ยืดฟัน‘นายกฯ-ก้าวไกล’ พิธาลุ้นพยานขึ้นไต่สวน

ศาล รธน.ยืดอีก 15 วัน ให้นายกฯ ส่งพยานหลักฐานเพิ่มคดี 40 สว.ร้องถอดถอนเหตุตั้ง "พิชิต" ทั้งที่รู้ขาดคุณสมบัติ นัดใหม่ 10  ก.ค. "วิษณุ" ส่งเลขาฯ ครม.พยานปากสำคัญ "ณัฐฏ์จารี" พร้อมแจงประเด็นจริยธรรม-ซื่อสัตย์สุจริต "ก้าวไกล" หายใจอีกเฮือก ศาลนัดถกคดียุบพรรค 3 ก.ค. สั่งรวมพยานหลักฐานคดีล้มล้างการปกครองไว้ในสำนวน นัดตรวจพยานหลักฐาน 9 ก.ค. "พิธา-ชัยธวัช" ลุ้นพยานปากสำคัญขึ้นไต่สวน มั่นใจซักค้านได้ทุกประเด็น

ที่ศาลรัฐธรรมนูญ วันที่ 18 มิ.ย. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีการพิจารณาคำร้องกรณีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 40 คน ในฐานะผู้ร้อง และนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1 กรณีได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯ นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 2) ทั้งที่รู้ หรือควรรู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากนายพิชิตเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4)  และ (5) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องทั้ง 2 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ ผู้ร้องจึงส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องเฉพาะส่วนของนายพิชิต แต่ในส่วนของนายเศรษฐา มีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา ซึ่งนายเศรษฐาได้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลแล้ว

ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา ให้หน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องทำความเห็นและจัดส่งสำเนาเอกสารหลักฐานประเด็นที่ศาลกำหนดยื่นภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ โดยกำหนดนัดพิจารณาต่อไปในวันที่ 10 ก.ค.2567

นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการส่งพยานเพิ่มเติมคดีนายกฯ ว่า พยานที่ส่งไปเพิ่มเติมมีเพียง 1 คนคือ นางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี  เพราะเป็นบุคคลที่รู้กระบวนการทั้งหมด

ถามว่า เท่าที่ตรวจดูคำชี้แจงของนายกฯ มีความเป็นไปได้ที่นายกฯ จะรอดใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มีความเห็น หากจะให้บอกว่าไม่รอดแน่ๆ ก็จะประหลาด หรือจะให้บอกว่ารอดแน่ๆ ก็พูดไม่ได้ เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ในกระบวนการของศาล เพื่อให้ศาลสบายใจ ส่วนรายละเอียดคำชี้แจง เดี๋ยวคงมีการเปิดเผยกันออกมาเอง ไม่ใช่เรื่องลึกลับอะไร เพียงแต่ในชั้นนี้ศาลยังไม่ได้พิจารณา เราจะมาพูดแถลงนอกศาลไม่ได้

ซักว่า 2 เรื่องที่รัฐบาลไม่ได้ถามคณะกรรมการกฤษฎีกา คือเรื่องมาตรฐานจริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริต ได้มีการชี้แจงต่อศาลไปหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ส่งคำอธิบายไป แต่ไม่ได้ถึงขนาดอธิบายเป็นคำนิยาม เพราะเป็นคำที่เข้าใจกันอยู่ทั่วไป เพียงแต่ว่าคำว่า ซื่อสัตย์สุจริต หรือมาตรฐานจริยธรรม มีความหมายของมันตามรัฐธรรมนูญและมีกระบวนการ คำว่ามาตรฐานจริยธรรมไม่ใช่เป็นที่เราแต่งขึ้นเอง แต่เป็นคำเฉพาะที่เหมือนชื่อคน เป็นชื่อกฎหมาย ถ้าจะมากล่าวหาว่าใครผิดมาตรฐานจริยธรรม ก็จะต้องร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งมีเส้นทางในการดำเนินการ

"เชื่อว่าเรื่องจริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริตน่าจะเป็นประเด็นสำคัญที่ศาลจะพิจารณา  เพราะอย่างอื่นสามารถพิสูจน์เป็นรูปธรรมได้ เช่น เคยติดคุกหรือไม่ เคยต้องคำพิพากษาหรือไม่ แต่เรื่องมาตรฐานจริยธรรมไม่มีใครสามารถตรวจสอบได้ หากไม่มีกระบวนการโดยเฉพาะต่างหาก เรื่องซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ อยู่ๆ จะไปบอกว่าใครไม่ซื่อสัตย์สุจริตตามรัฐธรรมนูญ ถือเป็นเรื่องอันตราย เพราะจะทำให้ขาดคุณสมบัติตลอดชีวิต" นายวิษณุกล่าว

เมื่อถามว่า ในอดีตเคยมีคดีลักษณะเดียวกันหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ได้เหมือนกันทั้งหมด โดยเป็นกรณีที่เขาดำรงตำแหน่งอยู่ และมาร้องเรียนเพื่อเอาออกจากตำแหน่ง แต่กรณีของนายพิชิต ปัจจุบันได้ออกจากตำแหน่งไปแล้ว ก็จบ เป็นเรื่องที่ตั้งไปแล้ว เป็นรัฐมนตรีแล้ว หลายคนเป็นพฤติกรรมที่ทำไปแล้วเป็นชิ้นเป็นอันในขณะนั้น

 ถามอีกว่า หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ครั้งนี้จะถือเป็นบรรทัดฐานเลยใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เป็นบรรทัดฐาน เมื่อถามว่าเป็นเพราะนายกฯ ไม่รู้พฤติกรรมในอดีตใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ขอไม่อธิบายตรงนี้ ขอไปอธิบายกันในศาล ส่วนผลจะออกมาเร็วหรือช้านั้น ไม่ทราบ แต่ไม่ใช่ภายใน 3-7 วันนี้ อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ไม่ต้องชี้แจงแล้ว เพราะได้ส่งพยานไปแล้ว 1 คน

ส่วนนางณัฐฏ์จารี กล่าวถึงความพร้อมในการชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า คงพูดอะไรได้ไม่มาก ซึ่งทุกอย่างเราทำตามขั้นตอน และตอนนี้ก็ยังไม่ทราบกำหนดนัดหมายของศาลในการนัดสอบพยาน

ถามว่า จะชี้แจงกรณีที่ 40 สว.ระบุว่าไม่ได้มีการชี้แจงมาตรา 160 (4) (5) รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องมาตรฐานจริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์อย่างไร นางณัฐฏ์จารีกล่าวว่า มีในการชี้แจง

ขณะที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานที่ปรึกษาพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกระแสข่าวพรรคจะถูกเช็กบิลออกจากพรรคร่วมรัฐบาลว่า ไม่เคยได้ยินกระแสข่าวนี้ และจากการที่ได้คุยกับนายกฯ  ช่วงที่ผ่านมา ก็ไม่ได้ส่งสัญญาณว่าจะเอาพรรค พปชร.ออกจากพรรคร่วมรัฐบาล หรือจะมีการปรับ ครม.ในเร็ววันนี้

ถามว่า มีข่าวคนในพรรค พปชร.ไปดีล สส.พรรคก้าวไกลมาร่วม พล.ต.อ.พัชรวาทกล่าวว่า ก็ไม่เห็น มีเพียงแต่ข่าวที่ไปเขียนกัน

ด้าน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ  ยืนยันถึงข่าวจะถูกเช็กบิลออกจากพรรคร่วมรัฐบาลว่า ไม่ทราบ

ถามว่า เพราะเหตุใดถึงมีกระแสข่าวว่าพรรคพลังประชารัฐถึงจะโดนปรับออกจากพรรคร่วมรัฐบาล เป็นเพราะกรณี 40 สว.ร้องให้ถอดถอนนายกฯ หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า ไม่มี ส่วนกระแสข่าวออกมาได้อย่างไรนั้น ตนไม่ทราบ

วันเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการอภิปรายในคำร้องที่ กกต. โดยนายทะเบียนพรรคการเมือง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรค และห้ามมิให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรคและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 92 วรรคสอง และมาตรา 94 วรรคสอง เนื่องจากมีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567

โดยในวันที่ 12 มิ.ย.67 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ กกต.ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานภายในวันจันทร์ที่ 17 มิ.ย.67 และ กกต.ได้ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ลงวันที่ 14 มิ.ย.67 และได้ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานเพิ่มเติมครั้งที่ 2 ลงวันที่ 17 มิ.ย.67

ศาลเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา จึงกำหนดให้บุคคลเสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป และมีคำสั่งให้นำพยานเอกสารในสำนวนการไต่สวนคดีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 มารวมไว้ในสำนวนคดีนี้ เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมกำหนดนัดพิจารณาต่อไปในวันพุธที่ 3 ก.ค.67 และให้คู่กรณีเข้าตรวจพยานหลักฐานในวันอังคารที่ 9 ก.ค.67

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ได้เห็นแค่คร่าวๆ ว่าจะมีการนัดพิจารณาต่อในวันที่ 3 ก.ค. และสอบพยานหลักฐานของแต่ละฝ่ายต่อในวันที่ 9 ก.ค. ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าเมื่อมีการตรวจสอบพยานหลักฐานของแต่ละฝ่ายแล้ว จะหมายความว่าให้มีการสืบพยานหรือไม่ เพราะเข้าใจว่าทางผู้ร้องก็มีจำนวนพยานพอสมควร ทางฝั่งก้าวไกลก็มีพยานที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับกฎหมายเยอะพอสมควร

"ถ้ามีโอกาสได้ไต่สวนหรือสืบพยาน เราก็คงจะมีโอกาสได้อธิบายเหตุและผล และความไม่เชื่อมโยงกันกับคดี 3/2567 ทั้งนี้ ผมคาดว่าคงจะไม่ได้ใช้มาตรฐานเดียวกันในการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะเป็นคนละมาตราคนละกฎหมายกัน ย้ำว่ามั่นใจ ทั้ง 9 ข้อต่อสู้ของพรรคว่าจะสามารถซักค้านได้ในทุกประเด็นที่ถูกกล่าวหา" นายพิธากล่าว

ส่วนนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า เรายังไม่รู้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเลือกพยานคนใดบ้าง หรือจะให้ส่งความเห็นเป็นหนังสืออย่างเดียว ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล ว่าพยานทั้งหมดที่เราเสนอไปจำนวนกว่า 10 คนนั้น ศาลจะเลือกขอความเห็นกี่คน เพราะศาลก็ไม่ได้บอกว่าจะต้องเลือกทั้งหมด

"เราก็หวังว่าพยานปากสำคัญในประเด็นสำคัญจริงๆ จะมีโอกาสได้ไปให้การในการไต่สวนต่อสาธารณะ ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายที่จะได้พิจารณาข้อต่อสู้ และเหตุผลต่างๆ เกี่ยวกับคดีนี้" นายชัยธวัชกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง