จี้สางข้อมูลสมัครสว.รั่ว

กกต.” สั่งนับคะแนนเลือก สว.สาย ค. บางเขนใหม่ หลังหายไป 1 คะแนน “แสวง” รับข้อมูลบัตรประชาชนผู้สมัครรั่ว “สมชัย” จี้ 2 หน่วยงานรับผิดชอบ ยุฟ้องศาลจ่ายค่าสินไหม หลาย จว.เตรียมพร้อมเลือกระดับประเทศวันอาทิตย์นี้

เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. สืบเนื่องจากการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ระดับอำเภอ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา ล่าสุด คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้สั่งให้มีการนับคะแนนการเลือก สว.ระดับอำเภอใหม่ ในเขตบางเขน กรุงเทพมหานคร สาย ค. หลังมีผู้สมัคร สว.ร้องขอให้มีการนับคะแนนใหม่ เนื่องจากพบว่ามีคะแนนของสาย ค. หายไป 1 คะแนน

นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า กกต.ได้พิจารณาและมีมติสั่งให้มีการนับคะแนนใหม่เพียงที่เดียว จากคำร้องคัดค้านการดำเนินการเลือก สว.ระดับอำเภอ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา คำร้องเข้ามายัง กกต. จำนวน 11 แห่ง ด้วยเหตุที่จำนวนบัตรกับจำนวนคะแนนไม่ตรงกัน ซึ่งบัตรในสาย ค. มีบัตร 84 ใบจากจำนวนผู้เข้ารอบจำนวน 21 คน โดยผู้สมัครได้รับบัตรคนละ 4 ใบ ผลการนับคะแนนใหม่ปรากฏว่าเป็นบัตรดี 81 ใบ และบัตรเสีย 3 ใบ ขณะที่การเลือกในวันที่ 9 มิ.ย.นั้น นับคะแนนได้ 81 คะแนน ซึ่งเกิดจากการขีดคะแนนทำให้คะแนนหายไป 1 คะแนน ทำให้กลุ่มที่ 11 ได้คะแนนเพิ่มมาอีก 1 คะแนน แต่ไม่ส่งผลต่อลำดับผู้ที่เข้ารอบไปสู่การเลือกในระดับจังหวัด ย้ำว่าการให้นับคะแนนใหม่เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและความชัดเจน 

นายแสวงระบุว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้กำชับเจ้าหน้าที่ทุกระดับการเลือกทั้งระดับอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ ยอมรับว่าเหตุการณ์นับคะแนนที่เกิดขึ้นเนื่องจากการขานหมายเลขระหว่างหมายเลข 11 และหมายเลข 17 มีความใกล้เคียงกัน อาจทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการรับฟังและขีดคะแนน ทั้งนี้ หากผู้สมัครจะไปยื่นฟ้องร้องก็เป็นสิทธิ แต่จากที่ กกต.ได้ตรวจสอบเป็นความผิดพลาดจากการปฏิบัติงาน ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้ทุจริตหรือการเลือกเสียหาย

เลขาธิการ กกต.ยังย้ำถึงเครื่องมือของ กกต.ในการป้องกันการฮั้วเลือก สว. โดยเหลือเพียงกลไกตามมาตรา 77 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. โดย กกต.ได้ติดตามและมีข้อมูลว่าในวันรับสมัคร มีผู้ใดรับจ้างหรือไปจ้างคนลงสมัคร จากนั้นในวันเลือกระดับอำเภอ ได้นำมาพิจารณาว่ามีการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดในการลงสมัครหรือไม่ แต่ถ้ามีมาตรา 36 ถ้าทำเกินกว่าการแนะนำตัวเหมือนแต่ก่อน ขอคะแนน แลกคะแนน หรือไปจัดตั้งมา ทำไม่ได้ แต่ตอนนี้ระเบียบถูกยกเลิกไป ก็เป็นสิทธิเสรีภาพของผู้สมัครที่จะทำ ตราบใดที่ไม่ขัดกับมาตรา 77

 เลขาธิการ กกต.ยังได้ชี้แจงถึงกรณีบัตรประชาชนของผู้สมัคร สว.เกือบ 20,000 รายหลุดว่า ได้ทำหนังสือชี้แจงต่อคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลว่า กกต.มีมาตรการแก้ไขเยียวยา ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลเบื้องต้น แต่ยังไม่ได้เข้าสู่การครอบครองของสำนักงาน ยอมรับว่ามีข้อมูลหลุดจริงตามที่ได้ติดตามและมีข้อมูลอยู่ ส่วนจะหลุดในขั้นตอนไหนนั้น ขอตรวจสอบก่อน เพราะหลังจากที่เกิดเหตุขึ้นก็ได้มีการแก้ไขทันที

ส่วนที่มีการคาดการณ์ว่าจะมีผู้สมัคร สว.บางคนรอไปเข้ารอบระดับประเทศนั้น เลขาธิการ กกต.ชี้แจงว่า เป็นเพียงการวิเคราะห์ ขาดความเป็นไปได้ เช่น ที่สื่อมวลชนทำการวิเคราะห์ แต่ต้องดูว่าผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งเห็นว่าจากที่มีการวิเคราะห์ทั้ง 2-3 โพย ก็ไม่ใช่พวกเดียวกัน ต่างคนต่างมา แต่มาเกาะกลุ่มเดียวกัน ตราบใดที่ยังไม่ผิดกฎหมายก็ไม่สามารถเอาผิดได้ และจะต้องสืบในทางลับต่อไปเพื่อรวบรวมข้อมูลไว้

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้สมัคร สว. และอดีต กกต. โพสต์แสดงความคิดเห็น ถึงกรณีมีข้อมูลของผู้สมัคร สว. จำนวนกว่า 20,000 ชื่อ พร้อมหมายเลขบัตรประชาชนหลุดต่อสาธารณะว่า ในเรื่องดังกล่าว เลขาธิการ กกต.มีฐานะเป็นผู้ควบคุมข้อมูล หรือ data controller ตามกฎหมาย PDPA กระทรวงมหาดไทย มีฐานะเป็นผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล หรือ data processor รวมทั้งผู้ควบคุมข้อมูล และผู้ประมวลผลข้อมูล มีหน้าที่จัดให้มีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลที่เหมาะสม

ยุฟ้องเรียกค่าสินไหม

นายสมชัยระบุว่า เลขบัตรประชาชน แม้ไม่เป็น sensitive data แต่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ผู้ควบคุมข้อมูลพึงระมัดระวัง เพราะสามารถนำไปใช้ในทางมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าของข้อมูลได้ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ที่นำข้อมูลไปเปิดเผยต่อผู้อื่น ทำให้ล่วงรู้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่น มีโทษทางอาญา จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 500,000 หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ควบคุมข้อมูล และผู้ประมวลผลข้อมูลไม่จัดให้มีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยที่เหมาะสม มีโทษทางปกครอง ปรับไม่เกิน 3 ล้านบาท

 “เจ้าของข้อมูลที่ได้รับความเสียหายจากข้อมูลที่เผยแพร่ สามารถฟ้องผู้ควบคุมหรือผู้ประมวลผลให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ โดยศาลมีอำนาจสั่งให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้นอีก ไม่เกิน 2 เท่าของค่าสินไหมที่แท้จริง ข้อมูลที่หลุด คือ รายชื่อผู้ที่ผ่านการคัดเลือกรอบอำเภอไปสู่ระดับจังหวัด ความยาว 657 หน้า จำนวน 23,645 คนเท่านั้น” นายสมชัยระบุ

ขณะที่สำนักงาน กกต. ได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ประชาชนที่สนใจร่วมสังเกตการณ์การเลือก สว.ระดับจังหวัด ในวันที่ 16 มิ.ย.67 และระดับประเทศ ในวันที่ 26 มิ.ย.67 ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการเลือก สว. โดยสามารถยื่นคำร้องขอสังเกตการณ์กระบวนการเลือก สว.ต่อผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดและผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศแล้วแต่กรณี เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนและความโปร่งใสในกระบวนการเลือก สว.

ทั้งนี้ สำนักงาน กกต. คณะกรรมการการเลือกตั้ง จะจัดเตรียมพื้นที่ให้ผู้สังเกตการณ์ ประชาชนทั่วไป สามารถสังเกตการณ์การเลือกได้อย่างใกล้ชิด โดยต้องไม่ก้าวก่ายหรือยุ่งเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการประจำสถานที่เลือกในแต่ละระดับ และไม่เป็นอุปสรรคในระหว่างดำเนินการเลือก ผู้สนใจสามารถยื่นแบบคำขอสังเกตการณ์การเลือกสมาชิกวุฒิสภา ได้ที่สำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดทุกจังหวัด สำหรับการเลือกระดับจังหวัด และสำนักงาน กกต.ส่วนกลาง สำหรับการเลือกระดับประเทศ

วันเดียวกัน นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. และนายชาย นครชัย กกต. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและสังเกตการณ์การอบรมคณะกรรมการประจำสถานที่เลือก สว.ระดับจังหวัด ที่ห้องศาลาประชารวมใจ เทศบาลเมืองราชบุรี อ.เมืองราชบุรี จ.ราชบุรี โดยประธาน กกต.ได้ให้ข้อสังเกตและข้อแนะนำกับผู้เข้ารับการอบรมในเรื่องการขานคะแนนว่า ให้ขานอย่างช้าๆ และชัด ๆ และการจัดระเบียบกลุ่มผู้สมัครให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ให้คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นส่วนรวม 

ประธาน กกต.ยังย้ำถึงวัตถุประสงค์การติดตั้งกล้องวงจรปิดถ่ายทอดเหตุการณ์กระบวนการเลือก สว.ว่า เพื่อติดตามพฤติกรรมของผู้สมัคร สว. อันน่าสงสัยบางคนได้ ขณะเดียวกัน เป็นเครื่องยืนยันการทำงานของเจ้าที่เป็นไปโดยสุจริต    

หลาย จว.เตรียมพร้อม

ส่วนที่สำนักงาน กกต.จว.สมุทรสาคร นายพงษ์พัชร์ สายช่างทอง ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสมุทรสาคร ได้สั่งเข้มตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกเป็น สว. ปรากฏว่าที่ผ่านด่านการเลือกระดับอำเภอขึ้นมาแล้วอาจไม่ผ่านด่านคุณสมบัติจำนวนหลายราย ส่อพบว่าขาดคุณสมบัติ ซึ่งจะต้องถูกลบชื่อและถูกดำเนินคดี และต้องโทษตามกฎหมาย มาตรา 13 และมาตรา 14 แห่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561

ที่ จ.เชียงใหม่ นายนพดล สุยะ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการอบรมทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ประจำสถานที่เลือก สว.ระดับจังหวัด ที่จะมีในวันที่ 16 มิ.ย.นี้ โดยมีคณะกรรมการประจำสถานที่เลือกและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยความสงบเรียบร้อย 151 คน เพื่อให้การเลือก สว.เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

เช่นเดียวกับที่ จ.บึงกาฬ นายจุมพฏ วรรณฉัตรสิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ  เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประจำสถานที่เลือก สว.ระดับจังหวัด หลังผ่านการรับเลือกตั้งในระดับอำเภอ ทั้ง 8 อำเภอ และได้รายชื่อผู้สมัคร สว.ทั้งหมด 186 คน เพื่อพิจารณาเตรียมการจัดการเลือก สว.ในระดับจังหวัด

โดยนายไพรัตน์ คัณทักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า ผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภาทั้ง 8 อำเภอ รวมทั้งสิ้น 186 คน มีอยู่ 2 กลุ่มอาชีพที่ไม่มีผู้สมัครเลยคือ กลุ่มที่ 12 ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม และกลุ่มที่ 13 อาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร นวัตกรรม ซึ่งการเลือกตั้งในระดับอำเภอทั้ง 8 อำเภอเป็นไปด้วยความเรียบร้อยราบรื่น ไม่มีปัญหาใดๆ มีผู้สมัครไม่มาแสดงตนจำนวน 27 คน

เขากล่าวว่า สำหรับการเลือก สว.ในระดับจังหวัด สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดบึงกาฬ จะใช้ห้องประชุมเดอะวันคอนเวนชั่นฮอลล์ โรงแรมเดอะวัน อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ เป็นสถานที่เลือกตั้ง สว.ระดับจังหวัด ในนามของ กกต. ตระหนักถึงการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในการตรวจสอบการเลือก สว. จึงขอประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ประชาชนที่สนใจร่วมสังเกตการณ์การเลือก สว.ในระดับจังหวัด ในวันที่ 16 มิ.ย.นี้ สามารถขอเข้าสังเกตการณ์กระบวนการเลือก สว. ทั้งนี้ กกต.จะจัดเตรียมพื้นที่ให้ผู้สังเกตการณ์ ประชาชนทั่วไป ให้สามารถสังเกตการณ์การเลือกได้อย่างใกล้ชิด โดยต้องไม่ก้าวก่ายหรือยุ่งเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการประจำสถานที่เลือกในแต่ละระดับ และไม่เป็นอุปสรรคในระหว่างดำเนินการเลือกตั้ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง