ถกครม.เศรษฐกิจดันจีดีพี67โต3%

รมว.คลังเผย "ครม.เศรษฐกิจ" ตั้งเป้าทำ GDp ปี 67 โต 3% ผ่านการดันท่องเที่ยว เบิกจ่ายงบรัฐ ดึงนักลงทุนต่างชาติ "เศรษฐา" ย้ำเงินดิจิทัลวอลเล็ตหลักเกณฑ์ยังเหมือนเดิม เปิดตึกไทยคู่ฟ้าประชุมแกนนำพรรคร่วม รบ. "อุ๊งอิ๊ง" ไปเองคุมถก พ.ร.บ.งบฯ 68

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ ครั้งที่ 2/2567 ว่าจะติดตามเรื่องที่ได้สั่งการไปในการประชุมครั้งที่แล้วว่ามีมาตรการอะไรออกมาบ้าง

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีมาตรการเศรษฐกิจอะไรที่จะเสนอในที่ประชุมเพิ่มเติม นายกฯ ตอบว่า คงมี ให้คอยฟังตอนจบประชุมว่าเป็นอย่างไร จะมีทุกเรื่องทั้งกระตุ้นเอสเอ็มอี หนี้ครัวเรือน ข้อติดขัดของบริษัทต่างชาติที่จะมาลงทุน ส่วนความคืบหน้าเรื่องเงินดิจิทัล 10,000 บาท คงจะมีการรายงานขึ้นมา ในระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนการทำงาน หากมีอะไรเปลี่ยนแปลงไทม์ไลน์ หรือมีเหตุใหญ่ที่ต้องมีหน่วยงานรับผิดชอบจึงจะมาพูดคุยกัน ทั้งนี้หลักเกณฑ์ทุกอย่างที่ชี้แจงไปยังเหมือนเดิม อย่าเพิ่งไปคิดอะไรเดี๋ยวจะเกิดความสับสน ขอให้รอฟังจากนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง อย่างเดียว

ด้านนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง แถลงภายหลังประชุม ครม.เศรษฐกิจว่า ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจตั้งเป้าผลักดัน GDP ปี 67 ขึ้นไปแตะ 3%  จากคาดการณ์ 2.4% โดยปักธงเร่งผลักดัน 3 แรงขับเคลื่อนสำคัญ ทั้งการท่องเที่ยว, เบิกจ่ายงบภาครัฐ และการลงทุนของเอกชน

นายพิชัยกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีปัญหาจีดีพีค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับศักยภาพประเทศคู่ค้าหรือประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีการคาดการณ์ว่าจีดีพีทั้งปีจะอยู่ที่ 2.4% อยากให้จีดีพีปรับขึ้นไปที่ 3% โดยการขับเคลื่อนผ่าน 3 ด้าน คือ 1.ภาคการท่องเที่ยวที่ตั้งเป้านักท่องเที่ยวปีนี้ที่ 35.7 ล้านคน แต่หากสามารถเพิ่มตัวเลขนักท่องเที่ยวปีนี้อีก 1 ล้านคน  เป็น 36.7 ล้านคน ซึ่ง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬาก็เชื่อมั่นว่าน่าจะสามารถผลักดันได้ และต้องทำให้การพำนักในไทยของนักท่องเที่ยวนานขึ้นด้วย หากทำได้จะช่วยผลักดันจีดีพีได้ 0.12%

2.การเบิกจ่ายงบภาครัฐ ซึ่งงบลงทุนปี 67 มียอดทั้งหมด 8.5 แสนล้านบาท มีการเบิกจ่ายเม็ดเงินจริงและรอการเซ็นสัญญารวมแล้ว 51% แต่จะพยายามขับเคลื่อนการเบิกจ่ายงบลงทุนให้ได้ 70% แต่ส่วนตัวมีเป้าในใจอยากให้ทะลุ 75% โดยในวันพุธนี้จะมีการหารือกับหน่วยงานที่ยังไม่เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อให้ผลักดันงบลงทุนให้ได้ถึง  70% ภายในปีนี้ จะเป็นการช่วยให้เพิ่มจีดีพี 0.24% ดังนั้นรวมแล้วจะได้จีดีพีที่ 3%

3.มาตรการส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน แม้รัฐบาลจะประเมินการช่วยเหลือได้ยาก แต่ตัวเลขที่เป็นไปได้จากข้อมูลบีโอไอ วันนี้ภาคเอกชนเริ่มเซ็นสัญญาลงทุนแล้ว และพร้อมที่จะเริ่มงานใน 3 ปี จะมีเม็ดเงินลงทุนกว่า 8 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าเม็ดเงินลงทุนดังกล่าว จะดึงมาลงทุนในปีนี้สัก 3-4 แสนล้านบาท ก็จะเป็นการช่วยเพิ่มจีดีพี แม้ตัวเลขยังไม่นิ่งก็จะมีการทำงานร่วมกับบีโอไอ เพื่อสรุปตัวเลขให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และกลับมาลงทุนในประเทศไทยได้เร็วที่สุด

 “ทั้ง 3 มาตรการนี้เป็นมาตรการเบื้องต้นเท่านั้น แต่จะต้องมีการพิจารณาตัวขับเคลื่อน ว่าตัวไหนเป็นสาระสำคัญ และมาเร่งดำเนินการ ซึ่งจะมีการศึกษาว่าจะขับเคลื่อนงานด้านใด”

นายพิชัยกล่าวอีกว่า ครม.เศรษฐกิจรับทราบรายงานจากกระทรวงแรงงาน ในเรื่องการดูแลแรงงานในขณะนี้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโรงงานที่ปิดและมีคนตกงานมากกว่า 5 แสนคน ขณะเดียวกันต้องรองรับนักศึกษาจบใหม่อีก 1 แสนคน ซึ่งกระทรวงแรงงานได้เทียบตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัคร ซึ่งมีมากกว่า 5 แสนตำแหน่ง ณ วันนี้จึงมีแรงงานที่ว่างงานกว่า 1 แสนคน ดังนั้นจึงมอบหมายให้กระทรวงแรงงานติดตามสถานการณ์ดูความสมดุลการจ้างงาน

รมว.การคลังยังกล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจได้มีการพิจารณาหนี้ NPL สูง และผู้ประกอบการที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อ ซึ่งในเร็วๆ นี้ได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าจะมีมาตรการที่จะยืดหยุ่นในการปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ ให้กลุ่ม 21 ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ที่มีจำนวน 4 ล้านรายออกจากเครดิตบูโร

วันเดียวกัน นายเศรษฐาได้มอบหมายให้นายพิชัยหารือกับหัวหน้า และแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลที่ตึกไทยคู่ฟ้า โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เดินทางเข้ามาทางด้านหลังของตึกไทยคู่ฟ้า โดยไม่ได้ตอบคำถามสื่อถึงวาระในการเข้าประชุม รวมถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชาติ, นายเสมอกัน เที่ยงธรรม พรรคชาติไทยพัฒนา, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ, นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ

นายอนุทินกล่าวภายหลังร่วมหารือว่า เป็นการพูดคุยถึงเรื่องงบประมาณที่จะเข้าสู่สภาในวันที่ 18-21 มิ.ย.นี้ โดยเป็นการคุยถึงงบประมาณปี 67 ในส่วนเพิ่มเติม และงบประมาณปี 68 ซึ่งเป็นการพูดคุยกันในหลักการ เช่น การกำหนดอัตราส่วนของกรรมาธิการว่า คณะรัฐมนตรี รัฐบาล และฝ่ายค้าน ได้สัดส่วนกรรมาธิการกี่คน และใช้เวลาเท่าไหร่ โดยเราพยายามยึดถือหลักการเดิมจะได้ไม่มีปัญหาอะไรกัน ซึ่งทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี

เมื่อถามว่าด้วยจำนวนเสียงของรัฐบาลตอนนี้ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณน่าจะผ่านฉลุยใช่หรือไม่ นายอนุทินตอบว่า จำนวน สส.ของรัฐบาลก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เราจะไปบอกว่าผ่านฉลุยไม่ได้หรอก ไม่ใช่ว่าพอผ่านฉลุยแล้วจะไม่ต้องอธิบาย ไม่ต้องชี้แจง หรืออยากจะทำอะไรก็ทำ อย่างนี้ไม่ใช่ ทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ตามความชอบธรรม ตามหลักธรรมาภิบาล ไม่มีอะไรที่เป็นของตายหรอก

 “ผมคิดว่าไม่มีนะ นี่รัฐบาลนะ ไม่ใช่ว่าใครอยากได้อะไร  พอไม่ได้ดังใจแล้วมางอแงกัน ผมว่าไม่มีหรอก ต้องทำความเข้าใจกัน เรื่องความเห็นไม่ตรงกันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ผมเชื่อว่าหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลทุกคนยังสามารถต่อสาย ยกหูสายตรงกันได้ ใครมีปัญหามีอะไรกันก็เคลียร์กันให้จบ อย่าให้ประชาชนต้องเดือดร้อน อย่าให้ประโยชน์ที่จะตกกับประชาชนต้องถูกลิดรอนไป อย่างนี้มันไม่เกิดอยู่แล้วล่ะ อย่ากังวลไปเลย” นายอนุทินกล่าว

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า ที่ประชุมได้พูดถึงสัดส่วนของผู้ที่จะเป็นกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณ ที่มอบหมายให้แต่ละพรรคไปเตรียมความพร้อมในการประชุม ซักซ้อมเตรียมความพร้อมภายในแต่ละพรรค รวมถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ทั้งนี้ได้ขอความร่วมมือให้ สส.แต่ละพรรคเข้าร่วมประชุมสภาฯ โดยพร้อมเพรียง

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ สส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า งบประมาณปี 68 คือการก่อตัวของพายุหนี้ลูกใหญ่ ในขณะที่เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก แต่เนื่องจากเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะซึมต่อเนื่องมายาวนาน ตนจึงเห็นด้วยกับมาตรการเติมเงินเข้าไปในมือประชาชนเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจเติมเงินไปถึงมือประชาชนนั้นสามารถทำได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ โครงการสวัสดิการแห่งรัฐต่างๆ การเพิ่มเบี้ยเด็กแรกเกิดและคนชรา รวมถึงการประกันรายได้ให้เกษตรกรในพืชบางชนิด เช่น ปาล์ม, ข้าว, ข้าวโพด, มัน ในแบบที่พรรคประชาธิปัตย์เคยทำ เป็นการเติมเงินเข้าไปในระบบเพื่อให้เกิดรายได้จากงานที่ทำ ไม่จำเป็นต้องทำให้ซับซ้อนหรือมุ่งเป้าเฉพาะโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอย่างเดียว ซึ่งไปทำให้การจัดสรรงบประมาณรวน และสะท้อนว่าไม่ได้เป็นการจัดสรรตามลำดับความสำคัญที่สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ แค่ต้องการให้เกิดเพราะกลัวเสียหน้าเท่านั้น ปัญหาในการจัดงบประมาณครั้งนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' อย่าสับสน! โพลวัดผลงาน ไม่ใช่เรตติ้งนายกฯ

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อย่าสับสน !!! ระหว่างผลงาน กับการเลือกนายกฯ คนต่อไป