ศาลนราฯนัด24มิ.ย. ไต่สวนคดี‘ตากใบ’!

นราธิวาส ๐ หนังยาว! ศาลนราธิวาสนัดไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาเหตุการณ์ตากใบ 24 มิ.ย.นี้  ชาวบ้านเป็นโจทก์ 48 ราย ฟ้องอดีตบิ๊กกองทัพภาค 4 ตร.ภูธรภาค 9 ผู้ว่าฯ โดนถ้วนหน้า ข้องใจสำนวนสั่งไม่ฟ้องกรณีการวิสามัญฆาตกรรม แต่กลายเป็นการกระทำตามสมควรแก่กรณีและเป็นเหตุสุดวิสัย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 24 มิถุนายน 2567 นี้ เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดนราธิวาสนัดไต่สวนมูลฟ้องเพื่อพิจารณาว่าคดีมีมูลฟ้องเป็นคดีอาญาหรือไม่ ในคดีที่ผู้บาดเจ็บและครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมหน้า  สภ.ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ 9 คน ที่ปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างเกิดเหตุการณ์ตากใบ

รายชื่อผู้ที่ถูกฟ้องร้องประกอบไปด้วยอดีตเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมและการขนย้าย คือจำเลยที่ 1 อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น, จำเลยที่ 2 อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4  ในขณะนั้น, จำเลยที่ 3 อดีตผู้บัญชาการ พล.ร.5 ในขณะนั้น, จำเลยที่ 4 อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า,  จำเลยที่ 5 อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9,    จำเลยที่ 6 อดีตผู้กำกับ สภ.อ.ตากใบ ในขณะนั้น, จำเลยที่ 7 อดีตรองผู้กำกับ สภ.อ.ตากใบ ในเวลานั้น, จำเลยที่ 8 รอง ผอ.สสส.จชต. หรือกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้และเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น และจำเลยที่ 9 ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ในขณะเกิดเหตุ

นับจากวันที่ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 25 เม.ย.2567 ทีมทนายได้ขอหมายศาลเพื่อเรียกพยานเอกสารจากหน่วยงานราชการต่างๆ หลายฉบับ และเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ทีมทนายได้ส่งหมายศาลจังหวัดนราธิวาส 5 หมาย ระบุขอเอกสาร คำสั่ง และรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ตากใบหลายฉบับ ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.), สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) และสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) หมายดังกล่าวระบุให้จัดการส่งเอกสารตามหมายไปยังศาลจังหวัดนราธิวาส ก่อนวันที่ 24 มิ.ย. เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป แม้ต่อมาจะได้รับทราบว่าเอกสารราชการที่เก่าเก็บเกือบ 20 ปี อาจส่งมาไม่ถึงศาลในวันไต่สวนก็ตาม ทั้งนี้ เอกสารบางส่วนสามารถค้นหาได้ทางอินเทอร์เน็ต

โดยวันที่ 25 เม.ย. ในวันที่ฟ้องคดีตากใบ มีข้อสงสัยด้วยว่า เหตุใดตำรวจภาค 9 ส่งสำนวนสั่งไม่ฟ้องในสำนวนการสอบสวนกรณีการวิสามัญฆาตกรรม ร่วมกันฆ่าผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบมาตรา 83 กรณีเหตุการณ์ตากใบ โดยมีความเห็นในหนังสือส่งถึงอัยการสูงสุดว่า เป็นการกระทำตามสมควรแก่กรณีและเป็นเหตุสุดวิสัย ทีมทนายความจึงได้ขอหมายศาลเรียกสำนวนทั้งสองสำนวน คือสำนวนชันสูตรพลิกศพ 4 แฟ้ม และสำนวนสอบสวนคดีวิสามัญฆาตกรรม 4 แฟ้ม เพื่อนำเอกสารสำคัญเหล่านี้มาประกอบการพิจารณาไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 24 มิ.ย.นี้

ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. จำเลยที่ 1 และ 9 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้น  จำเลยที่ 3 ยื่นคำแถลงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้คำฟ้องของโจทก์ทั้ง 48 ไม่มีมูล อีกทั้งจำเลยที่ 2 ยื่นคำแถลงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของจำเลยที่ 2 ในชั้นไต่สวน

คดีนี้สืบเนื่องจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 จนเป็นเหตุให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก และเมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา ตัวแทนผู้เสียชีวิตและผู้เสียหายได้ร่วมกันยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดนราธิวาสเป็นคดีอาญา โดยมีจำนวนโจทก์รวม 48 คน

ลำดับที่ 1-34 เป็นผู้ที่เสียชีวิตจากอาวุธปืนทันทีที่หน้าโรงพักตากใบ 2 คน และเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 คน รวม 3 คน และที่เสียชีวิตจากการขนย้ายรวม 31 คน ลำดับที่ 35-48 เป็นผู้ได้รับบาดเจ็บ ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐจำนวน 9 คน ทั้งฝ่ายทหาร ฝ่ายตำรวจ และฝ่ายปกครอง ในข้อหาร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ข้อหา ฆ่าผู้อื่น โดยทรมานหรือโดยทารุณโหดร้าย ตามมาตรา 288 และ 289(5) ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพฯ ตามมาตรา 309 หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ตามมาตรา 310

ทั้งนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์จังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาทนายความ ขอเชิญชวนให้สื่อมวลชนและประชาชนที่สนใจ ร่วมติดตามนัดไต่สวนมูลฟ้องคดีตากใบในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ต่อไปอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีการค้นหาความจริงและนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ ให้ผู้เสียหายและครอบครัวผู้เสียชีวิตได้รับความยุติธรรมและได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสม และเพื่อคุ้มครองครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้เสียหายที่ได้ใช้สิทธิทางกฎหมายโดยสุจริต.

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง