กมธ.เคาะนิรโทษ112ปลายมิ.ย.

"คปท." ยกทีมบุกสภา ค้านรวม ม.112-ทุจริตคอร์รัปชัน ย้ำจุดยืนเห็นด้วยนิรโทษกรรมทุกฝ่าย  "นิกร" คาดถกรวมคดี 112 หรือไม่ปลาย มิ.ย.ชัดเจน "กมธ.นิรโทษกรรม" เห็นชอบอนุฯ เสนอ 7 ประเด็น เตรียมตั้ง คกก.พิจารณากรั่นกรองคดี พ่วงติดตามทำผิดซ้ำ-ฟ้องคดีใหม่ได้ "พท." ซัดพวกมโนนิรโทษฯ เอื้อทักษิณ บอกรอ กมธ.เคาะก่อน "คารม" เหมาเข่งปลุกความขัดแย้งรอบใหม่ รบ.อาจไปเร็วกว่าที่คิด "ก.ก." หวังใช้ "แอมเนสตี้โปรแกรม" ร่วมนิรโทษฯ ให้คดีอื่นด้วย "จตุพร" ชี้ 18 มิ.ย. "ทักษิณ" ไม่มาศาลแล้วไปเสนอนิรโทษกรรม 112 ระเบิดเวลาลงเพื่อไทยแน่

 ที่รัฐสภา วันที่ 6 มิ.ย. เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ร่วมกับศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส. ) และกองทัพธรรม ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีนายนิกร จำนง เลขานุการ กมธ. เป็นผู้รับหนังสือ

นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำ คปท. กล่าวว่า ตามที่ กมธ.ได้ดำเนินการพิจารณาแนวทางการออก พ.ร.บ. และมีความพยายามนำเอาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมเข้าด้วยนั้น เกิดจากแนวคิดที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของประชาชนในเหตุการณ์ทางการเมืองตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 ถึงปัจจุบัน แต่เหตุการณ์ หรือพฤติกรรมแห่งการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของกลุ่มหรือบุคคลผู้กระทำความผิด ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมือง และไม่ใช่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประชาชนด้วยกัน แต่เป็นการกระทำที่มุ่งหมายให้เกิดการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ จนเป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรมเสื่อมทราม เข้าลักษณะการล้มล้างการปกครอง

"เราเห็นว่าการพยายามผลักดันการนิรโทษกรรมโดยการเหมารวมฐานความผิดเหมือนกรณีที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พยายามผลักดันเป็น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง ยิ่งจะสร้างความแตกแยกครั้งใหม่ในสัมคมไทย" นายพิชิตกล่าว

แกนนำ คปท.กล่าวว่า ขอแสดงจุดยืนคือ 1.สนับสนุนให้มีการนิรโทษกรรม ให้กับประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยมีเหตุจูงใจทางการเมืองทุกฝ่าย 2.คัดค้านแนวทางการนำความผิดมาตรา 112 มาบรรจุไว้ใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เนื่องจากการกระทำความผิดนั้น ไม่ได้เป็นการแสดงออกทางการเมือง แต่เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อมุ่งหมายตรงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ 3.คัดค้านการนิรโทษกรรมที่จะเหมารวมความผิดในกรณีทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึงการกระทำผิดอาญาต่อบุคคลร้ายแรง ถึงแม้จะเกิดขึ้นในระหว่างชุมนุมก็ตาม

ด้านนายนิกรกล่าวว่า กมธ.ได้รับเรื่องร้องเรียนมาแล้ว 3 คณะ ซึ่งทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการรวมความผิดมาตรา 112 ในการนิรโทษกรรม แต่ทั้งนี้ กมธ.ของเราไม่ได้เป็น กมธ.ที่ยกร่างฯ แต่จะพูดคุยได้ในหลักการต่างๆ ซึ่งเข้าใจเรื่องที่มายื่นว่าเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหว ย้ำว่าทาง กมธ.ยังไม่มีข้อสรุปเรื่องนี้ จึงจะแถลงในนาม กมธ.ไม่ได้

"ผมจะรับเรื่องไว้เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของ กมธ.ต่อไป แต่จะได้ข้อสรุปอย่างไร ต้องรอฟังอีกครั้ง" นายนิกรกล่าว

จากนั้น มีการประชุม กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ. นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายนิกรแถลงว่า มติที่ประชุมเห็นชอบเรื่องของกรอบเวลานิรโทษกรรม ช่วงเวลาตั้งแต่ 1 ม.ค. 2548 ถึงปัจจุบัน ส่วนของนิยามคำว่า ‘การกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง’ ได้ข้อสรุปว่า หมายถึง “การกระทำที่มีพื้นฐานมาจากความคิดที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง หรือต้องการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วงเวลา ที่มีความขัดแย้งหรือเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง”

ถกรวมคดี 112 หรือไม่ มิ.ย.ชัด

นายนิกรกล่าวว่า นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้เสนอความเห็นในที่ประชุมว่า ควรมีเรื่องขอบเขตการนิรโทษกรรม ซึ่งเป็นความเห็นใหม่ที่เสนอเข้ามาใน กมธ.สำหรับข้อสรุปเกี่ยวกับขอบเขตการนิรโทษกรรม รวมถึงผลของการนิรโทษกรรม ว่า "บรรดาการกระทำใดๆ  หากเป็นความผิดตามกฎหมาย ให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง และให้ถือเสมือนว่า บุคคลนั้นไม่เคยกระทำความผิด"

ถามว่า ท้ายที่สุดการนิรโทษกรรมจะครอบคลุมถึงคดีมาตรา 112 ด้วยหรือไม่ นายนิกรกล่าวว่า อีกสัก 2-3 ครั้ง คงจะพิจารณาได้ ขณะนี้มีหลายคดีที่ต้องมาคิดกันว่าจะนิรโทษฯ อะไรบ้าง อย่างไร ยังไม่ได้พิจารณา ต้องดูกรอบอื่นมาก่อน แต่หากจะนิรโทษกรรมมาตรา 112  จะต้องครอบคลุมทุกคดีใช่หรือไม่นั้น  ต้องแล้วแต่ว่าจะเจอมาอย่างไร เพราะตอนนี้รวมอยู่ในกรอบการศึกษาทั้งหมด

ขณะที่ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม กล่าวว่า กมธ.ชุดใหญ่ได้พิจารณาข้อเสนอของอนุ กมธ.ในการจำแนกการกระทำที่มีเหตุจูงใจทางการเมือง โดยเห็นชอบตามข้อเสนอของอนุ กมธ. ที่มีกระบวนการพิจารณา 7 ประเด็น เป็นไปตามเค้าโครงเดิมที่เคยพิจารณาไปก่อนหน้านี้ ได้แก่ 1.นิยามแรงจูงใจทางการเมือง 2.การจำแนกประเภทคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมืองสรุปออกมาได้ 3 ประเภท 1.การกระทำในคดีหลัก เช่น คดีการชุมนุมทางการเมืองที่มีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือกฎหมายความมั่นคง 2.การกระทำในคดีรอง เป็นผลที่พ่วงมาจากคดีหลัก และ 3.การกระทำในคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง ซึ่งหลายคนอาจเข้าใจว่าเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่จริงๆ มีอีกหลายมาตราที่เกี่ยวข้องกับความอ่อนไหว เช่น ความผิดต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชน

3.การมีกระบวนการหรือทางเลือกที่จะนิรโทษกรรมแบบใด แบ่งออกเป็น 3 ทางเลือก คือ 1.ใช้รูปแบบคณะกรรมการนิรโทษกรรม 2.การนิรโทษกรรม โดยยกร่างกฎหมายแล้วยกเว้นความผิด หรือเหตุการณ์ต่างๆ 3.ผสมผสานกันระหว่างการมีคณะกรรมการฯ และยกร่างกฎหมายไปในตัว อาจเรียกว่าเป็นคณะกรรมการกลั่นกรองและติดตามการบังคับใช้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

4.กลไกกระบวนการนิรโทษกรรม จะเลือกในรูปแบบคณะกรรมการหรือไม่ จะมีกลไกตั้งแต่ชั้นรับเรื่องในการพิจารณา มีกลไกในชั้นกลั่นกรอง ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือแม้กระทั่งในชั้นพิจารณาตัดสินการนิรโทษกรรม รวมถึงมาตรการการเยียวยา 5.องค์ประกอบของคณะกรรมการนิรโทษกรรมจะเน้นไปที่ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นหลัก ที่ประกอบไปด้วยหลายพรรคการเมือง ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล เนื่องจากได้รับการยอมรับ มีความเป็นกลาง สังคมให้ความเชื่อถือมากกว่าฝ่ายบริหาร โดยจะให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานคณะกรรมการฯ ให้นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมาย เป็นรองประธานคณะกรรมการฯ ตัวแทนกระทรวงยุติธรรม ตัวแทน สส. นักวิชาการ ภาคประชาชน รวมถึงตัวแทนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

6.มาตรการเยียวยา จะเน้นในเรื่องสิทธิเป็นหลัก ไม่ได้เน้นเรื่องทางแพ่งเพราะจะเกิดการฟ้องร้องคดีต่างๆ ได้ ถือเป็นการคืนสิทธิให้กับบุคคลที่ได้รับการนิรโทษกรรม และ 7.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำและการเสริมสร้างความปรองดอง ไม่ได้กำหนดระยะเวลา เพราะเมื่อทุกคนได้รับการนิรโทษกรรมถือว่าเป็นผู้ที่ไม่มีความผิด ฉะนั้น หากนิรโทษกรรมแล้วก็นิรโทษกรรมเลย แต่จะมีคณะอนุกรรมการของคณะกรรมการนิรโทษกรรมที่จะตั้งขึ้นมาเพื่อติดตามไม่ให้กระทำความผิดซ้ำ หากมีการกระทำความผิดซ้ำ ก็จะมีการร้องขอให้ดำเนินคดีใหม่ ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการติดตามฯ จะมีวาระเท่ากับคณะกรรมการนิรโทษกรรม คือ 2 ปี

พท.ซัดอย่ามโนนิรโทษฯ ทักษิณ

ด้านนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงจุดยืนเรื่องนิรโทษกรรมเกี่ยวกับมาตรา 112 ว่า เรื่องนิรโทษยังอยู่ในสภา กมธ.ว่าอย่างไรก็ต้องรับฟังก่อน ตอนนี้ กมธ.ยังพิจารณาไม่เสร็จ จึงไม่น่ากังวล เราจึงต้องรอฟังก่อนว่า กมธ.ที่ไปจากทุกพรรคการเมืองเขาคิดอย่างไร ซึ่งคิดว่าไม่นาน จึงไม่ใช่เรื่องน่ากังวลอะไร

"พรรคเพื่อไทยเราก็เคยบอกมาตลอด แต่ต้องขอรอฟัง กมธ.ก่อน ซึ่งหลายคนพยายามเอาประเด็นนี้ขึ้นมาเพื่อพาดพิงถึงคนบางคนที่เราทราบ แต่ผมคิดว่ารอให้ทางสภาพิจารณาให้เสร็จก่อน เพราะยังไม่เห็นผลการศึกษาว่าเป็นอย่างไร เราจะตีตนไปก่อนไข้ไม่ได้" นายวิสุทธิ์กล่าว

ถามว่า ตอนนี้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ มีคดีมาตรา 112 อาจทำให้มีการจับตาในเรื่องนี้ นายวิสุทธิ์กล่าวว่า   คิดว่าไม่ใช่เรื่องนายทักษิณจะต้องกังวล ถ้าท่านกังวลคงไม่กลับมา เชื่อมั่นว่านายทักษิณมั่นใจในพยานหลักฐานที่จะต่อสู้คดีท่านจึงกลับมา ฉะนั้นในพรรคไม่ได้กังวลอะไร

นายวิสุทธิ์ยังกล่าวถึงกรณีนายวันชัย สอนศิริ สว. ระบุมีขบวนการ 3 ล้ม ทั้งล้มรัฐบาลนายเศรษฐา ล้ม สว. และยุบก้าวไกล ว่ามีคนจินตนาการเยอะแยะว่าจะล้มนั่นนี่ ไม่เคยอยู่ในพรรค และไม่เคยมาเหยียบในพรรคตน แต่รู้มากกว่าตนอีก

"จินตนาการเรื่องนั้นเรื่องนี้ คนนั้นจะหยุดปฏิบัติหน้าที่ คนนั้นจะติดคุก พวกนี้ไม่ได้คิดถึงเรื่องสร้างสรรค์อะไรสักอย่าง ในใจมีความเกลียดชังอะไรกันหนักหนา ต้องเลิกได้แล้ว เพราะประเทศชาติต้องเดินไปข้างหน้า ประชาชนต้องรอด เศรษฐกิจต้องดี มีความสุข ต้องไปฟังธรรมะบ้าง ตื่นเช้ามา เปิดธรรมะฟัง จิตใจจะได้แจ่มใส ชีวิตจะได้มีความสุข" นายวิสุทธิ์กล่าว 

วันเดียวกัน นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า ในฐานะสมาชิกพรรคภูมิใจไทย และเป็นอดีต สส.พรรคก้าวไกล ซึ่งขณะนั้นเป็นคนหนึ่งที่ยืนยันไม่ลงชื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ถูกเสนอเข้ามาเพื่อแก้ไขจนทำให้ถูกกล่าวหาสารพัด ปัญหาของการพยายามแก้ไขดังกล่าวมีผลทำให้พรรคการเมืองที่พยายามจะแก้ไข และได้เอามาเป็นนโยบายในการหาเสียงในการเลือกตั้ง จนทำให้ปัจจุบันมีคดีไปอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ และรอวินิจฉัยในอีกไม่กี่วันที่จะถึง

"ขณะนี้กำลังจะมีการจะออกกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อให้ประเทศออกจากความขัดแย้ง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและควรทำ แต่การที่จะนำคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดมาตรา 112 เข้ามารวมในการนิรโทษกรรมด้วย  ถ้าไม่ละเอียดรอบคอบ ไม่แยกแยะ อาจทำให้มีความขัดแย้งในสังคมและลุกลาม จนอาจทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้" นายคารมกล่าว

อดีต สส.พรรคก้าวไกลกล่าวว่า ในฐานะที่เคยว่าความในคดี 112 มาก่อน เห็นว่ามาตรา 112 เป็นกฎหมายที่มีไว้เพื่อป้องกันไม่ให้สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกรุกล้ำโดยไม่ถูกต้อง ไม่ถูกทำลาย ไม่ถูกบั่นทอน ไม่ถูกกัดเซาะ ในหลายรูปแบบ หลายลักษณะ จึงเป็นเหมือนรั้วที่มีไว้ เพื่อป้องกันสถาบันพระมหากษัตริย์ ฉะนั้นคนที่คิดแก้ไขมาตรา 112 จึงเห็นเป็นอย่างอื่นไม่ได้ คือมีเจตนาจะทำลายรั้ว หรือเจตนาไม่ดีต่อสถาบันกษัตริย์ ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เนื่องจากสถาบันกษัตริย์ เป็นสถาบันหลักของบ้านเมืองและผูกไว้ในหลักการรัฐธรรมนูญ ที่เป็นกฎหมายสูงสุด

"การจะที่นำเอาคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 112 เข้าไปรวมในการนิรโทษกรรมด้วย จึงเป็นการนิรโทษฯ แบบเหมาเข่ง จึงไม่น่าจะถูกต้อง เพราะไม่ได้แยกแยะ และอาจเป็นต้นเหตุทำให้เกิดแตกแยกตามมาได้ และจะนำมาซึ่งความขัดแย้งรอบใหม่  และอาจทำให้รัฐบาลไปเร็วกว่าที่คิด แทนที่รัฐบาลจะได้แก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจและปัญหาอื่นๆ ของบ้านเมืองที่รออยู่อีกอย่างมากมาย" อดีต สส.พรรคก้าวไกลระบุ

กก.ลุ้นแอมเนสตี้โปรแกรม

ในส่วนนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ที่ประชุม กมธ.พิจารณารายงานของคณะอนุกรรมาธิการฯ ที่ศึกษาในประเด็นต่างๆ รวมถึงประเด็นข้อเสนอของคณะกรรมการกลั่นกรองคดีนิรโทษกรรม ที่มีข้อถกเถียง และความละเอียดอ่อน ทั้งนี้ในข้อเสนอขององค์ประกอบของกรรมการกลั่นกรองนั้น ขณะนี้มี 2 แนวทางคือ แนวแรก เห็นว่ากรรมการกลั่นกรองควรมาจากสภา ให้ประธานสภาฯ เป็นประธานกรรมการ และมีตัวแทนของฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ผู้เชี่ยวชาญ  กรรมการสิทธิมนุษยชน บุคคลที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม และแนวทางสอง กรรมการที่มาจากฝ่ายบริหาร ให้นายกฯ หรือ รมว.ยุติธรรมเป็นประธาน และมีตัวแทนจากผู้เชี่ยวชาญ ตัวแทนจากสภาร่วมมด้วย ทั้งนี้ ในข้อเสนอให้มาจากฝั่งบริหารเพื่อสะดากต่อการใช้งบประมาณและการติดต่อประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ประชุมจะพิจารณาหาข้อสรุปในเรื่องดังกล่าวเป็นหลัก

ถามถึงประเด็นที่มีการโต้แย้งในกรณีการนิรโทษกรรมมาตรา 112 ที่ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 6 นายชัยธวัช กล่าวว่า กมธ.ไม่ได้พูดคุยเรื่องมาตรา 6 ทั้งนี้ การนิรโทษกรรมมาตรา 112 นั้นเคยเกิดขึ้นมาแล้วในระบบกฎหมายไทย สิ่งที่เป็นประเด็นมากกว่า คือเมื่อเกิดข้อถกเถียง จะมีข้อเสนออย่างไร เพื่อทำให้เกิดการกระบวนการยอมรับได้เรื่องนิรโทษกรรม

 “มีการเสนอแอมเนสตี้โปรแกรม โครงการนิรโทษกรรมให้กับคดีบางประเภท ไม่เฉพาะมาตรา 112 เท่านั้น เพราะมีคดีอื่นๆ เช่น คดีทำผิดต่อชีวิตและร่างกาย ซึ่งปกติไม่ควรได้นิรโทษกรรม เพราะถือว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง เช่น กรณีปาระเบิดใส่กลุ่มกปปส. ที่เคยถามตัวแทนแกนนำ กปปส.ว่ากรณีดังกล่าวยอมให้อภัยหรือไม่ ซึ่งเขาระบุว่ายอมให้อภัย ดังนั้นการจะได้นิรโทษกรรมอัตโนมัตินั้นไม่เหมาะสม ดังนั้นควรมีกระบวนการ อย่าคิดแต่เฉพาะมาตรา 112 ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามีข้อถกเถียงเยอะ แต่การนิรโทษกรรมมาตรา 112 เคยเกิดขึ้นในสังคม อย่ามองไกลว่าขัดมาตรา 6 เพราะเป็นละเรื่อง” นายชัยธวัชกล่าว

วันเดียวกัน นายจตุพร พรหมพันธุ์  วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ว่า มันสายเกินไปแล้วที่นายวิษณุ เครืองาม และพรรคเพื่อไทย จะคิดหาช่องทางนิรโทษกรรมช่วยนักโทษทักษิณ ชินวัตร ให้รอดคดี ม.112 โดยไม่ต้องติดคุกเหมือนกลับบ้านเมื่อ 22 ส.ค. 2566

นายจตุพรกล่าวว่า วันที่ 18 มิ.ย. เป็นวันที่อัยการนัดนำตัวนักโทษทักษิณ ไปฟ้องศาลอาญาในคดี ม.112 เชื่อว่า 18 มิ.ย.นี้ ลูกผีลูกคนแน่นอน ทักษิณจะไปตามนัดนำตัวไปฟ้องศาลอาญาหรือไม่ แต่โอกาสที่ไม่มาสูงมาก เพราะสิ่งสำคัญคือการเข้าคุกครั้งนี้จะไม่ง่ายเหมือน 22 ส.ค. และเมื่อทักษิณถูกคดี 112 ยิ่งทำให้พรรคร่วมรัฐบาลยิ่งไม่เห็นดีด้วยกับการนิรโทษฯ คดี 112 แล้วจะมีแนวโน้มแบบพรรคเพื่อไทยเคยออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอยเพื่อทักษิณ มาแล้วเมื่อปลายปี 2556 ดังนั้นเรื่องนี้จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ และเป็นระเบิดเวลาของพรรคเพื่อไทยอีก

"ถ้าวันที่ 18 มิ.ย.ทักษิณไม่มาศาลจะงามไส้เลย แล้วถ้าไปเสนอนิรโทษกรรมย่อมหนักเข้าไปใหญ่ ปัญหาจะเกิดวนกลับมาใหม่เพื่อคนคนเดียว ไม่รู้จดจำบทเรียน แต่ทำให้ประชาชน ประเทศชาติเสียหายซ้ำๆ มากที่สุด" นายจตุพรกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง