เลือก สว.ระดับจังหวัดฉลุย! “อิทธิพร-แสวง” ประสานเสียงภาพรวมเรียบร้อย แม้กรุงเทพฯ จะเกิดเหตุร้องเรียนกันวุ่นวาย ผู้สมัคร สว.โวยมีการสร้างปีศาจตัวใหม่ บล็อกโหวตและมีโพย “น้องช่อ” โผล่อัดจ่ายเงินรายละ 2-3 หมื่น บิ๊กเนมพาเหรดเข้ารอบ แต่หลายพื้นที่คนมีชื่อเสียงก็กินแห้วกันระนาว “สมชาย-ทนายตั้ม-ผู้ว่าฯ ปู” ได้ไปต่อชิงดำระดับประเทศ ส่วน “สมชัย-สันธนะ-การุณ-อรรถสิทธิ์” ม้วนเสื่อกลับบ้าน
เมื่อวันอาทิตย์ 16 มิถุนายน 2567 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จัดให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ระดับจังหวัดขึ้นทั่วประเทศ โดยนายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. กล่าวถึงภาพรวมว่า เป็นที่พึงพอใจ ซึ่งช่วงเช้าที่ผ่านมาได้เดินทางไปที่จังหวัดราชบุรีและนครปฐม โดยราชบุรีมีผู้สมัครผ่านเข้ารอบระดับอำเภอไปยังจังหวัดรวม 458 คน แต่ไม่มารายงานตัว 4 คน ส่วนนครปฐม ก็มีความเรียบร้อยเช่นเดียวกัน โดยมีผู้สมัครรายงานตัวครบ 210 คน ขณะที่กรุงเทพมหานคร เมื่อเดินทางมาถึงได้รับรายงานจากผู้อำนวยการการเลือกของกรุงเทพมหานครว่า ผู้สมัคร 1,634 คน มีผู้ไม่มารายงานตัว 17 คน โดยมี 1 ใน 17 คนเข้ามารายงานตัวแล้ว แต่ไม่สามารถเข้าไปได้เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ และได้รับรายงานจากนายแสวง บุญมี เลขาฯ กกต. ที่เข้าสังเกตการณ์ในพื้นที่อื่น ทราบว่าขณะนี้ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่ยังไม่ได้รับรายงานถึงปัญหาอุปสรรค
เมื่อถามต่อว่า ล่าสุดมีผู้สมัครบางรายที่ไม่ผ่านการคัดเลือก สว.ระดับจังหวัดของ กทม.ออกมาเปิดเผยว่ามีการกำหนดโพยเอาไว้ นายอิทธิพรกล่าวว่า ผู้สมัครสามารถยื่นเรื่องโดยตรงกับ กกต.ได้ หรือไปยื่นศาลฎีกาได้เช่นกัน ภายในระยะเวลา 3 วัน ซึ่งประเด็นโพยนั้น คำร้องที่มีขึ้นในระดับอำเภอมีทั้งหมด 78 คำร้อง ของจังหวัดที่มีในขณะนี้มีทั้งหมด 2 คำร้อง คือพะเยาและมหาสารคาม ในส่วนของ 78 คำร้องของระดับอำเภอ เป็นคำร้องเกี่ยวกับกระบวนการทั้งสิ้น 11 คำร้อง ซึ่ง กกต.ต้องพิจารณาให้เสร็จก่อนการเลือก สว.จังหวัดภายในวันนี้ ซึ่งพิจารณาแล้วเสร็จ ส่วน 67 คำร้องระดับอำเภอ เป็นคำร้องเกี่ยวกับการกระทำฝ่าฝืนกฎหมาย โดยส่วนใหญ่เป็นการร้องจัดจ้างมาลงสมัครเลือก สว.
เมื่อถามอีกว่า หากผลการเลือก สว.ระดับจังหวัดออกมาตามโพย จะมีการสืบสวนสอบสวนหรือดำเนินการอย่างไรบ้าง นายอิทธิพรกล่าวว่า กระบวนการที่ 1 คือตรวจสอบว่าพยานหลักฐานที่นำมายื่นเป็นหลักฐานที่แท้จริงหรือไม่ และต้องเข้าสู่กระบวนการสืบสวนไต่สวนและวินิจฉัยโดยเร็ว ส่วนผลเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับคำร้องแต่ละคน ยืนยันว่าจะทำอย่างรวดเร็วไม่ล่าช้า
“ขอย้ำว่าหากพยานหลักฐานมีไม่ครบ การดำเนินการต่อไปจะไม่เป็นธรรมต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง ฉะนั้นหากมีพยานหลักฐานโปรดส่งให้ กกต. เนื่องจาก กกต.มีหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แต่ต้องมั่นใจว่าพยานหลักฐานนั้นต้องถูกต้อง และสามารถดำเนินการมาตัดสินได้อย่างเป็นธรรม”
เมื่อถามย้ำว่า ในส่วนของกรณีที่มีการทักท้วง ที่มีการคัดค้านหรือการนับคะแนนใหม่ นายอิทธิพรกล่าวว่า ผู้สมัครต้องทักท้วงหรือคัดค้านระหว่างนับคะแนน ซึ่งเราได้กำชับกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ผู้ที่จะคัดค้านหรือทักท้วงเช่นนี้ต้องมีการกรอกข้อมูลการคัดค้านให้ถูกต้อง และจะแก้ไขในเวลานั้นทันที หากผู้ปฏิบัติเห็นว่าเขาปฏิบัติถูกต้องแล้ว ผู้ปฏิบัติต้องให้เขาลงแบบทักท้วง แล้วเข้าสู่กระบวนการของ กกต.และ กกต.จะไต่สวนให้เสร็จโดยเร็ว และเลือกใหม่แล้วแต่กรณี หากทักท้วงแล้วไม่ผิดพลาดประการใด ก็จะเป็นการยกคำร้อง ซึ่งจะเป็นการดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 26 มิ.ย.นี้
'อิทธิพร' ย้ำมีทางออก
เมื่อถามว่า ในวันอังคารที่ 18 มิ.ย. ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะชี้ขาดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สว. จะกระทบกับการเลือกระดับอำเภอที่ผ่านมา รวมไปถึงระดับประเทศที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ นายอิทธิพรกล่าวว่า ศาลจะมีคำวินิจฉัยในอีก 2 วันข้างหน้า โดยนายแสวงให้สัมภาษณ์ไปแล้วว่าเราเตรียมพร้อมเอาไว้แล้วหากศาลวินิจฉัยเป็นอย่างอื่น แต่ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด
หลังนายอิทธิพรให้สัมภาษณ์เสร็จแล้ว ได้มีผู้สมัคร สว.กลุ่ม 8 กลุ่ม 9 และกลุ่ม 3 ของ กทม. มาพบนายอิทธิพร ร้องเรียนระบบการลงคะแนนว่าในกลุ่มมีปัญหา โดยพบว่าในกลุ่ม 9 มีผู้สมัคร สว.ประมาณ 100 คน คะแนนของสมัคร สว.ในกลุ่มนี้มี 2 คนที่ได้รับคะแนนสูงคู่กัน โดยผู้ได้คะแนนสูงสุด 20 คะแนนเท่ากัน
นายชัยณรงค์ รัตนโยธินานนท์ ผู้สมัคร สว. กลุ่ม 9 ระบุว่า ระบบการให้คะแนนครั้งนี้มีการบล็อก เป็นความชั่วร้ายที่กำลังสร้างปีศาจตัวใหม่ของประเทศ ขอให้ไปตรวจสอบ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่คะแนนจะเด้งขึ้นมา 20 คะแนน เชื่อว่าเป็นกลุ่มที่จัดตั้ง ซึ่งมีผู้สมัคร สว.หลายคนที่รู้สึกเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ ผู้สมัคร สว.รายหนึ่งได้แสดงโพยหนึ่งที่ระบุชื่อผู้ที่ผ่านเข้ารอบระดับจังหวัด โดยบอกว่าเป็นการส่งต่อกันในกลุ่มไลน์ของผู้สมัคร สว.
พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) ลงพื้นที่ตรวจสังเกตการณ์การรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของหน่วยเลือก สว.ระดับจังหวัด โดยระบุว่า จากการลงพื้นที่สังเกตการณ์การดูแลรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยภายในสถานที่เลือก สว.ระดับจังหวัดของ กทม.และนครราชสีมา มีการดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่พบการกระทำความผิด ตลอดจนภาพรวมทั่วประเทศเป็นไปด้วยความเรียบร้อยในทุกจังหวัด
ด้านนายแสวง ซึ่งลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการเลือก สว.ระดับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ความพร้อมในภาพรวมทั้ง 77 จังหวัดไม่มีปัญหาอะไร ส่วนเรื่องร้องเรียนมี 3 เรื่องหลักๆ คือกลุ่มแรก ในเรื่องคุณสมบัติ ซึ่งผ่านมาแล้ว ส่วนเรื่องที่ 2 เรื่องการดำเนินการเลือก ซึ่งวันนี้อาจมีการร้องได้ ถ้าผู้สมัครเห็นว่าคณะกรรมการวินิจฉัยไม่ถูก ท่านมีสิทธิร้องได้ ในส่วนที่ 3 การร้องเลือกไม่สุจริต หรือที่เราเรียกว่าฮั้ว หรือจัดตั้งใน 3 กลุ่ม ถือว่ายังมีจำนวนน้อย
ต่อมานายแสวงแถลงภาพรวมการเลือก สว.ระดับจังหวัดทั่วประเทศว่า สถานการณ์ในขณะนี้ถ้าดูจังหวัดใหญ่ๆ ที่ได้รับรายงานมาคือ นครราชสีมา เชียงใหม่ และอุบลราชธานี ทำการเลือกเสร็จสิ้นแล้ว รวมถึงจังหวัดอื่นๆ ก็ดำเนินการเลือก สว.เรียบร้อยแล้ว โดยสรุปเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีการทักท้วง เพราะทุกคนให้ความร่วมมือดี เหลือเพียงกรุงเทพมหานคร ขณะนี้เพิ่งมีการแจกเอกสารแนะนำตัวในการเลือกรอบ 2 หรือรอบแบ่งสาย เพราะมีปัญหาผู้สมัครกลุ่มที่ 2 กลุ่มกฎหมาย ทำการทักท้วงผลคะแนน แต่ไม่ได้ทำระหว่างที่ขานคะแนนหรือขีดคะแนน แต่ทักท้วงหลังทราบผลคะแนนเรียบร้อยแล้ว ถือเป็นการคาดคะเน อีกทั้งยังไม่ได้เขียนใบคำร้องเอาไว้แต่อย่างใด ทั้งนี้ ในการทำงานจะมีผู้บันทึกเหตุการณ์เอาไว้อยู่แล้ว ซึ่งผู้ทักท้วงสามารถไปใช้สิทธิ์ยื่นต่อศาลฎีกาได้ ส่วนการที่ผู้สมัครจะไปแจ้งความก็ไม่ได้ส่งผลกระทบแต่อย่างใด
เมื่อถามว่า ถ้าเขาทักท้วงว่าคะแนนหายไป จะสามารถนับคะแนนใหม่ได้หรือไม่ นายแสวงกล่าวว่า ระหว่างนั้นเขาต้องดู เพราะนั่งฟังอยู่ ใครไม่ขีดคะแนนให้ท่านต้องทักท้วงตอนนั้น อ่านหมายเลขไม่ชัดเจนก็ต้องทักท้วงตอนนั้น แล้วก็จะรู้ว่านั่นเป็นการทำให้คะแนนของเขาหายไป แต่ไม่ใช่ปล่อยให้จนมีการรวมคะแนนแล้ว แล้วมาบอกว่าคะแนนหายไป มันผ่านมาแล้ว ซึ่งท่านก็นั่งเป็นผู้สังเกตการณ์อยู่ตรงนั้นอยู่แล้ว
ร้องเรียนแค่ 80 เรื่อง
นายแสวงกล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องร้องเรียนการเลือก สว. ขณะนี้มี 80 เรื่อง โดยมี 2 เรื่องที่เป็นการร้องการเลือก สว.ระดับจังหวัดในวันนี้ ทาง กกต.จะเร่งวินิจฉัย ส่วนเรื่องที่จะทำให้การเลือกไม่เป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม กกต.ให้จังหวัดไปสืบเสาะหาข้อมูลว่าผู้สมัครได้เข้าพักที่โรงแรมไหน อย่างไร มีการทำอะไรบ้าง ซึ่งก็ต้องรอรายงานกลับเข้ามาอีกครั้ง แต่ทั้งนี้การอยู่โรงแรมเดียวกันและแนะนำตัวต่อกันแบบไม่ผิดกฎหมายก็สามารถทำได้อยู่แล้ว แต่ก็ต้องดูว่ามีการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ ทั้งนี้ ขอย้ำว่าการที่ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบติดตามกรณีพักโรงแรมเดียวกันนั้น เป็นเพียงมาตรการป้องปราม
นายแสวงกล่าวว่า หลังจากนี้เมื่อนับคะแนนเสร็จสิ้น ผอ.ระดับจังหวัดจะปิดประกาศรายงานผลการนับคะแนนหน้าสถานที่เลือก โดยผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 2 ลำดับแรกของแต่ละกลุ่มจะเป็นผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดสำหรับกลุ่มนั้นๆ เพื่อเข้าไปเลือกในระดับประเทศต่อไป ซึ่งยอดรวม 20 กลุ่ม จะมีผู้เข้าสู่ระดับประเทศ 3,080 คน เลือกกันในวันที่ 26 มิ.ย.นี้ และภายในวันที่ 17 มิ.ย. ผอ.การเลือกส่งรายชื่อผู้ได้รับเลือกในวันนี้ตามแบบ สว. 55 ให้ ผอ.การเลือกระดับจังหวัด และติดประกาศ ณ ที่ว่าการอำเภอ และเผยแพร่ในเว็บไซต์ รวมถึงแอปพลิเคชัน Smart vote และก่อนเลือกระดับประเทศไม่น้อยกว่า 3 วัน หรือประมาณวันที่ 22 มิ.ย. ผอ.การเลือกระดับจังหวัดจะแจ้งให้ผู้ได้รับเลือกเข้าไปรับเอกสารข้อมูลแนะนำตัวผู้สมัครของแต่ละกลุ่มที่อยู่ภายในเขตจังหวัดนั้น เพื่อนำไปศึกษาในการใช้เรื่องระดับประเทศต่อไป
ทั้งนี้ หากพบความไม่ชอบมาพากล ผู้มีสิทธิเลือกสามารถดำเนินการได้ 2 ช่องทางคือ 1.มาตรา 44 ผู้มีสิทธิเลือกระดับจังหวัดเห็นว่าการดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกของคณะกรรมการ ผอ.การเลือก หรือเจ้าหน้าที่เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย สามารถยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาภายใน 3 วัน นับแต่วันเลือก ศาลจะพิจารณาให้แล้วเสร็จก่อนวันเลือกไม่น้อยกว่า 1 วัน ก่อนการเลือกในระดับต่อไป หากยังไม่มีคำพิพากษาของศาล ก็ให้ดำเนินการเลือกต่อไป และ 2.ผู้มีสิทธิเลือกระดับจังหวัดเห็นว่าการเลือกไม่เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ยื่นให้ กกต.ภายใน 3 วัน นับแต่วันเลือกแล้วให้ กกต.วินิจฉัยโดยเร็ว
นายแสวงยังได้กล่าวถึงกรณีการเลือก สว.ระดับจังหวัดที่ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งปรากฏว่ามีตำรวจสันติบาลเข้าไปถ่ายภาพบริเวณพื้นที่ที่จัดให้มีการสังเกตการณ์ ซึ่งเป็นการกระทำตามข้อสั่งการของผู้บังคับบัญชา อาจจะทำให้เกิดการเข้าใจผิดระหว่างกันได้ ดังนั้นทั้งสองฝ่ายจึงไปลงบันทึกประจำวันเอาไว้ แต่ไม่ได้เอาความซึ่งกันและกัน
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณี น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกคณะก้าวหน้า ซึ่งมาร่วมสังเกตการณ์การเลือก สว.กทม. พร้อมระบุว่า มีการจ่ายเงิน 2-3 หมื่นบาท เพื่อให้ได้รับเลือก นายแสวงกล่าวว่า ข่าวก็คือข่าว ข้อเท็จจริงเราก็ต้องไปหา ส่วนที่มีข่าวว่ามีการไปตั้งแคมป์ก่อนเลือกระดับประเทศอาจเข้าข่ายเป็นการล็อบบี้กัน กรณีนี้ก็เหมือนกรณีระบุว่ามีผู้สมัครไปพักที่โรงแรมแล้วทำอะไรบ้าง ถ้าทำตามแนวทางที่กฎหมายกำหนด เราก็ทำอะไรเขาไม่ได้ แต่ถ้าไม่ใช่ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย
ปูดจ่ายเงิน 2-3 หมื่นบาท!
ทั้งนี้ น.ส.พรรณิการ์ได้เดินทางมาสังเกตการณ์เลือก สว.ระดับจังหวัด ที่โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ แจ้งวัฒนะ ตั้งแต่เวลา 07.30 น. โดยให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งว่า สิ่งที่เรากังวลคือในช่วง 3-4 วันมานี้ มีข่าวแพร่สะพัดว่ามีการจ่ายเงินหลัก 20,000-30,000 บาทให้ผู้สมัคร ถือเป็นพายุหมุนสำหรับ สว. ขอย้ำว่าผู้ที่จ่ายเงินให้ไปเลือกคนอื่น หรือให้ไปเลือกใคร มีโทษจำคุก ส่วนผู้ที่แจ้งเบาะแสจะมีรางวัลนำจับหลักแสนบาท ซึ่งตอนเลือก สส.ก็มีรางวัลนำจับแบบนี้ แต่ไม่มีใครได้รับรางวัล เพราะกลัวอิทธิพล จึงอยากให้ Active Citizen จับตาการเลือก สว.ให้ได้มากที่สุด เชื่อว่าจากรอบจังหวัดไปสู่ระดับประเทศค่าตัวก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น
น.ส.พรรณิการ์ยังกล่าวถึงกระแสข่าวว่ามีผู้สมัคร สว.เข้าไปรอในระดับประเทศ ว่ามีอยู่จริง และบางส่วนเป็นคนที่รู้จักด้วย แต่ไม่สามารถพูดชื่อได้ ไม่ได้เกี่ยวกับว่าเขามีตั๋ว แต่เป็นเพราะช่องโหว่ของระบบที่ให้แต่ละจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดเล็กๆ ไม่มีการแข่งขันเลย ขอแค่มีคนโหวต 1 คะแนนก็เข้าไปรอระดับประเทศแล้ว ขณะที่พื้นที่กรุงเทพฯ แข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ที่ผ่านมาในรอบอำเภอ หลายคนพูดออกมาชัดเจนว่าให้น้องไม่ได้ เพราะพี่มีโพยแล้ว เราจึงเห็นได้ชัดว่าเป็นลักษณะการจัดตั้ง
ส่วนปัญหาการเลือก สว.ระดับจังหวัดของ กทม.นั้น เกิดปัญหาขึ้นในการเลือกรอบกลุ่มอาชีพกลุ่มที่ 2 กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีผู้สมัคร 83 คน ปรากฏว่าหลังการนับคะแนนมีผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดลำดับ 1-3 คือ 4 คะแนนเท่ากัน 3 คน ผู้ที่ได้ลำดับที่ 4 และ 5 ที่ได้คะแนนเท่ากัน 3 คะแนน รวม 13 คน จึงเตรียมจะจับสลาก แต่มีผู้สมัคร 3 คนที่ได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ได้ทักท้วง พร้อมขอให้นับคะแนนใหม่ทำให้การนับคะแนนในกลุ่มนี้สะดุดลง เพราะต้องให้ กกต.กทม.พิจารณา และตามกฎหมายการจะนับคะแนนใหม่จะต้องรอให้กระบวนการเสร็จสิ้นเสียก่อน ประกอบกับผู้ทักท้วงไม่ได้ทักท้วงในระหว่างการนับ
ขณะเดียวกัน มีผู้สมัคร สว. กลุ่ม 8 กลุ่ม 9 และกลุ่ม 3 ได้ไปร้องเรียนนายอิทธิพรเรื่องการบล็อกโหวต
สำหรับผลการเลือก สว.กทม.นั้น พบว่ามีบุคคลที่มีชื่อเสียงตกรอบกันอย่างมาก อาทิ นายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด, นางสดศรี สัตยธรรม อดีต กกต., นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์, นายสุรันต์ จันทร์พิทักษ์ อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์, นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ, นางชมัยภร บางคมบาง ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์, นายไชยา ยิ้มวิไล อดีตที่ปรึกษารองนายกฯ, นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต., นายพงศกร มหาเปารยะ นักแสดง, นายยุทธพิชัย ชาญเลขา หรือโดโด้ นักแสดง, นายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ, นางณัฏฐา มหัทธนา นักเคลื่อนไหวทางการเมือง, นายสนธิญา สวัสดี นักเคลื่อนไหวร้องเรียนการเมือง, นายสันธนะ ประยูรรัตน์ อดีตนายตำรวจ, น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต สว., นางประทีป อึ้งทรงธรรม ผู้ก่อตั้งมูลนิธิดวงประทีป, นายแทนคุณ จิตต์อิสระ อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น
นายสันธนะระบุว่า พบพิรุธในการเลือก สว. และมีหลักฐานชัดเจน ซึ่งรู้ตั้งแต่ในการเลือกระดับอำเภอแล้ว มีการวางคนเป็นขั้นเป็นตอน และจะมีการเลือกคนในขั้นสุดท้าย ว่าจะให้ใครเป็น หาก กกต.ยังปล่อยให้กระบวนการเลือก สว.เป็นไปในลักษณะนี้ จะรวบรวมหลักฐานไปยื่นคำร้องต่อประธาน กกต.
บิ๊กเนม 'เข้ารอบ-ตกรอบ'
ด้านผลการเลือก สว.ในจังหวัดต่างๆ นั้น ที่ จ.สมุทรสาคร ผู้สมัคร สว.ที่ผ่านในระดับอำเภอ ต่างทยอยกันมาถึงก่อนเวลาทั้ง 161 คน โดยผลการนับคะแนนในรอบเช้า ปรากฏว่ามีคะแนนเท่ากันอยู่หลายกลุ่ม จึงใช้วิธีการจับฉลากในการผ่านเข้ารอบต่อไป ส่วนช่วงบ่าย บรรยากาศค่อนข้างตึงเครียดจนเห็นได้ชัดว่าผู้สมัครต่างนั่งกันเงียบๆ จนถึงช่วงเวลานับคะแนน ซึ่งปรากฏว่าคนดังๆ ตัวเต็งต่างผ่านเข้ารอบกันมาแบบสบายๆ อาทิ นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ ผ่านฉลุยด้วยคะแนนมาอันดับ 1, นายชัยพร ศิริพงษ์เวคิน อดีตนายกสมาคมผู้สื่อข่าว จ.สมุทรสาครหลายสมัย, นายชวพล วัฒนพรมงคล รองประธานหอการค้า, นายนิคม มากรุ่งแจ้ง อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และนายสกล ก๊กผล ลูกชายอดีต รมช.พาณิชย์
จ.เชียงใหม่ ผู้ที่เข้ารอบระดับอำเภอทั้ง 895 ราย จาก 20 กลุ่มอาชีพ ซึ่งมากเป็นอันดับ 3 ของประเทศ ต่างทยอยเดินทางมาก่อนเวลาลงทะเบียน โดยมีผู้มารายงานตัว 885 ราย ไม่มารายงานตัว 10 ราย ซึ่งผลการคัดเลือกในรอบแรกนั้น นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ ผ่านการคัดเลือกตามคาดหมาย ส่วน น.ส.นารากร ติยายน ผู้ประกาศข่าวชื่อดังกลับตกรอบแรก ซึ่งการคัดเลือกรอบสองช่วงบ่ายนายสมชายก็ยังผ่านเข้ารอบแบบไม่พลิกโผ ได้รับ 10 คะแนนจาก 25 คะแนนในกลุ่มไขว้
ส่วนที่ จ.อ่างทอง ผลการโหวตเลือก สว.ที่บริเวณห้องประชุมโรงแรมสุพร แกรนด์ โฮเต็ลนั้น ผู้ว่าฯ ปู นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี อดีตผู้ว่าฯ อ่างทอง ผ่านฉลุยในรอบแรก และเมื่อเลือกไขว้ข้ามกลุ่มก็ได้คะแนนสูง 2 ลำดับแรกของกลุ่ม เป็นผู้เข้ารอบ 40 คน ได้รับเลือกไปสู่การเลือกระดับประเทศต่อไปในวันที่ 26 มิ.ย.
ผลการลงคะแนนเลือก สว.ระดับจังหวัดในรอบสองหรือรอบไขว้กลุ่ม จ.บุรีรัมย์ พบว่า อดีตข้าราชการพาเหรดตบเท้าเข้าชิงระดับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นนายมงคล สุระสัจจะ อดีตอธิบดีกรมการปกครอง, นายอภิชาติ งามกมล อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ และนายประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล อดีตรองปลัด สธ. เป็นต้น ขณะที่นายการุณ ใสงาม อดีต ส.ส.บุรีรัมย์หลายสมัยนั้นตกรอบ
เช่นเดียวกับที่ จ.นครพนม ก็มีการพลิกล็อกเกิดขึ้น โดยนายอรรถสิทธิ์ (คันคาย) ทรัพยสิทธิ์ อดีต สส.นครพนม 7 สมัยไม่ผ่าน ส่วนที่ จ.บึงกาฬ ดร.อัมพร พินะสา อดีตเลขาฯ กพฐ. ดวงดีจับฉลากได้มีสิทธิ์เข้าไปชิงตำแหน่ง สว.ในระดับประเทศ
จ.ขอนแก่น พบว่าผู้มีชื่อเสียงหลายคนผ่านเข้าชิงเก้าอี้ระดับประเทศ อาทิ นายอัษฎางค์ แสวงการ อดีต สว.ขอนแก่น, นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ อดีต สส.ขอนแก่น และนายฉัตรชัย โลหะมาตย์ อดีตกำนัน ต.วังชัย อ.น้ำพอง เป็นต้น ไม่ต่างจาก จ.ตรัง ที่ผลการเลือก สว.ปรากฏว่า นายธวัช สุระบาล น้องชายนายทวี สุระบาล สส.ตรัง พรรคพลังประชารัฐ, นายทวีป สุระบาล เครือญาตินายทวี, นายลือชัย เจริญทรัพย์ อดีตผู้ว่าฯ ตรัง และนายวิถี สุพิทักษ์ อดีตประธานสโมสรฟุตบอล ตรัง เอฟซี เป็นต้น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'วรงค์' มึน 'กกต.' ปล่อยผู้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง มีบทบาทเหนือหัวหน้าพรรค
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กว่า “ผมรู้สึกมึนกับกกต. ที่ปล่อยให้ผู้ถูกตัดสิทธิ์ทา
กฤษฎีกายี้กม.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์
จับตา ครม.ถกร่าง กม.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ 13 ม.ค.นี้
กสม.ตบปากทักษิณ ซัดปราศรัยเหยียดเชื้อชาติ/‘พท.’ชง‘ลูกอิ๊งค์’คุยพ่อลดดีกรี
"ประธาน กกต." ลั่นพร้อมดูแลเลือกตั้งนายก อบจ. 1 ก.พ.แล้ว
ชทพ.ย้ำห้ามแตะสถาบัน สว.ค้านหั่นเสียง‘สภาสูง’
ชาติไทยพัฒนายันแก้รัฐธรรมนูญห้ามแตะต้องหมวด 1 และ 2 เด็ดขาด “สว.” ย้ำไม่เอาแน่หากเสนอตัดเสียงสภาสูงออก
นายกฯสั่งดูแล คนไทยในสหรัฐ เหตุไฟป่า‘L.A.’
“แพทองธาร” บอกเช็กแล้วไม่มีคนไทยในสหรัฐบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากไฟป่า
คึกคักจัดงานวันเด็กแห่งชาติ
หลายจังหวัดคึกคัก จัดงานวันเด็กแห่งชาติ เหล่าทัพจัดเต็มแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์