ผู้ว่าฯ ชัชชาติพร้อมสอบโกงปม “ศูนย์กีฬาฯ กทม.” จัดซื้อเครื่องออกกำลังกายราคาแพงลิ่ว ลั่นผิดก็คือผิด อ้างไม่ได้อยู่ในอำนาจของฝ่ายบริหาร แต่ก็ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ยอมรับมีเรื่องความไม่โปร่งใส ปัญหาทุจริตฝังลึก รองปลัด กทม.ขึงขัง หากมีการทุจริตต้องมีการลงโทษ
วันที่ 6 มิ.ย.2567 ที่ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมนายจักกพันธุ์ ผิวงาม นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม., นายสมบูรณ์ หอมนาน รองปลัดกรุงเทพมหานคร และ ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้พัฒนา actai.co ระบบตรวจสอบความโปร่งใส และแหล่งข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ชี้แจงกระบวนการตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายในศูนย์กีฬาฯ ภายหลังจากแฟนเพจเฟซบุ๊ก “ชมรม STRONG ต้านทุจริตประเทศไทย” โพสต์บทความหัวข้อ “กทม.จัดซื้อเครื่องออกกำลังกายเครื่องละ 4 แสน” ระบุว่า พบเห็นความผิดปกติในการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย ภายในศูนย์กีฬาวารีภิรมย์ และศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศ เกือบ 10 ล้านบาท
นายชัชชาติกล่าวว่า การจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย ฝ่ายบริหารร่วมกับสภากรุงเทพมหานคร เพื่อตรวจสอบทุกกระบวนการอย่างเข้มข้น บางโครงการที่มีการทำเพิ่ม มีเวลาจำกัด ต้องดูให้ละเอียดรอบคอบมากขึ้น ซึ่งปัญหาการทุจริตยังไม่หมดไป เมื่อทราบเรื่องได้สั่งให้ดำเนินการตรวจสอบทันที และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เข้ามาตรวจสอบตั้งแต่ 2 เดือนที่แล้ว เราเอาจริงเอาจัง ไม่ยอมรับต่อการทำผิด ข้อมูลที่ออกมาประชาชนรับไม่ได้ เพราะราคาเกินไป อธิบายไม่ได้ ต้องมีผู้รับผิดชอบ เราต้องเอาจริงเอาจังขยายผลต่อ ฝ่ายบริหารและสภากรุงเทพมหานครต้องร่วมมือกันปรับปรุงให้ดีขึ้น การเสนอโครงการต้องรอบคอบ สภากรุงเทพมหานครต้องตรวจสอบให้เข้มข้น อนาคตอาจปรับ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างต่อรัฐบาล
นายชัชชาติกล่าวอีกว่า ผิดก็คือผิด ไม่ใช่บอกว่าเคยทำมาแล้ว ทำได้ กระบวนการตรวจสอบราคากลางต้องเข้มข้นและตอบสังคมได้ ฝ่ายบริหารไม่เคยให้นโยบายกำหนดว่าจะเอาของเจ้านี้ หรือปั่นราคา ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมายกำหนด ดำเนินการอย่างโปร่งใสให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน เรื่องดังกล่าวทำให้ตนไม่สบายใจ แม้จะไม่ได้อยู่ในอำนาจของฝ่ายบริหาร แต่ในฐานะผู้ว่าฯ ก็ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ต้องถามว่าขบวนการเหล่านี้เล็ดลอดไปได้อย่างไร ในความไม่ดียังมีความดีอยู่ ทำให้เราเห็นปัญหา ขยายผลไปยังเชิงโครงสร้าง มากกว่าการแก้ปัญหาเฉพาะเคสนี้ เครื่องออกกำลังกายราคาแพงจริง แต่คงทำตามขั้นตอน ต้องดูว่าเอาราคากลางมาจากไหน พูดตรงๆ ว่ายังมีเรื่องความไม่โปร่งใสอยู่
“ผมเองไม่กลัวเลย เพราะว่าไม่เคยสั่งให้ทำอะไรผิด ไม่เคยบอกให้ทำอะไรไม่ดี เรายินดีให้ตรวจสอบ ผมยืนแก้ผ้าให้ดูได้เลย เพราะไม่เคยกลัว ผิดก็ต้องผิด เพราะไม่เคยสั่งให้ทำผิด เราไม่กลัวที่จะไปสอบทุกคน ฝ่ายบริหารยืนยันว่าไม่เคยไปสั่งให้ทำไม่ดี เราเน้นความโปร่งใส ในฐานะผู้ว่าฯ ต้องรับผิดชอบ ถ้าบอกว่าใสสะอาดก็แปลว่าโกหก เราต้องยอมรับความจริงและปรับปรุงให้ดีขึ้น ฝ่ายบริหารต้องกลั่นกรองให้เข้มข้นขึ้น ฝ่ายนิติบัญญัติต้องช่วยตรวจสอบ” นายชัชชาติกล่าว และว่า ไม่อยากให้โทษผู้ว่าฯ คนเก่า ไม่เกี่ยวกับโครงการเก่า เป็นโครงการในสมัยนี้ ดังนั้นจึงไปโทษคนอื่นไม่ได้ ส่วนราคาเครื่องออกกำลังกายแพงหรือไม่ ไม่สามารถตอบได้ เพราะตนเป็นผู้ว่าฯ พูดไม่ได้ จะเป็นการโน้มนำคนที่ตรวจสอบ ปัญหานี้เป็นเหมือนปัญหาข้างในที่หยั่งรากลึกมาหลายสิบปี หากพบว่ามีการฮั้วก็มีกฎหมายที่รุนแรงอยู่แล้ว
ขณะที่นายศานนท์กล่าวว่า จากข้อมูลใน actai.co พบว่าโครงการดังกล่าวมีกระบวนการสอบเทียบราคา จัดทำ TOR และประมูล เห็นว่าเจ้าหน้าที่ได้ทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับ กทม.มาตั้งแต่เดือน มี.ค.65 ในราคากว่า 6 แสนบาท ก่อนที่ฝ่ายบริหารชุดปัจจุบันจะเข้ามารับตำแหน่ง ซึ่งเป็นราคาที่สูง ทั้งนี้ ขั้นตอนการตรวจสอบโดย สตง.ปราศจากความสัมพันธ์จากฝ่ายบริหาร
ด้านนายสมบูรณ์ หอมนาน รองปลัด กทม. กล่าวถึงขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการดังกล่าวว่า เบื้องต้นจากการตรวจสอบโครงการดังกล่าว ได้ทำตามขั้นตอน พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐครบถ้วน ซึ่งเป็นการจัดซื้อจัดจ้างวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) เปิดเผยต่อสาธารณชนอยู่แล้ว ซึ่งการกำหนดราคากลาง กทม.ไม่ได้เป็นผู้ตั้งราคาเอง แต่ทำตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ระบุว่า ให้มีคณะกรรมการกำหนดราคา ไปสืบราคาในท้องตลาดไม่น้อยกว่า 3 ราย โดยต้องเป็นผู้ประกอบการในกิจการนั้นๆ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้สืบกับบริษัทที่มีกิจการขายเครื่องออกกำลังกาย เมื่อสืบราคาแล้วก็จะกำหนดราคาต่ำสุดเป็นราคากลาง แล้วให้ผู้บังคับบัญชาเห็นชอบ เข้าสู่กระบวนการ e-bidding ต่อไป โดยกรมบัญชีกลางเป็นผู้ประกาศ
“ผู้ประกอบการต้องเข้าสู่ระบบ e-bidding ของกรมบัญชีกลาง ซึ่งแต่ละหน่วยงานไม่มีสิทธิ์รู้ว่ามีใครจะประมูลบ้าง เราจะทราบได้เมื่อมีผู้ชนะการประมูลแล้วว่ามีกี่เจ้ากี่ราย ราคาประมูลเท่าไหร่ ต่อมาคณะกรรมการฯ จะประกาศผู้รับจ้างให้เป็นไปตามกระบวนการ ซึ่งถ้าไม่เกินราคากลางก็จะดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างต่อไป”
นายสมบูรณ์กล่าวว่า ขอเชิญชวนให้เข้ามาประมูลกันเยอะๆ เลย กทม.ไม่ได้ตั้งใจว่าจะไปซื้อที่ราคาสามสี่แสน ถ้าซื้อสามหมื่นได้ก็ดี ซื้อแสนสองแสนได้ก็ยิ่งดี ถ้าเขายอมรับความเสี่ยงและเงื่อนไขตามสเปก โดยเครื่องออกกำลังกายของ สวท. 1 วัน ใช้งาน 8 ชั่วโมง ต่อเนื่อง เมื่อเกิดการชำรุด ผู้รับจ้างต้องมาเปลี่ยนอุปกรณ์ทันที ถ้าเปลี่ยนแล้วยังใช้ไม่ได้ ผู้รับจ้างต้องยกเครื่องเก่าออกตามเงื่อนไขตามสัญญา แล้วนำเครื่องใหม่มาแทน เพราะ กทม.เปิดให้บริการประชาชนทุกวันไม่มีวันหยุด เครื่องออกกำลังกายทุกชิ้นยังอยู่ ให้บริการปกติ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า คณะกรรมการฯ มีการสืบราคาอย่างไร นายสมบูรณ์ กล่าวว่า มีการสืบราคาจากบริษัทที่มีความมั่นคง มีมาตรฐาน มั่นใจได้ว่าจะไม่มีการทิ้งงาน มีบริการหลังการขาย เชื่อมั่นได้ว่าสินค้าต้องมีคุณภาพ ส่วนคณะกรรมการกำหนดราคากลางนั้น มีการตั้งตามโครงการแต่ละชุด ซึ่งโครงการตามที่เป็นข่าวอำนาจผู้สั่งซื้อสั่งจ้าง อยู่ในระดับผู้อำนวยการกอง ตามวงเงินที่ผู้ว่าฯ กทม.ให้อำนาจอนุมัติไว้ ซึ่งคณะกรรมการฯ จะเป็นข้าราชการภายใน หรือหน่วยงานภายนอกเพื่อพิจารณา ซึ่งผู้บังคับบัญชาไม่สามารถสั่งให้ซื้อของบริษัทที่ถูกกำหนดไว้ ยกเว้นว่าเห็นควรมีการปรับปรุงเพื่อเป็นประโยชน์ต่อราชการ โดยเจตนาของกฎหมายไม่อยากให้บุคคลภายนอก ผู้บังคับบัญชา มาบงการ มาสั่งได้
“หากคณะกรรมการกำหนดราคากลางทำผิดขั้นตอน หรือมีการทุจริต ต้องมีการลงโทษอยู่แล้ว ตอนนี้ทาง สวท.ได้ชี้แจงกับ สตง. 1 โครงการแล้ว ส่วนโครงการที่เหลือจะมีการชี้แจงในเร็วๆ นี้ โดยนายชัชชาติก็ให้ทาง ศปท.กทม.ตรวจสอบอีกด้านหนึ่งด้วย” นายสมบูรณ์กล่าว
ส่วนนางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัด กทม. กล่าวถึงขั้นตอนการตรวจสอบโครงการของ สตง. โดยระบุว่าเป็นการสุ่มตรวจ ซึ่ง กทม.ให้ข้อมูลทั้งหมด ทั้ง 9 โครงการที่มีการตรวจสอบอยู่ในส่วนของสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร เราพร้อมให้ความร่วมมือ ส่วนผลการตรวจสอบจะเป็นอย่างไรจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง
ทางด้าน ผศ.ดร.ต่อภัสสร์กล่าวว่า ตนนั้นมาในฐานะภาคประชาชน ช่วยติดตามตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ กทม. โดยเว็บไซต์ actai สามารถหาข้อมูลทางการได้เลย เพราะเอามาจากระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (e-GP) กรมบัญชีกลาง ดึงมาเชื่อมกับข้อมูลนิติบุคคลของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเชื่อมดูผู้เสนอราคา ผู้ถือหุ้น หรือคณะบริษัท ปัจจุบันตั้งแต่ปี 2558-2567 มีโครงการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด 36 ล้านโครงการ โครงการที่ผ่านกรมบัญชีกลาง ระบบ e-GP โดยงบประมาณเฉลี่ยปีละ 1 ล้านล้านบาท ทั้งหมดประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย สามารถส่งเรื่องไป กทม.ไปหน่วยงานร้องเรียนเพื่อตรวจสอบต่อได้
“ย้ำว่าสิ่งสำคัญคือให้ประชาชนมีสิทธิสร้างความเปลี่ยนแปลง เพราะการแก้ไขปัญหา และป้องกันคอร์รัปชันที่ดีที่สุดคือประชาชน” ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ กล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
สั่งประหารชีวิต ‘แอม ไซยาไนด์’ คุกผัวเก่า-ทนาย
ศาลพิพากษาประหารชีวิต "แอม ไซยาไนด์" วางยาฆ่าก้อย พร้อมชดใช้ 2.3 ล้าน