‘เสี่ยนิด’ทุบโต๊ะ ขีดเส้นสิ้น2567 ไฮสปีดเทรนจบ

นายกฯ ลงพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา ไล่บี้ไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน ทุบโต๊ะสัญญาต้องจบสิ้นปี 67 เตือนอย่าให้เกิดปัญหาติดกระดุมเม็ดแรกผิดจนเป็นมหากาพย์ แย้มอีก 1 เดือนเคาะใช้พื้นที่ไหนสร้างสนาม F1 “พิธา”  แนะดูแลสาธารณูปโภคนักท่องเที่ยวให้พร้อม  ก่อนจัดคอนเสิร์ตระดับโลกที่พัทยา

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน เวลา 10.25 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ระยอง-พัทยา  เพื่อติดตามประเด็นปัญหาและการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ รองรับการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คมนาคม,  นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม, นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง, นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม, นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.), พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ, นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด, นายกวิน กาญจนพาสน์  กรรมการบริหาร บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด เข้าร่วมหารือ

นายกฯ กล่าวว่า มาเพื่อติดตามเรื่องของสนามบินอู่ตะเภา การพัฒนาอีอีซี รวมถึงรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่ถือว่าเป็นเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลนี้ ซึ่งมีการทำกันมาหลายรัฐบาลแล้ว รัฐบาลนี้ตระหนักถึงความสำคัญเรื่องการเชื่อมโยง และเป็นที่ทราบกันดีว่ามีความล่าช้าอยู่บ้าง เพราะฉะนั้นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดมีความสำคัญอย่างยิ่ง

ด้านเลขาธิการ สกพอ. รายงานความก้าวหน้าการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อรองรับการลงทุนในพื้นที่อีอีซี และการก่อสร้างโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวัน ซึ่งคาดว่าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ จะสามารถเปิดให้บริการในปี 2572 โดยจะก้าวสู่ศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาค เป็นสนามบินนานาชาติที่ได้มาตรฐานโลก รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบิน เชื่อมโยงการท่องเที่ยวสู่ภาคธุรกิจ เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและขนส่งทางอากาศแห่งภูมิภาค และเป็นปัจจัยสำคัญดึงดูดให้นักลงทุนเข้าสู่พื้นที่อีอีซี

  สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งเป็นโครงการลงทุนเมกะโปรเจกต์ขนาดใหญ่ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ แต่ยังติดปัญหาความล่าช้าบ้าง เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน และดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้น ซึ่งคาดว่าภายในปลายเดือนกรกฎาคม 2567 นี้ จะได้ข้อสรุปทั้งหมดเกี่ยวกับการเดินหน้าโครงการดังกล่าว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดการลงทุนในมาตรฐานระดับโลก และแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมให้เกิดการลงทุนต่อเนื่อง ทั้งนี้ จะมีการนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาในการเจรจาเข้าคณะกรรมการ กพอ. และนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป โดยจะเป็นการเสนอหลักการว่าจะมีการแก้ไขในประเด็นอะไรแค่ไหน หากเราเห็นชอบในหลักการจะรู้ตัวสัญญาที่จะแก้ไขใหม่ ซึ่งประมาณสิ้นปี 2567 จะเซ็นสัญญาแก้ไขใหม่ได้ โดยจะเริ่มก่อสร้างในต้นเดือน ธ.ค.2567 หรือต้นเดือน ม.ค.2568

ขณะที่นายกฯ กล่าวว่า ถือเป็นหัวใจของการพัฒนาในเขตเศรษฐกิจทั้งหมด เชื่อว่าฝ่ายเอกชนและผู้ที่เกี่ยวข้องเรื่องสนามบินมีความพร้อมและทำตามข้อตกลง แต่หากเกิดเรื่องของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินยังมีความล่าช้าอยู่ ตรงนี้จะสร้างความมั่นใจให้เอกชนอย่างไร ตรงนี้อยากให้ชี้แจงความกระจ่าง ซึ่งขณะนี้เวลาของสัญญาหมดไปแล้ว แต่เดี๋ยวจะมีการหาทางออก โดยการตั้งสมมุติฐานทางด้านการเงินใหม่ รวมถึงอาจจะรวมไปถึงการต่อรองกับทางรัฐบาล เรื่องของเงื่อนไขของผลตอบแทน ซึ่งไม่ขอคอมเมนต์ว่าทำได้หรือทำไม่ได้ ทุกอย่างจะต้องจบให้ได้ภายในสิ้นปี 2567 และก่อสร้างได้ต้นปี 2568

นายเศรษฐากล่าวว่า คำถามต่อมาคือระหว่างนี้คนที่ทำสนามบินอู่ตะเภาเขาจะเดินหน้าต่อหรือไม่ และความเสี่ยงมีว่า หากจบไม่ได้หรือหากกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถหาข้อยุติได้ ตัวบทสัญญาจะทำอย่างไรต่อไป ตนขอฝากไว้ อย่าให้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับการก่อสร้างสนามบิน หากรถไฟเชื่อม 3 สนามบินมีปัญหา  เชื่อว่าหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับโปรเจกต์นี้ต้องไปพูดคุยกันให้ดี เพราะสนามบินอู่ตะเภามีความสำคัญอย่างยิ่งกับเมกะโปรเจกต์ของเรา ซึ่งเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ตนลงพื้นที่ไปดูเรื่องพื้นที่สร้างสนามแข่งขัน  F1 หากไม่มีสนามบินจะลำบากกับเรื่องการกระตุ้นการท่องเที่ยว ฉะนั้นเรื่องของรถไฟเชื่อม 3 สนามบินเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งประมาณสิ้นเดือน ก.ค. เราน่าจะได้ข้อสรุปและเป็นข่าวดี

"ในฐานะรัฐบาล อยากให้ไปต่อ เพราะถือเป็นจิกซอว์การลงทุนข้ามชาติต่อยอดบริษัทที่จะมาลงทุนในอีอีซี ทำธุรกิจการค้า หรือธุรกรรมการลงทุนต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ถ้าหากขาดไปตัวหนึ่งก็คงลำบาก ซึ่งเราไม่ต้องไปลงรายละเอียดว่าเชื่อม 3 สนามบินต้องไปลิงก์กับสนามบินที่กรุงเทพฯ  อย่างไร อย่าให้เกิดปัญหา ไม่เช่นนั้นหากติดกระดุมเม็ดแรกผิดตั้งแต่ต้น ก็จะเกิดปัญหาตามมาเป็นมหากาพย์" นายกฯ ย้ำ

นายสุริยะกล่าวว่า เรื่องรถไฟเชื่อม 3 สนามบินในขณะนี้ได้สั่งให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดแล้ว ซึ่งแนวโน้มเชื่อว่าก่อนสิ้นเดือน ก.ค.น่าจะมีข้อสรุป

 จากนั้นเวลา 11.10 น. นายกฯ ตรวจติดตามพื้นที่ก่อสร้างโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก เพื่อดูสถานที่ที่จะให้เป็นพื้นที่สร้างสนามแข่งรถ F1 ก่อนที่เวลา 13.00 น. ได้เดินทางไปยังลานกิจกรรมกลางแจ้งริมหาดบ้านอำเภอ เทศบาลตำบลนาจอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เพื่อศึกษาดูเส้นทางการแข่งขัน F1 และได้พูดคุยกับ Mr. Mark Hughes ที่ปรึกษาด้านการแข่งขันรถ F1 บริษัท Mrk1 consulting ซึ่งเป็นผู้จัดการแข่งขัน 

ต่อมานายเศรษฐาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก และทวีตผ่าน X ว่า "สำรวจศักยภาพการจัดแข่งขัน F1 ในไทยที่หาดจอมเทียน ที่มีการจัด 2 แบบ แบบแรก คือ circuit race ที่ใช้สนามแข่ง ซึ่งจะสามารถควบคุมเรื่องความปลอดภัยได้ง่าย ซึ่งที่อู่ตะเภามีโครงการที่จะสร้างสนามแข่งรถแล้ว และมีความเป็นไปได้ที่จะจัดแข่งได้ตามมาตรฐานของสหพันธ์รถยนต์ระหว่างประเทศ (FIA) และอีกรูปแบบของการจัดคือ แบบ city race ที่เป็นการแข่งบนถนนจริงๆ เส้นทางเน้นทัศนียภาพและความสวยงามของเมือง ซึ่งเราดูความเป็นไปได้ทั้งที่กรุงเทพฯ และเมืองพัทยา  และวันนี้มาดูความเป็นไปได้ที่จะจัดในเส้นทางบริเวณรอบหาดจอมเทียน ซึ่งยังจำเป็นต้องมีการปรับปรุงถนนและองค์ประกอบอื่นของสนามแข่ง เช่น อัฒจันทร์และฉากกั้น เพื่อให้ได้มาตรฐาน ทั้งนี้ F1 เป็นงานใหญ่ งานยาก แต่ก็เป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะดึงเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวได้อย่างมหาศาลครับ"

หลังจากนั้น เวลา 14.00 น. ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา นายเศรษฐาได้ตรวจติดตามและเร่งรัดการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ก่อนจะให้สัมภาษณ์ถึงศักยภาพของเมืองพัทยาในการสร้างสนามแข่งรถ F1 ว่า กำลังดูอยู่หลายที่ในเมืองพัทยา ซึ่งมีอยู่ 3-4 ที่ อีก 1 เดือนหรือเดือนครึ่งน่าจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ตนไม่มีสิทธิ์เลือก เราต้องทำงานร่วมกับฝ่ายผู้จัดการแข่งขัน หน้าที่เราคือหาทำเลที่ตั้งหลายๆ ที่มาให้เขาเลือกทำเลที่ตั้งที่ดีที่สุด

เมื่อถามว่า จากการพูดคุยกับ Mr. Mark Hughes ถือว่าผลตอบรับของพัทยาเป็นอย่างไรบ้าง นายเศรษฐากล่าวว่า ถือว่าดี ความจริงแล้วอยู่ที่พัทยา 3-4 จุด หรือที่อู่ตะเภา มีอยู่แค่นี้

 วันเดียวกัน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงการลงพื้นที่พัทยาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีความพยายามผลักดันให้มีการจัดคอนเสิร์ตใหญ่ระดับโลกว่า เป็นสิ่งที่ทำได้ และต้องทำให้พร้อม ขณะเดียวกันต้องดูแลคนพัทยาและระยองด้วย โดยต้องเน้นทั้งข้างซ้ายและข้างขวา ข้างขวาคือความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว การดูแลเรื่องมาเฟียรีดไถ การเดินทาง-คมนาคมของนักท่องเที่ยว ขยะ ความพร้อมของน้ำ ซึ่งต้องดูแลคนในพื้นที่ควบคู่กัน จึงอยากชวนนายกฯ  เวลาพูดเกี่ยวกับเรื่องการท่องเที่ยว ต้องดูทั้งฝั่งดีมานด์และซัพพลาย

ทั้งนี้ หากดูแค่ฝังดีมานด์อย่างเดียว นักท่องเที่ยวมาเยอะ ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น ขยะล้นเกาะ น้ำจืดมีไม่พอใช้ ทำให้เกิดความไม่ยั่งยืน สำคัญที่สุดเครื่องจักรเศรษฐกิจสุดท้ายคือการท่องเที่ยว หากสะดุด เช่น ไฟไหม้โรงงานวินโพรเสส จ.ระยอง เมื่อมีอุตสาหกรรมมาผสมกับการท่องเที่ยวแล้วไม่ดูแล อาจจะทำลายการท่องเที่ยวที่พยายามจะโปรโมตตั้งแต่แรก การท่องเที่ยวมีศักยภาพ แต่สาธารณูปโภคของการท่องเที่ยวต้องได้รับความดูแลด้วย

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ได้ดูรายการ “คุยกับเศรษฐา” เทปแรก ซึ่งมีตอนหนึ่งที่นายเศรษฐาได้เปรียบประเทศไทย เป็นรถที่ยังไม่วิ่งเต็มสูบ เหมือนเฟอร์รารี 12 สูบ แต่วิ่งอยู่แค่ 6-7 สูบเท่านั้น ทำให้นึกถึงภาพลักษณ์ของรัฐบาลของนายเศรษฐาเช่นกันว่า เปรียบเหมือนรถเฟอร์รารีที่เปลี่ยนเฉพาะเครื่องยนต์ แต่ตัวถังและอุปกรณ์อื่นๆ ยังเหมือนเดิม นั่นหมายความว่า รัฐบาลชุดนี้คือรัฐบาลชุดเดิมในระบอบทักษิณ หรือที่เรียกกันตอนนี้ว่า “ระบอบทักษิณคืนชีพ” ที่มีการเปลี่ยนแปลงก็คือตัวนายกรัฐมนตรีคนเดียว คือนายเศรษฐา ซึ่งเปรียบเสมือนเครื่องยนต์ ที่มาติดตั้งในรถเฟอร์รารี ซึ่งไม่มั่นใจว่าเจ้าของรถเฟอร์รารีคันนี้จะใช้เครื่องยนต์เครื่องนี้ไปอีกนานแค่ไหน อาจจะยกเครื่องใหม่ หรือเปลี่ยนเครื่องนำเครื่องยนต์ใหม่เข้ามาแทนที่ก็ได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง