พวกต้มตุ๋นหลอกลวงหนาวแน่! โฆษกศาลชี้คดีซื้อขายออนไลน์ไม่ยุ่งยาก วิธีการฟ้องและการดำเนินคดีทุกขั้นตอนต้องง่ายกว่าปกติ ในระดับที่ประชาชนดำเนินการได้เอง ฟ้องได้ 24 ชม. พร้อมเปิดเเผนกเร็วๆ นี้
เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2564 นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม ชี้แจงกรณีที่นายจีระพัฒน์ พันธุ์ทวี เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ออกประกาศสำนักงานศาลยุติธรรม เรื่องหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้วิธีพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ในคดีซื้อขายออนไลน์ว่า คดีซื้อขายออนไลน์ ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากอย่างยิ่งในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้ แต่ผู้บริโภคประสบปัญหาว่าสั่งซื้อแล้วสินค้าชำรุด ไม่เป็นไปตามที่โฆษณา สั่งซื้อแล้วไม่ได้สินค้า หรือถูกหลอกลวง ซึ่งตามปกติแล้วผู้เสียหายหรือผู้บริโภคสามารถนำคดีมายื่นฟ้องศาลเพื่อให้มีการชดใช้ได้
แต่ในการยื่นฟ้องคดีแพ่งนั้น ตามปกติก็จะต้องยื่นฟ้องต่อศาลในภูมิลำเนาของผู้ขายที่จะเป็นจำเลยหรือที่มูลคดีเกิด ทำให้เกิดปัญหาที่ว่าคดีซื้อขายออนไลน์ส่วนใหญ่จะเป็นเงินจำนวนเล็กน้อย หลักร้อยหลักพันบาท อาจไม่คุ้มที่จะไปยื่นฟ้องศาล
ศาลยุติธรรมโดย น.ส.ปิยกุล บุญเพิ่ม ประธานศาลฎีกา ตระหนักว่านับวันในสังคมมีปัญหาเหล่านี้มากขึ้น เเต่คดีเหล่านี้มาไม่ถึงศาล เนื่องจากความคุ้มที่จะต้องเสียเวลาหรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ทำให้ปัญหาที่มีอยู่ไม่ได้รับการแก้ไข
เพราะมีความยุ่งยากในขั้นตอนการดำเนินคดี ทำให้คดีมาไม่ถึงศาล เเต่หากปล่อยปัญหานี้ไป ก็จะกระทบไปถึงความน่าเชื่อถือของระบบการซื้อขายออนไลน์ในประเทศเรา ผู้บริโภคที่ซื้อของทางออนไลน์มีโอกาสที่จะถูกหลอกโดยที่ไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยา และผู้ขายที่ก่อให้เกิดปัญหาจะยังคงไปสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้บริโภครายอื่นได้อีก เนื่องจากทำไปแล้วไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ต่อความเสียหายที่ตนก่อขึ้น
โฆษกศาลยุติธรรมเผยว่า ประธานศาลฎีกามีแนวคิดในการบริหารงานศาลยุติธรรม ภายใต้สโลแกน ความยุติธรรมที่เข้าถึงง่าย จึงตั้งโจทย์ว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้ประชาชนที่ได้รับความเสียหายเข้าถึงการฟ้องคดีแพ่งได้ง่าย วิธีการฟ้องและการดำเนินคดีทุกขั้นตอนต้องง่ายกว่าปกติ ในระดับที่ประชาชนดำเนินการได้เอง
นายสรวิศกล่าวว่า ปัญหาเรื่องศาลที่จะนำคดีไปฟ้อง ซึ่งปกติต้องฟ้อง จึงกำหนดให้ผู้เสียหายยื่นฟ้องได้ที่ศาลเเพ่ง เพราะตามกฎหมาย ศาลเเพ่งมีอำนาจที่จะรับพิจารณาคดีแพ่งได้ทั่วราชอาณาจักร 2.วิธีการฟ้องต้องง่าย โดย น.ส.ปิยกุล ประธานศาลฎีกาเคยกล่าวไว้เมื่อตอนเปิดงานอบรมเกี่ยวกับการดำเนินคดีซื้อขายออนไลน์ว่า เราต้องทำวิธีการฟ้องคดีให้ง่ายเหมือนตอนที่ผู้เสียหายซื้อของทางออนไลน์ จึงจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้คนนำเรื่องมาฟ้องศาล เพื่อนำปัญหาที่อยู่ใต้พรมขึ้นมาแก้ไขตามระบบ
หลักการเรื่องความง่ายหรือสะดวกในการฟ้องคดี ปรากฏอยู่ในประกาศสำนักงานศาลยุติธรรม เรื่องหลักเกณฑ์การดำเนินคดีซื้อขายออนไลน์ในศาลแพ่ง จะเห็นว่าในข้อ 5 คดีซื้อขายออนไลน์ จะสามารถยื่นฟ้องคดีได้ 24 ชั่วโมง เรียกว่ายื่นฟ้องได้ทุกวันตลอดเวลา (24/7) โดยจะต้องยื่นฟ้องออนไลน์เท่านั้น ผู้เสียหายไม่ต้องนำกระดาษมายื่นฟ้องศาลเหมือนคดีปกติได้
เพราะผู้เสียหายสามารถซื้อของออนไลน์จากทางโทรศัพท์สมาร์ทโฟนได้ ก็ย่อมสามารถยื่นฟ้องทางออนไลน์ได้เหมือนกัน เเต่การฟ้องคดีทางออนไลน์หากฟ้องหลัง 16.30 น. หรือในวันเสาร์-อาทิตย์ วันฟ้องจะถูกถือว่าผู้เสียหายฟ้องวันเเรกที่เปิดทำงานใหม่ ซึ่งก็คือวันทำการถัดไป ตรงนี้ยังเป็นข้อจำกัดทางกฎหมายอยู่บ้าง แต่ก็ช่วยในการอำนวยความสะดวก เรื่องการที่ไม่ต้องเดินทางมาศาลให้ทันเวลาทำการ และสามารถทำได้ที่ไหนก็ได้
โฆษกศาลยุติธรรมระบุว่า การกรอกข้อมูลในระบบที่ใช้ฟ้องคดีซื้อขายออนไลน์กำหนดให้ไม่มีความซับซ้อน จะมีช่องกรอกข้อมูลพร้อมเเนบหลักฐานที่จะเป็นไฟล์ทำได้ไม่ยาก ซึ่งคดีประเภทดังกล่าวจะมีประเด็นไม่ยุ่งยากอยู่แล้ว ส่วนมากจะเป็นเรื่องเมื่อสั่งซื้อสินค้าเเล้วจะมีปัญหาอะไร คนซื้อจะสามารถเข้าระบบยื่นฟ้องทางออนไลน์เองได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ส่วนอีกเรื่องที่สำคัญคือ เรื่องติดตามความคืบหน้าคดี 12 ชั่วโมง มาตรการนี้เป็นเรื่องใหม่ที่ศาลยุติธรรมตั้งใจจะนำมาบริการประชาชนเพื่อนำร่อง เนื่องจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมได้เสนอร่าง พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม
โดยมีหลักการว่า หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมซึ่งรวมถึงศาลด้วย ต้องมีระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้คนที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบความคืบหน้าได้ว่า ขั้นตอนดำเนินการถึงไหน ศาลยุติธรรมจึงดำเนินการทำล่วงหน้าเพื่อไว้รอรับกฎหมายนี้ โดยเติมเวลาให้ชัดเจนขึ้นว่าสามารถที่จะตามความคืบหน้าได้ใน 12 ชั่วโมง นับแต่ยื่นเรื่องเข้ามา
“หลังจากยื่นฟ้องเข้ามาแล้ว ผู้ยื่นสามารถติดตามเรื่องทางระบบได้ภายใน 12 ชั่วโมง ว่าคำฟ้องอยู่ในขั้นตอนไหนแล้ว ถ้าศาลมีคำสั่งเเล้วก็จะนำมาลงในระบบให้ทราบได้ โดยไม่ต้องมาดูคำสั่งที่ศาล โดยการยื่นฟ้องจะสามารถยื่นฟ้องได้จากทางเว็บไซต์ของศาลเเพ่ง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมพร้อมเพื่อเปิดเเผนก"
นายสรวิศเผยว่า กระบวนการในการเปิดแผนกซื้อขายออนไลน์ในศาลแพ่งมี 2 ขั้นตอนคือ 1.ต้องออกประกาศ กบศ. ซึ่งออกและประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเรียบร้อยเเล้วตั้งแต่เดือน ธ.ค.2564 และ 2.วันเปิดทำการว่าจะเปิดเมื่อไหร่นั้น ให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลเเพ่งเป็นผู้ออกประกาศกำหนดวันเวลา ซึ่งรับทราบมาว่าอธิบดีผู้พิพากษาศาลเเพ่งกำลังเตรียมความพร้อมที่จะเปิดเเผนกคดีดังกล่าวอยู่ในเร็วๆ นี้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฉายาสภาเหลี่ยม(จน)ชิน
ถึงคิวสื่อสภา ตั้งฉายา สส. "เหลี่ยม (จน) ชิน" จากการพลิกขั้วรัฐบาลเขี่ย
ตอกฝาโลงกิตติรัตน์ ‘กฤษฎีกา’ชี้ขาดคุณสมบัติ เหตุมีส่วนกำหนดนโยบาย
"กฤษฎีกา" ชี้ชัดสมัย "นายกฯ เศรษฐา" ตั้ง "กิตติรัตน์" เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกฯ
‘เท้งเต้ง’ไม่ทน! ชงแก้ข้อบังคับ รมต.ตอบกระทู้
ทนไม่ไหว! “หัวหน้าเท้ง” หารือประธานสภาฯ ขอให้แก้ข้อบังคับการประชุม
แม้วพบอันวาร์กลางทะเล เตือนเสือกทุกเรื่องทำพัง!
ปชน.จี้ถามรัฐบาล “ทักษิณ” มีอำนาจจริงปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือไม่
ให้กำลังใจจนท.ดูแลปีใหม่ เข้มงวด‘ความปลอดภัย’
นายกฯ ให้กำลังใจตำรวจ-กรมทางหลวง ทำงานหนักช่วงปีใหม่
กฤษฎีกาเอกฉันท์โต้งหมดสิทธิ์
กฤษฎีกามติเอกฉันท์ "กิตติรัตน์" ขาดคุณสมบัติ หมดสิทธิ์นั่ง "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ"