18มิ.ย.ชี้ขาด‘กม.สว.’

"ศาล รธน." นัด 18 มิ.ย.นี้ ชี้ขาด 4 มาตราของ พ.ร.ป.ได้มาซึ่ง สว.ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่  "สว.ดิเรกฤทธิ์” จี้ “กกต.” สอบ 4 ข้อปมผู้สมัคร สว. 0 คะแนน ผู้สมัคร สว.ยื่นหนังสือร้อง กกต.สอบข้อมูลผู้สมัคร สว.หลุดเผยแพร่กว่า 23,000 รายชื่อ หวั่นมิจฉาชีพนำไปสร้างความเสียหาย

เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.67 ศาลรัฐธรรมนูญประชุมพิจารณาเรื่องพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 มาตรา 36,  40, 41 และมาตรา 42 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 107 หรือไม่ กรณีที่ศาลปกครองกลางส่งคำโต้แย้งผู้ฟ้องคดีรวม 2 คำร้อง เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 212 ว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 ในมาตราดังกล่าว ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญนูญหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมาย และมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ  พ.ศ.2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติในวันที่ 18 มิ.ย. เวลา 09.30 น.

สำนักงาน กกต.แจ้งว่า ได้เตรียมความพร้อมการจัดการเลือกสมาชิกวุฒิสภา โดยจัดตั้งศูนย์ประสานงานการสืบสวนและไต่สวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา เพื่อให้การอำนวยการ และประสานงานการสืบสวนและไต่สวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามแผนงานที่กำหนด โดยเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ จะทำหน้าที่ในการรับแจ้งข่าว ข้อมูล หรือเบาะแสเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา และตอบข้อซักถามหรือข้อหารือต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 2-16 มิ.ย.67 ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ วันจันทร์-วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30-18.00 น. วันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. โทรศัพท์ 0-2141-8860, 0-2141-8579 และ 0-2141-8858

นอกจากนี้ ในช่วงเวลาของการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ตั้งแต่วันที่ 7-30 มิ.ย.67 สำนักงาน กกต.เปิดให้บริการสายด่วน 1444 ตั้งแต่เวลา 08.30-19.30 น. ทุกวัน  ไม่เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น “ทุกคำถาม มีคำตอบ ทุกคำตอบเราติดตามด้วยความใส่ใจ”

นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สว. โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว แสดงความคิดเห็นต่อการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ระดับอำเภอที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. โดยระบุว่า ผู้สมัคร สว.ที่ได้ 0 คะแนน คือกลุ่มเป้าหมายที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดกฎหมายและการฮั้วเลือก สว. เพื่อทำให้การเลือก สว.เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและบริสุทธิ์ยุติธรรมได้ 1.ตรวจซ้ำใบสมัคร มีข้อมูลเท็จหรือมีประสบการณ์ตรงกับอาชีพ รวมทั้งเอกสารรับรองถูกต้องหรือไม่ 2.สอบสวนเจตนาความเป็นอิสระหรือถูกจ้างวาน (ถ้าเป็นอิสระต้องตอบคำถามเกี่ยวกับหน้าที่และวิธีการเลือก สว.ได้ถูกต้อง) และสอบถามเหตุผลที่ไม่เลือกตัวเอง ยืนยันความสุจริต 

3.ผลตรวจสอบตามข้อ 1 และ 2 สามารถแยกแยะผู้ทำความผิดได้ให้แจ้งดำเนินคดี (โทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-2000,000 บาท) หรือให้โอกาสกันเป็นพยานเพื่อสาวถึงตัวการต่อไป (รางวัลนำจับ 1 แสน-1 ล้าน) 4.ตรวจสอบผลการใช้สิทธิของผู้ทำผิดฯ ว่ากระทบหรือส่งผลต่อการเลือกและการประกาศผลหรือไม่ (มีผลสมบูรณ์หรือต้องเพิกถอนทั้งหมดหรือบางส่วนหรือไม่)

ด้านนายเก่งกาจ คุปต์อัครภิญโญ ผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา และนายวรรณนะ หอกันยา ผู้สมัคร สว. ยื่นหนังสือถึงนายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ขอให้มีการตรวจสอบการนำข้อมูลส่วนบุคคลของผู้สมัคร สว. รายชื่อผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอไประดับจังหวัดออกมาเผยแพร่

หลังยื่นหนังสือ นายเก่งกาจเผยว่า  จากการเลือก สว.ที่ระดับอำเภอ กำหนดไว้ในวันที่ 9 มิถุนายน 2567 ทั่วประเทศ ภายหลังการเลือกแล้วเสร็จ เวลาโดยประมาณ 20.30-21.00 น. ได้มีการนำข้อมูลส่วนบุคคลของผู้สมัคร สว. รายชื่อผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอไประดับจังหวัด  ออกมาเผยแพร่ผ่านทางแอปพลิเคชันไลน์ แบบกลุ่ม และมีการส่งต่อทางแอปพลิเคชันไลน์แบบกลุ่มไปในวงกว้าง โดยสาระสำคัญของข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าว คือ การเปิดเผยข้อมูลเลขบัตรประชาชน 13 หลัก โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งถือเป็นการละเมิดการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงและในวงกว้าง เนื่องจากมีการเปิดเผยข้อมูลผู้สมัครถึง 23,645 ราย ด้วยเหตุนี้จึงขอให้มีการตรวจสอบการนำข้อมูลส่วนบุคคลของผู้สมัคร สว. รายชื่อผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอไประดับจังหวัดออกมาเผยแพร่ และชี้แจงข้อเท็จจริง

ด้านนายวรรณนะกล่าวเสริมว่า ข้อมูลดังกล่าวถูกส่งมาเป็นรูปแบบไฟล์ “เอ็กเซล” ซึ่งไฟล์ดังกล่าวผู้สมัคร สว.ทุกคนในรอบระดับอำเภอสามารถเข้าไปดูได้ หากไฟล์ดังกล่าวตกไปอยู่ในมือมิจฉาชีพ นำไปทำทุจริต หรือนำไฟล์ข้อมูลกว่า 20,000 รายชื่อไปขาย จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศและเศรษฐกิจ รวมทั้งตัวบุคคลที่จะเสียทรัพย์สินด้วย จึงจะไปยื่นกับสำนักงาน PDPA เพื่อให้ทำงานคู่ขนานในการตรวจสอบ หากปล่อยปละละเลยให้เรื่องดังกล่าวผ่านไป ความเสียหายในปัจจุบันที่มีคอลเซ็นเตอร์โทร.มา ก็สาหัสมากพออยู่แล้ว เราจึงไม่ต้องการให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องเสียหาย จึงขอความเป็นธรรมจากหน่วยงานราชการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ เพื่อไม่ให้มีความเสียหายเกิดขึ้นในอนาคต

นายเก่งกาจยังกล่าวต่อว่า อยากให้ กกต.เพิ่มมาตรการให้เข้มข้นมากกว่านี้  เนื่องจากมีข้อมูลผู้สมัครกว่า 20,000 ราย ออกมาเปิดเผย ถือเป็นเรื่องที่อันตรายมาก

เมื่อถามว่า หน่วยงานภาครัฐมีส่วนเกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวหรือไม่  นายวรรณนะกล่าวว่า ไม่อยากปรักปรำ  เพราะไม่มีหลักฐาน แต่เป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐที่ต้องไปพิสูจน์และสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งหลังจากนี้เราไม่ต้องการให้มันเกิดเรื่องเสียๆ หายๆ อีก

วันเดียวกัน พ.อ.หญิงนุชระวี แจ่มจำรัส รองโฆษก กอ.รมน. ชี้แจงกรณีเมื่อ 11 มิ.ย.67 ทางคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และเครือข่ายเยาวชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย (We Watch) จัดงานเสวนาและแถลงข่าว “บอกเล่าประสบการณ์ผู้สมัคร สว. ดวงแตก” ที่ห้องจิ๊ด เศรษฐบุตร (LT.1) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ หลังจากการเสวนาเวลา 14.00 น. ได้มีการแถลงข่าวเรื่อง “ติดตามผลและปัญหาการเลือก สว. : ข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไข ไม่ให้มีการล้มกระดาน”

ในตอนหนึ่ง รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต กล่าวถึงการเลือกตั้ง สว.ครั้งนี้ต้องยอมรับว่ามีการจ้างมาเลือกกันจริง แต่ไม่ใช่ทุกพื้นที่ พื้นที่ที่อาจจะมีการจ้างกันมากจะเป็นพื้นที่ที่อยู่ภายใต้อิทธิพล ไม่เป็นของกลุ่มเครือข่ายนักการเมืองเก่า ก็เป็นของกลุ่มลัทธิ ศาสนา ในกลุ่มทุกเครือข่ายผูกขาด หรือบางพื้นที่อาจจะอยู่ในพื้นที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) นั้น

พ.อ.หญิงนุชระวีกล่าวว่า ขอเรียนว่ากรณีความเห็นดังกล่าวเป็นลักษณะความเห็นความรู้สึกส่วนบุคคล ซึ่งยังไม่มีหลักฐานข้อพิสูจน์ที่ชัดเจน ปัจจุบัน กอ.รมน. ปฏิบัติงานภายใต้บทบาทหน้าที่เฉพาะตามที่กฎหมายระบุไว้เท่านั้น โดยเฉพาะงานที่มีผลกระทบกับความมั่นคง ที่ต้องอาศัยการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ครอบคลุมพื้นที่ทุกจังหวัด ซึ่งไม่ได้มีบทบาทใดที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการเมือง

ส่วนกรณีที่กำลังจะมีการเลือก สว.  เป็นเรื่องส่วนบุคคลสำหรับผู้ที่มีความสนใจที่จะอาสาเข้าไปทำหน้าที่ตามกลไกทางการเมือง มิใช่เรื่องของหน่วยงานหรือองค์กรใดๆ ที่ไม่มีหน้าที่จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ทั้งนี้ หากผู้ใดพบเห็นหรือมีข้อมูลว่ามีเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.เข้าไปเกี่ยวข้อง หรือมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่อกรณีการเลือกตั้ง สว. สามารถแจ้งได้ที่ศูนย์รับแจ้งเหตุความมั่นคง 1374 ตลอด 24 ชม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง