ส่อเลื่อนเลือกส.ว. กกต.ผวาถูกฟ้องโมฆะศาลรธน.รับวินิจฉัย4มาตรา

ส่อเลื่อนเลือก สว. จับตา กกต.ถกทางออกปมศาล รธน.รับวินิจฉัย 4 มาตรา ชี้เดินหน้าได้ไม่คุ้มเสีย เสี่ยงถูกฟ้องโมฆะ-ชดใช้ค่าเสียหาย  “ชัยธวัช” กังวลหวั่นได้วุฒิฯ ชุดใหม่ช้า  ซัดชุดเก่าเคลื่อนไหวล้มกระดานหวังอยู่ยาว "สมชาย" โชว์หลักฐาน กกต.ปล่อยผีคุณสมบัติผู้สมัครลพบุรี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ​จะมีการประชุมในวันที่ 7 มิ.ย. เพื่อหารือในประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัย 4 มาตรา ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ​ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 2561 ซึ่งเกี่ยวข้องกับวิธีการเลือก สว. ทั้งระดับอำเภอ  ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 107 หรือไม่ มีรายงานว่า มีความเป็นไปได้ที่สำนักงาน กกต.จะเสนอให้ กกต.ใช้อำนาจตามมาตรา 35 พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. 2561 ประกาศเลื่อนการเลือก สว. ที่ระดับอำเภอกำหนดไว้ในวันที่ 9 มิ.ย.นี้ออกไปก่อน เพื่อรอความชัดเจนการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายจากศาลรัฐธรรมนูญก่อน

ทั้งนี้ มีการวิเคราะห์ว่า ประเด็นดังกล่าวมีผู้สมัคร สว.ร้องทั้งต่อ กกต. ผู้ตรวจการแผ่นดิน และฟ้องคดีต่อศาลปกครอง หาก กกต.ยังคงยืนยันเดินหน้าจัดการเลือก สว. ตามแผนงานเดิมที่วางไว้ ย่อมเสี่ยงต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นทั้งกับตัวผู้สมัครและ กกต. และอาจนำไปสู่การร้องให้การเลือก สว.เป็นโมฆะได้ หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการที่ทั้ง 4 มาตราของกฎหมายดังกล่าว กำหนดวิธีการเลือกว่าผู้สมัคร สว.จะลงคะแนนเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกิน 1 คะแนนมิได้ ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 107 ซึ่งจะทำให้ กกต.หนีไม่พ้นถูกฟ้องให้ชดใช้ค่าเสียหายเหมือนการเลือกตั้งในอดีต

"ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง สส.เป็นโมฆะ สิ่งที่ตามมาคือการฟ้องร้องหาผู้รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหาย ทั้ง กกต. สำนักงาน หรือเจ้าหน้าที่ ต้องสู้คดีกันหลายปี ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นอีก เมื่อขณะนี้ขั้นตอนของการเลือก สว.ยังไม่เกิดขึ้น กระบวนการจัดการเลือกก็ยังอยู่ ผู้สมัครก็ยังถือว่าไม่เสียหาย ดังนั้นถ้า กกต.จะมีมติเลื่อนการเลือก สว. รอศาลวินิจฉัยให้ชัดเจนเสียก่อนก็น่าจะเป็นผลดีกว่า เพราะคาดว่าไม่น่าเกิน 2 สัปดาห์นับจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย เนื่องจากสำนักงานได้รับหนังสือแจ้งจากศาลตั้งแต่ 5 มิ.ย. และกำลังเร่งทำคำชี้แจงส่งกลับไปอยู่ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุม กกต. ว่าจะเห็นอย่างไร" แหล่งข่าวระบุ

อย่างไรก็ตาม สำนักงานยังจะเสนอต่อ กกต. ถึงแนวทางการเลือก สว.ต่อไป หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยทั้ง 4 มาตรา ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ว่าในทางปฏิบัติสำนักงานสามารถเริ่มกระบวนการเลือก สว.ได้ภายใน 7 วัน นับแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย แต่ถ้าศาลมีคำวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ จะต้องมีการไปแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยกันได้มาซึ่ง สว. 2561 เสียก่อน ซึ่งจะใช้เวลานานพอสมควร โดย สว. ชุดปัจจุบัน จะยังคงรักษาการต่อไป

สำหรับมาตรา 35 พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. กำหนดว่า กรณีที่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เป็นเหตุให้ไม่สามารถจัดการเลือกระดับอำเภอ ระดับจังหวัด หรือระดับประเทศ พร้อมกันทั่วราชอาณาจักรตามวันที่คณะกรรมการประกาศกำหนดตามมาตรา 12 (1) อันมิใช่เป็นกรณีตามมาตรา 34 และคณะกรรมการมีมติด้วยคะแนนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ (5 เสียง) ว่าการดำเนินการเลือกต่อไปตามกำหนดวันเดิม จะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมหรือเรียบร้อย คณะกรรมการฯ จะประกาศกำหนดวันเลือกใหม่ก็ได้ ในกรณีที่มีเหตุตามวรรคหนึ่งเกิดขึ้นในระหว่างเวลาเปิดการลงคะแนน คณะกรรมการฯ จะสั่งยกเลิก การเลือก และประกาศกำหนดวันเลือกใหม่ก็ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 7 มิ.ย. สำนักงาน กกต.จะจัดงานเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงาน กกต. ครบรอบ 26 ปี โดยสำนักงานได้มีการแจ้งนัดหมายสื่อมวลชนว่า ในเวลา 13.30 น. นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. จะแถลงผลงาน กกต. ซึ่งคาดว่าจะมีการชี้แจงถึงผลการประชุมในกรณีดังกล่าวด้วย

ที่รัฐสภา นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล  กล่าวว่า ต้องยอมรับว่ามีข้อกังวล หลังศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัย พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. เพราะดูเหมือนจะมีปัญหาตลอดรายทาง และอาจจะเป็นช่องโหว่ที่ทำให้เกิดการฟ้องร้อง ร้องเรียน จนกระทั่งทำให้การประกาศผล สว. ชุดใหม่เกิดขึ้นอย่างล่าช้า หรืออาจจะถูกล้มไปเลยหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมกังวลอยู่ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดชัดเจนว่าเมื่อมีกระบวนการเลือก สว. แล้ว กกต.จะต้องรับรองและประกาศรายชื่อ สว.ชุดใหม่ภายในกี่วันเหมือนกับ สส. เมื่อไม่มีการกำหนดที่ชัดเจนก็หมายความว่าถ้ากระบวนการมีการร้องเรียนเข้ามาแทรก จนทำให้ กกต.ไม่สามารถประกาศรายชื่อได้ ก็เท่ากับว่า สว.ชุดเดิมก็จะเป็น สว.ไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่น่าจะดีมากนัก

นายชัยธวัชกล่าวว่า หวังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะไม่วินิจฉัยว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะกฎหมายบังคับใช้มาตั้งนานแล้ว ส่วนที่มี สว.ชุดเดิมเคลื่อนไหวนั้น อาจจะต้องระมัดระวัง เพราะอาจถูกมองว่าเป็นการที่จะเตะถ่วงที่จะให้ตัวเองอยู่ในอำนาจไปเรื่อยๆ หากจะถามว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาที่ใครก็ต้องโยนความผิดให้ คสช. และคนที่ร่างรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ว่าจะเป็น พ.ร.ป. และระเบียบต่างๆ เป็นผลมาจากการออกแบบรัฐธรรมนูญ จนทำให้กลไกในการได้มาซึ่ง สว. ไม่สมเหตุสมผลตั้งแต่ต้น ซึ่งถือเป็นต้นทาง

ด้านนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า การเลือก สว.2567 อาจไม่สามารถประกาศผลในวันที่ 2 ก.ค. 2567 ได้ เพราะ1.มีปัญหากติกาการเลือก คือปล่อยให้คนที่ไม่ใช่ผู้สมัครจริงเข้ามาเลือกคนอื่นได้ ปล่อยให้คนอื่นเข้ามาช่วยแนะนำตัวผู้สมัครได้ และสามารถใช้สื่อแนะนำตัวผู้สมัครเอาเปรียบผู้สมัครคนอื่นได้ และ 2.ปัญหาการบังคับใช้ กกต.ปล่อยให้คนทำผิดกติกามาสมัครได้ และปล่อยให้กลุ่มการเมืองหรือกลุ่มผลประโยชน์ใดสามารถจัดตั้งคน 2.กลุ่มนี้ทำผิดกฎหมายเลือก สว.

นายสมชาย แสวงการ สว. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ขอเสนอแนะต่อ กกต. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามที่เห็นควรเร่งด่วนดังนี้ 1.เร่งส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเร่งด่วนภายใน 5 วัน ไม่ต้องขยายเวลา เพราะอาจทำให้เกิดความเสียหายจากการล่าช้า 2.เร่งตรวจสอบผู้สมัครที่เคยเป็นสมาชิกท้องถิ่นที่ลาออกมาแล้วไม่เกิน 5 ปี ซึ่งมีข่าวว่าอาจมีผู้สมัครบางรายพ้นจากตำแหน่งท้องถิ่นมาไม่ครบ 5 ปี และน่าจะมีรายชื่อหลุดรอดไป 3.เร่งดำเนินการตรวจสอบ สืบสวน ตัดสิทธิ ดำเนินคดีให้เคร่งครัด ดังตัวอย่างที่ดีของ กกต. ยะลา 4.เร่งตรวจสอบการขาดคุณสมบัติและประสบการณ์ไม่ครบ 10 ปี ของผู้สมัครกลุ่มต่างๆ แบบเดียวกับที่จังหวัดบุรีรัมย์ หากพบว่าขาดคุณสมบัติจริง ต้องดำเนินการตัดสิทธิ ดำเนินคดีเอาผิดให้ถึงที่สุด

5.เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อาจถูกเกณฑ์ ใช้ จ้างวาน หรือรับจ้างให้มาสมัครเพื่อเป็นผู้โหวตเลือก สว. ว่า การกระทำดังกล่าวอาจมีความผิดตามกฎหมาย มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับ 2 หมื่นบาทถึง 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตัดสิทธิการเมือง 20 ปี และแจ้งให้ผู้รับรองเท็จทราบถึงความผิดตามกฎหมายที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี เพื่อให้ประชาชนบางส่วนที่อาจร่วมกระทำผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพื่อสืบสวนดำเนินคดีกับผู้บงการใช้จ้างวานให้ถึงขบวนการทั้งหมดต่อไป

 นายสมชายยังได้แนบเอกสารประกาศผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี เรื่อง บัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา กลุ่ม 4 กลุ่มสาธารณสุข ปรากฏว่า มีผู้สมัคร 12 คน ระบุอาชีพข้าราชการบำนาญ 1 คน นอกนั้นระบุอาชีพทำนา 8 คน รับจ้าง 2 คน ไม่ได้ทำงาน 1 คน ทั้งนี้ กกต.ประกาศรับรองได้อย่างไร อาจเข้าข่ายละเว้นหรือจงใจละเว้นปฏิบัติหน้าที่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา157 และกฎหมายเลือก สว. งานนี้อาจมีเจ้าหน้าที่ ผู้สมัคร ผู้รับรองติดคุกกันทั่วประเทศ?

ที่สำนักงาน กกต. ประจำจังหวัดบุรีรัมย์ นายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือ ทนายอั๋น บุรีรัมย์ พร้อมด้วยอดีตผู้สมัคร สว.ที่ถูกตัดสิทธิเนื่องจากมีปัญหาด้านคุณสมบัติ จำนวน 15 คน เข้ายื่นเรื่องขอความเป็นธรรม เนื่องจากพบว่ามีหลายประเด็น​ที่เกิดขึ้นระหว่างการรับสมัครในหลายอำเภอ โดยตัวแทนผู้อดีตผู้สมัคร สว. ระบุว่า ผู้สมัครหลายคนไม่รู้จักด้วยซ้ำว่า สว. ย่อมาจากคำว่า  สมาชิกวุฒิสภา บางอำเภอมีผู้สมัครบางกลุ่มรับรองกันเองสลับกันไปมา ผู้สมัครหลายคนให้ผู้อื่นเขียนใบสมัครให้ อีกทั้งผู้สมัครบางคนสำรองจ่ายค่าสมัครให้ผู้สมัครคนอื่นๆ ไปก่อน บางอำเภอเจ้าหน้าที่ผู้รับสมัครเป็นคนจัดแจงให้ผู้สมัครลงสมัครในกลุ่มต่างๆ  ด้วยตัวเอง จึงขอให้ กกต.ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร สว.ทั้งหมดของ จ.บุรีรัมย์ ให้เสร็จก่อนการเลือก สว.ระดับอำเภอภายในวันที่ 9 มิ.ย. และดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ทั้งผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างลงสมัคร สว. หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นันทนา' คึก! ลั่นปฏิบัติการ สว.เล็กเปลี่ยนสภา

น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา(สว.) ในฐานะแกนนำสว.พันธุ์ใหม่ ซึ่งถูกเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งประธานวุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "ปฏิ