กอช.ไฟเขียวหนุนหวยเกษียณ

“เผ่าภูมิ” ยกพี่น้องประชาชนรออยู่ ที่ประชุม กอช.ไฟเขียวหวยเกษียณฯ เตรียมดันเข้าที่ประชุม ครม.ทันควัน “ธงทอง” ขอทีมแถลงผลงานรัฐบาลแก้ไขกฎหมายเอื้อธุรกิจถ่ายหนัง เชื่อจะดันมูลค่ากระฉูดกว่า 2 เท่า

เมื่อวันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน 2567 นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ว่าที่ประชุม  กอช.มีมติเห็นชอบแนวทางในการส่งเสริมการออมทรัพย์เพื่อรองรับการเกษียณแก่ประชากร สอดคล้องกับสถานการณ์ผู้สูงอายุ และโครงสร้างประชากรในประเทศ โดยใช้วิธีการดำเนินการโครงการสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ หรือสลากเกษียณ

“ขั้นตอนต่อไปคือ กอช.จะรายงานผลการประชุมคณะกรรมการฯ ให้กระทรวงการคลังพิจารณา ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการ และเข้าสู่กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 ต่อไป ซึ่งได้สั่งการให้ดำเนินการโดยเร็วที่สุดภายใต้กรอบกฎหมาย เนื่องจากพี่น้องประชาชนรออยู่” นายเผ่าภูมิกล่าว

วันเดียวกัน ที่ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า  ศ.พิเศษธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ เข้าพบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อรายงานผลการดำเนินการและรับฟังประโยชน์ที่ภาคเอกชนได้รับจากการปรับปรุงกฎหมายในการประกอบธุรกิจ  ซึ่งเป็นการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลและนายกฯ โดยมี น.ส.อ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.), นายณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และนายกุลเทพ นฤหล้า นายกสมาคมผู้บริหารการผลิตภาพยนตร์ต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้แทนภาคเอกชนที่ได้รับประโยชน์จากการปรับปรุงกฎหมายเข้าร่วมด้วย

จากนั้น ศ.พิเศษธงทองแถลงข่าวถึงความก้าวหน้าในการปรับปรุงกฎหมายฯ ว่าธุรกิจถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทยมีมูลค่าถึงประมาณปีละ 7,000 ล้านบาท ซึ่งหากสามารถปลดล็อกกฎหมายในเรื่องนี้เพื่ออำนวยความสะดวกการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศมากขึ้น ก็คาดว่าจะมีโอกาสขยายมูลค่าได้ถึงประมาณ 15,000 ล้านบาท สำหรับการดำเนินการในเรื่องนี้กรมการจัดหางานได้ดำเนินการ ดังนี้ 1.การปลดล็อกกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ และการจัดงานเทศกาลดนตรี ที่กรมการจัดหางานดำเนินการอยู่ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ยกเว้นการตรวจสอบคนต่างด้าวสัญชาติจีนกรณีเดินทางเข้ามากับคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศฯ  โดยมีหนังสือรับรองจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ทำให้อำนวยความสะดวกในการยื่นคำขออนุญาตทำงาน โดยในปี พ.ศ.2566 มีคณะถ่ายทำภาพยนตร์จากจีนเข้ามาลงทุนสูงสุดเป็นอันดับ 3 จำนวน 471.98 ล้านบาท รองจากสหรัฐอเมริกาและฮ่องกงตามลำดับ 2.อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขกฎกระทรวงการขออนุญาตการทำงาน การออกใบอนุญาตทำงานและการแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2563 เพื่อให้มีผู้ประสานงานการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทยที่ได้รับมอบหมายมารับใบอนุญาตทำงานแทนได้ ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค.2567 และ 3.อยู่ระหว่างดำเนินการเพิ่มงานเทศกาลดนตรีหรืองานคอนเสิร์ตที่หน่วยงานภาครัฐให้การสนับสนุน เป็นงานอันมีลักษณะจำเป็นหรือเร่งด่วนหรือเฉพาะกิจ กรณีเข้ามาทำการแสดงไม่เกิน 15 วัน โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงานเพื่อลดอุปสรรคเรื่องการขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ให้แก่คนต่างชาติที่เข้ามาทำงานคอนเสิร์ตและงานเทศกาลดนตรีนานาชาติในประเทศไทย

“นายกฯ ได้มีการให้ข้อสังเกตและปรารภถึงกรณีที่ทีมงานถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ รวมถึงงานเทศกาลดนตรีหรืองานคอนเสิร์ตที่มาแสดงในประเทศ คณะทีมงานเหล่านี้ต้องเดินทางเข้าเตรียมงานล่วงหน้าก่อน 15 วัน ซึ่งการที่ขยายให้เข้ามาทำการแสดงไม่เกิน 15 วันนั้น ควรพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการขยายกรอบเวลาตรงนี้ได้หรือไม่ เพื่อให้สอดคล้องกับการทำงานหรือเตรียมงานจริงได้อย่างเพียงพอ จึงจะนำประเด็นนี้ไปประชุมหารือร่วมกับกรมจัดหางานต่อไป” ศ.พิเศษธงทองระบุ

น.ส.อ้อนฟ้ากล่าวว่า สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ปรับปรุง พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 โดยได้จัดทำร่าง พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและการให้บริการแก่ประชาชน พ.ศ..... ซึ่ง ครม.มีมติอนุมัติหลักการแล้ว มีหลักการสำคัญ เช่น การจัดให้มีช่องทางพิเศษแบบเร่งด่วนสำหรับประชาชนในการรับบริการจากหน่วยงาน การขยายขอบเขตให้ทุกใบอนุญาตสามารถชำระค่าธรรมเนียมแทนการต่ออายุใบอนุญาต เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหลายหน่วยงาน

 น.ส.อ้อนฟ้ากล่าวว่า อย.เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีการดำเนินการสอดคล้องกับหลักการดังกล่าว เช่น การลดความซ้ำซ้อนการอนุญาตผลิตภัณฑ์ยาที่ได้รับการตรวจสอบตามมาตรฐานของต่างประเทศ ทำให้ลดเวลาคำขอขึ้นทะเบียนที่อ้างอิงผลประเมิน WHO CRP จากยาใหม่ จากเดิมที่ใช้เวลาถึง 310 วันเหลือเพียง 90 วัน การจัดให้มีช่องทาง Fast Track การยื่นคำขอนำเข้าสินค้ากลุ่มอาหาร เครื่องมือแพทย์และเครื่องสำอางเพื่อมาถ่ายทำภาพยนตร์ ผ่านระบบ e-Submission ซึ่งสามารถอนุมัติได้ภายใน 24 ชั่วโมง การชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตแทนการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต เป็นต้น

ด้านนายณรงค์กล่าวว่า การถ่ายทำภาพยนตร์ รวมถึงงานเทศกาลดนตรีหรืองานคอนเสิร์ตที่มาแสดงในประเทศ และการจัดนิทรรศการนั้น จะมีการนำผลิตภัณฑ์สุขภาพเข้ามาร่วมในการถ่ายทำด้วย เช่น อาหาร เครื่องมือแพทย์ เครื่องสำอาง และยา เรื่องนี้ อย.ได้หารือร่วมกับผู้ประกอบการ โดย อย.ได้มีการทำงานร่วมกับ ก.พ.ร. ในการปรับกระบวนการภายใน อย.ทั้งหมด เพื่อให้อนุมัติและอนุญาตได้ภายใน 24-48 ชม. และได้พัฒนาการให้บริการประชาชนในรูปแบบ e-Service และลดขั้นตอนและระยะเวลาการอนุญาต

เลขาธิการ อย.ยังกล่าวถึงประเด็นที่ นายกฯ ได้ฝากเกี่ยวกับธุรกิจจากต่างประเทศที่จะมาลงทุนในประเทศไทย เช่น บริษัทยารายใหญ่ๆ บริษัทผลิตวัคซีน หรือบริษัทผลิตชีววัตถุฯ ว่า อย.ได้มีการปรับลดกระบวนการดำเนินการภายในแล้ว โดยเฉพาะกรณีที่ได้รับการอนุมัติมาแล้วจากยุโรป แคนาดา WHA รวมถึงระยะเวลา โดยจาก 180 วัน เหลือประมาณกว่า 80 วัน ไม่เกิน 90 วัน โดย อย.จะมีการปรับการดำเนินการภายในให้เร็วกว่าที่ประกาศต่อสาธารณะด้วย

ส่วนนายกุลเทพกล่าวว่า การปรับปรุงกฎหมายทั้งการติดต่อขออนุญาตเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย การอำนวยความสะดวกในการนำเข้าสินค้ากลุ่มอาหาร เครื่องมือแพทย์และเครื่องสำอางเพื่อมาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ การปลดล็อกข้อจำกัดของการรับใบอนุญาตทำงานของคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศเป็นการดำเนินการที่เป็นประโยชน์กับภาคเอกชนในการประกอบธุรกิจ ทำให้การยื่นคำขออนุญาตต่างๆ เกิดความสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ยังมีการดำเนินการในส่วนอื่นที่รัฐบาลเร่งผลักดันให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จ และจะได้รายงานให้ทราบต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง