ศาลปรามก้าวไกล ไต่สวนยุบ12มิ.ย.

ต่อชะตาก้าวไกล ศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณาคดีปม กกต.ยื่นยุบพรรคกระทำล้มล้างการปกครอง 12 มิ.ย. เตือนงดแสดงความคิดเห็นชี้นำสังคม  ขณะที่ "พิธา" ดิ้นจ้อสื่อนอก บอกพรรคชะตาขาดระยะสั้น แต่จะติดเบอร์โบเหมือนสมัยอนาคตใหม่ ด้าน "ไอติม" เมินคำสั่งศาลลุยแถลงแนวทางสู้ 9 มิ.ย. ขณะที่ "เศรษฐา" ระทึกคำชี้แจงครบกำหนด 10 มิ.ย. วางชีวิตไว้ในมือเนติบริกรและคณะ ด้าน "ลูกหม้อ ปชป." ไล่บี้วิษณุแจงบัญชีทรัพย์สิน จี้เจ้าตำรับแห่งกฎหมายอย่าทำผิดเสียเอง "สุริยะ" นั่งไม่ติดอัดมโนคมนาคมรีดส่วย "วันชัย" ปูดแก๊ง 3 ล้มมาแรง

เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2567 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. (ผู้ร้อง) โดยนายทะเบียนพรรคการเมือง ยื่นคำร้องตอนนี้มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้อง) มีพฤติกรรมกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิบัติต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรค ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) (2)

ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญจากยุบพรรคก้าวไกล เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล และห้ามมิให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองวันนี้ มีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 92 วรรคสอง และมาตรา 94 วรรคสอง

อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกลยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา 3 ครั้ง ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาทั้ง 3 ครั้ง ครั้งละ 15 วัน ซึ่งจะครบกำหนดยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาในวันที่ 2 มิ.ย.2567 ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ

โดยผลการพิจารณาพรรคก้าวไกลยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 4 มิ.ย.2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหารวมไว้ในสำนวน ส่งสำเนาคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาให้ กกต.ทราบ และกำหนดนัดพิจารณาต่อไปในวันที่ 12 มิ.ย.2567

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ก่อนมีคำวินิจฉัย คู่กรณีไม่สมควรแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคดีที่เป็นการชี้นำสังคม อันอาจกระทบต่อการดำเนินกระบวนการพิจารณาของศาล

สอบ 44 สส.ไม่เหมาแข่ง

ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจกรณีที่มีการร้องเรียนให้สอบจริยธรรม สส.ก้าวไกล 44 คน ที่เคยลงชื่อเสนอกฎหมายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่า เรื่องนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งมีความคืบหน้าพอสมควร เพราะ ป.ป.ช.ได้รับคำวินิจฉัยมาแล้ว

"เรื่องนี้ ป.ป.ช.จะต้องมีการตรวจสอบเป็นรายบุคคล ในเรื่องของเจตนา ไม่ใช่การพิจารณาแบบเหมาเข่ง โดยดูว่าแต่ละคนที่ลงมติรู้หรือไม่รู้ในเรื่องเหล่านั้น มีการเล็งเห็นผลหรือไม่ เป็นต้น และขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าผลการตรวจสอบไปแล้วเสร็จเมื่อไหร่ เพราะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา แต่ยืนยันว่า ป.ป.ช.มีการตรวจสอบทุกคดี มีตัวชี้วัด มีเป้าหมาย และมีการกำกับติดตามเป็นระยะๆ และรายงานผลทุกสัปดาห์ ดังนั้น ยืนยันว่าไม่ล่าช้า"  นายนิวัติไชยระบุ

ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ยืนยันว่า จะยังจะแถลงแนวทางสู้คดีในวันที่ 9 มิ.ย. ซึ่งเรายืนยันกับพี่น้องประชาชนและศาลรัฐธรรมนูญ ว่าการแถลงของเราในวันนั้นไม่ได้เป็นการกดดันศาลหรือชี้นำความคิดอะไร เป็นเพียงแค่การยืนยันและอธิบายกับพี่น้องประชาชน ที่อาจจะมีคำถามถึงแนวทางการต่อสู้คดีของพรรค รวมถึงเอกสารที่เราใช้ประกอบการแถลงก็ไม่ได้เป็นเอกสารลับอะไร แต่เป็นเอกสารที่เรายื่นคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่าเดินหน้าต่อ และอยากให้ความสบายใจกับพี่น้องประชาชนและศาลรัฐธรรมนูญว่าเราไม่ได้วัตถุประสงค์ในการจะไปกดดันหรือชี้นำสังคมในทางใดทางหนึ่ง

เมินศาลลุยแถลงต่อ

เมื่อถามถึงรูปแบบในการต่อสู้คดีเป็นอย่างไร นายพริษฐ์กล่าวว่า ทุกคนจะได้รู้พร้อมกันในวันที่ 9 มิ.ย.นี้ ส่วนที่ศาลรัฐธรรมนูญมีการแถลงว่าจะมีการนัดพิจารณาคดีดังกล่าวในวันที่ 12 มิ.ย.นั้น ไม่ได้เป็นการอ่านคำวินิจฉัยในวันดังกล่าวเลย เป็นเพียงการนัดประชุมเพื่อถกกันว่าแนวทางในการวินิจฉัยคดีจะเป็นเช่นไร

“ดังนั้นในวันที่ 12 มิ.ย. เราจะเห็นถึงความชัดเจนมากขึ้นถึงขั้นตอนและกรอบเวลา อย่างที่พรรคก้าวไกลเคยศึกษาไว้ ว่าเราอยากจะเห็นกระบวนการและวิธีไต่สวนข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพิ่มเติม วันที่ 12 มิ.ย. ก็จะเห็นคำตอบและแนวทางที่ชัดเจนของศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มขึ้นว่าตกลงจะมีแนวทางไต่สวนหรือไม่อย่างไร กรอบระยะเวลาจะเป็นเช่นไร” นายพริษฐ์ระบุ  

เมื่อถามว่า ต้องมีการเตือนสมาชิกในเรื่องการแสดงความคิดเห็นเพื่อไม่ให้กระทบศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า ทุกคนในพรรคยืนตามแนวทางที่ตนเองได้กล่าวไป จะไม่มีการแสดงความเห็นที่กระทบต่อศาล

เมื่อถามถึงกรณีที่ สว.ออกมาพูดว่าพูดว่าเป็นขบวนการที่จะล้มกระดานทั้งยุบพรรคก้าวไกลและล้มรัฐบาลด้วย นายพริษฐ์กล่าวว่า ต้องแยกเป็นกรณีไป กรณีของพรรคก้าวไกลเราจะทำเต็มที่ในการต่อสู้คดี และมองว่าผลลัพธ์ของคดีนี้ ไม่ได้ส่งผลแค่ชะตากรรมของพรรคก้าวไกลเพียงอย่างเดียว แต่มันเป็นคดีที่จะสร้างบรรทัดฐานการเมืองไทยในอนาคตด้วยเช่นกัน เราก็จะทำอย่างเต็มที่ในการต่อสู้คดีและปกป้องพรรค เราจะต้องสู้และหวังถึงสถานการณ์หรือฉากทัศน์ที่ดีที่สุด ว่าเราก็จะต้องมีแผนรับมือกับฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุดเช่นกัน

จ้อสื่อนอกติดเทอร์โบ

เมื่อถามถึงกรณีการเตรียมพรรคสำรอง และเกรงว่าจะมีงูเห่าเกิดขึ้นหรือไม่ นายพริษฐ์กล่าวว่า เป้าหมายเฉพาะหน้าตอนนี้คือการต่อสู้เพื่อปกป้องพรรคก้าวไกลและบุคลากรของพรรค ดังนั้นเรามีแผนรองรับทุกฉากทัศน์ ในส่วนของข่าวลือหรือเรื่องงูเห่าก็ดี ตนเองยืนยันว่าเท่าที่เห็นรายงานในข่าวก็เป็นเพียงแค่ข่าวลือ เป็นแค่กระแส ไม่มีข้อมูลอะไรมายืนยัน ดังนั้นยืนยันคำเดิม เชื่อมั่นว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับพรรค พวกเราในพรรคก้าวไกลจะเดินหน้าต่ออย่างเป็นเอกภาพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ (Financial Times) เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทย โดยเฉพาะคดียุบพรรคก้าวไกลที่กำลังดำเนินอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญในขณะนี้ ด้วยข้อกล่าวหาล้มล้างการปกครองจากการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

นายพิธากล่าวว่า ตนยังคงเชื่อมั่นว่าศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาและวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกลอย่างเป็นธรรม พร้อมย้ำว่าการกล่าวหาตนเองและพรรคก้าวไกลว่าเป็นกบฏ หรือผู้ทรยศที่มุ่งล้มล้างการปกครองนั้น ถือเป็นข้อกล่าวหาที่เกินจริง เพราะสิ่งที่ตนเองและพรรคก้าวไกลเสนอคือความสมดุลทางกฎหมาย ระหว่างการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

“คดียุบพรรคจะทำให้พรรคก้าวไกลอ่อนแรงลงในระยะสั้นเท่านั้น แต่จะเป็นการติดเทอร์โบ ให้พรรคได้แต้มต่อในแนวคิดและนโยบายแบบก้าวหน้าในระยะยาว โดยยกตัวอย่างสถานการณ์การยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อปี 2563 ซึ่งทำให้พลังของพรรคอ่อนแอลงชั่วคราว แต่ก็สามารถกลับมาฟื้นคืนแบบติดเทอร์โบได้ในการเลือกตั้งปี 2566 แสดงให้เห็นว่าแนวคิดแบบก้าวหน้ากำลังได้รับความนิยมมากขึ้น โดยพรรคก้าวไกลได้เก้าอี้ในสภามาครองเพิ่มขึ้นเป็น 151 ที่นั่ง จากเดิมที่พรรคอนาคตใหม่ในปี 2562 ได้ 81 ที่นั่งตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา พวกเราได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าแนวคิดแบบก้าวหน้าคือหัวใจสำคัญที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้เป็นเพียงแค่ชื่อพรรคการเมืองหรือหัวหน้าพรรคการเมืองใดๆ” นายพิธา กล่าว

วางใจทีมเนติบริกร

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี หารือร่วมกับ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี  และนางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อจัดทำคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งใกล้เวลาครบ 15 วันที่ให้ส่งคำชี้แจงว่า ไม่ได้พบกับตน และตนไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย นายวิษณุเพียงแต่ประชุมกับทีมงาน ให้ท่านได้มีเวลาดูเรื่องต่างๆ ดีกว่า

 เมื่อถามว่า ครบกำหนดส่งคำชี้แจงที่ระบุไว้ 15 วัน ตรงกับวันที่เท่าไหร่ นายกฯ กล่าวว่า ครบกำหนดในวันที่ 10 มิ.ย.นี้

เมื่อถามย้ำว่า ถึงขณะนี้ยังมีความกังวลอะไรหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เรื่องกังวลไม่ต้องถาม กังวลทุกเรื่อง เมื่อถามอีกว่าตอนนี้คำชี้แจงทำเสร็จแล้วหรือยัง  นายกฯ กล่าวว่า กำลังมีการแก้ไขอยู่ เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมามีการประชุมก็เห็นยังมีการแก้ไขอยู่

ด้านนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์  อดีต สส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์  (ปชป.) กล่าวว่า ทราบว่านายวิษณุมีเงื่อนไขพิเศษเรียกร้องว่า ถ้าจะเข้ามาช่วยทำงานให้นายกฯ ท่านไม่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินหนี้สินต่อ ป.ป.ช. ซึ่งการกระทำดังกล่าวของนายวิษณุ กำลังสร้างวัฒนธรรมการใช้อำนาจรัฐที่สร้างปัญหาใหญ่ให้บ้านเมืองต่อไปในอนาคต เพราะคำสั่งแต่งตั้งของนายกฯ ครั้งนี้ มีอำนาจการแต่งตั้งโดยอาศัยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินปี 2534 มาตรา 11 (6)  

นายชาญชัยระบุว่า คือให้อำนาจนายวิษณุมีหน้าที่และอำนาจในการ 1.การตรวจสอบกลั่นกรองร่างกฎหมายและร่างบัญญัติที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2.ให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นทางกฎหมายแก่นายกฯ 3.เชิญเจ้าหน้าที่ราชการผู้แทนหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมชี้แจง ให้ข้อมูลรายละเอียด หรือจัดทำเอกสารที่จะเข้าที่ประชุม ครม. 4. ให้ข่าวสารในประเด็นที่เกี่ยวข้อง 5.แต่งตั้งคณะทำงานหรืออนุกรรมการเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงาน และเบิกค่าใช้จ่ายได้จากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

บี้วิษณุแจงทรัพย์สิน

นายชาญชัยกล่าวว่า จะเห็นชัดเจนว่าคำสั่งแต่งตั้งของนายกฯ นี้ ให้อำนาจ เหมือนกับเป็นรัฐมนตรีคนหนึ่ง เพียงแต่ไม่มีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี แต่เป็นที่ปรึกษาพิเศษ ส่วนตำแหน่งนี้ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่ กรณีเช่นนี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยที่ 5/2543 ว่า องค์ประกอบของเจ้าหน้าที่รัฐ ประกอบด้วย 1.) บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้ง ต้องได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย ซึ่งนายวิษณุได้รับการแต่งตั้งตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินปี 2534 2.) มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายตามกฎหมาย  3.) อยู่ในบังคับบัญชา หรือในกำกับดูแลของรัฐ คือ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 4.) มีเงินเดือนค่าจ้างหรือค่าตอบแทนตามกฎหมาย มีการเบิกจ่ายเงินได้ เข้าองค์ประกอบทั้ง 4 ข้อนี้ ก็ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ

“อาจารย์วิษณุท่านเป็นต้นตำรับของเจ้าแห่งกฎหมายฉบับนี้ แต่ท่านขอหลีกเลี่ยงการแสดงบัญชีทรัพย์สิน หนี้สินต่อ ป.ป.ช.ทำไม เพราะอะไร ท่านเกรงกลัวอะไร ท่านกลัวเขาจะตรวจสอบทรัพย์สินของท่านที่งอกเงยมากเกินกว่าปกติหรืออย่างไร ท่านกำลังทำตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับนักการเมืองและข้าราชการทั้งหมด เพราะแม้กระทั่งข้าราชการตัวเล็กๆ หรือระดับ ผอ.เล็กๆ ก็ยังต้องแจ้งแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน แต่ท่านมีอำนาจมากขนาดนี้ สามารถรู้ความลับหรือเอกสารลับทางราชการก่อนที่จะนำเข้าพิจารณาใน ครม. ซึ่งมีผลได้ ผลเสีย ต่อผลประโยชน์มากมาย ซ้ำท่านยังไม่ยอมจะแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน จึงขอฝากให้ท่านกลับไปทบทวนวิธีการของท่านใหม่ เพราะมันเป็นข้อกฎหมายสำคัญ และสิ่งที่ที่ท่านกำลังจะทำก็สุ่มเสี่ยงที่จะผิดกฎหมาย” นายชาญชัยระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ว่ามีกำหนดการร่วมกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองหลักและเมืองน่าท่องเที่ยวเขตภาคเหนือ “เมืองล้านนาน่าเที่ยว” ที่ จ.เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง ระหว่างวันที่ 7-9 มิ.ย.นี้

พร้อมด้วยนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา นายจักรพงษ์ แสงมณี รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, น.ส.จิราพร สินธุไพร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง, นายอารัญ บุญชัย ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมคณะ

สุริยะอัดมโนรีดส่วย

วันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คมนาคม กล่าวถึงกรณีที่นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ออกมาบอกว่าทางพรรคได้ เตรียมข้อมูลอภิปราย หลังได้รับข้อร้องเรียนจากประชาชน ว่ามีเจ้าหน้าที่ในกระทรวงคมนาคมเรียกรับผลประโยชน์จากผู้รับเหมาในแต่ละพื้นที่ว่ามีการเรียกรับเงินถึง 20 ล้านบาทว่า ยืนยันว่าตนเปิดกว้างที่จะรับฟังข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจากประชาชนหรือนายฐากร ในฐานะพรรคฝ่ายค้านที่ให้ข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ก็จะรับฟัง และจะนำมาตรวจสอบข้อเท็จจริง

นายสุริยะกล่าวต่อว่า ตนตั้งข้อสังเกตว่า การที่นายฐากรอยู่ที่สำนักงบประมาณ มากว่า 10 ปี และดูแลในส่วนของกระทรวงคมนาคมด้วย และยังออกมาพูดอีกว่า "ในสมัยนั้นก็มีการเรียกเก็บ 6% + 6 % เป็น 12 % จึงตั้งคำถามว่าในสมัยนั้นนายฐากรมัวทำอะไรอยู่ ทำไมตอนนั้นไม่แฉ มาแฉตอนนี้แปลว่าอะไร  ผมไม่เข้าใจ"

“รวมไปถึงส่วนที่นายฐากรบอกว่าผู้อำนวยการกรมทางหลวง และผู้อำนวยการเขตทางหลวงมี 2 คน ซึ่งขณะนั้นนายฐากรดูแลกระทรวงคมนาคมอยู่ น่าจะรู้ว่าตำแหน่งนั้นคือคนคนเดียวกัน ข้อมูลพวกนี้ผมมองว่าเป็นความพยายามจินตนาการขึ้นมา ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

ส่วนที่นายฐากรออกมาระบุว่ามีประชาชนไปร้องเรียน หรือผู้อำนวยการสำนักไปร้องเรียนที่พรรคไทยสร้างไทย ผมก็อยากให้ช่วยพาผู้อำนวยการสำนักคนดังกล่าวมาหาผมที่กระทรวง ว่ามีการไปเรียกร้องเงิน ไปให้อธิบดีอย่างไร ถ้ามีตรงนั้น พามา  ผมจะปลดอธิบดีกรมทางหลวงทันที" นายสุริยะระบุ

เมื่อถามว่า จะต้องมีการเตรียมข้อมูล ในการอภิปรายงบประมาณปี 68 หรือไม่ นายสุริยะกล่าวว่า "โอ้โห้ เรื่องนี้ไม่มีปัญหา เรื่องข้อมูลต่างๆ เราเชื่อว่าเราทำ ผมสั่งตั้งแต่ระดับปลัดลงไปจนถึงเจ้าหน้าที่ ว่าทำงานให้โปร่งใส เพราะฉะนั้นข้อมูลที่ฝ่ายค้านส่งมา หากมีข้อมูลที่เป็นข้อมูลที่ชัดเจน เจ้าหน้าที่ก็คงจะโดน ผมเชื่อว่าผมชี้แจงได้"

วันชัยปูดแก๊ง 3 ล้ม

นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยว่า ได้รับทราบข่าวที่เป็นข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับ "ขบวนการ 3 ล้ม" เป็นการรวมการเฉพาะกิจเหมือนโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจของคณะบุคคล 3 กลุ่ม 3 พวก เพื่อกระทำการ 3 ล้มนี้ให้เกิดขึ้นให้ได้ในเร็ววันนี้ คือ ล้มรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เซตซีโรในอำนาจ ล้มที่สอง ล้มหรือยุบก้าวไกล ล้มที่สาม ก็คือล้มกระดานการเลือก  สว.

"คณะบุคคล 3 พวกที่ประสานงานจับมือกันเคลื่อนไหวเป็นขบวนการอย่างเข้มข้นอยู่ในขณะนี้ ประกอบด้วย 1.พวกที่ผิดหวัง อกหักทางการเมือง ไม่ได้เข้ามามีอำนาจ 2.พวกที่เกลียดทักษิณเข้ากระดูกดำ 3.พวกเผด็จการ นิยมการปฏิวัติ รัฐประหาร ทั้ง 3 พวกนี้ไม่เอาทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล รวมทั้งทักษิณ ความพยายามของพวกนี้เป็นวิชามารที่สกปรก หวังแต่เพียงจะสร้างความสับสนวุ่นวายเพื่อให้ตัวเองมีอำนาจต่อรองมากขึ้น หากล้มรัฐบาลเศรษฐาได้ ก็จะนับหนึ่งกันใหม่ หรือไม่ก็อาจจะไปถึงขั้นเปิดช่องให้อำนาจนอกระบบเข้ามาก่อรัฐประหาร ซึ่งประมาทไม่ได้" นายวันชัยกล่าว

ด้าน รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม กล่าวว่า คิดว่าตัวชี้วัดหรือจุดเปลี่ยนที่สำคัญนั้นอยู่ที่คดีของนายเศรษฐา ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาในรูปแบบไหน ถ้าออกมาในลักษณะที่นายเศรษฐาได้ไปต่อ เรื่องนี้ก็จะบรรเทาเบาบางสถานการณ์ที่ตึงเครียดให้กับรัฐบาลพอสมควร

“แต่ถ้าออกมาในลักษณะไม่ได้ไปต่อ   สิ่งที่จะเกิดผลกระทบอันแรก คือคณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งไปพร้อมกับนายกรัฐมนตรีด้วย ซึ่งก็จะนำมาสู่การเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ ซึ่งแคนดิเดตที่มีอยู่ ณ วันนี้เพียงไม่กี่ท่านเท่านั้น ถ้าไม่มีการยุบสภาเกิดขึ้นเสียก่อน ดังนั้น เมื่อแคนดิเดตนายกฯ เหลือเพียงไม่กี่ท่าน  โอกาสจะเกิดการสลับขั้ว ย้ายขั้ว ข้ามขั้ว มีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั้งหมด และก็อาจนำไปสู่ผลกระทบเสถียรภาพทางการเมืองก็ได้ ซึ่งตัวชี้วัดแรกที่จะต้องดูคือคดีของนายเศรษฐา ว่าจะชี้ทิศทางเสถียรภาพรัฐบาลอย่างไร” รศ.ดร.ยุทธพรระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' อย่าสับสน! โพลวัดผลงาน ไม่ใช่เรตติ้งนายกฯ

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อย่าสับสน !!! ระหว่างผลงาน กับการเลือกนายกฯ คนต่อไป