“ทักษิณ” ไปตามนัดอัยการสูงสุดแน่ “ทนายแม้ว” ยันไม่มีเบี้ยว “วิสุทธิ์” ร่วมการันตีโผล่ศาลล้านเปอร์เซ็นต์ อธิบดีกรมคุกรีบแจง หากไม่ได้ประกันตัวก็ต้องเข้าเรือนจำกรุงเทพฯ “ถุงขนมภาค 2” ยังระอุ ก.ต.ชงประธานศาลฎีกาตั้งคณะกรรมการสดับตรับฟังข้อเท็จจริง “วรงค์” หวังกระบวนยุติธรรมเป็นที่พึ่ง “ก้าวไกล” ลั่นไม่ต้องเตรียมตัวเพราะยังไม่วินิจฉัย ส่วน “ปิยบุตร” ร่ายยาวเลกเชอร์หลักกฎหมาย ยัน กกต.ไม่มีสิทธิ์ร้องยุบพรรคยกเคส ปชป.รอดเทียบเคียง “พิธา” เตรียมซวย “เรืองไกร" ร้องละเมิดอำนาจศาล
เมื่อวันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน 2567 มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองในหลายๆ ภาคส่วน เนื่องจากในวันอังคารที่ 18 มิ.ย. 2567 จะมีการพิจารณาคดีสำคัญถึง 3-4 คดี โดยนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงกรณีสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) นัดหมายนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เตรียมส่งฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ กรณีให้สัมภาษณ์กับเดอะโชซอนมีเดียของเกาหลีใต้เมื่อปี 2558 มีเนื้อหาพาดพิงสถาบัน ว่ากรมราชทัณฑ์มีอำนาจหน้าที่ตามคำสั่งศาล หากไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวชั่วคราวก็จะส่งบุคคลนั้นมาฝากขังยังเรือนจำ โดยกรณีนายทักษิณต้องแยกออกจากคดีเก่าที่เจ้าตัวถูกตัดสินโทษจำคุก และอยู่ระหว่างการพักโทษของกรมคุมประพฤติ เพราะคดีใหม่เป็นคนละส่วนกัน ซึ่งต้องถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เพราะเป็นเรือนจำระหว่างพิจารณาคดี
“เรื่องการพักโทษไม่มีผลอะไร เพราะผู้ถูกคำสั่งศาลต้องถูกนำตัวเข้าเรือนจำ และการพักโทษยังคงมีอยู่ตามปกติจนกว่าจะครบ 6 เดือน หมายความว่านายทักษิณจะไม่ได้กลับไปอยู่บ้านจันทร์ส่องหล้า แต่ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ จนกว่าทนายความจะยื่นขอประกันตัวในครั้งต่อไปกับศาล และศาลต้องมีความเห็นเปลี่ยนแปลงคำสั่ง พิจารณาอนุญาต” นายสหการณ์ระบุ
เมื่อถามว่า หากนายทักษิณมีอาการเจ็บป่วยจะต้องส่งตัวไปนอนพักรักษาภายนอกเรือนจำอีกหรือไม่ นายสหการณ์กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับอาการเจ็บป่วยของผู้ต้องขัง ถ้าไม่มีการเจ็บป่วยรุนแรง กรมก็ไม่สามารถอนุญาตให้ส่งตัวออกไปรับการรักษาได้อยู่แล้ว
ขณะที่นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของนายทักษิณ ยืนยันว่านัดส่งตัวฟ้องของ ออส.ในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญานัดเวลา 09.00 น. นายทักษิณจะเดินทางไปพบตามนัด เนื่องจากหากไม่ไปตามนัดก็จะผิดสัญญาประกัน ส่วนเรื่องข่าวการร้องขอความเป็นธรรม ไม่มีหรอก เเต่รายละเอียดเดี๋ยวพรุ่งนี้พร้อมให้ข้อมูล
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวเช่นกันว่า ไม่ใช่เรื่องที่เราต้องกังวล หลายคนก็จินตนาการว่าหนีไปแล้ว ออกไปแล้วสารพัด นึกแต่เรื่องที่จะทำให้ประเทศไทยเกิดผลร้ายทั้งนั้น และพอมาถึงวันนี้นายทักษิณจะเดินทางไปรายงานตัวต่อ อสส.ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร แล้วคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันก่อนหน้านี้จะรับผิดชอบหรือไม่
“บางคนก็หิวแสง อัดคลิปออกมาสารพัดเรื่อง เหมือนประเทศไทยเลวร้ายเหลือเกิน แต่วันนี้ผมมองในเอเชียใครก็อยากมาไทย แต่พวกนี้ก็เป็นพวกอคติ จำหน้าได้บางคนก็รู้ทุกเรื่อง ตั้งแต่ประมงยันการเมือง ตั้งแต่นายกฯ คนนั้นคนนี้รู้จัง ทั้งที่เคยทำอะไรให้ประเทศชาติบ้านเมืองมาบ้าง ก็เห็นอยู่แต่ไม่อยากตำหนิ อย่างที่บอกมองโลกในแง่ดีบ้าง ตื่นเช้ามาอ่านธรรมะ” นายวิสุทธิ์กล่าว
เมื่อถามว่า คนที่ออกมาเปิดหน้าชนเรื่องนี้คือ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี นายวิสุทธ์ ย้อนทันทีว่าเจ้าประจำ จินตนาการถึงว่าเวลาออกคลิปออกไปให้สัมภาษณ์ รับผิดชอบคำพูดบ้าง การโกหกประชาชนบ่อยๆ เขาก็รำคาญ พูดไปก็ไร้สาระ หลายคนไม่อยากเอ่ยชื่อ และไม่ตอบโต้คนพวกนี้เสียเวลา เอาเวลาไปคิดแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนดีกว่า
เมื่อถามว่า มั่นใจใช่หรือไม่ว่านายทักษิณจะเดินทางไปพบกับ อสส.ในวันพรุ่งนี้ นายวิสุทธิ์กล่าวว่า "โอ้ ล้านเปอร์เซ็นต์ อย่ากังวล ไม่น่ากังวล ขอให้พี่น้องประชาชนติดตามเรื่องงบประมาณดีกว่า อย่าไปกังวลเรื่องการเมืองให้มากนัก ฟังพวกนี้มากก็เสียเส้นประสาท ทำมาหากินไม่ค่อยสบาย"
“พรุ่งนี้ไม่ต้องตั้งหลักหรืออะไร ไม่ต้องกังวล ทั้งของนายกฯ และนายทักษิณ ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ของพรรคอื่นไม่ทราบ ไม่ขอก้าวก่ายแล้วแต่โชคชะตา” นายวิสุทธิ์กล่าว
ศาลตั้งคณะกรรมการสดับตรับฟัง
ส่วนนายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวตามสื่อต่างๆ และข้อมูลเผยแพร่บนโซเชียลมีเดียช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาทำนองว่า มีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม และพยายามวิ่งเต้นเรื่องการประกันตัวผู้ต้องหาบางรายนั้น ปัจจุบันยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้นในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด แต่ในการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) สำนักงานศาลยุติธรรมได้รายงานให้ ก.ต.ทราบเกี่ยวกับข่าวดังกล่าวแล้ว โดยที่ประชุม ก.ต.เสนอให้ประธานศาลฎีกาพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการสดับตรับฟังข้อเท็จจริงเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นตามขั้นตอน โดยหากมีความคืบหน้าในการดำเนินการจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง
ด้าน นพ.วรงค์ได้โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อเรื่อง ถุงขนมภาคสองตอนที่ 3 ระบุว่า "หลังจากที่ประชาชนในประเทศสารขัณฑ์ มีความตื่นตัวต่อเรื่องถุงขนม 2,000 ล้านบาทที่ฮ่องกงเกี่ยวข้องกับคดีของนักการเมือง ล่าสุดได้มีประชาชนชาวสารขัณฑ์ ไปยื่นเรื่องร้องเรียนต่อประมุขของกระบวนการยุติธรรม และได้มีตัวแทนมารับแล้ว สิ่งที่น่าแปลกใจมาก บุคคลในกระบวนการยุติธรรมมีตำแหน่งใหญ่โต มีนักการเมืองมาขอเคลียร์เรื่องนี้แทนตนเอง เพราะปกติแล้วท่านต้องไม่ยุ่งกับการเมือง เราขอยืนในหลักการความถูกต้อง ท้ายนี้ทุกอย่างอยู่ที่ท่านประมุขและกรรมการ หลังจากรับเรื่องไปแล้วว่าจะมีอะไรออกมาอย่างไร เพราะชาวสารขัณฑ์ยังมองว่า ท่านประมุขคือที่พึ่งของกระบวนการยุติธรรม
ด้านนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และ รมว.การคลัง กล่าวถึงกระแสข่าวเดินทางเข้าพบนายทักษิณที่บ้านพักจันทร์ส่องหล้าเมื่อช่วงเช้าว่า ไปธุระมา ก่อนรีบเดินเข้าห้องทำงานในตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวนายพิชัย และนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง เข้าบ้านจันทร์ส่องหล้าว่าไม่ทราบ
นายเศรษฐายังกล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งคู่กรณียื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานคดีชี้ขาดคุณสมบัตินายกฯ ปมแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ พร้อมนัดพิจารณาคดีต่อในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ ว่าได้ส่งรายชื่อพยานหลักฐานแล้ว ส่วนคำชี้แจงนั้นไม่ได้ส่งเพิ่มเติมไป
ส่วนนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองหลัง น.ส.พรรณิการ์ วาณิช แกนนำคณะก้าวหน้า พูดว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือหากมีเหตุเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมีความเป็นไปได้ในการจับมือกับพรรคภูมิใจไทยมากกว่าพรรคเพื่อไทย ว่าไม่มีการเปลี่ยนขั้วหรอก รัฐบาลชุดนี้ก็ยังเข้มแข็ง มีเสียงสนับสนุนกว่า 300 เสียง การทำงานมีความสามัคคีกันดี สนับสนุนซึ่งกันและกันทุกฝ่าย
วันเดียวกัน นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาคดียุบพรรคก้าวไกลในวันที่ 18 มิ.ย.ว่า วันดังกล่าว สส.พรรคจะประชุมสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประชามติตามปกติ ส่วนทางพรรคก็มีทีมที่มอนิเตอร์อยู่ และรอดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีการพิจารณาให้เปิดการไต่สวนหรือไม่ ซึ่งพรรคไม่ต้องเตรียมแผนอะไรไว้รองรับไ เพราะในวันที่ 18 มิ.ย. ศาลไม่ได้มีคำวินิจฉัยว่ายุบหรือไม่ยุบอยู่แล้ว แต่อาจได้ทราบว่าจะมีการเปิดไต่สวนหรือไม่ และหลังจากทราบแล้วก็คงจะเตรียมการโดยฝ่ายกฎหมายอีกครั้งหนึ่ง
ปิยบุตรเลกเชอร์กฎหมาย 101
ขณะที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ เหตุใดคำร้องยุบพรรคก้าวไกลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ระบุว่า 1.การยื่นคำร้องยุบพรรคต้องดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2.ผลของการไม่ดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนด ในวิชากฎหมายมหาชน กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง ซึ่งถือเป็นกระบวนการขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญ ย่อมถือได้ว่ามติการยื่นคำร้องนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องถูกเพิกถอนไป
3.ข้ออ้างที่ว่ากรณีคำร้องยุบพรรคก้าวไกล คือการดำเนินการตามมาตรา 92 ไม่ใช่มาตรา 93 จึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามระเบียบฯ 2566 นั้นฟังไม่ขึ้น เพราะกรณีมาตรา 92 และมาตรา 93 มีความสัมพันธ์กัน ใช้ควบคู่กัน 4.ข้ออ้างที่ว่ากรณีคำร้องยุบพรรคก้าวไกล ก็ดำเนินการในทำนองเดียวกันกับกรณียุบพรรคไทยรักษาชาตินั้นฟังไม่ขึ้น พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบพรรคต้นเดือน ก.พ. 2562 ณ เวลานั้นยังไม่มีระเบียบ กกต.เกี่ยวกับกระบวนการขั้นตอนการรวบรวมข้อเท็จจริง พยาน สืบสวน สอบสวน และมีมติยื่นคำร้องยุบพรรคออกมาใช้บังคับ ในขณะที่พรรคก้าวไกลถูกกล่าวหาในตอนที่มีระเบียบ กกต. 2566 ซึ่งออกตามความมาตรา 93 ใช้บังคับแล้ว ดังนั้น กกต.ก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบฯ ดังกล่าวด้วย จะอ้างว่าดำเนินการติดจรวดเหมือนสมัยที่พรรคไทยรักษาชาติโดนยื่นร้องยุบพรรคมิได้
5.ข้ออ้างที่ว่า กกต.ไม่มีทางเลือกอื่น ต้องยื่นคำร้องยุบพรรคก้าวไกล เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาแล้วว่าพรรคก้าวไกลใช้เสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ นั้นฟังไม่ขึ้น โดยนายทะเบียนพรรคการเมือง และ กกต.ก็ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาตามมาตรา 93 และระเบียบ 2566 ตั้งแต่ตั้งพนักงานสอบเบื้องต้น แจ้งข้อกล่าวหา ตั้งคณะบุคคลทำหน้าที่สอบสวน ให้พรรคก้าวไกลโต้แย้งก่อนที่จะมีมติ 6.ข้ออ้างที่ว่า กกต.ใช้ข้อยกเว้นตามข้อ 11 วรรคสอง ของระเบียบ 2566 ฟังไม่ขึ้น เพราะเป็นการนำข้อยกเว้นมาทำลายหลักการพื้นฐานและสาระสำคัญของกระบวนการยุบพรรค ที่ต้องเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองที่ถูกกล่าวหาได้ต่อสู้อย่างเต็มที่ และ 7.ศาลรัฐธรรมนูญเคยยกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ด้วยเหตุที่ว่า กกต.ไม่ดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนดมาแล้ว ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 16/2553 ศาลรัฐธรรมนูญได้ยกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยเหตุที่ว่า กระบวนการขั้นตอนยื่นคำร้องยุบพรรคไม่ชอบด้วย พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2550 เนื่องจาก นายทะเบียนพรรคการเมืองส่งเรื่องให้ กกต.พิจารณา โดยไม่ทำความเห็นก่อน
นายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ นักกิจกรรมทางการเมือง อดีตแกนนำคณะราษฎรขอนแก่น กล่าวว่า เชื่อว่าไม่ว่าผลการตัดสินของศาลจะออกมาแบบไหน กรรมการบริหารจะอยู่หรือไป แต่ประชาชนจะเชื่อมั่นในแนวคิดอุดมการณ์ของพรรคมากกว่าตัวบุคคล ซึ่งถ้าศาลตัดสินให้พรรคก้าวไกลโดนยุบพรรคตามกฎหมาย คงเป็นการสิ้นสภาพของพรรคก้าวไกล และกรรมการบริหารพรรคจะโดนตัดสิทธิทางการเมืองเป็นระยะเวลา 10 ปี แต่ต้องดูต่อไปอีกว่าจะตัดสิทธิ กก.บห.พรรคชุดไหนบ้าง เพราะช่วงเวลานั้นคาบเกี่ยวกันอยู่หลายชุด
“เราผ่านการยุบพรรคการเมืองกันมาเยอะแล้ว มองว่าจะมีม็อบหรือมีการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกหรือไม่ บอกได้เลยว่าคงไม่มีและไม่เชื่อว่าจะมี เพราะช่วงระยะเวลาการชงเรื่องการคาดการณ์ว่าจะมีการยุบพรรคนานพอที่จะทำให้ความโกรธมันลดลง พร้อมกับการสื่อสารของพรรคก้าวไกลเองที่สื่อสารไปกับประชาชนว่าต่อให้มีการยุบพรรค แต่ก็จะตั้งพรรคใหม่แล้วก็เดินไปในทิศทางเดิม ดังนั้นมวลชนอยู่กับพรรคการเมือง และดูทิศทางการชี้นำของพรรคการเมือง มีผลต่อการเคลื่อนไหวของมวลชนเช่นกัน” นายอรรถพลกล่าว
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ นักเคลื่อนไหวการเมือง กล่าวว่า การยุบพรรคก้าวไกลอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามข่าวศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2567 วันที่ 5 มิ.ย. 2567 หัวข้อที่ (4) ระบุว่าศาลเห็นว่า ก่อนศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย คู่กรณีไม่สมควรแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคดีที่เป็นการชี้นำสังคมอันอาจกระทบต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล
ร้องพิธาละเมิดอำนาจศาล
นายเรืองไกรกล่าวต่อว่า ภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญออกข่าวดังกล่าว ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2567 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งมีสถานะเป็น สส.ที่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ได้เปิดเผยข้อต่อสู้คดียุบพรรคก้าวไกลลงในเฟซบุ๊กของนายพิธา รวมทั้ง QR Code คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหารวมกว่า 70 หน้า ที่สาธารณชนทั่วไปเข้าถึงและดาวน์โหลดได้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายฐานเป็นผู้ใดที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคดีที่เป็นการชี้นำสังคม อันอาจกระทบต่อการดำเนินกระบวนการพิจารณาของศาล ตามข่าวที่ 20/2567 หัวข้อที่ (4) หรือไม่ และการกระทำดังกล่าวอาจจะเข้าข่ายเป็นการละเมิดอำนาจศาลตามความในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 39 หรือไม่
นายเรืองไกรระบุอีกว่า ในเฟซบุ๊กของนายพิธาวันที่และเวลาไม่ปรากฏ แต่ก่อนวันที่ในหนังสือนี้ 3 วัน นายพิธายังได้โพสต์เฟซบุ๊กต่อเนื่องจากกรณีดังกล่าวอีก โดยที่ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2562 ข้อ 9 ข้อ 10 ข้อ 11 กำหนดไว้ว่า ข้อ 9 ศาลอาจออกคำสั่งให้บุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใดกระทำการหรืองดเว้นกระทำการ เพื่อให้การพิจารณาคดีดำเนินไปโดยสงบเรียบร้อยและรวดเร็ว ข้อ 10 ห้ามมิให้ผู้ใดบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายตามคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของศาล หรือวิจารณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของศาลโดยไม่สุจริตหรือใช้ถ้อยคำหรือมีความหมายหยาบคาย เสียดสี ปลุกปั่น ยุยง หรืออาฆาตมาดร้าย ข้อ 11 ผู้ใดฝ่าฝืนข้อกำหนดหรือคำสั่งศาลตามข้อ 8 ข้อ 9 และข้อ 10 ให้ถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 39
โดยที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 39 บัญญัติว่า ผู้ใดฝ่าฝืนข้อกําหนดของศาลหรือคำสั่งศาลตามมาตรา 38 ให้ถือเป็นการละเมิดอำนาจศาล และให้ศาลมีอำนาจ ดังต่อไปนี้ 1.ตักเตือน โดยจะมีคําตําหนิเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยหรือไม่ก็ได้ 2.ไล่ออกจากบริเวณศาล 3.ลงโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลพิจารณาเท่าที่จําเป็นตามพฤติการณ์แห่งกรณี การสั่งลงโทษตาม 3. ต้องมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของตุลาการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ในการดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งศาลตาม 3.ให้นําประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม”
“การกระทำของนายพิธาที่ได้โพสต์เฟซบุ๊ก รวมทั้ง QR Code คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา โดยเปิดเผยซึ่งสาธารณชนทั่วไปเข้าถึงได้ จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ไปต่าง ๆ นานา และยังได้กระทำการในลักษณะทำนองเดียวกันตามมาอีก ซึ่งอาจกระทบต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล กรณีจึงมีเหตุอันควรขอให้ศาลได้ทำการตรวจสอบตามหน้าที่และอำนาจต่อไป ในวันนี้ผมจึงส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบนายพิธากรณีโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2567 และวันต่อมา ว่าเข้าข่ายฐานเป็นผู้ใดที่กระทำการฝ่าฝืนคำสั่งศาล ตามข่าวของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 20/2567 วันที่ 5 มิถุนายน 2567 ข้อ (4) หรือไม่ และการกระทำดังกล่าวจะถือเป็นการละเมิดอำนาจศาลตามความในมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 หรือไม่” นายเรืองไกรระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ภูมิธรรม' สดุดี 'ทักษิณ' ครองใจคนอุดรฯ พา พท. ชนะเลือกตั้งนายก อบจ.
'ภูมิธรรม' ฟุ้งอุดรธานีหัวใจคนเพื่อไทยโดยแท้ ชนะเป็นเรื่องธรรมดา ยํ้า ปชช. ยังรัก 'ทักษิณ' ชอบผลงานที่ทำมา อุบ 'อิ๊งค์' ลงพื้นที่ขอบคุณ
ความจริง 'ชั้น 14' ชี้ชะตา 'รัฐบาลอิ๊งค์'
นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ประธานสถาบันสุจริตไทย และอดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อายุรัฐบาลขึ้นกับความจริงบนชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ (รพ.ตร.)
'ทักษิณ-พท.' อย่าเพิ่งตีปีก! ชั้น 14 ป.ป.ช. ใกล้งวด คดีครอบงำยิ่งชัด รอ กกต. เคาะ
รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า หน้าแตกกันไปตามๆ กัน เมื่อได้ทราบผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่าไม่รับวินิจฉัยคำร้อง
ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"
แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา
ตั้งกก.สอบผกก.บางซื่อ ทนายปาเกียวเล็งทิ้งตั้ม
“ดีเอสไอ” เตรียมสรุปสำนวนคดี 18 บอสดิไอคอนเสนออัยการคดีพิเศษภายใน 20 ธ.ค.นี้
นิกรหักเพื่อไทย เตือนส่อผิดกม. ให้กมธ.ตีความ
“นิกร” หักข้อเสนอ “ชูศักดิ์” เลยช่วงเวลาแปลงร่างประชามติเป็นกฎหมายการเงินแล้ว