ส่งหลักฐานเพิ่ม2คดีใหญ่ กระตุกต่อมสำนึกทักษิณ

ระทึก 2 คดีใหญ่ 18 มิ.ย.  ศาล รธน.สั่งนายกฯ-40 สว.ส่งบัญชีพยานหลักฐานเพิ่มปมตั้งพิชิต ขณะที่ "ก้าวไกล" ยื้อได้อีกยก ยื่นหลักฐานเพิ่มคดียุบพรรคล้มล้างการปกครอง "ชัยธวัช" เสียงอ่อน วอนขอโอกาสให้พรรคได้สู้คดีอย่างเต็มที่ "อ้วน ภูมิธรรม" ปิดประตูใส่หน้างูเห่าส้ม ไม่ช้อนเข้ามุ้งเพื่อไทย ด้านอดีต อสส.กระตุกต่อมสำนึกแม้ว อ้าปากร้องขอความเป็นธรรม ต้องหัดเคารพในหลักนิติธรรมด้วย "อิ๊งค์" แจงเหตุปัดตอบปม "ทักษิณ" อ้างกลัวกลบสาระงานอื่น   ขอสื่อให้เกียรติเคารพซึ่งกันและกัน

เมื่อวันพุธ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประชุมเพื่อพิจารณาคดีกรณีที่สมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 40 คน ยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภา ว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ   แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ   ที่รู้ หรือควรรู้อยู่แล้วว่านายพิชิตขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน

ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล   เป็นบุคคลที่กระทำการอันมิซื่อสัตย์ และมีพฤติกรรมอันมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องทั้ง 2 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้คู่กรณียื่นบัญชีระบุหลักฐานต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 17 มิ.ย. โดยกำหนดนัดพิจารณาในวันที่ 18 มิ.ย.2567  

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประชุมเพื่อพิจารณาคดีกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยนายทะเบียนพรรคการเมือง ยื่นคำร้องกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า มีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครอง และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคก้าวไกล ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตร 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคก้าวไกล พร้อมเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล อีกทั้ง ห้ามมิให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรค และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ ภายในกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง

โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า มีคำสั่งให้ กกต.ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานต่อศาลภายในวันที่ 17 มิ.ย. โดยกำหนดนัดพิจารณาต่อไปในวันที่ 18 มิ.ย.

ก.ก.ไม่หมดหวัง

ที่รัฐสภา นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล​ ระบุว่า​ ขณะนี้ยังสรุปไม่ได้ โดยหลังจากที่พรรคก้าวไกลยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาไปแล้ว ทางฝ่ายกฎหมายของพรรคได้ยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติม และยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญไต่สวน ซึ่งศาลยังไม่ได้พิจารณาเรื่องนี้​ วันนี้บอกเพียงให้ศาลรัฐธรรมนูญไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อมาประกอบใช้ในการพิจารณาคดี

นายชัยธวัชยังหวังว่า ศาลจะเปิดให้มีการไต่สวน เพราะก่อนหน้านี้ กกต.ได้ยื่นบัญชีพยานหลักฐาน รวมถึงพยานบุคคลไปให้ศาลรัฐธรรมนูญหมดแล้ว จึงไม่แน่ใจว่าที่จะให้ยื่นพยานหลักฐานเพิ่มเติมจะเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไร เป็นพยานบุคคลหรือพยานเอกสาร

 “แต่หากจะให้คาดการณ์ น่าจะเกี่ยวข้องกับข้อโต้แย้ง​ และข้อต่อสู้หนึ่งของพรรคก้าวไกล ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องที่พรรคแย้งว่า กกต.ยื่นคำร้องโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และในวันนี้ฝ่ายกฎหมายของพรรคก้าวไกลจะไปยื่นบัญชีเอกสารเพิ่มเติม ซึ่งคือคำให้สัมภาษณ์ของประธาน กกต. ที่ยอมรับว่าไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบที่ กกต.กำหนด ในการยื่นร้องยุบพรรคก้าวไกล ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 และมาตรา 93 ประกอบระเบียบ กกต. เพื่อเป็นการประกอบข้อต่อสู้ของพรรค” นายชัยธวัชระบุ 

ส่วนการพิจารณาคดีในเบื้องต้น เป็นไปตามการคาดการณ์หรือไม่นั้น นายชัยธวัช​กล่าวว่า​ ศาลรัฐธรรมนูญคงเห็นประเด็นสำคัญในการต่อสู้ของพรรคก้าวไกล จึงได้ให้ กกต.ส่งเอกสารเพิ่มเติม และให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญไปศึกษา แต่ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าสุดท้ายแล้วศาลจะเปิดให้มีการไต่สวนหรือไม่   และคาดว่าจะทราบเร็วที่สุดน่าจะเป็นวันอังคารที่ 18 มิ.ย.นี้

“และพรรคก้าวไกลก็หวังว่าศาลจะเปิดโอกาสให้พรรคก้าวไกลต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ให้การไต่สวนพยาน พิจารณาข้อเท็จจริงใหม่อย่างเต็มที่​ ทั้งนี้ เห็นว่าการไต่สวนอย่างเปิดเผย ย่อมเป็นการดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย เพื่อทำให้คำวินิจฉัยที่ออกมาเป็นที่ยอมรับ” นายชัยธวัชระบุ

เมื่อถามย้ำว่า ลูกพรรคที่คิดจะย้ายพรรค อาจไม่ได้คิดถึงการเลือกตั้งสมัยหน้า นายชัยธวัชยืนยันว่า ยังเชื่อมั่นได้  สส.ของพรรคก้าวไกลจะไม่ได้คิดเรื่องตัวเองเป็นตัวตั้ง และเชื่อว่า สส.ของพรรคเห็นความสำคัญของการไว้วางใจที่ประชาชนมอบให้ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา และย้ำว่าไม่ได้เสียขวัญ ยิ่งฟังที่​นายพิธา​ ลิ้มเจริญ​รัตน์​ สส.บัญชีรายชื่อและประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงเรื่องข้อต่อสู้ในคดี ก็ยิ่งทำให้ สส.ของพรรครู้สึกว่ามีประเด็นในการต่อสู้ได้อยู่

'อ้วน' เมินงูเห่าส้ม

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ  และ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงกระแสข่าวพรรคร่วมรัฐบาลเตรียมซื้องูเห่าสีส้ม หากสุดท้ายพรรคก้าวไกลถูกยุบ เพื่อต่อรองกับพรรคเพื่อไทยว่า ไม่เคยได้ยิน และต้องไปถามพรรคร่วมรัฐบาล แต่ในส่วนของพรรคเพื่อไทยอย่างไรก็ไม่ทำ ทั้งนี้เชื่อว่าคงไม่มีใครคิดทำแบบนั้น และตนขอภาวนาให้พรรคก้าวไกลประสบความสำเร็จไม่ถูกยุบ เราเคารพในความเป็นพรรคการเมืองของแต่ละคน ซึ่ง สส.ของแต่ละพรรคก็ต้องเข้าใจบทบาทของตัวเอง

เมื่อถามว่า หากมี สส.พรรคก้าวไกล สนใจที่จะร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย ก็พร้อมต้อนรับใช่หรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า “เราไม่ได้คิดหลักการนี้ เรื่องยังไม่เกิดอย่ามาถามเรา พรรคเพื่อไทยไม่ทำสิ่งนี้”

 เมื่อถามว่า ได้ประเมินสถานการณ์การเมืองหรือไม่ว่าชุ่มฉ่ำหรือร้อนแรง เพราะเดือน มิ.ย.มีคดีทางการเมืองที่สำคัญกำลังพิจารณาในชั้นศาล นายภูมิธรรมกล่าวว่า คงไม่ชุ่มฉ่ำ และคงไม่วุ่นวาย ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ทุกคนก็ทำตามหน้าที่นี้ มันก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

ที่ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย  เดินทางมาร่วมงานแถลง "LOVE PRIDE PARADE 2024" โดยมีสื่อมวลชนติดตาม เพื่อจะมาสัมภาษณ์ในประเด็นการเมืองต่างๆ แต่ภายหลังเสร็จสิ้น น.ส.แพทองธารปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน พร้อมกล่าวว่า "Message งานมันไม่เหมาะสม" ก่อนที่จะเดินเข้าลิฟต์ทันที เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามว่านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะเดินทางไปสำนักงานอัยการสูงสุดวันที่ 18 มิ.ย.นี้หรือไม่  แต่ น.ส.แพทองธารไม่ตอบคำถามใดๆ

สื่อมวลชนจึงติดตามต่อ แต่ น.ส.แพทองธารก็ปฏิเสธตอบคำถามอีก โดยระบุว่า “ขอไม่ให้สัมภาษณ์” ก่อนจะให้เลขาฯ ช่วยกันสื่อมวลชน และหันมาตอบว่า  “อิ๊งค์จะไปส่วนตัวแล้วเนอะ” ทั้งนี้ ถือว่าเป็นการปฏิเสธการให้สัมภาษณ์ของ น.ส.แพทองธารเป็นวันที่สองแล้ว                  

ต่อมา น.ส.แพทองธารได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า ขอชี้แจงกรณีพาดหัวข่าวว่าหนีสื่อ และปฏิเสธการให้สัมภาษณ์ในวันนี้ ด้วยหน้าที่ในฐานะคนทำงานการเมือง หัวหน้าพรรคการเมือง หัวหน้าทีมซอฟต์พาวเวอร์ การไปร่วมงานสำคัญต่างๆ มีความจำเป็นที่จะต้องสื่อสารตัวงานนั้นๆ ออกมาให้ได้มากที่สุด ซึ่งในแต่ละงานไม่ว่าจะหน่วยงานรัฐ หรือภาคเอกชน ทุกงานต่างมีประเด็นของตัวเอง และล้วนร่วมผลักดันประเทศของเราให้เดินไปข้างหน้า แต่ทุกครั้งที่ปรากฏตัวและต้องตอบคำถามการเมือง เรื่องการเมืองจะอยู่นอกเนื้อหาที่เจ้าภาพ หรือเจ้าของงานต้องการสื่อสารมาตลอด ซึ่งไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์นี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก จึงขอปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน โดยเฉพาะในประเด็นการเมือง  เพราะไม่ต้องการให้สาระที่งานนี้ต้องการสื่อสารหายไปเพราะข่าวการเมืองกลบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น
“ที่สำคัญประเด็นที่สื่อมวลชนต้องการถามกับอิ๊งค์ เป็นประเด็นที่สามารถถามได้โดยตรงจากท่านนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี หรือบางเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคุณพ่อก็สามารถถามท่านได้โดยตรงเลยค่ะ หลายเรื่องไม่เกี่ยวข้องกับอิ๊งค์ หลายเรื่องไม่ใช่เรื่องที่รอคำตอบไม่ได้ ซึ่งทั้งหมดไม่จำเป็นต้องได้รับคำตอบจากอิ๊งค์ค่ะ ในฐานะนักการเมือง ทราบดีว่าไม่สามารถเลี่ยงการทำงานกับสื่อมวลชนและการวิพากษ์วิจารณ์ได้ ซึ่งต้องพูดตามตรงว่าอิ๊งค์ให้เกียรติสื่อมวลชนทุกครั้ง พยายามตอบทุกคำถามที่ช่วยกันหาทางออกของสถานการณ์อย่างสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทที่อิ๊งค์รับผิดชอบโดยตรง อยากจะขอความร่วมมือ ให้เกียรติกันและกัน คำนึงถึงจุดประสงค์ของงาน และเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน" น.ส.แพทองธารระบุ

จี้ต่อมสำนึกแม้ว         

วันเดียวกันนี้ จากกรณีทีมกฎหมายของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ต้องหาคดีความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมถึงอัยการสูงสุด(อสส.) กรณีที่นายทักษิณให้สัมภาษณ์สื่อเกาหลีใต้ เมื่อปี 2558 พาดพิงสถาบัน ได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมถึง อสส. เรื่องการพิจารณาสั่งฟ้องนายทักษิณ ตามมาตรา 112  อ้างว่าพนักงานสอบสวนถูกข่มขู่จากรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนขาดความเป็นอิสระในการรวบรวมพยานหลักฐานทางคดี ทำให้นายทักษิณไม่ได้รับความเป็นธรรมการพิจารณาสั่งคดี จึงขอให้ อสส.ทบทวนการสั่งฟ้องนายทักษิณใหม่อีกครั้ง เพื่อความยุติธรรม

 นายตระกูล วินิจนัยภาค อดีตอัยการสูงสุด โพสต์เฟซบุ๊กระบุข้อความว่า ขอยืนยันด้วยเกียรติของลูกผู้ชายว่า ในฐานะเป็น อสส. ในขณะนั้น ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีอาญานอกราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 20 ไม่เคยมีใครข่มขู่ โน้มน้าว ชักจูง ให้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการสอบสวนครับ

 ต่อมา นายตระกูลโพสต์ข้อความพร้อมแนบระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาฯ เกี่ยวกับ #การร้องขอความเป็นธรรม พร้อมระบุว่า   ไม่ว่าใครจะทำอะไร อย่างไร ผลลัพธ์เป็นประการใด ก็ขอให้เกรงใจและเคารพในหลักนิติธรรม (The rule of law) และความยุติธรรม (Justice) ด้วยนะครับ 

 สำหรับระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ส่วนที่ 6 การร้องขอความเป็นธรรม มีเนื้อหาดังนี้

ข้อ 65 การสั่งคดีกรณีร้องขอความเป็นธรรม กรณีผู้เสียหายหรือผู้ต้องหาหรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้เสียหายหรือผู้ต้องหาใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการ โดยกล่าวอ้างว่าผู้เสียหายหรือผู้ต้องหาไม่ได้รับความเป็นธรรมจากพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ ให้พนักงานอัยการพิจารณารับคำร้องขอความเป็นธรรมดังกล่าวไว้พิจารณา ทั้งนี้ กรณีที่ผู้ต้องหาซึ่งได้รับการปล่อยชั่วคราวหรือลงลายมือชื่อรับทราบวันนัดไว้ ได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม ผู้ต้องหานั้นต้องแสดงตนต่อพนักงานอัยการในขณะยื่นหนังสือ

 การร้องขอความเป็นธรรม หากเป็นประเด็นที่ผู้ร้องเคยขอความเป็นธรรมและพนักงานอัยการได้เคยพิจารณาไว้แล้ว  หรือมีลักษณะเป็นการประวิงคดีให้ล่าช้า ให้ทำบันทึกข้อความเสนอความเห็นพร้อมเรื่องร้องขอความเป็นธรรมและสำเนารายงานการสอบสวน เสนอตามลำดับชั้นถึงอธิบดีอัยการพิจารณาสั่งยุติเรื่องร้องขอความเป็นธรรมนั้น ให้พนักงานอัยการพิจารณาให้ความเป็นธรรมโดยให้คำนึงถึงข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานอันสำคัญแก่คดีที่จะนำไปสู่การพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาได้

 คดีที่มีการร้องขอความเป็นธรรม ในกรณีที่จะมีคำสั่งไม่ฟ้องทุกข้อหาหรือบางข้อหา ให้ทำความเห็นในสำนวนแล้วเสนอตามลำดับชั้นถึงอธิบดีอัยการเพื่อพิจารณาสั่งทั้งคดี เมื่ออธิบดีอัยการมีคำสั่งประการใดให้ปฏิบัติตามนั้น

 กรณีที่มีคำสั่งฟ้องทุกข้อหา ให้ดำเนินการให้ได้ตัวผู้ต้องหามายื่นฟ้องต่อศาล และให้รีบทำบันทึกข้อความส่งคำร้องขอความเป็นธรรม สำเนาความเห็นและคำสั่งพร้อมทั้งสำเนารายงานการสอบสวนเสนออธิบดีอัยการเพื่อทราบ

 กรณีในวรรคห้า หากเป็นกรณีที่ต้องกลับความเห็นหรือกลับคำสั่งเดิม หรือต้องถอนฟ้อง ให้นำความในวรรคสามของข้อ 10 หรือข้อ 132 มาใช้บังคับแล้วแต่กรณี

กาง กม.แจงขั้นตอน

ด้าน ศ.พิเศษอรรถพล ใหญ่สว่าง อดีตอัยการสูงสุด ให้ความเห็นข้อกฎหมายถึงเรื่องการร้องขอความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม ใจความว่า ในคดีอาญาทั่วๆ ไป ถ้ามีการร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดแล้ว เรื่องจะส่งไปยังสำนักงานคดีกิจการอัยการสูงสุดจะเป็นผู้พิจารณาให้ความเป็นธรรม ซึ่งเมื่อสำนักงานคดีกิจการอัยการสูงสุดได้รับคำร้องขอความเป็นธรรมมาแล้ว เห็นว่าควรจะสอบสวนเพิ่มเติม ก็จะแจ้งไปยังอธิบดีอัยการสำนักงานเจ้าของเรื่องว่าเห็นควรสอบสวนเพิ่มเติมหรือไม่ ถ้าอธิบดีสำนักงานที่ถูกแจ้งพิจารณาแล้วเห็นควรสอบสวนเพิ่มเติม ก็จะสั่งสอบสวนเพิ่มเติม และส่งมายังสำนักงานคดีกิจการอัยการสูงสุด เพื่อนำเสนอไปยังรองอัยการสูงสุดที่รับผิดชอบสั่งคดี

ศ.พิเศษอรรถพลระบุว่า ในคดีนอกราชอาณาจักรคนที่มีอำนาจว่าจะพิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมคืออัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนที่จะเป็นคนสั่งคดี แต่การร้องขอความเป็นธรรมก็จะมีขั้นตอนในการกลั่นกรองแล้วแต่ระเบียบในแต่ละเรื่อง และการร้องขอความเป็นธรรมแม้ฟ้องศาลไปแล้วก็ยังสามารถร้องเข้ามาได้ ยกตัวอย่างหากมีการยื่นฟ้องศาลไปแล้วมีพยานหลักฐานที่ได้มาใหม่ ซึ่งต้องยอมรับว่าเมื่อมีการฟ้องคดีสู่ศาลแล้วจะมีการหยุดการสอบสวนทันที แต่หากเกิดมีผู้หวังดีมีพยานหลักฐานที่แน่ชัด ซึ่งตนมองว่า คือพยานหลักฐานที่เป็นนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งพยานบุคคลก็สู้ไม่ได้ ก็สามารถจะร้องขอความเป็นธรรมได้

 “แม้บางคนอาจจะบอกไว้ว่าให้เก็บไว้สู้คดีในศาล แต่อัยการไม่ได้มีหน้าที่ฟ้องคดีอย่างเดียว ต้องมีหน้าที่ให้ความเป็นธรรมด้วย ถ้าดูบทบัญญัติเรื่องการสอบสวนตามมาตรา 131 จะเห็นชัดว่าในการสอบสวนนั้น สอบสวนเพื่อที่จะให้ได้ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพื่อที่จะนำผู้กระทำผิดมาฟ้องและถูกลงโทษ หรือเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของคนที่ถูกเป็นผู้ต้องหาก็ได้ ในความเห็นส่วนตัว เมื่อไปถึงศาลก็ยังร้องขอความเป็นธรรมได้” ศ.พิเศษอรรถพลระบุ

ศ.พิเศษอรรถพลระบุว่า ส่วนผลที่ร้องขอความเป็นธรรมหลังฟ้องศาลไปแล้ว คนร้องก็อาจหวังให้มีการถอนฟ้องหรือว่าขอความเป็นธรรมอ้างเป็นพยานหลักฐานว่าได้มีหลักฐานใหม่เพิ่มเติมขึ้นมา ในส่วนเรื่องการถอนฟ้อง อำนาจถอนฟ้องเป็นของพนักงานอัยการที่ฟ้องคดี แต่จะมีขั้นตอนในการเสนอผู้บังคับบัญชาว่าเรื่องใดควรจะถอน และใครควรจะเป็นคนถอนฟ้อง คล้ายกับการยื่นอุทธรณ์คดี

 “แต่ในคดีนอกราชอาณาจักร อำนาจถอนฟ้องเป็นของอัยการสูงสุด หรือผู้รักษาการแทน ซึ่งที่ผ่านมาอัยการสูงสุดในอดีตก็เคยมีการถอนฟ้อง เช่นพิจารณาแล้วเป็นเรื่องความมั่นคงหรือประโยชน์สาธารณะ ซึ่งหลักในการถอนฟ้องก็จะเหมือนกับการสั่งไม่ฟ้อง เช่นเมื่อฟ้องคดีไปแล้วเห็นว่าเขาไม่ได้กระทำผิดก็ถอนฟ้องได้ ระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุดให้อำนาจไว้ ส่วนคนอนุญาตถอนฟ้องได้หรือไม่คือศาล บางคนเข้าใจผิดคิดว่าอัยการถอนฟ้องแล้ว ศาลจะต้องอนุญาตเสมอไป ซึ่งความจริงต้องเป็นไปตาม ป.วิอาญามาตรา 35, 36 ศาลอาจจะไม่อนุญาตก็ได้” ศ.พิเศษอรรถพลระบุ

ศ.พิเศษอรรถพลระบุว่า แต่ในกรณีหากมีคำพิพากษาของศาลแล้ว ต้องยอมรับว่าตรงนี้มีผลคำพิพากษาแล้ว ถ้าจะถอนฟ้อง ตามกฎหมายผลของคำพิพากษาก็ยังมีอยู่ ยกตัวอย่างในคดีที่ไม่ว่ารัฐหรือราษฎรฟ้องเองหากตัดสินแล้ว  แม้ถอนฟ้องไปแล้วผลของคำพิพากษาจะยังมีอยู่ เรียกว่าถอนฟ้องได้ยันฎีกา แต่ผลคำพิพากษาก็ยังมีอยู่

ศ.พิเศษอรรถพลระบุว่า ถ้ามองในแง่ตรรกะแล้ว เมื่อศาลตัดสินแล้วคดีเสร็จแล้วการถอนฟ้องจะดำเนินการได้อย่างไร การถอนฟ้องต้องศาลยังไม่ตัดสิน และใน ป.วิอาญา ยังกำหนดไว้ว่าถ้าฟ้องแล้วจำเลยยังไม่ได้ให้การ การถอนฟ้องไม่ต้องถามจำเลย แต่ถ้ามีการยื่นถอนฟ้องขณะที่จำเลยให้การแล้ว ต้องถามจำเลยด้วยว่าคัดค้านหรือไม่ ถ้าจำเลยคัดค้านจะถอนฟ้องไม่ได้ และต้องถอนฟ้องก่อนศาลตัดสิน เว้นแต่กรณีเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัวที่สามารถยื่นถอนฟ้องได้จนกว่าคดีจนถึงที่สุด

มิ.ย.ส่อวุ่นสลับขั้ว

นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงปรากฏการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ว่า ในเดือน มิ.ย. มีหลายเรื่องที่มาบรรจบกันพอดี ไม่ว่าจะคดีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ที่ถูกร้องอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ คดีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ว่าจะเดินทางไปที่ศาลอาญาในวันที่ 18 มิ.ย.หรือไม่ รวมทั้งคดียุบพรรคก้าวไกล ซึ่งวันนี้พรรคส่งคำชี้แจงเรียบร้อยแล้ว โดยล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญ นัดพิจารณาวันที่ 18 มิ.ย. ฉะนั้นด้วยสถานการณ์ที่มาบรรจบกัน จึงทำให้เดือนมิ.ย. เกิดกระแสข่าวจำนวนมาก เช่น อาจเกิดรัฐประหาร ผนวกกับการเลือก สว.ที่กำลังดำเนินการ

นายยุทธพรระบุว่า ตนคิดว่าคงไม่ถึงขั้นรัฐประหาร แต่ปฏิเสธไม่ได้ภายใต้สถานการณ์สังคมบริบททางการเมืองแบบประเทศไทย ที่ประชาธิปไตยยังไม่ตั้งมั่น ดังนั้น กระบวนการเกิดรัฐประหารจึงมีความเสี่ยงเกิดขึ้นได้ตลอดอยู่แล้ว เพียงแต่จะมีพัฒนาการหรือรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป จากที่เคยขนอาวุธ บุกยึดสถานที่สำคัญ ระยะหลังมีพัฒนาการรัฐประหารด้วยดอกไม้ และรัฐประหารในห้องประชุม เรียกว่ามีพัฒนาการไม่น้อยกว่าพัฒนาการประชาธิปไตย 

นายยุทธพรกล่าวว่า การเปลี่ยนขั้วการเมืองต้องไปดูความสำคัญในคดีของนายเศรษฐาด้วย ถ้าต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ จะทำให้ต้องเลือกนายกฯ ใหม่ และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ถ้าถึงตอนนั้นโอกาสที่จะสลับขั้ว ข้ามขั้ว และเกิดกรณียุบพรรคก้าวไกลในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน ก็เป็นไปได้ที่จะเห็นเรื่องการย้ายพรรค ซึ่งอาจนำไปสู่พรรคใหม่และอาจไปจับขั้ว ฉะนั้นเดือน มิ.ย. 3 เรื่องนี้มีความสัมพันธ์กันหมด เราจะได้เห็นปรากฏการณ์แปลกๆ ในการเมืองไทย คือร่วมรัฐบาลครึ่งพรรค และเป็นฝ่ายค้านครึ่งพรรค เรียกว่าเป็นรัฐบาลคนละครึ่ง ฝ่ายค้านคนละครึ่ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' ชวนคนไทยเชียร์ตัวแทนทีมชาติไทยในโอลิมปิกปารีส 2024

นายกฯ ส่งกำลังใจเชียร์ทัพนักกีฬาตัวแทนประเทศไทยร่วมแข่งขันโอลิมปิก ปารีส 2024 ครั้งที่ 33 วันที่ 26 กรกฎาคม - 11 สิงหาคม 2567 นี้ เชิญชวนคนไทยร่วมเชียร์และรับชมถ่ายทอดสด