เสี่ยนิดติดโควิดจ่อโผล่แถลงงบฯ

"เศรษฐา" ป่วยติดโควิดลายาว 2 วัน โผล่อีกทีเข้าสภาฯ เปิดแถลงงบ “ก้าวไกล” จัดทัพล็อกเป้าถล่มดิจิทัลวอลเล็ต ขณะที่ "เพื่อไทย" พร้อมรับมือทุกดอกเพื่อทำความเข้าใจ ปชช. ยก "ภูมิธรรม" รับหน้าชี้แจงแทนนายกฯ “นิกร" เข้าแจง "วิปฝ่ายค้าน" ก่อนร่าง พ.ร.บ.ประชามติ มั่นใจผ่านฉลุย ฟุ้งฉบับสมานฉันท์ ห่วงลากยาวเหตุยังไม่มี สว.รับรอง

เมื่อวันจันทร์ มีรายงานความเคลื่อนไหวของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ภายหลังมีอาการป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 เบื้องต้นได้ลาป่วย 2 วัน คือวันที่ 17-18 มิ.ย.นี้ โดยในช่วงเช้าวันเดียวกัน นายกฯ ยังพักรักษาอาการป่วยอยู่ที่บ้านพักซอยสุขุมวิท 16 และกินยาตามที่แพทย์สั่ง

ขณะที่ภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาล ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันอังคารที่ 18 มิ.ย.นี้ ยังคงมีตามปกติ โดยมอบหมายให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เป็นประธานการประชุม

ขณะที่งานเลี้ยงรับรองเพื่อแสดงความยินดีกับจุดเริ่มต้นของกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่บริเวณสนามหญ้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 18 มิ.ย. เวลา  17.00 น. นายเศรษฐามอบหมายให้ น.ส.จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจําสํานักนายกฯ ไปร่วมงานแทน

ทั้งนี้ ในส่วนการเปิดประชุมสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในวันที่ 19 มิ.ย.  นายกฯ ได้เตรียมความพร้อมที่จะไปกล่าวเปิดด้วยตนเอง  ซึ่งคาดว่าจะหายจากโควิด-19 ทัน เนื่องจากไม่มีอาการรุนแรง และแพทย์ได้ตรวจอาการอย่างละเอียด

ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย เปิดเผยว่า ได้ส่งข้อความทาง WhatsApp ไปหานายเศรษฐา โดยขอให้หายป่วยเร็วๆ ซึ่งนายกฯ ตอบกลับมาว่าเจอกันวันพุธที่ 19 มิ.ย.  ตนก็คาดว่าคงเจอกันในสภา ซึ่งมีการประชุมร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2568

ที่รัฐสภา นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า การประชุมวิปรัฐบาลวันนี้เพื่อกำหนดวันเวลาในการอภิปรายแต่ละพรรคการเมือง และประสานงานระหว่างวิปรัฐบาลกับรัฐมนตรีให้มีความพร้อมเพรียงมากที่สุด ตลอดจนการเตรียมผู้อภิปรายของพรรคเพื่อไทยก็พร้อมแล้ว และมีการเตรียมข้อมูลอย่างดี ย้ำว่าพร้อมมากที่สุดในการประชุมครั้งนี้ พร้อมที่จะชี้แจงทุกเรื่องที่เป็นข้อกังขา จึงอยากให้ประชาชนติดตามการถ่ายทอดการประชุมพิจารณางบประมาณ เพราะเป็นเรื่องสำคัญของคนไทยทั้งประเทศ

เมื่อถามว่า การชี้แจงของรัฐบาลพร้อมหรือไม่ เพราะนายกฯ ติดโควิด-19 นายวิสุทธิ์กล่าวว่า มีนายภูมิธรรม ชี้แจงแทนไม่น่าจะมีปัญหา เพราะนายกรัฐมนตรีออกพื้นที่เยอะ ไม่ได้พักผ่อน ติดโควิดก็ไม่เป็นไร

เมื่อถามว่า งบที่ฝ่ายค้านจะดูเป็นพิเศษคือเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต รัฐบาลมีการเตรียมแผนอย่างไรบ้าง นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า ครั้งนี้ก็มีการเตรียม แม้แต่ในพรรคเพื่อไทยก็มีการเตรียมพร้อม โดยให้รัฐมนตรีและทีมงานชี้แจง จึงมั่นใจว่าจะชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบ เพราะเราทราบว่า ขณะนี้ปัญหาคนไม่ค่อยมีเงิน ในพื้นที่บ่นว่าเศรษฐกิจก็ลำบาก ถ้าดิจิทัลวอลเล็ตออกไปก็จะช่วยกระตุ้นได้ ซึ่งประชาชนยังรอความหวังนี้จากรัฐบาล

นายดนุพร ปุณณกันต์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยวางตัวผู้ที่จะอภิปรายไว้ 22 คน หวังว่าฝ่ายค้านจะได้แนะนำและท้วงติงในบางประเด็นที่ไม่ตอบโจทย์ แต่การท้วงติงการทำงบเป็นเรื่องปกติที่ทำได้ และเชื่อว่ารัฐมนตรีของรัฐบาลทุกพรรค ไม่ใช่แค่พรรคเพื่อไทย พร้อมที่จะชี้แจงข้อเท็จจริจ และทำความเข้าใจกับประชาชนรวมถึงฝ่ายค้าน

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.ประชามติของคณะรัฐมนตรีว่า แน่นอนจุดใหญ่สุดคือโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่ครองงบประมาณในสัดส่วนค่อนข้างสูง พรรคก้าวไกลก็ได้มีสโลแกนในการอภิปรายที่ว่า "Ignore Thailand เจ๊งไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้" คือเป็นการทำทุกวิถีทางเพื่อให้โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเกิด ซึ่งเป็นการเบ่งงบให้เต็มที่ จะเห็นว่าวงเงินงบประมาณปีนี้สูงกว่าปกติ เพราะต้องการเบ่งให้ใกล้กับกรอบของการคลังเท่าที่ทำได้ให้มากที่สุด เพื่อทำให้โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเกิดให้ได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม และเมื่อเบ่งให้ตัวเองโตก็จะไปเบียดงบอื่นๆ ด้วย และจะยังคงเห็นการตั้งงบประมาณบางอย่างที่ซ้ำซ้อนและไม่เป็นประโยชน์ ซึ่งสามารถนำไปเป็นประโยชน์ในส่วนอื่นได้

ที่รัฐสภา นายนิกร จำนง โฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กล่าวถึงความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติว่า วันนี้มีการเข้ามาชี้แจงกับวิปฝ่ายค้าน โดยร่างที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ในวันพรุ่งนี้นั้น เป็นร่างของ ครม. จากการที่คณะกรรมการศึกษาการทำประชามติเสนอไป สรุปว่าอุปสรรคที่น่าจะมีเป็นอย่างมากใน พ.ร.บ.ประชามติคือเสียงเกินกึ่งหนึ่งสองชั้น

นายนิกรกล่าวว่า เราจึงเสนอ ครม.ไปว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้สมควรที่จะต้องมีการแก้ไขก่อน และ ครม.ก็เห็นชอบทั้งคำถามและจำนวนครั้ง จึงมอบให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ไปดำเนินการทำร่าง โดยเอาร่างที่เสนอ ครม.และพิจารณาร่างที่มีอยู่ในสภาแล้วมาประกอบ

 “ทางคณะกรรมการจึงได้เชิญพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลที่เป็นผู้เสนอร่างเข้ามาหารือ โดยได้ข้อสรุปว่าจะนำทั้ง 3 ร่างมาพิจารณา และดึงข้อดีของแต่ละร่างมารวมกัน เท่ากับร่างของ ครม.คือร่างที่ผสมผสานกัน จะเรียกว่าร่างสมานฉันท์ก็ได้ จากนั้นนำไปฟังเสียงประชาชนจำนวน 15 วัน ซึ่งประชาชนเห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่ จึงส่งให้ ครม.เห็นชอบ แล้วจึงมีมติให้ส่งเรื่องมาที่วิปรัฐบาล เรียบร้อยแล้วซึ่งผมก็ได้เข้าชี้แจงเรียบร้อยแล้ว วันนี้จะเป็นการชี้แจงกับวิปฝ่ายค้าน” นายนิกรระบุ

นายนิกรเชื่อว่า ร่างดังกล่าวมาจากทุกฝ่าย ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ส่วนภายหลังที่มีร่างของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทยเพิ่มเข้ามานั้น ก็เป็นหลักการที่คล้ายกัน คาดว่าจะได้รับการพิจารณาทั้ง 4 ร่าง เพราะมีทิศทางไปในทางเดียวกัน โดยในวันพรุ่งนี้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ จะเข้ามาชี้แจงต่อสภา

นายนิกรกล่าวอีกว่า ติดปัญหานิดนึงคือ ร่างนี้เดิมเป็นกฎหมายปฏิรูป ซึ่งกฎหมายจะต้องเข้าไปที่สมาชิกวุฒิสภา (สว.) แต่ในขณะนี้ยังไม่มี สว. ก็จำเป็นต้องรอ สว. ปัญหาตรงนี้ยังมองไม่เห็น ส่วนเรื่องของคำถามในการทำประชามตินั้น ตามหลักการที่ ครม.มีมติมาคือ ให้ไปแก้กฎหมายการทำประชามติให้เสร็จ จากนั้นให้ สปน.เชิญคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และสำนักงบประมาณ เข้ามาเพื่อหารือ ว่าจะต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ และจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ เรื่องนี้เป็นไปตามกฎหมาย

เมื่อถามว่า การยกเว้นการแก้ไขหมวดหนึ่งและหมวดสอง จะนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งหรือไม่นั้น นายนิกร กล่าวว่า การไม่เว้นมีปัญหามากกว่า การเว้นไว้อาจจะมีปัญหาเหมือนกัน แต่สามารถอธิบายกัน ทำความเข้าใจกันได้ หากไม่เว้นเท่ากับว่าเราไปแก้หมวดหนึ่งและหมวดสองที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ ซึ่งก็จะมีคลื่นความขัดแย้งเกิดขึ้นได้

 “ส่วนกระแสว่าหากไม่เว้นการแก้ไขหมวดหนึ่งและหมวดสอง จะมีคนกลุ่มหนึ่งระดมให้คนไม่มาใช้สิทธิ์ เพื่อล้มการทำประชามตินั้น ไม่มีปัญหาอะไร การทำประชามติครั้งแรกใช้งบประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท หากมีคนออกมาใช้สิทธิ์ไม่เกินกึ่งหนึ่ง หรือ 26 ล้านคน จะส่งผลให้การทำประชามติไม่สำเร็จ และต่อจากนี้ก็จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่สามารถทำได้ เพราะการทำประชามติไม่มีประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ ประเด็นอยู่ที่จำนวนของผู้ออกมาใช้สิทธิ์ แม้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จะมีการทำประชามติจริง แต่ก็ใช้เพียงเสียงข้างมากเท่านั้น  เสียงเกินกึ่งหนึ่งสองชั้นเพิ่งเกิดทีหลัง” นายนิกรระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' ชวนคนไทยเชียร์ตัวแทนทีมชาติไทยในโอลิมปิกปารีส 2024

นายกฯ ส่งกำลังใจเชียร์ทัพนักกีฬาตัวแทนประเทศไทยร่วมแข่งขันโอลิมปิก ปารีส 2024 ครั้งที่ 33 วันที่ 26 กรกฎาคม - 11 สิงหาคม 2567 นี้ เชิญชวนคนไทยร่วมเชียร์และรับชมถ่ายทอดสด