หึ่ง!ภาคเหนือฮั้วสว.ระอุ เชื่อจ่ายดุระดับประเทศ

“กกต.” จับตาภาคเหนือ หลังพบ 4  วิธีฮั้วเลือก สว.ระดับประเทศอย่างอื้อ “พิธา”  เตือนอย่าป้ายสีส้มให้สภาสูงที่กำลังเข้ามา นักวิชาการให้จับตาเลือกนัดสุดท้าย คาดมีคนพร้อมจ่าย ยิงเงินรายหัว หลักล้านก็พร้อมควักหากได้ตามเป้าประสงค์

วันที่ 23 มิ.ย.2567 มีรายงานข่าวจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจ้งว่า สำนักงาน กกต.พบความเคลื่อนไหวการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการทุจริตเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ซึ่งจะมีการเลือกระดับประเทศในวันพุธที่ 26 มิ.ย.นี้ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยพฤติการณ์ที่พบแบ่งเป็น 4 รูปแบบ คือ 1.ผู้ได้รับเลือกเป็น สว.ระดับจังหวัด มีการต่อรองขอตำแหน่งหรือเรียกรับผลประโยชน์หลักแสนบาท แลกกับการลงคะแนนเลือกให้เป็นผู้ได้รับเลือกเป็น สว.ระดับประเทศ 2.การเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองที่หนุนหลังผู้ได้รับเลือกเป็น สว.ระดับจังหวัด พยายามเก็บตกผู้ได้รับเลือกเป็น สว.ระดับจังหวัดรายอื่น เพื่อให้กลุ่มของตนเองมีผู้มีสิทธิเลือกมากที่สุด 3.พบมีคนกลางจองห้องพักโรงแรมบริเวณใกล้สถานที่เลือกและนัดรวมตัวกันก่อนวันเลือก เพื่อล็อบบี้และเช็กคะแนนเสียง โดยนำจำนวนเสียงที่รวบรวมได้ไปเรียกรับประโยชน์หลักล้านบาท เพื่อแลกกับการลงคะแนนสนับสนุน 4.ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีการติดต่อไปยังผู้ได้รับเลือกเป็น สว.ระดับจังหวัดในพื้นที่ทุกกลุ่มอาชีพ เพื่อให้มาอยู่กลุ่มตนเอง โดยอ้างว่าจะสนับสนุนให้เป็น สว.

 “พฤติการณ์ที่พบกระจายอยู่หลายพื้นที่ แต่จะพบมากในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งสำนักงาน กกต.ได้ให้ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ฝ่ายสืบสวนสอบสวนแต่ละจังหวัด ชุดเคลื่อนที่เร็วประกบติดตามความเคลื่อนไหวของผู้สมัครอย่างใกล้ชิด และรายงานให้ กกต.ทราบ” รายงานข่าวระบุ

ด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพรรคการเมืองใหญ่ซุ่มเก็บตัวผู้ผ่านการเลือก สว.จังหวัดเพื่อรอการเลือก สว.ระดับประเทศว่า ในการเลือก สว.ครั้งนี้ จริงๆ แล้วพรรคการเมืองมีส่วนร่วมมากไม่ได้ตามกฎหมาย แต่ก็มีคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ สภาผู้แทนราษฎร โดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ ที่ได้ลงสังเกตการเลือกในทุกระดับที่ผ่านมา และจะใช้กลไกนี้ในการตรวจสอบว่ากระแสข่าวดังกล่าวมีจริงหรือไม่ แต่ในหลักการเชื่อว่าจะได้มาซึ่งสภาสูงที่มีความยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น แม้จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง

เมื่อถามถึงการเลือก สว.ครั้งนี้มีการใช้คีย์เวิร์ด สว.สีส้ม รวมไปถึงกรณีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ว่าการเลือก สว.จะมี สว.สีส้มเข้ามามากนั้น นายพิธากล่าวว่า ไม่จำเป็นที่ต้องเติมนามสกุลให้ใครด้วยการไปป้ายสี เพราะเชื่อว่าแต่ละคนก็มีวุฒิภาวะและจุดยืนของตนเอง ซึ่งตามความหมายของตนเอง ก็คงเป็นอดีตผู้สื่อข่าว นักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตยที่ยืนตรงในเรื่องประชาธิปไตย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีนามสกุลเป็นสีส้ม

ขณะที่ ผศ.เอกวีร์ มีสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) กล่าวถึงการเลือก สว.ว่า คนที่ดีไซน์ระบบการเลือก สว.เขาต้องการขจัดกลุ่มคนหรือบ้านใหญ่ต่างๆ หรือการที่จะเข้าไปครอบงำการเลือก สว. แต่เอาเข้าจริง เราก็พบว่าต่อให้ออกแบบกระบวนการเลือก สว.ให้ซับซ้อนอย่างไร แต่ก็ยังมีช่องทางเกิดขึ้นอยู่ดี คือแม้จะทำให้มันยากขึ้น แต่ก็ยังหาช่องทางกันได้ เพราะแม้กระบวนการ-ช่องทางมันจะยากขึ้นเรื่อยๆ แต่มันก็มีข่าวว่ามีการใช้เงินหรือไม่ ทั้งในพื้นที่ซึ่งคนแข่งขันกันไม่มาก และสามารถที่จะจัดเตรียมคนมาลงสมัครทั้งในระดับอำเภอและจังหวัดได้ ก็มีการพูดกันว่ามีการใช้เงินหรือไม่ และอีกล็อตหนึ่งที่มีการพูดถึงกันต่อไปก็คือการเลือก สว.ในระดับประเทศ จะมีการใช้เงินในการเลือกหรือไม่

“เป็นโจทย์ที่น่าสนใจในเชิงวิชาการ ซึ่งผมยังไม่สามารถหาคำตอบได้ก็คือว่าต้นทุนในการใช้เงิน หากมันมี กรณีที่มี มันมีต้นทุนในการใช้เงินขนาดไหน มันใช้เงินระดับไหน ในระดับอำเภอหรือระดับจังหวัด มันใช้ต้นทุนและกลไกแบบใด เช่น คุณต้องใช้เงินหรือใช้เสียงแค่ไหนในการเลือกเข้ามาระดับจังหวัด หรือคุณแค่จัดคนเข้ามา อันนี้น่าสนใจมาก หากเป็นระดับจังหวัด ผมตั้งสมมุติฐานแบบนี้ ถ้าเป็นจังหวัดที่สามารถจัดคนมาได้ มาในการเลือก ผมว่าเรื่องเงินอาจจะน้อย มันกลายเป็นว่าถ้าตอบแบบนี้ คือคุณสามารถกำกับผลการเลือกตั้งโดยใช้เงินที่น้อยกว่าการเลือกตั้งปกติเสียอีก ซึ่งหากเป็นแบบนี้ คือสามารถคุมผลการเลือกตั้งโดยใช้เงินที่น้อยกว่าการเลือกตั้งปกติ” ผศ.เอกวีร์ระบุ

ผศ.เอกวีร์กล่าวต่อว่า หมายความว่าระบบนี้ในทางหนึ่งมันเอื้อ แล้วกลับกันหากไปสู่การเลือกในระดับประเทศ คิดไปอีกมุมหนึ่ง ระดับประเทศก็จะกลายเป็นตรงกันข้าม คือระดับประเทศคนมันเหลือน้อย ซึ่งเห็นรายชื่อ การเลือกและการเห็นรายชื่อมันหมายความว่า ถ้าพูดตรงๆ คือคุณยิงเงินได้รายหัว แล้วคุณไปเช็กประวัติเขาได้ โดยจะเกิดปัญหา 2 อย่างคือ หนึ่ง คือพอมันยิงเงินรายหัวได้ การทุ่มเงินมันสามารถทุ่มได้ในมูลค่าที่สูง เพราะคุณยิงตรงเลย สอง กรณีที่มีการรับเงินหรืออะไรก็แล้วแต่ มันกลายเป็นว่าหากมีการบิดพลิ้วหรือมีอะไรสักอย่างมันตามตัวได้ เช็กและตามตัวได้ง่าย ดังนั้นสิ่งนี้จะต่างกับการเลือกตั้งในระดับประเทศ เช่น การเลือก สส. ที่หากต้องจ่าย ต้องจ่ายทุกคน ต้องจ่ายให้มากที่สุด และจ่ายเต็มที่ หัวหนึ่งมันก็หลักพัน แต่การจ่าย มันก็การันตีไม่ได้ว่าเขาจะเลือกหรือไม่เลือก เพราะไม่รู้ได้ เนื่องจากการเลือกตั้งมันเป็นระบบปิด แต่ระบบแบบนี้ ที่ตอนนี้เหลือการเลือกระดับประเทศที่จะมีการเลือกกัน ถ้ามีการจ่าย มันจะมีการจ่ายในมูลค่าที่สูงมากในแต่ละคน เพื่อให้เขาแน่ใจว่าเขาจะได้ และการจ่ายเขาก็รู้ด้วยว่าเขาจ่ายให้ใคร

“มีคนบอกว่าคนที่เข้ามาถึงขั้นกระบวนการนี้เป็นคนที่มีสถานะทางสังคมที่สูง หรือมีอะไรก็ตามแต่ แต่ถามจริงๆ ว่าหากคุณจ่ายสักหนึ่งล้านหรือสองล้าน สามล้านบาทให้เลือก ผมว่ามันไม่แพงนะ ถ้าเขารู้ว่าจ่ายแล้วโอกาสจะได้มันสูง ที่เป็นสิ่งที่น่ากังวลอยู่ เพราะอย่างที่บอกระดับอำเภอ หากคุณคุมได้ คุณอาจใช้ต้นทุนที่น้อยกว่า แต่ถ้าระดับประเทศ หากคุณซื้อ แม้อาจใช้เงินเยอะ แต่คุณอาจยิงเข้าเป้า ซึ่งมันต่างจากการเลือกตั้งระดับประเทศที่ใช้ระบบปิด ที่ต่อให้คุณหว่านเงินในพื้นที่ แต่คุณก็ไม่รู้ได้ว่าจะได้คะแนนเสียงหรือไม่ และต้องหว่านให้ทุกคน และที่สำคัญที่สุดมันไม่มีใครรู้ได้ด้วยว่ารับไปแล้วจะยังไง แม้โอกาสสืบสาวราวเรื่องบางพื้นที่อาจจะมี แต่ว่ามันตามตัวได้ยากกว่ากรณีของ สว.ถ้าจะมีการซื้อ” ผศ.เอกวีร์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กกต. ตั้งเป้าประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ.68 ร้อยละ 65-70

นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.  เปิดเผยถึงแผนเตรียมการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น อบจ. ที่จะครบวาระดำรงตำแหน่งในวันที่ 19 ธ.ค.นี้    โดยยืนยันที่จะจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นในวันเสาร์