คว่ำนิรโทษคดี112 ปชช.64%โหวตผ่านเว็บรัฐสภา/กมธ.เคาะตั้งกก.กลั่นกรอง

"กมธ.นิรโทษกรรม" เคาะตั้ง "กก.กลั่นกรองคดี" เหตุขอบเขตนานเกือบ 20 ปี-สถานการณ์ซับซ้อน ต้องชัดเจน  "ปชช." แห่โหวตค้านนิรโทษฯ เหมาเข่งรวมคดี 112 "รองอ๋อง" ควันออกหู สั่งสอบเว็บสภาฯ อ้างผลโหวตผิดปกติ 64% ไม่เอานิรโทษฯ คดี 112 "นักวิชาการ" รุมจวก "รองปธ.สภาฯ" ยอมรับความจริงบ้าง ชี้โหวตลงเลขบัตร ปชช.มีตัวตนจริง  "นายกฯ" ถกทีม กม.เพิ่มข้อมูลส่งศาลรธน. "อุ๊งอิ๊ง" เดินสายขอนแก่น อ้อนแฟนคลับบอกพ่อใหญ่ทักษิณคิดฮอดทุกคน

ที่รัฐสภา วันที่ 13 มิถุนายน มีการประชุมกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร โดยนายวุฒิสาร ตันไชย รองประธาน กมธ. ทำหน้าที่ประธานในการประชุม

ก่อนการประชุม รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในฐานะประธาน กมธ.ศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้สัมภาษณ์ถึงความเห็นของคณะอนุ กมธ. ที่ต้องการให้คณะกรรมการนิรโทษกรรมควรเป็นบทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติว่า เราเคยได้เสนอเป็นตัวแบบสองทางเลือก คือ 1.ให้เป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร โดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการฯ 2.ให้ประธานสภาผู้แทนเป็นประธานคณะกรรมการฯ และประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานคณะกรรมการฯ แต่ กมธ.วิสามัญฯ ก็มีความเห็นที่หลากหลาย ท้ายที่สุดเราจึงมีการปรับเปลี่ยน และให้น้ำหนักยังคงเป็นของฝ่ายนิติบัญญัติเป็นหลักในการมีบทบาทนำ โดยให้ประธานสภาฯ เป็นประธานคณะกรรมการฯ และนายกฯ หรือรองนายกฯ ที่ได้รับมอบหมายเป็นรองประธานคณะกรรมการฯ

รศ.ดร.ยุทธพรกล่าว่า ในการประชุมจะมีการสรุปข้อเสนอทั้ง 7 ข้อ ที่คณะอนุ กมธ.เสนอไป แต่ใน กมธ.ชุดใหญ่ ต้องพิจารณาในประเด็นต่างๆ ว่าจะต้องเดินหน้าต่อไปอย่างไร เนื่องจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีการเห็นชอบไปเพียง 3 เรื่อง ส่วนตัวคิดว่า กมธ.ชุดใหญ่จะรับทั้งหมด แต่จะฟังทั้งหมดหรือไม่ขึ้นอยู่กับ กมธ.วิสามัญฯ

ถามถึงกรณีเว็บไซต์รัฐสภาเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับภาคประชาชน ซึ่งผลปรากฏว่ามีผู้ไม่เห็นด้วยมากกว่า ทาง กมธ.จะปัดตกร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้หรือไม่ รศ.ดร.ยุทธพรกล่าวว่า ทั้งร่างของประชาชนและร่างของพรรคการเมืองเป็นเอกสิทธิ์ของสภา ดังนั้น กมธ.วิสามัญฯ ไม่มีอำนาจไปปัดตกใดๆ ทั้งสิ้น แต่หาก กมธ.วิสามัญฯ มีข้อเสนอก็จะถูกหยิบจับไปเสนอต่อสภา ซึ่งสภาก็มีเอกสิทธิ์ที่จะฟังข้อเสนอหรือไม่ก็ได้ จะฟังทั้งหมดหรือจะฟังแค่เพียงบางส่วนไปใช้เพื่อไปผนวกกับร่างกฎหมายก็ได้ โดยร่างทั้งหมดที่ถูกเสนอเข้าสภาขณะนี้ สภาก็มีเอกสิทธิ์ที่จะนำร่างทั้งหมดมารวมกันทั้งหมด หรือจะไม่เอาร่างกฎหมายใดมาเลยแล้วยกร่างทั้งฉบับก็ได้

ต่อมาภายหลังการประชุม นายวุฒิสาร ตันไชย รองประธาน กมธ.นิรโทษกรรม ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมได้รับทราบและเห็นชอบ 7 ประเด็นที่คณะอนุกรรมาธิการศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเสนอมา คณะกรรมาธิการฯ เคารพความเห็นของคณะอนุกรรมาธิการฯ และนำเอามาเป็นสารตั้งต้นในการพิจารณา แต่ไม่ได้แปลว่าจะเห็นด้วยกับทั้งหมดทุกเรื่อง และที่ประชุมได้ข้อยุติว่าในการนิรโทษกรรมคราวนี้จำเป็นต้องมีกลไกของคณะกรรมการกลั่นกรอง

ตั้ง กก.กลั่นกรองคดีนิรโทษฯ

"การมีคณะกรรมการกลั่นกรอง เพราะขอบเขตระยะเวลาในการนิรโทษกรรมค่อนข้างยาว ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลาเกือบ 20 ปี ดังนั้นเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงการกระทำของบุคคลที่มีแรงจูงใจทางการเมืองและเข้าข่ายการได้รับนิรโทษกรรมก็มีความหลากหลาย อีกทั้งในอดีตฐานความผิดที่จะนิรโทษกรรมก็เพิ่มมากขึ้น เพราะเหตุการณ์ต่างๆ มีความซับซ้อนมากกว่าในอดีต ผู้ที่เข้าข่ายก็อาจมีหลายความผิดและหลายคดี ซึ่งมีฐานมาจากกฎหมายหลายประเภท และในช่วงโควิด-19 ก็มีกฎหมายพิเศษเข้ามาอีก การที่จะนิรโทษกรรมไปเลยโดยไม่มีการกลั่นกรองอาจจะทำให้ความยุติธรรมไม่สมบูรณ์ จึงมีคณะกรรมการเข้ามาทำหน้าที่ช่วยพิจารณาข้อเท็จจริง และรับคำอุทธรณ์ของผู้ที่ไม่ได้เข้าข่ายรับการนิรโทษกรรมด้วย อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าวยังไม่ได้พิจารณา" นายวุฒิสารกล่าว

ถามถึงร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับภาคประชาชน ที่มีการเปิดรับฟังความเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของรัฐสภา โดยเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย รองประธาน กมธ.นิรโทษกรรม กล่าวว่า ประเด็นต่างๆ ที่สื่อมวลชนได้นำเสนอ รวมถึงข้อคิดเห็นที่มีผู้ส่งเข้ามาทางคณะกรรมาธิการฯ รับฟังทั้งหมด แต่หน้าที่สำคัญคือการให้คำตอบกับสภาในการศึกษาแนวทางการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ของรัฐสภา ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 รัฐธรรมนูญ ของร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. …. ที่ น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 36,723 คน ร่วมกันเสนอ ตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมาเป็นสุดท้าย

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ.…. ที่ขึ้นเว็บไซต์รัฐสภา ที่นิรโทษกรรมรวมคดี 112 ด้วยนั้น มีเนื้อหาบางส่วนดังนี้ ร่าง พ.ร.บ.นี้กำหนดให้นิรโทษกรรมแก่การกระทำความผิดที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.2549 จนถึงวันที่พ.ร.บ.มีผลใช้บังคับ โดยมีคณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชน เป็นผู้วินิจฉัยการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมืองที่สมควรได้รับการนิรโทษกรรม เว้นแต่คดีตามร่างมาตรา 5 ซึ่งได้รับการนิรโทษกรรมโดยคณะกรรมการไม่ต้องพิจารณาวินิจฉัย ดังนี้ 1.คดีความผิดตามประกาศ และคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 2.คดีพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2557 และฉบับที่ 38/2557 3.คดีตามฐานความผิดในมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา 4.คดีตามฐานความผิดในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และ 5.คดีตามฐานความผิดในพระราชบัญญัติออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 6.คดีตามฐานความผิดที่เกี่ยวโยงกับคดีข้างต้น

ล่าสุด วันที่ 13 มิ.ย. ได้ปิดรับฟังความเห็นแล้วพบว่ามีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นทั้งสิ้น 90,503 คน โดยไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว 64.66% เห็นด้วย 35.34 %

แห่ค้านไม่เอาเหมาเข่ง 112

นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กล่าวถึงผลการให้ความเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของรัฐสภาว่า จากตัวเลขดังกล่าวฟ้องว่าประชาชนส่วนมากไม่เห็นด้วย หรือมีความเป็นห่วงในตัวเนื้อกฎหมายของร่าง พ.ร.บ.ฉบับประชาชนฉบับนี้ ที่มีเงื่อนงำแปลกในการเหมาเข่งนิรโทษกรรมคดี ม.112 ทุกกรณี (ไม่นับเฉพาะคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง) ซึ่งหลุดออกนอกวัตถุประสงค์ที่มุ่งนิรโทษกรรมในคดีทางการเมือง และยังเป็นคดีที่มีความอ่อนไหวในสังคม

นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนยังเปิดช่องให้สามารถนิรโทษกรรมคดีทุจริตประพฤติมิชอบของนักการเมือง ที่หลายคนยอมรับไม่ได้ หรือคดีความผิดถึงแก่ชีวิต ม.289 อย่างฆ่าเจ้าหน้าที่พนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ชีวิตที่เสียไปจะนิรโทษฯครอบครัวเค้าได้อย่างไร สำหรับกระบวนการพิจารณาต่อไป ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย จะถูกนำเสนอให้มีการปรับแก้ไขยังไม่จบ รอติดตามการปรับแก้กันต่อไปครับ

 “เหนืออื่นใดต้องขอบคุณประชาชนที่ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ในการแสดงสิทธิตามกรอบรัฐธรรมนูญ มาตรา77 อย่างพร้อมเพรียงกัน” รองโฆษก รทสช.ระบุ

ขณะที่ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 โพสต์ข้อความในแพลตฟอร์ม X ว่า ผมได้สั่งการให้มีการตรวจสอบ IP address และความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเว็บไซต์รับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายแล้ว จะแจ้งให้ทุกท่านทราบข้อเท็จจริงโดยเร็วครับ พร้อมติดแฮชแท็ก #พรบนิรโทษกรรม

ส่วนเพจวันนี้ก้าวไกลโกหกอะไร-สำรอง โพสต์ข้อความว่า ทุกคนคะ โหวตครั้งนี้เสียงประชาชนคนไทย ชนะ IO รับเงินต่างชาติอย่าง iLaw, ศูนย์ทนายสิทธิ และอีกหลาย NGOs ที่คอยปลุกปั่นให้คนไทยแตกแยกกัน ขอบคุณพวกเราที่ช่วยกัน และสมน้ำหน้าพวกมันค่ะ โพสต์นี้ร่วมแสดงความรู้สึกกันค่ะ ทุกคนคะหมออ๋อง สั่งการตรวจสอบผลโหวต แพ้ได้ไง!! การโหวตครั้งนี้มีการแทรกแซงและผิดปกติหลายจุด ตั้งแต่ปล่อยให้คนไทยที่รับเงินต่างชาติเช่น iLaw ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ปลุกระดมให้คนโหวตนิรโทษกรรม ความผิด ม.112

รวมถึงปล่อยให้คณะก้าวหน้า และ สส.ก้าวไกล ใส่ร้ายคนเห็นต่างว่าเป็น io โดยเฉพาะตัว สส.ที่กินเงินภาษีประชาชน แต่กลับด้อยค่าคนเห็นต่าง

"ที่เลวร้าย วันสุดท้ายมีการปั่นโหวตเพิ่มขึ้นผิดปกติและหลังปิดโหวต คะแนน เห็นด้วยยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึงตีหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถชนะเสียงประชาชนได้ การที่รองประธานสภาที่ดูแลหน่วยงานนี้ปล่อยให้เกิดเรื่องชั่วร้ายแบบนี้ นอกจากไม่แสดงความรับผิดชอบ ยังสั่งสอบผลว่าแพ้ได้ไงเอาใจต่างชาติอีกหรือคะ? รองประธานสภา สมควรลาออกได้แล้วค่ะ" เพจดังกล่าวระบุ

ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กว่า  กล่าวหาว่าการ vote ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคนทำผิดมาตรา 112 เป็น IO คุณรู้ได้ยังไง คุณมีหลักฐานเหรอ คนที่เขา vote เขาต้องให้เลขบัตรประชาชนนะ มีตัวตนที่แท้จริง แล้วฝั่งของคุณที่ vote เห็นด้วยล่ะ เป็นตัวจริงทั้งหมดหรือเปล่า คะแนนไม่เห็นด้วย 60% กว่าๆ เห็นด้วย 30% กว่าๆ มันก็ชัดแล้วนะ ว่าคนส่วนใหญ่เขาไม่ต้องการให้นิรโทษกรรม 112  ถึงเวลานี้จะยอมรับแล้วยังว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

นายภัทร เหมสุข นักวิชาการอิสระ  โพสต์เฟซบุ๊กเช่นกันว่า เลิกดูถูกประชาชนฝั่งตรงข้ามตัวเองได้แล้วครับ คนที่จะโหวตต้องกรอกบัตรประชาชน ไม่มี IO แน่นอน คนไม่เอากฎหมายนิรโทษกรรม 64.98% ขณะที่คนที่เอามีเพียง 35.02% สิ่งนี้บอกอะไรได้หลาย 1.อย่าท้าทายระบบ คนเห็นด้วยว่าคนทำผิดต้องรับโทษมีมากกว่า แม้ว่าคนนั้นจะมีความเห็นทางการเมืองตรงกันหรือไม่ตรงกัน ก็ไม่มีใครอยากให้คนทำผิดมีอำนาจเหนือกฎหมายและรัฐธรรมนูญ 2.ทำชั่วแล้วไม่ต้องรับกรรมชั่วไม่มีในโลกนี้ในมุมมองของกฎหมาย แม้บางคนมันจะซิกแซ็กรอดตัวจากกฎหมายในวันนี้ แต่วันหน้ากฎแห่งกรรมจะทำหน้าที่ลากคอมันมารับกรรมจนได้ ผมเชื่อแบบนี้ครับ 3.เลือกตั้งครั้งหน้ามีตัวแปรเพิ่มขึ้นแน่นอน ผมไม่สนใจหรอกครับว่าพรรคไหนจะเข้ามา แต่รู้อย่างหนึ่งคือเพื่อไทยเก้าอี้น้อยลงแน่นอนถ้ายังดื้อเป็นแกนนำผลักดันเรื่องนี้

นายตระกูล วินิจนัยภาค อดีตอัยการสูงสุด (อสส.) โพสต์เฟซบุ๊กสั้นๆ ว่า To whom it may concern (โดยเฉพาะคนที่อยากจะร้องขอความเป็นธรรมไปเรื่อยๆ)  ว่า เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3278/2522 ไว้นานแล้วว่า เมื่ออธิบดีกรมอัยการชี้ขาดให้ฟ้องคดีตามความเห็นแย้งของอธิบดีกรมตำรวจแล้ว คำสั่งชี้ขาดให้ฟ้องคดีของอธิบดีกรมอัยการเป็นอันถึงที่สุด พนักงานอัยการต้องฟ้องไปตามนั้น เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ให้อำนาจอธิบดีกรมอัยการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาชี้ขาดใหม่ได้อธิบดีกรมอัยการจึงไม่มีอำนาจที่จะชี้ขาดกลับคำสั่งของตนได้อีก

นายกฯ ถกเพิ่มข้อมูลส่งศาล

ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) นำรถเครื่องขยายเสียงมาเปิดการปราศรัยชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนร่วมกันออกมาคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่เหมารวมคดี ม.112 คดีทุจริตคอร์รัปชัน และคดีอาญาร้ายแรง

วันเดียวกัน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญขอให้ส่งข้อมูลเพิ่มเติม จากกรณีที่ 40 สว. ร้องให้ตรวจสอบอำนาจการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ ว่า วันนี้ (13 มิ.ย.) ทีมที่ปรึกษาจะเข้ามาพูดคุยกัน ซึ่งมีทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งทีมทนายส่วนตัว สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และกฤษฎีกาด้วย ซึ่งต้องนำมาพิจารณา

"เรื่องนี้ผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมควรมาพูดในที่สาธารณะ เป็นเรื่องที่เราพูดกันไปแล้ว และข้อมูลที่สาธารณชนจะได้รับทราบก็รับทราบกันอยู่แล้ว โดยส่วนตัวก็มีหน้าที่ชี้แจงตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ขอมา ตรงนี้ก็ให้เกียรติซึ่งกันและกัน และผมก็มั่นใจว่าเดี๋ยวเราจะส่งข้อมูลตามที่ท่านขอมาได้" นายกฯ กล่าว

ส่วนนายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ลงพื้นที่นนทบุรี ประกาศกวาดหมดเลยในนนทบุรีว่า  ยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทยพื้นที่ไหนเราเคยมี สส. แต่รอบนี้เราพลาด เราต้องพยายามเอากลับมาให้ได้ ตรงไหนที่เราเป็นแชมป์เราต้องทวงแชมป์กลับมา ซึ่งฝ่ายบริหารพรรคเน้นย้ำก่อนนายทักษิณจะพูดเสียอีก

ถามว่า สถานะของนายทักษิณกับพรรคเพื่อไทยเป็นอย่างไร นายสรวงศ์กล่าวว่า นายทักษิณเป็นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ช่วยแนะนำวิธีการต่างๆ ที่เรานำมาปรับใช้เพื่อช่วยเหลือประชาชน และถือเป็นกำลังใจสำคัญของสมาชิกพรรค แต่ยืนยันการลงพื้นที่ของนายทักษิณไม่ใช่กิจกรรมของพรรค กิจกรรมของพรรคก็จะเน้นให้ผู้บริหาร พรรคและสมาชิกพรรคลงพื้นที่ไปรับฟังปัญหาและหาแนวทางช่วยเหลือประชาชน

ที่ จ.ขอนแก่น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เดินทางมาสำรวจสินค้าท้องถิ่น เพื่อรับทราบความต้องของชาวบ้าน นำข้อมูลไปพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ โดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร กล่าวทักทายกับพี่น้องประชาชนที่มารอต้อนรับเป็นภาษาอีสานว่า "คิดฮอดขอนแก่นหลายเด้อ" พร้อมระบุว่า พ่อใหญ่ทักษิณฝากความคิดฮอดมาเด้อ ถ้ามีโอกาสจะมาหาพี่น้องแน่นอน

จากนั้นได้เดินไปถ่ายรูปกับชาวบ้านที่มารอต้อนรับทุกกลุ่มอย่างเป็นกันเอง และได้เดินชมสินค้าจากชุมชน นอกจากนี้ยังได้สั่งผ้าฝ้ายจากกลุ่มทอผ้าไหมอีรี่ จำนวน 2 ชิ้น ขนาด 2.50 เมตร ราคารวม 3,500 บาท

ต่อมา น.ส.แพทองธารลงพื้นที่พบปะกับผู้ประกอบการผ้าไหมมัดหมี่ในพื้นที่ เพื่อมารับทราบข้อมูลการผลักดันให้เป็นสินค้าแฟชั่นซอฟต์พาวเวอร์ประจำจังหวัด และต่อยอดไปสู่ระดับประเทศ โดย น.ส.แพทองธารได้เดินชมวิธีการทอผ้าไหมหมี่ตั้งแต่เริ่มกระบวนการถึงการตัดเย็บ พร้อมกับเดินดูพิพิธภัณฑ์ที่นำผ้าลายต่างๆ ในภาคอีสานมาจัดแสดง ท่ามกลางบรรยากาศเป็นกันเองของชาวบ้านที่มาต้อนรับ

ที่กรมชลประทาน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)  ย้อนถามสื่อกรณีถูกซักว่า สส.พรรค พปชร.จะไปให้กำลังใจ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคว่า ไปให้กำลังใจท่านเรื่องอะไร ท่านมีกำลังใจดีอยู่แล้ว เราอย่าไปตามกระแสที่คิดและคาดการณ์  เดาและเข้าใจกันเอง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พ่อนายกฯขู่เช็กบิล! พรรคร่วมโดดประชุมครม.-นักร้อง/ขอพระเจ้าอยู่ต่ออีก17ปี

"เพื่อไทย" คึก! 3 นายกฯ ร่วมทีมขึ้นรถไฟสัมมนาพรรคที่หัวหิน "นายกฯ อิ๊งค์" ขอ  สส.ไม่แบ่งขั้ว-อายุ ยอมรับ 3 เดือนโฟกัสงานรัฐบาล