หมื่นล้านบาท ชดเชยไร่ละ 500 บาท/ราย ลุ้นข่าวดีค่าไฟงวดสุดท้ายปีนี้ คาด ก.ค.ได้ข้อสรุป

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบโครงการ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” ประจำฤดูกาลผลิตปี 67-68 หวังลดภาระต้นทุนปุ๋ยให้เกษตรกร วงเงิน 29,980.17 ล้านบาท ชดเชยให้เกษตรกรไร่ละ 500 บาท หรือจ่ายตามจริง ไม่เกิน 20 ไร่ต่อราย หรือไม่เกิน 10,000 บาท ตามราคาปุ๋ยที่จ่ายจริง รวมมูลค่าปุ๋ยไม่เกิน 20,000 บาท โดยโครงการนี้ให้สิทธิกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2567/68 ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร ประมาณ 4.68 ล้านครัวเรือน ในพื้นที่ 54 ล้านไร่ และเกษตรกรที่ปลูกข้าวอินทรีย์ประมาณ 2 แสนครัวเรือน พื้นที่ 1.2 ล้านไร่ ซึ่งลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้สามารถเข้าร่วมโครงการได้

เริ่มดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.67-31 พ.ค.68 ดูแลผ่าน ธ.ก.ส. จากเกษตรกรขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกระทรวงเกษตรฯ โดยชำระเงินเพียงครึ่งหนึ่ง จากนั้นรัฐบาลจัดสรรงบประมาณชดเชยให้ ธ.ก.ส. ในภายหลังพร้อมดอกเบี้ย ขั้นตอนหลังจากนี้หลายหน่วยงานร่วมกันคัดเลือกร้านปุ๋ยในพื้นที่เข้าร่วมโครงการต้องจำหน่ายราคาต่ำกว่าท้องตลาด

 “ปุ๋ยคนละครึ่ง เป็นการช่วยเหลือพี่น้องชาวนาได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย คาดว่าผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 นายกรัฐมนตรีย้ำเป็นการช่วยเหลือชาวนาอย่างตรงจุด จึงได้ยกเลิกโครงการชดเชยคุณภาพข้าวจ่ายไร่ละ 1,000 บาท ในปีที่ผ่านมา ใช้วงเงิน 56,000 ล้านบาท แต่โครงการนี้ใช้เพียง 30,000 ล้านบาท เช่น ชาวนาซื้อปุ๋ย แจ้งไปยังแอป BACC Mobine ของ ธ.ก.ส. จะช่วยเรื่องจ่ายเงินค่าปุ๋ย หากซื้อ 20,000 บาท ชาวนาจ่ายเงินเพียง 10,000 บาท จึงหวังลดต้นทุนให้กับชาวนาได้มากขึ้น” โฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุ

วันเดียวกัน นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยถึงแนวโน้มค่าไฟงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2567 ว่า ทิศทางราคาค่าไฟงวดปลายปีต้องติดตามติดตามตัวแปรต่างๆ ที่จะเข้ามา อาทิ สถานการณ์ต้นทุนราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ในตลาดโลก ปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติของไทย อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาท รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ อย่างกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าต่างๆ ซึ่งจะส่งผลต่อการคำนวณค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) จนสะท้อนต่อราคาค่าไฟที่ประชาชนต้องจ่าย จากงวดปัจจุบัน (พ.ค.-ส.ค.67) อยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย โดย กกพ.จะเร่งรวบรวมข้อมูลต้นทุนทุกด้านเพื่อคำนวณค่าเอฟทีและประกาศรับฟังความคิดเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ช่วงต้นเดือน ก.ค. นี้

 “ขณะนี้ราคาแอลเอ็นจีอยู่ระดับซอฟต์ คือ ประมาณ 12 เหรียญสหรัฐต่อล้านลูกบาศก์ฟุต ส่วนจะสามารถตรึงให้อยู่ระดับ 4.18 บาทต่อหน่วย หรือลดลงกว่านี้หรือไม่ ยังไม่สามารถตอบได้ ขอดูองค์ประกอบจากทุกส่วนก่อน แต่ผมก็อยากจะเป็นผู้ประกาศข่าวดีให้กับประชาชนเช่นกัน และสำหรับกรณีภาคเอกชนต้องการให้ค่าไฟลดลงกว่านี้ อยากให้มองว่าไทยมีความมั่นคงไฟฟ้า เป็นไฟฟ้าคุณภาพ และตอนนี้เทรนด์ลงทุนทั่วโลกไม่ได้มองว่าค่าไฟต้องถูกหรือแพง แต่ควรมาจากการผลิตที่สะอาด เป็นไฟสะอาด เพื่อแข่งขันในตลาดโลกได้” นายพูลพัฒน์ ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง