โพลฉีกหน้าผลงานเศรษฐา

นิด้าโพลตบหน้ารัฐบาล คนส่วนใหญ่บอกชัดไม่พอใจการทำงานยุคเศรษฐา สุดเชื่องช้าไร้การเปลี่ยนแปลงตามราคาคุย ซ้ำร้ายความเชื่อมั่นดิ่งเหว  แต่คาดการณ์อนาคต “เสี่ยนิด” ยังยึดเก้าอี้แน่น นายกฯ ตีมึนบอกน่าคิด  สัปดาห์ก่อนโพลสถิติแห่งชาติยังอวย ข้องใจถามเกษตรกรหรือเปล่า

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2567 ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชนเรื่อง “ขอถามบ้าง … 9 เดือนรัฐบาลนายกฯ  เศรษฐา” ซึ่งทำการสำรวจประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค รวม 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน  ในรอบ 9 เดือน

โดยเมื่อถามถึงความพึงพอใจของประชาชนต่อการทำงานของรัฐบาลนายเศรษฐาในรอบ 9 เดือน พบว่า 34.35% ระบุว่าไม่ค่อยพอใจ เพราะการบริหารจัดการในเรื่องต่างๆ มีความล่าช้า และยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างไปจากเดิม, 31.69% ไม่พอใจเลย เพราะไม่มีความก้าวหน้าในการทำงานและไม่สามารถทำตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้,  25.19% ค่อนข้างพอใจ เพราะมีความพยายามผลักดันนโยบายต่างๆ ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น และเห็นผลงานที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหา, 7.40% พอใจมาก เพราะมีความตั้งใจในการทำงาน ช่วยเหลือประชาชน ทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น และ 1.37% ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ด้านความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาของประเทศ  พบว่า 35.95% ไม่เชื่อมั่นเลย เพราะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้น ผลงานยังไม่ชัดเจน แก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ, 35.04% ไม่ค่อยเชื่อมั่น เพราะการทำงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ แก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด, 22.14% ค่อนข้างเชื่อมั่น เพราะมีประสบการณ์ในการทำงาน มีทักษะด้านการบริหาร สามารถทำให้ประเทศพัฒนาขึ้นได้, 5.42% เชื่อมั่นมาก เพราะรัฐบาลมีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหา มีการบริหารที่ดี สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้ และ 1.45% ระบุว่าไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นกับรัฐบาลภายในเวลา 2 เดือน พบว่า 43.44% ระบุว่านายกฯ  เศรษฐายังอยู่ในตำแหน่งเหมือนเดิม,  15.65% พรรคร่วมรัฐบาลยังคงเหมือนเดิม, 15.50% จะมีการปรับคณะรัฐมนตรี, 10.92% จะมีการยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่, 10.46% จะมีการเปลี่ยนนายกฯ แต่ยังคงมาจากพรรคเพื่อไทย, 6.56% จะมีการเปลี่ยนนายกฯ โดยนายกฯ คนใหม่จะมาจากพรรคฝ่ายค้าน,  6.11% จะมีการสลับขั้วทางการเมืองเปลี่ยนรัฐบาล, 4.58% จะมีการเปลี่ยนนายกฯ โดยนายกฯ คนใหม่จะมาจากพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน, 3.21% สส.ฝ่ายรัฐบาลจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น, 3.05% ระบุว่า จำนวนพรรคร่วมรัฐบาลจะลดลง, 2.60% จำนวนพรรคร่วมรัฐบาลจะเพิ่มขึ้น และ สส.ฝ่ายรัฐบาลจะมีจำนวนลดลงในสัดส่วนที่เท่ากัน และ 12.67% ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ขณะเดียวกัน สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจเรื่อง ความมั่นคง การเมือง เงินดิจิทัล กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ  จำนวน 1,095 ตัวอย่าง โดยเมื่อถามถึงการสนับสนุนของประชาชนต่อรัฐบาลให้ทำระหว่างความมั่นคงของชาติกับแจกเงินดิจิทัล พบว่าเสียงของประชาชนแตกออกเป็น 3 กลุ่มในสัดส่วนพอๆ กันคือ  35.7% สนับสนุนรัฐบาลให้ทำเรื่องความมั่นคงของชาติมากกว่า ในขณะที่ 31.3% สนับสนุนรัฐบาลให้แจกเงินดิจิทัลมากกว่า และ 33% ไม่มีความเห็น

เมื่อสอบถามถึงกระแสความคิดเห็นของประชาชนต่อประเด็นสำคัญทางการเมืองและความมั่นคง พบว่าส่วนใหญ่หรือ 93.6% รู้สึกหมดหวังกับองค์กรอิสระของประเทศไทย, 87.1% ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง การบริหารราชการ การแก้ไขปัญหาเดือดร้อนของประชาชน และ 83.4% ปัญหาการเลือกตั้ง สว.จะบานปลาย ในขณะที่ 54.9% ประเทศมหาอำนาจต่างชาติพยายามชี้นำฝ่ายการเมืองไทย เอื้อประโยชน์ต่างชาติ และ 48.4% ประเทศใกล้เคียงประเทศไทย เช่น กัมพูชา สิงคโปร์ เวียดนาม กำลังพัฒนาขีดความสามารถทางทหาร เติบโตแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนต่อ 40 สว.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญจัดการกับนายกฯ ส่วนใหญ่หรือ 61.2% ไม่เห็นด้วย ในขณะที่ 38.8% เห็นด้วย

ด้านนายเศรษฐา ให้สัมภาษณ์ถึงผลสำรวจนิด้าโพล ในระหว่างลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน จ.ลำปาง ว่าน่าคิดอยู่เหมือนกัน เพราะสำนักงานสถิติแห่งชาติก็เพิ่งเผยผลสำรวจออกมาว่าตัวเลขออกมาใช้ได้ แต่อีกหนึ่งสัปดาห์ให้หลัง นิด้าโพลก็มีผลสำรวจออกมาในลักษณะย้อนแย้ง  แต่ก็ยินดีว่าเสียงที่เราควรได้ยิน ไม่ใช่เฉพาะเสียงชื่นชมอย่างเดียว ควรจะเป็นเสียงที่มีการติด้วย แต่เราก็ต้องดูว่าวิธีการทำสถิติและการไปเก็บตัวเลขเป็นอย่างไร  ครบทุกหมวดทุกเหล่าหรือเปล่า ถามเกษตรกรหรือเปล่า คิดว่าก็ต้องลงในรายละเอียดด้วย

“สมมุติว่ามีความรู้สึกว่าไม่พอใจ ผมก็คิดว่าทุกคนที่ยืนอยู่กับผมตรงนี้เรามีความเข้าใจถึงความเดือดร้อนของประชาชน และเราก็น้อมรับในผลโพลที่ออกมา เราเองก็ต้องพยายามทำให้ดีขึ้น”นายกฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า มั่นใจใช่หรือไม่ว่าในไตรมาส 4 ตัวเลขเศรษฐกิจหรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) จะดีขึ้น นายกฯ กล่าวว่า มั่นใจ

เมื่อถามต่อว่า แต่ภาคเอกชนเป็นห่วงภาคการเมืองจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจ นายกฯ กล่าวว่า เหมือนทุกครั้งที่ให้สัมภาษณ์ เรื่องของการเมืองนั้นก็อยู่ควบคู่ไปกับเศรษฐกิจไทย รวมทั้งชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งหมด แต่หน้าที่ของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่เป็นฝ่ายบริหารก็ต้องทำหน้าที่บริหารต่อไป และพยายามลดทอนในเรื่องของความขัดแย้งหรือการใช้คำพูดอะไรที่เป็นการท้าทาย เชื่อว่าทุกคนทราบดีว่าการเมืองคืออะไร แต่ก็ต้องไม่ให้เรื่องเหล่านี้มาบั่นทอน แต่ละคนมีหน้าที่อะไรก็ขอให้ทำกันไป แต่เหนือสิ่งอื่นใด ถ้าเราเอาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นที่ตั้ง  เชื่อว่าถนนการเมืองทุกเส้นก็วิ่งสู่ความต้องการของพี่น้องประชาชน ใครจะมีวิธีการอย่างไรก็น้อมรับและยินดีรับฟัง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง