‘กกต.-ก.ก.’โต้เดือดปมยุบพรรค

กกต.ออกโรงโต้ "ก้าวไกล"  ปมยื่นคำร้องยุบพรรค ชี้หลักฐานอันควรเชื่อได้คือคำวินิจฉัยศาล รธน. ชี้ไม่ดำเนินการ กกต.ก็โดนด้วย ย้ำทำตามมาตรา 92  พ.ร.ป.พรรคการเมือง "ชัยธวัช" ตะแบงกลับทันที อย่าตีความกฎหมายแบบศรีธนญชัย ย้อนถามคำสั่งศาลผูกพันใคร อ้างแค่สั่งให้ "พิธา-ก.ก." เลิกการกระทำ

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง  (กกต.) เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน นายปกรณ์ มหรรณพ กกต. แถลงชี้แจงกรณีการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้มีการสั่งยุบพรรคก้าวไกลว่า เหตุผลในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 31 ม.ค.2567 ได้ระบุชัดเจนว่า การกระทำของผู้ถูกร้อง เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คำวินิจฉัยนี้ทำให้ กกต.ไม่อาจจะทำอย่างอื่นได้ เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 92 (1) (2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ถือว่า กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้แล้ว ถ้าขนาดที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ใช่หลักฐานอันควรเชื่อถือได้ กกต.คงตอบกับสังคมยาก

นอกจากนี้ เหตุที่ต้องยื่น เพราะคำวินิจฉัยดังกล่าวของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันกับ กกต. และมีผู้มาร้องเรียนในเรื่องนี้ กกต.จึงจำเป็นต้องยื่น หาก กกต. ไม่ยื่นคำร้องอาจจะมีความผิดตามกฎหมายได้ อีกทั้งการยื่นคำร้องในครั้งนี้เป็นไปตามตามมาตรา 92 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง จึงไม่มีเหตุที่จะต้องไต่สวน เพียงแต่ "มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า" นั่นจึงไม่มีเหตุที่จะต้องไต่สวน ซึ่ง กกต.ปฏิบัติในลักษณะเดียวกันกับการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้มีคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเมื่อ กกต. "มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า" ผู้ถูกร้องได้กระทำการอันเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคของผู้ถูกร้อง ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา

นายปกรณ์กล่าวว่า การยื่นครั้งนี้ยื่นตามมาตรา 92 ซึ่งระเบียบการไต่สวนของ กกต.มี 2 ฉบับ ฉบับแรกใช้เป็นการทั่วไปตามระเบียบปี 2561 ใช้กับทุกกรณี หากพบว่าการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริต หรือมีการร้องเรียนเข้ามา แต่กรณีที่หลายฝ่ายกล่าวอ้างว่าไม่เปิดให้ผู้ถูกร้องชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และแสดงพยานหลักฐานนั้น การดำเนินการตามมาตรา 93 เป็นกรณีความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่ามีการกระทำ เมื่อมีการกระทำ นายทะเบียนต้องรวบรวมพยานหลักฐานแจ้งข้อกล่าวหา และเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ก่อนเสนอความเห็นต่อ กกต. ซึ่งมาตรา 93 ออกระเบียบไม่เกี่ยวกับมาตรา 92 ซึ่งทั้งสองมาตรามีความแตกต่างกัน

"มีคำถามมากว่าเห็นด้วยที่มีการยุบพรรคการเมืองหรือไม่ กกต.มีการพูดคุยกันมาก และตอบได้อย่างเดียวว่า กกต. ไม่สามารถตอบได้ กกต.เป็นผู้ปฏิบัติ ต้องเคารพตามกฎหมายและปฏิบัติตามกฎหมาย จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยไม่ได้  แต่เมื่อใดมีผู้ไม่เห็นด้วยกับกฎหมาย และแก้กฎหมาย เช่น ไม่มีการบัญญัติกฎหมายเรื่องยุบพรรคการเมือง กกต.แม้แต่จะคิดก็ยังไม่กล้าครับ นี่คือสิ่งที่เราทำตามกฎหมายและปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายทุกอย่าง บางครั้งอาจเข้าใจสับสนบ้าง แต่สิ่งที่เราอยากจะแถลงให้สื่อมวลชนพี่น้องประชาชนได้ทราบ ก็คือเราทำตามกฎหมายทุกอย่าง ผลจะเป็นอย่างไร เราเคารพและรับฟังปฏิบัติตามดุลยพินิจของศาลรัฐธรรมนูญเต็มที่" นายปกรณ์ระบุ

เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกลส่งคลิปที่ประธาน กกต.ให้สัมภาษณ์ในทำนองยอมรับว่าการพิจารณาเรื่องยุบพรรคขัดต่อระเบียบและเป็นการข้ามขั้นตอน นายปกรณ์กล่าวว่า สิ่งนี้จะต้องดูภาพรวมทั้งหมดของคำให้สัมภาษณ์ของแถลง ไม่ใช่ตัดเฉพาะบางส่วนออกมา ส่วนที่พรรคก้าวไกลแย้งว่าไม่อาจเทียบได้กับกรณียุบพรรคไทยรักษาชาตินั้น ประเด็นนี้อยู่ที่ศาลแล้ว กกต.ที่เป็นคู่กรณีไม่อาจแสดงความเห็นได้ เราเคารพศาลอย่างยิ่ง

สำหรับบัญชีพยานหลักฐานที่จะยื่นต่อศาลมีรายละเอียดอย่างไรบ้างนั้น นายปกรณ์กล่าวว่า ได้ทราบคร่าวๆ แล้ว แต่กำลังรอหนังสือจากศาลฉบับเต็มว่าจะระบุอย่างไร แล้วจะรีบปฏิบัติตามคำสั่งศาลทันที ส่วนนายอิทธิพร บุญประคอง  ประธาน กกต. จะเป็นหนึ่งในรายชื่อพยานหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ดำเนินการ

ทางด้านนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ตอบโต้กลับว่า กกต.กำลังจะบอกว่าการยุบพรรคการเมืองนั้นมี 2 ช่องทาง คือ 1.พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 ซึ่งเป็นเรื่องของ กกต. ที่หากมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าสามารถยื่นได้เลย โดยที่ไม่ต้องมีกระบวนการสอบสวน สามารถใช้ดุลยพินิจได้ตามอำเภอใจ ที่จะยื่นคำร้อง 2.มาตรา 93 ซึ่งเป็นเรื่องของนายทะเบียน ไม่ได้เกี่ยวกับ กกต. หากมีความปรากฏว่าพรรคการเมืองกระทำผิดถึงขั้นยุบพรรค ให้ไปสอบสวนรวบรวมข้อเท็จจริงตามระเบียบที่ออกไว้ นี่คือสิ่งที่ กกต.กำลังสื่อสาร ซึ่งมองว่าเป็นปัญหา เพราะกระบวนการที่จะยื่นยุบพรรคการเมืองเป็นเรื่องใหญ่ ต้องมีกระบวนการรวบรวมข้อเท็จจริงสืบสวนสอบสวนเป็นเบื้องต้นอยู่แล้ว การอ่านกฎหมายอย่าไปตีความแบบศรีธนญชัย กฎหมายเขียนลำดับไว้อย่างชัดเจน

นายชัยธวัชกล่าวว่า กกต.เองเป็นคนบอกพรรคการเมืองมาโดยตลอด อย่างที่ตนได้อ้างเอกสารของ กกต. ในการอบรมพรรคการเมือง เขาไม่ได้บอกว่าการยุบพรรคตามมาตรา 92 ต้องดำเนินการตามมาตรา 93 ซึ่งตามระเบียบมีช่องทางเดียวเท่านั้น วันดีคืนดี กกต.เห็นว่าตัวเองมีหลักฐาน สามารถยื่นคำร้องได้เลย โดยไม่มีกระบวนการสืบสวนสอบสวน เป็นไปได้หรือไม่ เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจเจอคนขโมยของทำผิดซึ่งหน้า ยังต้องจับกุมไปดำเนินคดี เข้าสู่กระบวนการสอบสวนส่งอัยการ นี่ยุบพรรคการเมือง ไม่ใช่เล่นขายของ

หัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวว่า การที่ กกต.ยืนยันว่าทำได้ เพราะในคดียุบพรรคไทยรักษาชาติได้ทำแบบนี้มาแล้ว ซึ่งขณะนั้นระเบียบเก่าไม่ได้บังคับให้ กกต.รวบรวมข้อเท็จจริง และแจ้งให้กับพรรคผู้ถูกร้องทราบก่อน แต่ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าระเบียบที่ใช้ให้ไปใช้อีกระเบียบหนึ่งในการไต่สวนสอบสวนคดีอาญา โดยอนุโลม กกต.ให้ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามระเบียบทุกข้อ ซึ่ง กกต.ชี้แจงแบบนี้ คงเป็นประเด็นที่ต้องไปต่อสู้กันในศาลรัฐธรรมนูญ

ส่วนกรณี กกต.อ้างว่ายึดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 31 ม.ค.2567 นั้น นายชัยธวัชกล่าวว่า คนละเรื่อง นั่นคือเรื่องของพยานหลักฐาน การมีพยานหลักฐานที่ กกต.เชื่อแล้วว่าเพียงพอ ไม่ได้หมายความว่า กกต.ไม่จำเป็นต้องทำกระบวนการรวบรวมหลักฐานตามที่กฎหมายกำหนด อย่าสับสนกับกรณีพยานหลักฐานมีน้ำหนักหรือไม่ และที่ กกต.อ้างว่าคำวินิจฉัยศาลผูกพัน ผมอยากถามว่าผูกพันใคร นี่คือการวินิจฉัยสั่งการให้การกระทำ คือสั่งให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล เลิกแสดงความคิดเห็นและรณรงค์ให้ยกเลิก 112 และห้ามไม่ให้มีการแก้ไข 112 ด้วยกระบวนการนิติบัญญัติโดยมิชอบ นี่คือผลของคำวินิจฉัยที่ผูกพัน ซึ่งผูกพันกับคนที่ถูกร้อง

เมื่อถามว่า หากพิสูจน์ทราบว่า กกต. ยื่นคำร้องโดยมิชอบด้วยกฎหมายจริง จะมีการดำเนินคดีกับ กกต.อย่างไร นายชัยธวัชกล่าวว่า อย่าเพิ่งพูดไป รอให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาก่อน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง