กกต.ลุยเลือก‘สว.’ ไทม์ไลน์9มิ.ย.ไม่เปลี่ยน ยก4เหตุผลยึดกฎหมาย

มติเอกฉันท์ "กกต." เดินหน้าเลือก สว. ไม่หวั่นหากศาลรัฐธรรมนูญชี้ขัดแย้ง รธน. ยก 4 เหตุผลสำคัญ มั่นใจทำตามที่กฎหมายกำหนด ลุยไทม์ไลน์เดิม 9 มิ.ย. วอนผู้สมัคร 1 เดียวในอำเภอมาใช้สิทธิ์ “สว.เสรี” ลั่นต้องยึด กม.เป็นหลัก "กมธ.กิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ" แนะช่อง กกต.ใช้ม.59 ของ กม.ลูก สว. แก้ไข-เปลี่ยน-ยกเลิกการเลือกได้

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วันที่ 7 มิ.ย. เวลา 11.00 น. นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.  ประชุมกรรมการ กกต. เพื่อหารือในประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัย 4  มาตราของพระราชบัญญัติ​ประกอบรัฐธรรมนูญ​ (พ.ร.ป.)​ ว่าด้วยการได้มาซึ่งสว. 2561 ซึ่งเกี่ยวข้องกับวิธีการเลือก สว.ทั้งระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 107 หรือไม่ โดยการประชุมครั้งนี้ กกต.มาครบทั้ง 7 คน   

นายอิทธิพรกล่าวหลังการประชุมว่า  กกต.มีมติเอกฉันท์ไม่เลื่อนการเลือก สว. เนื่องจากยังไม่มีเหตุจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้การเลือก สว. ต้องเลื่อนออกไป ทั้งนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้ง กกต.ก็ต้องปฏิบัติตาม ไม่หวั่นหากมีคนไปยื่นร้องให้การเลือก สว.เป็นโมฆะ เพราะที่ กกต.ดำเนินอยู่จนถึงวันนี้เป็นการดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ชัดเจน

"ยืนยันว่า กกต.ไม่ได้ปฏิบัติต่างจากที่กฎหมายกำหนด" ประธาน กกต.กล่าว

จากนั้น นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุม กกต.มีมติเดินหน้าเลือก สว.ในวันที่ 9 มิ.ย.นี้ต่อไป ทั้งนี้ ตนพูดเสมอว่าสิ่งที่เราทำกับผู้สมัครและประชาชน ซึ่งเราติดว่าเป็นการทำร่วมกัน แต่การจะรักษากระบวนการเลือกให้เป็นไปตามเป้าหมาย ถ้าระหว่างทางกระบวนการเลือกไม่เรียบร้อย เป้าหมายก็ถูกกระทบแน่นอน

นายแสวงกล่าวว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัย ดูจากเหตุผลโดยรวมแล้ว 1.ศาลระบุว่า ยังไม่ปรากฏว่าจะเกิดความเสียหายร้ายแรงยากแก่การเยียวยาได้ในภายหลัง 2.เหตุผลในการรับคำร้อง ระบุว่า ยังไม่ใช่เหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ตามกฎหมาย จนอยู่ในวิสัยที่จะเยียวยาในภายหลังไม่ได้ 3.รัฐธรรมนูญมาตรา 132 เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบพ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญทุกฉบับได้ส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบ ซึ่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.ที่ใช้สำหรับการเลือก สว.ครั้งนี้ก็ผ่านขั้นตอนนี้มาแล้ว  และ 4.ณ วันนี้ กกต.กำลังปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย ออกโดยชอบด้วยรัฐสภา ซึ่งคือกฎหมายการเลือก สว.ฉบับนี้

 “ณ วันข้างหน้า ถ้ามีเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ กกต.คงใช้อำนาจตามหน้าที่ที่มีในการแก้ไขปัญหานี้” นายแสวงกล่าว

เลขาธิการ กกต.ชี้แจงถึงกระบวนการเลือก สว.ในวันที่ 9 มิ.ย.ว่า กรณีที่อำเภอหนึ่งมีผู้สมัครเพียงคนเดียว หรือกลุ่มเดียวหรือในวันเลือก บางกลุ่มไม่มารายงานตัวทั้งกลุ่ม หรือมีผู้สมัครถูกถอนชื่อ และอาจจะทำให้เหลือกลุ่มเดียวได้ แต่ที่ผ่านมาสังคมมองว่า กกต.ไปตัดสิทธิคนกลุ่มนี้ ทำให้ชาวบ้านเสียเงิน 2,500 บาท แล้วไม่ได้ใช้สิทธิ ยืนยันว่า กกต.ไม่ได้ตัดสิทธิ ผู้สมัครกลุ่มนี้ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรเราก็จะให้ทำการเลือกเหมือนเดิม ท่านต้องไปใช้สิทธิ ถ้าเกิน 5 คน ก็ต้องเลือกกันเองให้เหลือตามสิทธิที่จะเข้าไปในรอบที่ 2 เป็นการเลือกไขว้ แต่หากไม่มีกลุ่มมาเลือกก็ต้องถือว่าไม่มีคะแนน

กกต.เดินหน้าเลือก สว.

"เราขอให้ท่านมาใช้สิทธิเพื่อจะได้นำสิทธินี้ไปใช้เป็นสิทธิในการร้องศาลอื่น ถ้าเห็นว่ามีหน่วยงานไหนที่จะให้สิทธิท่านได้ เราอยากช่วย แต่กฎหมายให้เราเดินได้แค่นี้" เลขาธิการ กกต.กล่าว

นายแสวงอธิบายถึงการทำรูปแบบบัตรใหม่ว่า มีเจตนาเพื่อคุ้มครองประโยชน์ผู้สมัคร เพราะบัตรรูปแบบเดิม เมื่อมีการรวมกลุ่ม 4-5 กลุ่มของสาย การลงคะแนนอาจทำให้เกิดบัตรเสียได้ทั้งกลุ่มได้ จึงต้องทำรูปแบบบัตรใหม่ เพื่อที่ว่าหากเกิดเหตุดังกล่าวแล้วจะทำให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด เสียเฉพาะคนในกลุมนั้น

ถามถึงประเด็นฮั้ว การซื้อเสียง การจัดตั้งลงสมัคร สว. นายแสวงกล่าวว่า เราจะไปลงโทษคนจากความเห็นไม่ได้ ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกคน ไม่ว่าเป็นผู้สมัครหรือใคร เราอยากให้การเลือกมีความสุจริตเที่ยงธรรม เราไม่ได้นิ่งนอนใจเรื่องฮั้ว จัดตั้ง ขอคะแนนกัน จริงๆ มีคนอยู่ในกลุ่มนี้ ซึ่งตนได้รับเรื่องร้องเรียนทุกวัน เช่น ใส่เสื้อสีเดียวกัน ถ่ายรูปร้านเดียวกันผิดหรือไม่ ก็ไม่ผิด แต่ต้องดูว่าทำเกินกว่าการใส่เสื้อสีเดียวกันหรือไม่ เราไม่นิ่งนอนใจ แต่ต้องรอการพิสูจน์เสียก่อน เราได้ดำเนินการตลอดเวลา จริงจังกับเรื่องนี้มีคนตรวจสอบทุกพื้นที่ 

เลขาฯ กกต.กล่าวว่า สำหรับเรื่องคุณบัติและเอกสารประกอบ ยังมีความเข้าใจผิดในหลายเรื่อง ผอ.ที่รับสมัคร เราตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งผู้สมัครต้องรับรองตนเอง การลงกลุ่มไม่นับว่าเป็นเรื่องของคุณสมบัติ แต่เป็นเรื่องเอกสารประกอบ เพราะเราไม่สามารถวินิจฉัยได้ทันทีว่าอยู่กลุ่มไหน กฎหมายจึงให้รับรองให้สมัคร ยังไม่ได้เป็นการคัดกรอง ให้แค่ประชาชนรับรอง ดังนั้นเรื่องนี้ต้องแยกออกจากเรื่องคุณสมบัติ แต่หากทำผิดแจ้งเอกสารเท็จทั้งคุณสมบัติต้องห้าม และเอกสารประกอบ เราสามารถลงโทษได้

"เรื่องการสังเกตการณ์เลือก สว. ได้แจ้งไปยังสถานที่เลือกตั้งระดับอำเภอ จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหอประชุม ทราบว่า มีการจัดเตรียมสถานที่ไว้รองรับการสังเกตการณ์แล้ว" เลขาฯ กกต.กล่าว

ต่อมาเวลา 14.30 น. นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.และคณะ เข้ารับฟังข้อมูลการป้องปรามและการหาข่าวเกี่ยวกับการกระทำความผิดกฎหมาย พร้อมทั้งร่วมหารือแนวทางในการสืบสวนและไต่สวนและการแสวงหาพยานหลักฐานประกอบการจัดทำสำนวนสืบสวนและไต่สวนในการเลือก สว. รวมทั้งการจัดชุดเคลื่อนที่เร็วเพื่ออำนวยความสะดวกให้การเลือก สว.เป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย ที่ตำรวจภูธรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวตั้งแต่ช่วงเช้า ระบุว่า กกต.ต้องทำหน้าที่ของ กกต. กฎหมายว่าอย่างไร กกต.ก็ปฏิบัติไปตามกฎหมายอย่างนั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญยังไม่วินิจฉัย ยังไม่เห็นมีเหตุจำเป็นให้ต้องมาเลื่อนการเลือก สว.ออกไป กกต.อย่าไปทำหน้าที่ตัดสินแทนศาลรัฐธรรมนูญ บ้านเมืองก็จะสงบเรียบร้อย

                    นายเสรีกล่าวว่า การเลือก สว. ทาง กกต.ได้กำหนดไทม์ไลน์ไว้ชัดเจนว่า การเลือก สว.ระดับอำเภอจะมีขึ้นในวันที่ 9 มิ.ย. จากนั้นวันที่ 16-26 มิ.ย. เป็นการเลือกระดับจังหวัดและระดับประเทศตามลำดับ แต่ขณะนี้มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลออกมาให้ข่าว ทำให้สื่อมวลชนและคนในสังคมวิเคราะห์วิจารณ์ไปต่างนานา ถึงขั้นพูดกันว่าจะเลื่อนการเลือกในระดับอำเภอออกไป ตนเห็นว่าบ้านเมืองจะสงบเรียบร้อย ไม่วุ่นวายสับสนจนอาจนำมาซึ่งความระส่ำระสาย กกต.ต้องทำหน้าที่ของ กกต.อย่างมีประสิทธิภาพ

 “เมื่อศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัย กระบวนการเลือก สว.ที่ดำเนินมาตามลำดับตั้งแต่เปิดรับสมัคร การออกข้อกำหนดของ กกต.ว่าด้วยการแนะนำตัวผู้สมัครให้ถือปฏิบัติ จนกระทั่งเหลืออีก 2 วันก็จะถึงวันเลือกระดับอำเภอ ก็ควรจะปล่อยให้ดำเนินไป ไม่มีเหตุจำเป็นใดๆ ให้ต้องเลื่อนการ สว.ออกไป เพราะการเลื่อนการเลือก สว.จะเกิดผลกระทบที่จะสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรง อาจทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่น กกต.ต้องไม่บ้าจี้ตามกระแสที่มีบางคนบางกลุ่มหรือหลายกลุ่มออกโรงกันอยู่ในเวลานี้ ขอให้ดำเนินการจัดให้มีการเลือก สว.ให้เป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม อย่าให้มีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็น” นายเสรีกล่าว

  ถามว่า หาก กกต.ดำเนินการเลือกไปก่อนแล้วศาลวินิจฉัยว่าการได้มาซึ่ง สว.ผิดรัฐธรรมนูญ อาจทำให้เกิดความเสียหายได้ นายเสรีกล่าวว่า เสียหรือไม่เสียก็เป็นไปตามศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กกต.ก็ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร เพราะทำตามกฎหมาย ถ้าศาลมีคำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงออมา กกต.ก็ทำตามศาล หากดำเนินการเลือก สว.แล้ว ก็ต้องดูว่าศาลจะทำอย่างไร ไม่ใช่ กกต.ทำให้เสีย ถ้าตอนนี้ไม่มีเหตุให้เลื่อนแล้วไปเลื่อนก็จะเป็นเรื่องใหญ่ กลายเป็นว่า กกต.ทำผิดเสียเอง ดังนั้น กกต.ควรดำเนินการไปตามหน้าที่และตามกฎหมาย

สว.ชี้ช่องใช้ ม.59 กม.ลูกได้

นายกษิดิศ  อาชวคุณ สว. ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา  กล่าวถึงการประชุม กมธ.เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา เรื่องกระบวนการเลือก สว.ที่มีปัญหาว่า ที่ประชุมได้ซักในประเด็นที่เป็นมาตรการแก้ปัญหาเพิ่มเติม โดยนายกล้านรงค์ จันทิก ประธาน กมธ. ซักถามด้วยความห่วงใย กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของศาลปกครองกลาง เรื่องที่เกี่ยวกับความขัดแย้งของกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ พ.ต.ต.ณัฐวัฒน์ เสงี่ยมศักดิ์ รองเลขาธิการ กกต. ชี้แจงว่าจะพิจารณาในอีก 2-3 วัน

นอกจากนี้ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา  กมธ. ที่เคยเป็นอดีตเลขาฯ กกต. ถามถึงการใช้มาตรการทางกฎหมาย ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ าด้วยการได้มาซึ่ง สว. พ.ศ.2561 มาตรา 59  ที่ให้อำนาจ กกต.แก้ไข เปลี่ยน หรือยกเลิกการเลือก และสั่งให้ดำเนินการเลือกใหม่ ก่อนการประกาศผลเลือก หากมีเหตุอันควรสงสัยว่าการเลือกไม่เป็นไปโดยสุจริต ทั้งนี้ ตัวแทน กกต.ที่ชี้แจงได้อ้างอิงถึงระเบียบของ กกต.ที่ออกมา ทำให้ กมธ.มองว่าขัดแย้งกับวิธีการทำงาน ซึ่งระเบียบนั้นมีศักดิ์ต่ำกว่ากฎหมายประกอบ

 “มาตรา 59 นั้นเป็นอำนาจของ กกต.ที่ชัดเจน หากดำเนินการไปแล้วเป็นปัญหา อาจกระทบต่อมาตรฐานได้ กมธ.ดูแล้วไม่สบายในในภาพรวม ซึ่งกลไกของมาตรา 59 นั้น สามารถใช้ได้เลย ไม่ต้องรอถึงระดับประเทศ และในการประชุม กมธ.ได้ให้ความเห็นที่ชัดเจนว่า เมื่อมีเครื่องมือทางกฎหมายที่สามารถใช้ได้ ต้องนำไปใช้ ซึ่ง ฝากรองเลขาฯ กกต.ทั้ง 3 คนไปคุยกับ กกต.ให้ดี เพราะมีความชัดเจนอยู่แล้ว แต่ในฐานะที่เราเป็น สว.อยู่ตอนนี้ บอกอะไรไม่ได้มากกว่านี้ ทำได้แค่เป็นข้อเสนอ” โฆษก กมธ.กิจการองค์กรอิสระกล่าว

วันเดียวกัน นายสนธิญา สวัสดี ผู้สมัคร สว. เข้ายื่นคำร้องต่อ กกต. เพื่อให้ดำเนินการเลือก สว.ตามกำหนดการต่อไป โดยไม่ต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่มีผู้ร้องว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. จำนวน 4 มาตรา ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

นายสนธิญากล่าวว่า การยื่นร้องขอให้ศาลพิจารณา เป็นการก่อกวนใช่หรือไม่  คุณกำลังจะทำให้การคัดเลือก สว.ไม่เกิดขึ้นใช่หรือไม่ จึงขอให้ กกต.พิจารณาเดินหน้าให้เกิดการเลือก สว.ต่อไป ส่วนถ้ามีข้อสงสัยคนหนึ่งคนใดมีการจ้างเพื่อการลงคะแนนให้กับคนใดคนหนึ่ง จะรู้ได้เอง เพราะคะแนนจะมีการโชว์ ทั้งนี้ ตนเชื่อมั่นในระบบของ กกต. รัฐธรรมนูญ และพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ผ่านการพิจารณาไตร่ตรอง สมบูรณ์ครบถ้วนแล้ว วันนี้ตนจึงไม่เห็นด้วยกับการยื่นเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความในประเด็นกฎหมายดังกล่าว

ขณะที่กลุ่มผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา นำโดยนายเก่งกาจ คุปต์อัครภิญโญ ยื่นหนังสือถึงประธาน กกต. เพื่อแสดงเจตจำนงคัดค้านการเลื่อนการเลือก สว. ซึ่งในหนังสือคัดค้านได้แนบรายชื่อผู้สมัคร สว. จำนวน 47 คน และแจ้งว่าอาจมีรายชื่อเพิ่มเติมอีกด้วย เพื่อคัดค้านการเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด และหากการเลื่อนโดยไม่มีเหตุทางกฎหมายรองรับ จะก่อให้เกิดความเสียหายยิ่งกว่า เพราะผู้สมัคร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนได้เตรียมตัวเข้าสู่กระบวนการเลือกแล้ว ขณะเดียวกันงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการได้ถูกจัดสรรไปแล้ว

"การเลื่อนจะทำให้ผู้สมัครบางคนไม่สะดวกหรือไม่ว่างที่จะไปเลือกในวันใหม่ที่จะกำหนด ทำให้เสียสิทธิ์ และอ้างอิงว่าคำสั่งเลื่อนนี้ รวมถึงคำสั่งกำหนดวันใหม่ จะเป็นเหตุให้ถูกตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายโดยศาลปกครองอีกด้วย" ผู้สมัคร สว.รายนี้ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สมชาย' แฉ กกต.ประสานรัฐสภามาแล้ว 7 ก.ค.ให้ สว.ใหม่รายงานตัว

'สมชาย' ซัด 'กกต.' ทำพิธีกรรมชะลอประกาศรับรองผลเลือก สว. บอก กกต. ประสานให้ 7 ก.ค. เลขาวุฒิสภารับรายงานตัว-เตรียมห้องทำงาน เปรียบ สว.เก่าถูกไล่

ประธาน กกต.แสลงคำว่า 'เลื่อน' บอกยังไม่ประกาศชื่อ สว.เพราะยังไม่เสร็จ!

ประธาน กกต.รับ ยังไม่ประกาศรับรอง สว.วันนี้ชี้ไม่ใช่การเลื่อนแต่ต้องพิจารณาคำร้องให้แล้วเสร็จ ย้ำหากสุจริตเที่ยงธรรมก็ประกาศได้