เชื่อมีดีลลับการเมือง นายกฯโอดทำอะไรผิดซัดเลอะเทอะโละปาร์ตี้ลิสต์

"นิด้าโพล" เผย ปชช.เชื่อมีดีลลับการเมืองพรรคร่วมรัฐบาลพยายามจะล้มนายกฯ  แต่ไม่เชื่อจะมีการเปลี่ยนตัวนายกฯ ขณะที่ “เศรษฐา” มึนทำไม ปชช.ถึงคิดอย่างนั้น ตนเองทำอะไรผิดหรือ ยันพรรคร่วมฯ ยังปึ้ก สามัคคีกันดี แจงไม่มีแนวคิดแก้ รธน.โละ สส.ปาร์ตี้ลิสต์ ซัดเลอะเทอะ “พิธา” ไม่กังวลแก้ รธน.ให้เป็นสกัด ก.ก. โวลั่น “ไม่ว่ารูปแบบเกมจะเป็นยังไง เราก็ชนะในเกมที่เขาดีไซน์ให้เราแพ้มาโดยตลอด”  "ดร.อนุสรณ์" ยกบทเรียน 92 ปีอภิวัฒน์ 2475  ต้องประคับประคอง ปชต.ให้รอดพ้นรัฐประหาร  เตือนการยุบพรรคกลุ่มขวาจัดกระทำ "นิติสงคราม" กระทบความเชื่อมั่น ปชต.และนักลงทุน

เมื่อวันอาทิตย์ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง  “Believe It or Not! ทางการเมืองไทย” ระหว่างวันที่ 19-20 มิถุนายน 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น  1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความเชื่อของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทย

เมื่อถามถึงความเชื่อของประชาชนเกี่ยวกับข้อตกลงลับทางการเมืองในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา  พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 39.77 ระบุว่าเชื่อมาก รองลงมา ร้อยละ 31.06 ระบุว่าค่อนข้างเชื่อ, ร้อยละ 15.73 ระบุว่าไม่ค่อยเชื่อ, ร้อยละ 10.31 ระบุว่าไม่เชื่อเลย และร้อยละ 3.13 ระบุว่าไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ด้านความเชื่อของประชาชนเกี่ยวกับความพยายามของพรรคร่วมรัฐบาลที่จะล้มรัฐบาลนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 31.45 ระบุว่าค่อนข้างเชื่อ รองลงมา ร้อยละ 26.03 ระบุว่าไม่ค่อยเชื่อ, ร้อยละ 21.83 ระบุว่าไม่เชื่อเลย, ร้อยละ 17.71 ระบุว่าเชื่อมาก และร้อยละ 2.98 ระบุว่าไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ส่วนความเชื่อของประชาชนเกี่ยวกับการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีที่อาจจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 28.70 ระบุว่าไม่เชื่อเลย รองลงมา ร้อยละ 28.02 ระบุว่าไม่ค่อยเชื่อ, ร้อยละ 25.34 ระบุว่าค่อนข้างเชื่อ, ร้อยละ 15.73 ระบุว่าเชื่อมาก และร้อยละ 2.21 ระบุว่าไม่ตอบ/ไม่สนใจ

สำหรับความเชื่อของประชาชนเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองที่อาจจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 31.15 ระบุว่าค่อนข้างเชื่อ รองลงมา ร้อยละ 23.66 ระบุว่าไม่ค่อยเชื่อ, ร้อยละ 21.60 ระบุว่าเชื่อมาก, ร้อยละ 20.61 ระบุว่าไม่เชื่อเลย และร้อยละ 2.98 ระบุว่าไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความเชื่อเกี่ยวกับการใช้เส้นสายทางการเมืองของผู้สมัครบางคนเพื่อให้ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 55.42 ระบุว่าเชื่อมาก รองลงมา ร้อยละ 28.55 ระบุว่าค่อนข้างเชื่อ, ร้อยละ 7.63 ระบุว่าไม่ค่อยเชื่อ, ร้อยละ 7.48 ระบุว่าไม่เชื่อเลย และร้อยละ 0.92 ระบุว่าไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ที่บริเวณจุดก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 จ.ชลบุรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีผลสำรวจล่าสุดพบว่าประชาชนเกินครึ่งมองว่าในพรรคร่วมรัฐบาลกันเองมีแผนจะล้มนายกฯ นายเศรษฐายิ้มก่อนจะตอบว่า ไม่ทราบเลย และไม่แน่ใจว่าทำไมถึงคิดอย่างนั้น แต่ตนเคารพในเสียงของพี่น้องประชาชนที่คิดแบบนั้นว่าเราทำอะไรผิดไปหรือไม่ แต่ส่วนตัวที่ได้ทำงานกับรัฐมนตรี ก็มีความสมัครสมานสามัคคีกันดี แน่นอนว่าการทำงานร่วมกันแม้แต่มาจากพรรคเดียวกันเราก็มีทั้งเรื่องที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ตนเชื่อว่าเรามีการพูดคุยกันได้ดี

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากการที่นายกฯ ได้สัมผัส มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นเหมือนกับผลสำรวจหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ไม่ทราบจริงๆ แต่จากที่ตนสัมผัสรัฐมนตรีที่ทำงานร่วมกัน ทั้งพรรคเดียวกันและต่างพรรคที่ทำงานกันมา เราก็ทำงานได้ดี เอาความเดือดร้อนพี่น้องประชาชนเป็นตัวตั้ง และพยายามหาทางออกให้พี่น้องประชาชน ส่วนเรื่องการเมืองก็คงมี เป็นเรื่องของการเมือง

นายกฯ มั่นใจพรรคร่วมฯ

เมื่อถามย้ำว่า ส่วนตัวนายกฯ เชื่อหรือไม่ว่ามีขบวนการใต้ดินที่พยายามจะล้มนายกฯ นายเศรษฐากล่าวว่า ตนพยายามมองโลกในแง่ดี เพราะเราก็ทำงานด้วยความตั้งใจจริง เราไม่ได้มีวาระอื่น แต่มาเพื่อแก้ไขปัญหาพี่น้องประชาชน ก็หวังว่าคงไม่มีแล้วกัน เอาอย่างนี้แล้วกัน

เมื่อถามว่า ให้คำมั่นได้หรือไม่ว่าพรรคร่วมรัฐบาลชุดนี้จะอยู่กันครบ 4 ปี นายเศรษฐากล่าวว่า วันนี้ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี เมื่อถามย้ำว่ายังมั่นใจในตัวพรรคร่วมรัฐบาลใช่หรือไม่ นายเศรษฐาตอบสั้นๆ ว่า ครับ

ส่วนกรณีที่พรรครวมฝ่ายค้านออกมาเปิดเผยว่า การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้มีความพยายามจะไม่ให้มี สส.บัญชีรายชื่อ เพื่อสกัดพรรคก้าวไกล นายเศรษฐากล่าวว่า เอาข่าวมาจากไหน ตนไม่ทราบ คงเป็นเรื่องของเกมการเมืองมั้ง  รัฐมนตรีเราไม่เคยพูดเรื่องนี้เลย และไม่ได้อยู่ในวาระของการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย และอาจจะแก้เรื่องใหญ่ขนาดนี้ก็ต้องผ่านรัฐสภาอยู่แล้ว ซึ่งตนในฐานะที่อยู่ในพรรคเพื่อไทยด้วย และทำงานในฝ่ายบริหาร ถ้าเกิดจะทำเรื่องใหญ่ขนาดนี้ ก็ต้องมีการพูดคุยกันในพรรคของเราเอง

พอมาถึงในช่วงนี้นายกฯ ได้หันไปหานายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม และนางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ในฐานะผู้ประสานงานวิปรัฐบาล พร้อมถามนางมนพรว่า ไม่มีใครพูดเรื่องนี้ใช่ไหม นางมนพรกล่าวยืนยันว่า ไม่เคยมีใครพูด และตนก็คิดว่าไม่มีเรื่องนี้

เมื่อถามว่า การให้ข่าวลักษณะนี้เป็นการดิสเครดิตรัฐบาลหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า คงเป็นธรรมดาของการเมืองที่มีความสับสน ตนว่าตอนนี้เรามุ่งแก้ปัญหาพี่น้องประชาชนดีกว่า ซึ่งเรื่องนี้ก็คงมีคำถามมาถึงตน ตนก็ยืนต่อไปเรื่อยๆ แต่จะเห็นว่าสีหน้าของตนยิ้มแย้ม ตนคิดว่ามันไม่มีอะไรเลย รัฐมนตรีที่อยู่ตรงนี้ก็เป็นผู้ใหญ่ในพรรค นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ก็อยู่กับพรรคมานาน ตอนตนตอบคำถามสื่อก็เหล่ตามองท่าน  ท่านก็ยิ้ม ไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้หรอก เลอะเทอะครับ

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ  และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ระบุว่ามีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ สส.มีที่มาจากระบบเขตทั้งหมด 500 ที่นั่ง ตัดระบบบัญชีรายชื่อออกไปทั้งหมด เพื่อสกัดพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งเป็นข้อมูลจากเพื่อนฝูงในพรรคเพื่อไทย นายพิธากล่าวว่า ก่อนจะตอบต้องบอกว่าเมื่อวานนี้ตนปฏิบัติภารกิจที่จังหวัดอุดรธานี และยังไม่มีโอกาสได้ฟังข้อมูลดังกล่าว จึงยังไม่ทราบบริบททั้งหมด แต่ในหลักการคือการแก้รัฐธรรมนูญจะต้องแก้โดยให้ประโยชน์ตกอยู่ที่ประชาชน ไม่ควรแก้เพื่อให้ประโยชน์ตกอยู่ที่นักการเมือง เป็นหลักที่สำคัญที่สุด เพราะฉะนั้นต้องเน้นว่า “การแก้รัฐธรรมนูญคือการคืนอำนาจให้กับประชาชนในระยะยาว” และทำให้ประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงมากที่สุด ไม่ใช่แก้เพื่อให้พรรคหนึ่งได้ประโยชน์กับการแก้รัฐธรรมนูญ

เมื่อถามว่า การแก้ไขไปในทิศทางดังกล่าว มีความเป็นไปได้มากน้อยขนาดไหน นายพิธากล่าวว่า สิ่งที่เคยเกิดขึ้นจริงในสมัยที่แล้วคือการแก้ไขสัดส่วน สส.แบบแบ่งเขต จาก 350 คนเป็น 400 คน และปรับสัดส่วน สส.แบบบัญชีรายชื่อจาก 150 คน เหลือ 100 คน และมีการปรับวิธีการคำนวณ

 “เพราะฉะนั้นผมไม่ได้กล่าวหาว่าจะทำให้พรรคใดพรรคหนึ่งได้ประโยชน์ เพราะยังไงที่ผ่านมาพรรคของเราก็ชนะอยู่ดีถึงแม้ว่าจะมีการแก้  ดังนั้นถ้าหลังจากนี้จะมีการปรับสัดส่วนจาก 400 คนให้มีมากขึ้นไปอีก ผมมองว่ามีความเป็นไปได้ในสภา" นายพิธากล่าว

ไม่กังวลแก้ รธน.สกัด ก.ก.

นายพิธากล่าวว่า ขอยึดหลักสำคัญว่าการแก้รัฐธรรมนูญมีความจำเป็น รัฐธรรมนูญปี 2560 คือระเบิดเวลา หากจะแก้ต่อไปต้องเอาประชาชนเป็นตัวหลัก และให้ประชาชนได้ประโยชน์ อย่าให้พรรคใดพรรคหนึ่งได้ประโยชน์มากกว่ากัน หากกฎหมายสูงสุดของประเทศทำให้การเลือกตั้งหรือการเข้าสู่อำนาจไม่ยุติธรรมและเอนเอียง  จะกลายเป็นระเบิดเวลาลูกต่อไป แทนที่จะสามารถแก้ระเบิดเวลาได้ ก็จะก่อให้เกิดความขัดแย้งใหม่ในที่สุด

"สำหรับพรรคก้าวไกลไม่กังวลใจอะไร เพราะเอาประชาชนและประเทศเป็นที่ตั้งมาก่อนความสามารถในการแข่งขันของพรรคเสมอ เราเชื่อในตัวเราว่าในอดีตที่ผ่านมาไม่ว่ารูปแบบเกมจะเป็นยังไง เราก็ชนะในเกมที่เขาดีไซน์ให้เราแพ้มาโดยตลอด" นายพิธากล่าวทิ้งท้าย

ส่วนกรณีพรรคเพื่อไทยรุกหนักมากขึ้น กังวลหรือไม่ อย่างตอนอภิปรายงบฯ ก็ทำได้ดีขึ้น และมีการลงพื้นที่บ่อยขึ้นด้วย นายพิธากล่าวว่า ไม่กังวลเลย ถือเป็นเรื่องดี จะได้เห็นข้อมูลทั้ง 360 องศา พร้อมย้ำว่าอยู่ที่วิธีคิดในเรื่องงบประมาณว่าเราควรจะรอบคอบในการบริหารความเสี่ยง  และทำอย่างไรให้ภาษีของประชาชนได้ผลมากที่สุดและประหยัดที่สุด แต่อีกวิธีหนึ่งก็อาจจะคิดว่าเราทำแบบบนลงล่าง แล้วจะได้รับผลที่ดีกว่า ซึ่งก็สามารถให้ประชาชนตัดสินได้ว่าแนวทางไหนดีกว่า อย่างน้อยก็ได้โชว์ให้ประเทศเห็นว่ายังมีทางเลือก

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ แสดงความเห็นเนื่องในโอกาสครบรอบ 92 ปี อภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ว่า เราชาวไทยต้องการแสวงหาความคิดและแนวทางในการสร้างความเป็นเอกภาพให้กับขบวนการประชาธิปไตย เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าสู่การปกครองที่มีความเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ภารกิจเฉพาะหน้าคือ การประคับประคองให้ระบอบประชาธิปไตย ณ เวลานี้ รอดพ้นจากการรัฐประหารให้ได้เสียก่อน และไม่สร้างเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหารขึ้นมาอีกในประเทศไทย นั่นก็คือรัฐบาลต้องบริหารประเทศด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่กระทำการลุแก่อำนาจหรือดำเนินการใดๆ ที่ผิดหลักการผิดกฎหมายอันชอบธรรม ต้องสามัคคีพลังทั้งหมดของขบวนการประชาธิปไตยในการผลักดันให้เกิด รัฐธรรมนูญฉบับของประชาชน โดยประชาชน  เพื่อประชาชน บนหลักการประชาธิปไตย และ สร้างสรรค์ ค่านิยมประชาธิปไตย และค่านิยมสันติธรรม ให้หยั่งรากลึกไปยังทุกพื้นที่ของประเทศ

รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวว่า ความขัดแย้งทางการเมืองหลังการรัฐประหารปี พ.ศ.2549 ยังคงดำรงอยู่ต่อเนื่องระหว่างขั้วรัฐประหารและขั้วความคิดอนุรักษ์อำนาจนิยมขวาจัด กับขั้วฝ่ายประชาธิปไตย เสรีนิยมและความคิดก้าวหน้า หลังการจัดตั้งรัฐบาลผสมข้ามขั้วหลังการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2566 ทำให้ความขัดแย้งเปลี่ยนรูปไปมีความซับซ้อนมากขึ้น และพัฒนาการของประชาธิปไตยเปลี่ยนแปลงไป การเมืองบนท้องถนน ได้เคลื่อนย้ายมาสู่การต่อสู้กันในกลไกรัฐสภามากขึ้น แต่นิติสงครามยังดำรงอยู่ และมีการใช้องค์กรอิสระและตุลาการจัดการขั้วอำนาจตรงข้ามของฝ่ายปรปักษ์ประชาธิปไตยอนุรักษนิยมขวาจัดต่อไป 

ปัจจัยชี้ขาด พลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้เคลื่อนย้ายจากผู้นำกองทัพ (การรัฐประหาร) มาที่อำนาจตุลาการและองค์กรอิสระ เสียงและอำนาจประชาชนยังคงเป็นเพียงส่วนประกอบให้ดูเหมือนว่า ประเทศปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ปีที่ 92 ของประชาธิปไตยไทย ภารกิจสำคัญของระบอบประชาธิปไตยคือ ทำอย่างไรให้เสียงของประชาชนมีความหมาย  ทำอย่างไรให้ประชาชนส่วนใหญ่เป็นผู้กำหนดทิศทางของประเทศอย่างแท้จริง ไม่ใช่ผู้กำหนดทิศทางประเทศเป็นกลุ่มผู้มีอำนาจกลุ่มเล็กๆ ไม่กี่คนที่ไปทำดีลต่างๆ โดยประชาชนเจ้าของประเทศไม่ได้มีความหมายอะไร  

เตือนรัฐประหารต่างชาติเข้าจุ้น

"รัฐประหารเมื่อ 10 ปีที่แล้วได้นำประเทศไทยกลับไปสู่ระบอบการปกครองแบบเผด็จการทหารอีกครั้งหนึ่ง แต่มีลักษณะที่ผ่อนคลายกว่า เผด็จการทหารในยุค พ.ศ.2500-2516 เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก หากเกิดรัฐประหารโดยกองทัพขึ้นอีกในอนาคต ย่อมเกิดความเสี่ยงและความไม่แน่นอนสูงมาก อาจเปิดโอกาสนำไปสู่การแทรกแซงทางการเมืองของมหาอำนาจได้ ภูมิภาคนี้และประเทศไทยเป็นพื้นที่ช่วงชิงอำนาจนำ (Hegemony) ของมหาอำนาจอย่างจีน สหรัฐอเมริกา และอียูอยู่แล้ว"

รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวอีกว่า ความขัดแย้งและวิกฤตการณ์ทางการเมืองในปี พ.ศ.2549 ได้นำมาสู่จุดเริ่มต้นของการยุบพรรคการเมืองโดยคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าเป็นการยุบพรรคการเมืองเพื่อจำกัดคู่แข่งทางการเมืองของผู้มีอำนาจรัฐหรือไม่ และไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของหลักประชาธิปไตยป้องกันตนเอง พิจารณายุบพรรคก้าวไกลก็ดี การพิจารณายุบพรรคภูมิใจไทยก็ดี ล้วนไม่เป็นผลดีต่อระบอบประชาธิปไตย การพิจารณาความผิดควรเป็นเรื่องความรับผิดชอบของบุคคล หรือคณะบุคคล ไม่ใช่เรื่องของสถาบันพรรคการเมือง  ยิ่งหากคำตัดสินทั้งสองคดีนี้ออกมาแบบไม่มีมาตรฐานด้วยแล้ว ก็จะยิ่งทำลายความเชื่อมั่นต่อระบบการปกครองและระบบความยุติธรรมของประเทศนี้เพิ่มขึ้นไปอีก

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ที่ระบุว่า การแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เท่ากับล้มล้างการปกครองนั้น จะส่งผลกระทบอย่างซับซ้อน สร้างความไม่แน่นอน และความเสี่ยงต่อระบบการเมือง ระบบนิติบัญญัติ ระบบยุติธรรม ระบอบประชาธิปไตย เป็นการปิดประตูแห่งโอกาสของการปฏิรูประบบสถาบันทางการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขลง อาจเกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของสถาบันหลักของประเทศเพิ่มขึ้น และอาจจะมีการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 มาทำลายล้างกันทางการเมืองมากขึ้นอีก แทนที่จะเกิดการแก้ไขด้วยการพิจารณาของผู้แทนราษฎรในรัฐสภาด้วยเหตุด้วยผล ทำให้เกิดเสถียรภาพต่อระบอบประชาธิปไตย

"การเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆ ของเครือข่ายปรปักษ์ประชาธิปไตยอำนาจนิยมอนุรักษนิยมขวาจัดผ่านการทำนิติสงครามและอาศัยองค์กรอิสระ ได้สั่นคลอนเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตย เครือข่ายเหล่านี้คาดหวังจะสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สร้างความไม่แน่นอนและความเสี่ยงทางการเมือง จนกระทั่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ นักลงทุนต่างชาติได้ทยอยถอนการลงทุนจากประเทศไทยพร้อมกับทุนข้ามชาติของไทย ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจนั้นพอไปได้ ไม่ได้ย่ำแย่ แต่ปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองและความไม่แน่นอนทางการเมืองนั้นซ้ำเติมความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนในตลาดการเงินอย่างรุนแรง ดูได้จากการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องของดัชนีตลาดหุ้นหลุดระดับ 1,200 และนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นอย่างต่อเนื่อง นักลงทุนโครงการลงทุนระยะยาวก็หันไปลงทุนในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนามมากกว่า"  

รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวทิ้งท้ายว่า จากนี้ไปคงต้องติดตามดูว่า ผลของการพิจารณาตัดสินยุบพรรคก้าวไกล พรรคภูมิใจไทย และการตัดสินคดีของนายกรัฐมนตรีจะเป็นอย่างไร.    

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ชาญ’นำ‘แจ๊ส’นายกอบจ.ปทุม

ลุ้นมันหยด ศึกเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมธานี กกต.ปทุมฯ ตั้งเป้าผู้ออกมาใช้สิทธิ์ร้อยละ 70 ผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ "บิ๊กแจ๊ส" กับ "ลุงชาญ" คะแนนเบียดกันสูสี ก่อนที่ลุงชาญจะขึ้นนำในช่วงท้าย

ผลสำรวจนิด้าโพลชี้ ประชาชนหนุน 'พิธา' นั่งนายก ส่วน 'เศรษฐา' มาเป็นอันดับ 3

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ 2/2567” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 14-18 มิถุนายน 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,000 หน่วยตัวอย่าง