"พิธา" ดิ้นเฮือกสุดท้าย เปิด 9 ประเด็นสู้คดียุบก้าวไกล ชี้ศาลไม่มีอำนาจวินิจฉัย ขณะที่กระบวนการยื่นคำร้อง กกต.มิชอบด้วยกฎหมาย อ้างคำตัดสินศาล รธน. 31 ม.ค. ไม่ผูกพันกับคดีนี้ แย้งโทษยุบพรรคต้องเป็นมาตรการสุดท้าย ไม่ใช่ทำลายประชาธิปไตย แค่เตือนหยุดการกระทำพอแล้ว ไม่ควรลากถึง กก.บห.ชุด 3 มั่นใจไร้ข้อกฎหมายเอาผิด 44 สส. "อิทธิพร" โต้ยึดระเบียบตรวจสอบข้อเท็จจริง ไม่จำเป็นแจ้งผู้ถูกร้องก่อน
ที่อาคารอนาคตใหม่ ที่ทำการพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงข่าวเรื่องการต่อสู้คดียุบพรรค ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคําสั่งยุบพรรคก้าวไกล กรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อว่าพรรคก้าวไกลมีพฤติการณ์กระทําการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ
โดยนายพิธากล่าวถึงจุดประสงค์ของการแถลงในครั้งนี้ โดยจะเน้นไปที่ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของคดี ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่เป็นข้อกังวลของศาลรัฐธรรมนูญว่าไม่อยากให้แสดงความเห็นชี้นำสังคม โดยเปิดแนวทางการต่อสู้คดี แบ่งออกเป็น 3 หมวด ใน 9 ประเด็น ประกอบด้วย หมวดเขตอำนาจและกระบวนการ 1.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ เป็นสิ่งที่พวกเราต่อสู้ตั้งแต่การยุบพรรคอนาคตใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 ระบุชัดเจนว่าศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจดัง 3 ข้อ ต่อไปนี้ 1.พิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับกฎหมายและร่างกฎหมาย 2.พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ 3.หน้าที่และอำนาจอื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งพวกตนได้ศึกษารัฐธรรมนูญ ไม่มีอำนาจข้อไหนที่ระบุว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตัดสิทธิการเมือง ซึ่งอีกย่อหน้าระบุว่า อะไรที่นอกเหนือจากที่บัญญัติไว้รัฐธรรมนูญแล้ว ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องของกระบวนการ แต่ไม่ใช่บ่อเกิดอำนาจ ที่ศาลให้รัฐธรรมนูญมีขอบเขตอำนาจมากกว่า 3 ข้อนี้
2.กระบวนการยื่นคำร้องของ กกต. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่มีโอกาสให้ผู้ถูกร้อง นั่นคือพรรคก้าวไกล ได้รับทราบ โต้แย้ง หรือแสดงพยานหลักฐานแต่อย่างใด คดียุบพรรคก้าวไกลต่างจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ และพรรคไทยรักษาชาติ ในเรื่องของระเบียบและหลักเกณฑ์ของ กกต. สิ่งที่เราถูกร้อง กกต.ยื่นคำร้องยุบพรรคดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 92 ซึ่งระบุว่า เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น แต่ประเด็นทางกฎหมาย มาตรา 92 ต้องประกอบกับมาตรา 93 ซึ่งมาตรา 92 คือข้อหา มาตรา 93 คือวิธีพิจารณา เพราะมาตรา 93 ระบุไว้ชัดเจนว่า เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนของพรรคการเมืองใด กระทำตามมาตรา 92 ให้นายทะเบียนรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานพร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา
กกต.ยื่นคำร้องมิชอบ
โดยหลักเกณฑ์และวิธีของ กกต. เกี่ยวกับมาตรา 93 ได้เปลี่ยนไปในเดือน ก.พ.2566 สมัยพรรคอนาคตใหม่ และพรรคไทยรักษาชาติไม่มีเกณฑ์นี้ ในระเบียบ กกต.2566 ระบุไว้ในข้อ 7 ว่า การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง บุคคลและคณะบุคคลที่นายทะเบียนแต่งตั้ง ต้องให้ผู้ร้องหรือพรรคการเมืองแล้วแต่กรณี มีโอกาสรับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และมีโอกาสได้โต้แย้ง และแสดงพยานหลักฐานของตน ก่อนมีการเสนอรายงานรวบรวมข้อเท็จจริงต่อนายทะเบียนพิจารณา ในข้อ 9 ระบุว่า เมื่อนายทะเบียนพิจารณาข้อเท็จจริงเสร็จแล้ว มีหลักฐานอันสมควร ก็ให้คณะกรรมการเห็นชอบ ฉะนั้นกระบวนการมีความชัดเจนตามหลักเกณฑ์ปี 2566 ว่า นายทะเบียนเป็นคนดำเนินการ ต้องตั้งคณะรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน และให้โอกาสพรรคก้าวไกลในการรับทราบ โต้แย้ง และยื่นหลักฐานของตน หลังจากนั้นหากนายทะเบียนเห็นด้วย นายทะเบียนจึงค่อยส่งหลักฐานให้กับ กกต.อีกรอบ กระบวนการนี้ไม่เคยเกิดขึ้น พรรคก้าวไกลไม่มีโอกาสได้รับทราบข้อเท็จจริง โต้แย้ง หรือนำพยานหลักฐานไปชี้แจงกับ กกต. ฉะนั้นการยื่นคำร้องคดีนี้ขัดต่อระเบียบที่ กกต. ตราขึ้นเอง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
หมวดข้อเท็จจริง 3.คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีล้มล้างการปกครอง เมื่อวันที่ 31 ม.ค.2567 ไม่ผูกพันกับการวินิจฉัยคดีนี้ 4.การกระทำที่ถูกกล่าวหา ไม่ล้มล้าง ไม่อาจเป็นปฏิปักษ์ 5.การกระทำตามคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 31 ม.ค.67 ไม่ได้เป็นมติพรรค ทั้งนี้ คำวินิจฉัยคดีดังกล่าวเป็นเพียงหลักฐานเดียวในการยื่นยุบพรรคในครั้งนี้ แล้วหวังว่าจะมีความผูกพันคดี ในการที่คดีหนึ่งจะผูกพันกับอีกคดีได้ ก็ต่อเมื่อเป็นไปตาม 2 กรณีนี้เท่านั้น คือ 1.เป็นข้อหาเดียวกัน ซึ่งในกรณีของเราต่างข้อหาก็เท่ากับต่างวัตถุประสงค์ 2.ถ้าระดับโทษใกล้เคียงกัน อาจจะมาเทียบเคียงให้มีความผูกพันคดีได้ แต่โทษทั้ง 2 คดีนี้มีความแตกต่างกันมหาศาล มาตรฐานการพิสูจน์จึงเข้มข้นต่างกัน ยกตัวอย่าง ในคดีแพ่งไม่ผูกพันคดีอาญา แม้จะเป็นข้อเท็จจริงเดียวกัน เนื่องจากความเข้มข้นของมาตรการพิสูจน์คดีแพ่งต่ำกว่าคดีอาญา สำหรับคดียุบพรรคและตัดสิทธิการเมืองมีสภาพความรับผิดเทียบเท่าโทษอาญา 4.การกระทำที่ถูกกล่าวหา ไม่ล้มล้าง ไม่อาจเป็นปฏิปักษ์ 5.การกระทำตามคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 31 ม.ค.67 ไม่ได้เป็นมติพรรค
หมวดสัดส่วนโทษ 6.โทษยุบพรรคต้องเป็นมาตรการสุดท้าย เมื่อจำเป็น ฉุกเฉิน ฉับพลัน และไม่มีวิธีแก้ไขอื่น 7.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 8.จำนวนปีในการตัดสิทธิทางการเมือง ต้องได้สัดส่วนกับความผิด 9.การพิจารณาโทษ ต้องสอดคล้องกับชุดคณะกรรมการบริหารพรรคในช่วงที่ถูกกล่าวหา ทั้งนี้โทษยุบพรรคมีได้ในระบบประชาธิปไตย แต่ต้องมีไว้เพื่อปกป้องประชาธิปไตย การยุบพรรคจึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง และเป็นมาตรการสุดท้ายเมื่อไม่มีทางเลือกอื่นเท่านั้น สำหรับข้อหาที่เราโดน ไม่ว่าจะเรื่องนโยบายหาเสียง การแสดงความเห็นในสาธารณะ การเป็นนายประกันหรือเป็นผู้ต้องหา การรณรงค์แก้กฎหมาย กกต.ยกคำร้องการยุบพรรคก้าวไกลมาโดยตลอด
ยุบพรรคไม่ใช่หน้าที่ศาล
ในขณะที่บางพรรคกระทำเข้าข่ายความผิด ทาง กกต.ได้ออกหนังสือเตือน แต่ในกรณีของพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกในสาธารณะ ในขณะนั้นหลายพรรคการเมืองแสดงออกเช่นกันในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง เห็นได้ชัดเจนว่าไม่ได้เป็นปฏิปักษ์ อย่างกรณีพรรคไทยรักษาชาติ สภายังสามารถยับยั้งแก้ไขได้ ซึ่งหากการแก้มาตรา 112 จะเข้าสภาได้ และมีการอภิปรายในเรื่องนี้ ยังสามารถยับยั้งแก้ไขได้ด้วยวิธีอื่นด้วยระบบนิติบัญญัติ ศาลรัฐธรรมนูญสามารถใช้สิทธิวีโตได้ ทั้งก่อนและหลังกฎหมายผ่านบังคับใช้จากสภา แสดงให้เห็นว่าระบบนิติบัญญัติสามารถยับยั้งได้ด้วยตนเอง
นายพิธายกตัวอย่างในกรณีของประเทศเยอรมนี พรรคเอ็นพีดี ในปี 2560 มีการแสดงออกด้วยอุดมการณ์นาซี ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าล้มล้างแต่ไม่ยุบ เพราะไม่มีหลักฐานอาจเป็นรูปธรรม ที่พิสูจน์ได้ว่าแนวคิดของเอ็นพีดีมีโอกาสจะประสบความสำเร็จได้ แต่ในกรณีของพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะเป็นการสั่งชะลอจาก กกต. ระบบนิติบัญญัติ และการกระทำที่ยังไม่เกิดขึ้น และเมื่อมีคำวินิจฉัยในเดือน ม.ค. พรรคก้าวไกลได้หยุดการกระทำ ไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการสุดท้ายในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งหากมีการใช้ เท่ากับว่าเป็นการทำลายประชาธิปไตยเสียเอง ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ
นายพิธาให้สัมภาษณ์ภายหลังการแถลง ถึงความมั่นใจในข้อต่อสู้กรณี 44 สส. ที่ร่วมลงชื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่า มั่นใจทุกข้อเท่ากัน เพราะทุกข้อเหมือนเป็นด่านและบันไดที่จะใช้ต่อสู้ ตั้งแต่ขอบเขตอำนาจของศาลไปจนถึงสัดส่วนการได้โทษของกรรมการบริหารพรรค แต่เรายังเชื่อว่าเจตนาและการกระทำของ สส. ในการเข้าชื่อแก้ไขกฎหมาย ไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครอง และไม่อาจเป็นปฏิปักษ์ รวมถึงการกระทำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเป็นนายประกัน การที่มีสมาชิก และ สส. ที่เป็นผู้ต้องหาในคดีความผิด มาตรา 112 การแสดงออก เรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมาย มาตรา 112 ถือเป็นการกระทำทั่วไป การกระทำทุกอย่างเป็นเรื่องรายบุคคล ที่ถูกขยุมรวมกัน ไม่ได้มาจากมติพรรค ไม่ได้เป็นเรื่องนิติบุคคล แต่เป็นเรื่องปัจเจก ไม่ได้มีความเห็นที่ออกมาจากกรรมการบริหารพรรค
"ขอย้ำว่า ต้องแยกความแตกต่างระหว่างบุคคลธรรมดากับนิติบุคคล สิ่งเดียวที่มีการออกมาตามมติของพรรค คือการบรรจุเป็นนโยบายหาเสียง แต่ไม่เป็นปฏิปักษ์ เพราะ กกต.เองอนุญาต ไม่ได้มีจดหมายเตือน และจดคำถามที่มาของนโยบายอย่างที่พรรคอื่นโดน ยืนยันไม่ได้มีทั้งเจตนา และไม่มีข้อกฎหมายที่สามารถเอาผิดทั้ง 44 คน ในการเข้าชื่อแก้ไขกฎหมายที่ไม่ได้เข้าสภา เพราะฉะนั้นไม่ได้มีความเร่งด่วนอะไรที่จะใช้มาตรการที่รุนแรง" นายพิธาระบุ
อ้างไม่มีเจตนาล้มล้าง
เมื่อถามว่า อะไรคือการหลักฐานหรือข้อหักล้างที่สามารถพิสูจน์ว่า พรรคไม่มีเจตนาตั้งแต่ต้นในการล้มล้างการปกครอง นายพิธากล่าวว่า "9 ข้อที่กล่าวไป มีน้ำหนักเท่าเทียมกันในการต่อสู้ ส่วนเจตนา เราพยายามพิสูจน์ และพูดมาอย่างคงเส้นคงวาว่า เรายังมีความรู้สึก การรักษาพระราชฐานะ พระราชอำนาจ และเทิดพระเกียรติพระองค์ท่านให้อยู่สูงกว่าการเมือง ไม่ได้ทำให้ระยะห่างกับประชาชนห่างขึ้น และไม่ได้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการทำลายล้างซึ่งกันและกัน"
ส่วนการคาดการณ์ไทม์ไลน์วันวินิจฉัยคดีนั้น นายพิธากล่าวว่า คงต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล คงไม่สามารถไปก้าวล่วงได้ หากศาลเห็นด้วยว่าคดีสองคดีไม่มีความผูกพันกัน ควรจะเปิดโอกาสให้มีการไต่สวน และเตรียมพยาน ซึ่งพรรคก้าวไกลได้มีการเตรียมการผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ไว้มากกว่า 10 คน แต่เปิดเผยไม่ได้ และถ้าศาลเห็นว่าการพิจารณาในคดีนี้ มีข้อหาและโทษหนัก ต้องใช้มาตรฐานที่เข้มข้นกว่าคดีที่แล้ว น่าจะให้เวลา และอนุญาตให้มีการไต่สวนสืบพยานได้ ซึ่งคงจะต้องใช้เวลาพอสมควรให้สิ้นกระแสสงสัย ทั้งนี้ ในคำร้องระบุถึงระยะเวลาในการถูกตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคทั้ง 3 ชุดของพรรคก้าวไกล ซึ่งสัดส่วนของโทษและเวลาที่ถูกกล่าวหาควรจะต้องสอดคล้องกัน ดังนั้นไม่ควรจะลากไปถึงกรรมการบริหารพรรคชุดที่ 3 ซึ่งเกิดมาเพียงแค่ 6 เดือน
เมื่อถามว่า หากก้าวไกลถูกยุบพรรคจะส่งผลอย่างไร นายพิธากล่าวว่า “มันจะเป็นการยุบ 2 พรรคใน 5 ปี และเป็นการยุบ 5 ครั้ง ในรอบ 20 ปี ผมก็ไม่กล้าที่จะเดา หรือคิดว่ามันจะเกิดผลกระทบอะไรกับเมืองไทย หรือการเมืองไทย ทั้งที่เศรษฐกิจ การเมือง และสังคมไทยเปราะบางขนาดนี้ ก็ไม่อยากให้ไปถึงตรงจุดนั้น"
เมื่อถามย้ำว่า หากเกิดการยุบพรรค สส.ของพรรคจะไม่ย้ายไปพรรคอื่นใช่หรือไม่ นายพิธากล่าวว่า แน่นอน ยังรู้สึกว่าการทำงานของพรรค ทั้งกระแส และเวลาที่อยู่ร่วมกัน มีความเป็นเอกภาพ มีความเป็นปึกแผ่น รวมถึงปัจจัยภายนอกอย่างประสบการณ์ร่วมกันในการเลือกตั้งที่ผ่านมา การเป็นงูเห่าคือการฆ่าตัวตายทางการเมือง 100% ไม่มีสิทธิ์ที่จะกลับมาเป็น สส.ได้เลย ไม่ประมาท แต่ไม่กังวล เพราะมีบทเรียนมาทั้งภายนอกและภายใน
“ผมก็ไม่ได้ไร้เดียงสาขนาดที่ไม่รู้ว่า อาจจะมีพรรคบางพรรคที่อยากได้โควตา สส.เพิ่ม ไปต่อรองรัฐมนตรี เรื่องพวกนี้ผมรู้ทันอยู่ แต่ยังมั่นใจในตัว สส.ของตัวเอง และไม่ได้หูเบาขนาดที่จะเห็นแล้วรู้สึกว่า เกิดความลำเอียงหรืออคติต่อ สส.คนนั้น ต้องให้โอกาสลูกพรรคตัวเองในการสันนิษฐานให้บริสุทธิ์ไว้ก่อน เชื่อในระบบและอุดมการณ์ของพวกเขา" นายพิธากล่าว
ขณะที่ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ให้สัมภาษณ์กรณีพรรคก้าวไกลระบุ กกต.ร้องคดียุบพรรคต่อศาลรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดระเบียบขอ งกกต.เอง เพราะไม่ได้มีการชี้แจงให้ผู้ถูกร้องทราบก่อนว่า การดำเนินการของ กกต. ไม่ได้ดำเนินการตามระเบียบสืบสวนไต่สวน แต่เป็นการดำเนินการตามระเบียบว่าด้วยการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคก้าวไกลระบุว่า กกต.ใช้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 31 ม.ค.2567 เป็นหลักฐานเพียงชิ้นเดียวในการยื่นขอยุบพรรคก้าวไกล นายอิทธิพรกล่าวว่า ขอตอบในนามส่วนตัวว่า ที่จำเป็นต้องส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ เพราะกฎหมายมาตราที่เกี่ยวข้องบอกว่า เมื่อ กกต. มีหลักฐานอันควรเชื่อว่า ซึ่งหลักฐานตรงนี้ก็คือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ส่งไป ถ้าไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เราอาจจะต้องดำเนินกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง รวบรวมพยานหลักฐานมากกว่านี้ นี่คือข้อเท็จจริงที่ได้แจ้งให้สาธารณชนทราบไปแล้ว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ล่า ‘หมอบุญ’ เมียแค้นเอาคืน
ออกหมายจับ "หมอบุญ" พร้อมพวก 9 คน ร่วมหลอกลวงประชาชนร่วมลงทุนธุรกิจ รพ.ขนาดใหญ่หลายโครงการ เสียหายกว่า 7,500 ล้านบาท
‘ยิ่งลักษณ์’ กลับคุก ‘บิ๊กเสื้อแดง’ รู้มา! ว่าไปตามราชทัณฑ์ไม่ใช้สิทธิพิเศษ
“เลขาฯ แสวง” ยันเดินหน้าคดี “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างการปกครองต่อ เพราะใช้กฎหมายคนละฉบับกับศาล รธน. "จตุพร" ลั่นยังไม่จบ! ต้องดูสถานการณ์เป็นตอนๆ ไป
บี้ MOU44 เดือด ‘นพดล’ เกทับ! จบออกซ์ฟอร์ด
ปะทะคารมเดือด! “นพดล” โต้ “หมอวรงค์” หาความรู้เรื่องเอ็มโอยู 44 ให้ลึกซึ้ง โต้คนอย่างตนไม่ตอบมั่วๆ เพราะจบกฎหมายจากออกซ์ฟอร์ดและจบเนติบัณฑิตไทยและเนติบัณฑิตอังกฤษ
ลุ้นระทึก! เลือก ‘อบจ.’ 3 จว. ‘กกต.’ จับตาที่อุดรฯแข่งดุ
“เลขาฯ แสวง” มั่นใจเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี แข่งขันสูงไม่ใช่ปัญหา แต่ช่วยกระตุ้นประชาชนออกมาใช้สิทธิ เผยมีเรื่องร้องเรียน 2 เรื่อง ใส่ร้ายระหว่างผู้สมัคร เร่งตรวจสอบ
ชูศักดิ์ดิ้นหนัก ลุยล็อบบี้กมธ. ปั้นกม.การเงิน
“นายกฯ อิ๊งค์” บอกไม่ได้จบกฎหมายมา โยน “ชูศักดิ์” ดูแลเรื่องรัฐธรรมนูญ
‘18บอส’นอนตะรางยาว! สายไหมไม่รอดเจอข้อหา
18 บอสดิไอคอนนอนคุกยาว ดีเอสไอยื่นฝากขังผัด 4 พ่วงแจ้งข้อหาใหม่โทษหนักคุก 10 ปี