การเมืองกดหุ้นขาลง!

"จุลพันธ์" รับทักท้วงปมเงินดิจิทัลวอลเล็ตซื้อ "สมาร์ทโฟน" คาด 1-2  สัปดาห์คณะกรรมการฯ พิจารณาได้ข้อสรุป  "คลัง" ชี้หุ้นไทยเด้งรับหลังข่าว "ทักษิณ"  ชัดเจน เชื่อหลังจากประเด็นการเมืองทยอยคลี่คลายความเชื่อมั่นตลาดทุนจะกลับมาเป็นปกติ หุ้นไทยปิดที่ 1,297.41 จุด เพิ่มขึ้น 0.82 จุด "นักวิเคราะห์" ชี้ภาพการเมืองยังไม่แน่นอนกดดันตลาดต่อไป แนวโน้มยังเป็นขาลง

 ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 18 มิถุนายน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง ให้สัมภาษณ์กรณีที่นายกรัฐมนตรีสั่งให้ทบทวนเงินดิจิทัลวอลเล็ตซื้อสมาร์ทโฟนและเครื่องใช้ไฟฟ้าว่า ตนและนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง เคยทักท้วงประเด็นนี้ไป เพราะอยากจะให้เป็นสินค้าที่ผลิตภายในประเทศเป็นหลัก แต่มีข้อจำกัดในการปฏิบัติจริงบางส่วน ทั้งเรื่องร้านค้าบางร้านขาย และของอีกหลายประเภท ซึ่งข้อกังวลนี้เป็นข้อกังวลจากผู้ปฏิบัติจริง กระทรวงพาณิชย์เลยเสนอมาที่คณะอนุกรรมการกำกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท สุดท้ายมีมติยืนตามเดิม

"นายกฯ ค่อนข้างห่วงเรื่องนี้ เพราะกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เป็นกลไกที่ต้องการให้มีการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงการผลิตและการจ้างงานในประเทศเป็นหลัก จึงให้ทบทวน ซึ่งกลไกในการทบทวนไม่เพียงแค่ตนเท่านั้น แต่ต้องเข้าพิจารณาในคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โดยได้ส่งเรื่องนี้ให้คณะกรรมการฯ ทบทวนแล้ว และให้ส่งเรื่องกลับมาอีกครั้ง ส่วนข้อสรุปคาดว่าอีก 1-2 สัปดาห์ และจะมีการนัดประชุมปลายสัปดาห์หน้า"

เมื่อถามถึงแหล่งเงินที่จะใช้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะสอบถามกฤษฎีกาเมื่อใด นายจุลพันธ์กล่าวว่า เมื่อถึงเวลา มั่นใจว่าทัน และดูกรอบเวลาอยู่ เพราะยังไม่มีข้อกังวล จึงยังไม่ได้สอบถาม ซึ่งยังไม่ได้คิดแผนรองรับหากไม่ได้เงินจาก ธ.ก.ส. เนื่องจากตอนนี้ใช้ 2 แหล่งคือ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 และงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 แต่ต้องดูความเหมาะสม องค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งการลงทะเบียนนำมาประกอบกันด้วย ทั้งนี้ การจะใช้เงิน ธ.ก.ส. ต้องจ่ายผ่านช่องทางบัญชีของเกษตรกร ซึ่งคนเป็นเกษตรจะได้รับ ก็ต้องมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ

เมื่อถามถึงกรณีหุ้นตกต่ำสุดในรอบ 14 ปี จะสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนอย่างไร รมช.การคลังกล่าวว่า ต้องเข้าใจว่ามาจากปัจจัยการเมืองด้วย ซึ่งกระทบต่อตลาดหุ้น เพราะสถานการณ์ทางการเมืองเดือน มิ.ย. มี 3-4 คดีใหญ่ แต่ไม่ส่งผลต่อปัจจัยพื้นฐาน เพราะฉะนั้นสภาพตลาดยังคงความแข็งแกร่ง รวมถึงกลไกของรัฐบาล ได้ผลักดันการลงทุนต่างประเทศ การพัฒนาคุณภาพแรงงาน เชื่อว่าทั้งหมดจะสร้างความเชื่อมั่นต่อตลาดพื้นฐานได้

"อีกไม่กี่วันเรื่องที่เกิดความลังเลและสงสัยของตลาด สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญหรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะมีความกระจ่างชัด เชื่อว่าตลาดจะกลับมาสู่ภาวะปกติ ย้ำว่าเป็นเพียงแค่ช่วงสั้นๆ เท่านั้น แต่รัฐบาลต้องมีมาตรการออกมาช่วยภายหลัง"

นายจุลพันธ์กล่าวอีกว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยเริ่มกลับมายืนในแดนบวกแล้ว เชื่อว่าเป็นผลมาจากความชัดเจนมากจากข่าวอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่ออกมา ตลาดก็ตอบสนองดีขึ้น หลังจากนี้หากประเด็นการเมืองมีการเคลียร์ไปทีละเรื่อง เชื่อว่าความมั่นใจของตลาดก็จะกลับมาเป็นปกติ จึงไม่ได้เป็นห่วงภาพรวมตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นมากนัก

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังในฐานะที่เป็นภาครัฐ ได้เร่งพิจารณามาตรการและกลไกเพื่อเรียกความเชื่อมั่นในระยะยาว เพื่อจะเข้ามาเติมการหมุนเวียนในตลาดทุน ได้แก่ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศ (Thai ESG) ซึ่งทั้งหมดอยู่ระหว่างการพิจารณาในรายละเอียด โดยคงเลือกดำเนินการเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น ไม่ทำทั้ง 2 มาตรการ เพราะพื้นฐานโครงสร้างของกองทุนคือแบบเดียวกัน ซึ่งยืนยันว่าคลังจะเร่งพิจารณาเพื่อให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุด

 “มาตรการเรียกความเชื่อมั่นมี ตอนนี้คลังกำลังคิดอยู่ และคงไม่ได้ออกมาภายใน 1-2 วันนี้ ที่พิจารณาอยู่มี 2 เรื่อง คือ LTF และ Thai ESG ก็ต้องมาดูให้มีความเหมาะสม มีผลกระทบกับการจัดเก็บรายได้ที่คุ้มค่าที่จะลงไปในตลาดทุน และถ้าทำก็คงทำแค่อันใดอันหนึ่ง ไม่ทำทั้ง 2 อัน เพราะโครงสร้างมันคือแบบเดียวกัน อย่าง Thai ESG ก็ตรงกับนโยบายรัฐบาลที่สนับสนุนเรื่อง ESG แต่ว่าหากจะทำรอบนี้ก็ต้องพิจารณาวางกรอบ วางกลไกให้กว้างขึ้น เหมาะสมมากขึ้น เช่น ระยะเวลาถือครอง จะสั้นกว่า 10 ปี เพราะการถือครองที่ยาวเกินไปก็ไม่ได้จูงใจนักลงทุน โดยทั้งหมดอยู่ภายใต้การพิจารณาของนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และ รมว.การคลัง ซึ่งเชื่อว่าจะมีความชัดเจนเร็วที่สุด” นายจุลพันธ์กล่าว

นายจุลพันธ์กล่าวอีกว่า ในส่วนของการแต่งตั้งผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) คนใหม่นั้น ยืนยันว่าตนไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว เพียงแต่เห็นตามข่าวบ้าง และอยากให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องที่กระทรวงจะเข้าไปกำหนดตัวบุคคลไม่ได้ เพราะมีกลไกในการสรรหาที่เป็นไปตามกรอบวิธี ไม่ใช่ว่ากระทรวงการคลังอยากให้นาย ก. หรือ นาย ข. มาเป็น มันไม่ได้อยู่แล้ว ทุกอย่างเป็นไปตามกลไก และกระทรวงการคลังก็รับทราบตามนั้น

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง กล่าวว่า จะมีการหารือร่วมกับ ธปท.เรื่องกรอบเงินเฟ้อของประเทศไทยอยู่แล้ว โดยจะต้องมาพิจารณากันอีกครั้งว่ากรอบเงินเฟ้อที่เหมาะสมควรจะเป็นเท่าไหร่

ส่วนมาตรการกระตุ้นตลาดทุนไทย นายพิชัยยืนยันว่า หลังจากนี้จะมีออกมาอีกหลายๆ มาตรการ เช่น มาตรการกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่จะมีการปรับปรุงเงื่อนไขใหม่เพื่อให้มีความเหมาะสมและดึงดูดนักลงทุนได้มากขึ้น ส่วนระยะเวลาการถือครองก็ต้องมาพิจารณาด้วยว่าอยากให้เป็นการออมเงินหรือไม่ หากต้องการให้เป็นการออมเงิน การถือครองก็ต้องยาว แต่ก็คงจะไม่ยาวมาก ทั้งหมดอยู่ระหว่างการพิจารณา ขอเวลาอีกนิด

ขณะที่ ตลาดหุ้นไทย เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ปิดที่ 1,297.41 จุด เพิ่มขึ้น 0.82 จุด (+0.06%) มูลค่าซื้อขาย 38,066.87 ล้านบาท ด้านนายศราวุธ เตโชชวลิต ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.อาร์เอชบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยช่วงเช้ารีบาวด์ขึ้นมาสอดคล้องกับตลาดภูมิภาค จากปัจจัยเทคนิคเข้าเขตขายมากเกินไป (Oversold) ขณะที่คดีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ศาลประทับรับฟ้องแต่ให้ประกันตัวไม่มีผลต่อตลาดหุ้นเท่าไร ขณะที่เปิดภาคบ่ายตลาดตอบรับข่าวที่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล และคดีคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน โดยนัดพิจารณาต่อไปในเดือน ก.ค. ส่งผลให้สถานการณ์การเมืองยังมีความไม่แน่นอน จึงมีแรงขายทำกำไรออกมามาก ส่งผลให้ดัชนีช่วงบ่ายพลิกมาไหลลงจนปิดตลาดเหลือบวกได้เล็กน้อย แต่หลุดระดับ 1,300 จุดอีกครั้ง

นอกจากนี้ ประเด็นการรื้อฟื้นมาตรการกองทุนรวมหุ้นระยะยาว  (LTF) ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาปรับเงื่อนไข และมองว่ายังไม่มีความชัดเจน รวมทั้งมาตรการกำกับควบคุม Short Sell ที่ออกมาช่วงบ่ายตลาดรับรู้กรอบเวลาการประกาศใช้มาก่อนแล้ว

  "แนวโน้มพรุ่งนี้คาดดัชนีแกว่งตัว แต่ภาพทางเทคนิคยังเป็นขาลง หลังจากวันนี้ไม่สามารถทะลุผ่าน 1,310 จุดไปได้อย่างแข็งแกร่ง สถานการณ์ตลาดโดยรวมยังไม่ค่อยดี  ไร้ปัจจัยหนุน ประเด็นการเมืองยังยืดเยื้อ อีกทั้งในวันที่ 19-21 มิ.ย.นี้ จะมีการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภา ให้กรอบแนวรับ 1,280 จุด และแนวต้าน 1,310 จุด" นายศราวุธกล่าว. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง