ขวาง‘พท.’ล้าง 112 ‘ภท.-ชทพ.’ยึดมั่นจุดยืน/สุทินชี้กม.นิรโทษต้องฟังกองทัพ

"อนุ กมธ.นิรโทษกรรม" ทำงานคืบหน้ากว่า 90% "ยุทธพร" เผยไม่เคยตัด ม.112 ออก ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา อ้างไม่เกี่ยวกับ "ทักษิณ"   เพราะ กมธ.เกิดก่อน เพื่อไทยไม่เหนียมแล้ว "สมคิด" ลั่นไม่ยาก ถ้าคนอื่นได้ "นายใหญ่" ก็ได้ด้วย แนะทำใจให้กว้าง  ขณะที่ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนายังยืนยันจุดยืนเดิม ต้องไม่รวม ม.112

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2567 รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม กล่าวถึงความคืบหน้าในการทำงานของคณะอนุกรรมาธิการฯ ว่า ขณะนี้ก้าวหน้าไปกว่า 90% แล้ว จาก 7 ข้อเสนอที่เราได้เสนอให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ส่วนอีก 10% จะมีการปรับแก้ตามมติของ กมธ.ชุดใหญ่ ที่มีข้อเสนอแนะและข้อแนะนำมา

โดยการประชุมคณะอนุฯ ในวันนี้ จะมีการพิจารณาการปรับแก้นิยาม ‘แรงจูงใจทางการเมือง’ เพื่อให้ตรงกันกับความเห็นของคณะอนุฯ ทั้งสองคณะ และ กมธ.ชุดใหญ่ ในเรื่ององค์ประกอบของคณะกรรมการนิรโทษกรรมที่เราได้เสนอตัวแบบไป โดยจะลดจำนวนให้น้อยลง เพื่อให้มีความกระชับมากขึ้น และเพิ่มเติมตัวแทนฝ่ายบริหารเข้ามา รวมถึงเพิ่มเติมมาตรฐานการป้องกันการกระทำผิดซ้ำ และแนวทางการสร้างความปรองดอง ที่เป็นหัวใจหลักของการนิรโทษกรรม เพราะเจตจำนงคือการสร้างสังคมแห่งความปรองดอง

ทั้งนี้ หากการปรับแก้ของคณะอนุฯ  เรียบร้อย ในวันที่ 6 มิ.ย.นี้จะมีการนำเสนอทั้งหมดต่อ กมธ.ชุดใหญ่ได้พิจารณา และหาก กมธ.ชุดใหญ่ไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมอีก ก็จะถือว่าสิ้นสุดการทำงานของคณะอนุฯ และจะนำไปสู่การทำรายงานเพื่อเสนอต่อสภาต่อไป

ส่วนการพูดคุยเรื่องความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น รศ.ดร.ยุทธพรกล่าวว่า มีหลากหลายประเด็น มาตรา 112 เป็นหนึ่งในนั้น แน่นอนว่าท่ามกลางสังคมที่มีการแบ่งขั้ว และยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในทางการเมืองเป็นเรื่องปกติ แต่การวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ต้องดูข้อเท็จจริงด้วย เพราะก่อนหน้านี้มีกระบวนการไปบิดเบือนข้อมูลว่ามีการถอนมาตรา 112 ออก ในความเป็นจริงเราไม่เคยถอดฐานความผิดใดเลย เนื่องจากกระบวนการเหล่านี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาทั้งสิ้น

 “แต่เมื่อเราไม่ถอดมาตรา 112 ก็ทำให้เกิดคำถามใหม่อีกว่า ที่ไม่ถอด เพราะต้องการช่วยนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความเป็นการเมืองมีผลสูงมาก ยืนยันว่าเราไม่มีความคิดช่วยเหลือบุคคลใดเป็นพิเศษ และไม่มีการพูดคุยถึงกรณีนายทักษิณเลย ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ”

ส่วนคดีมาตรา 112 ของนายทักษิณ จะกลายเป็นปัญหาในการออกกฎหมายนิรโทษกรรมหรือไม่ ไม่มีผลอะไรมากมาย เพราะในการทำงานเราก็ยึดหลักการ กมธ.ถูกตั้งขึ้นมาก่อนที่จะมีคดีของนายทักษิณอีก เพราะฉะนั้นกรอบการทำงานทุกอย่างถูกออกแบบและพูดถึงกันไว้อยู่แล้ว ซึ่งสิ่งที่จะใช้ในการจำแนกความผิดคือ 1.สถิติ 2. 25 ฐานความผิด 3.บริบทความขัดแย้ง 4.พฤติกรรม และนิยามแรงจูงใจทางการเมือง และ 5.จะหยิบคดีสำคัญๆ ในแต่ละช่วงเวลามาเพื่อที่จะแบ่งเป็น 3 ประเภท 1.คดีหลัก 2.คดีรอง 3.คดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง

นิรโทษฯ ครั้งประวัติศาสตร์

 “การนิรโทษกรรมในครั้งนี้ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการนิรโทษกรรมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองประเทศไทย เพราะกินระยะเวลายาวนานถึง 20 ปี นับตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน ซึ่งแต่ละช่วงเวลามีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน” รศ.ดร.ยุทธพรกล่าว

ขณะที่ นายสมคิด เชื้อคง โฆษก กมธ.นิรโทษกรรม ให้สัมภาษณ์ว่า การพิจารณาคดีผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ประชุมจะพิจารณาในตอนสุดท้าย เพื่อให้ตกผลึกร่วมกัน เพราะในกรณีดังกล่าวตามห้วงเวลาที่ได้รับการนิรโทษกรรม ตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน ซึ่งมีคนที่พ้นคดีไปแล้ว แต่ยังมีคนที่ต้องคดีอยู่ ทั้งนี้ ในคดีของเยาวชน ตั้งแต่ปี 2563 พบว่ามีคนโดนคดีประมาณ 180 คน และอยู่ในชั้นศาลและควบคุมตัวโดยคำสั่งศาล ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล ทั้งนี้ ต้องหาทางคุยกับในบางรายที่ยังไม่ถูกสั่งฟ้อง แต่ส่วนใหญ่ถูกสั่งฟ้องแล้ว ส่วนกรณีที่มีผู้ระบุว่าเยาวชนไม่ได้รับประกันตัวและกล่าวโทษรัฐบาลนั้น ตนยืนยันว่ารัฐบาลไม่เกี่ยว แต่เหตุที่ถูกคุมขังเพราะทำผิดซ้ำและผิดเงื่อนไขการได้ประกันตัว

ส่วนการนิรโทษกรรม คดีมาตรา 112 ที่ขณะนี้มีประเด็นของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ตามที่นายชัยธวัช บอกว่าการขับเคลื่อนนิรโทษกรรม มาตรา 112 จะยากขึ้น แต่ตนมองว่าทำได้ไม่ยาก เพราะมีประเด็นคณะกรรมการนิรโทษกรรมที่จะพิจารณา อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ นั้นได้พูดกันมานานแล้ว และยืนยันว่าหลายคนเห็นด้วยกับรูปแบบของคณะกรรมการฯ ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีคดีที่เกิดกับนายทักษิณ ดังนั้นจึงไม่โยงกับนายทักษิณแน่นอน และต่อให้นายทักษิณไม่โดนคดีผิดมาตรา 112 ก็จะทำเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว

 “เมื่อมีคดีกับนายทักษิณ คนที่อึดอัดคือพรรคเพื่อไทย หากจะเอามาตรา 112 ก็จะถูกด่าเละ อย่างไรก็ตามพรรคเพื่อไทยไม่เคยบอกว่าไม่เอามาตรา 112 ถ้าผลออกมาแบบนั้น และนิรโทษกรรม มาตรา 112 ได้ กมธ.ไม่ได้ระบุว่าเป็นใคร หากออกมาได้ ไม่ว่าใคร จะเป็นนายกฯ ทักษิณ หรือนายกอ ต้องเข้าหมด เพราะเราไม่ได้เลือกคน แต่เป็นความบังเอิญ ทั้งนี้ มีคนกลัวนายทักษิณได้ จึงไม่เอาคนส่วนมาก แต่หากออกมาได้ นายทักษิณต้องได้ประโยชน์ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ซึ่งเรื่องนี้มีคนมองว่าพรรคเพื่อไทยทำเนียน ผมขอชี้แจงว่าพรรคเพื่อไทยไม่รู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์นี้ กมธ.ชุดนี้ก็ไม่มีใครรู้ อีกทั้ง กมธ.นี้ตั้งมาก่อนที่จะเกิดคดีกับนายทักษิณ ดังนั้น กมธ.จึงไม่เกี่ยว” นายสมคิดกล่าว

นายสมคิดกล่าวด้วยว่า เมื่อเอ่ยถึงชื่อนายทักษิณ ยอมรับว่ามีคนที่ไม่ชอบ จะมองแต่สิ่งที่ไม่ดี ไม่ยอมละเว้น ดังนั้น ตนขอให้อภัยต่อกัน ทำใจให้กว้าง

ด้านนายนิกร จำนง เลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา เผยว่า พรรคยังย้ำจุดยืนต่อการนิรโทษกรรมในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่าเป็นไปตามที่นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ได้ยืนยันไปก่อนหน้านี้ว่า การนิรโทษกรรมจะต้องไม่มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, คดีความผิดอาญาที่ร้ายแรง และการทุจริตคอร์รัปชัน

รับฟังความเห็นกองทัพ

ที่สนามกีฬากลางสมุทรปราการ  นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงแนวทางพูดคุยรับฟังความคิดเห็นจากผู้บัญชาการเหล่าทัพต่อร่าง กม.นิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า มีระบบการรับฟังอยู่ โดยกฎหมายใดที่เขาสู่สภาก็จะถามความเห็นไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ด้านความมั่นคงต้องถามไปที่เหล่าทัพ ซึ่งกองทัพก็จะมีระบบรับฟังความคิดเห็นของกองทัพอยู่ อย่างน้อยที่สุดเมื่อเรื่องเข้าสู่สภากลาโหม ก็จะฟังผู้นำทางทหาร หรือเมื่อเรื่องเข้าสู่สภาความมั่นคงแห่งชาติ ก็จะพิจารณาในส่วนความมั่นคงด้วย

เมื่อถามถึงผลการศึกษาของอนุ กมธ.นิรโทษกรรมที่อาจยกเว้นเจ้าหน้าที่ทหารที่ใช้ความรุนแรงในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง และผู้กระทำผิด ม.112 อาจอยู่ใน 25 ฐานความผิดที่ได้นิรโทษฯ นายสุทินกล่าวว่า ผลการศึกษาเป็นส่วนที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะนำมาใช้ประกอบการพิจารณาเท่านั้น ซึ่งอาจจะฟังผลการศึกษาก็ได้ หรือทางสภาอาจจะใกล้ชิดหรือมีมิติที่สัมผัสประชาชนได้มากกว่านั้น ก็อาจไม่เอาผลการศึกษาก็ได้ แต่ในส่วนของร่างกฎหมายของรัฐบาล ก็ต้องฟังพรรคร่วมด้วย ซึ่งพรรคร่วมก็ต้องไปถามความเห็นของสมาชิกพรรค ก็จะออกมาเป็นจุดยืนของแต่ละพรรค จากนั้นก็มาคุยกัน

นายสุทินยังกล่าวถึงการสอบถามความคืบหน้าทางคดีที่กองทัพบกฟ้องร้องนายทักษิณ ชินวัตร ตามฐานความผิด ม.112 ว่าไม่เคยถาม ซึ่งก็เป็นเรื่องทางคดีไป ทั้งนี้ ตนไม่ทราบว่ากองทัพบกเป็นคนฟ้อง แต่เมื่อฟ้องแล้วก็เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เขาก็เคารพตามกระบวนการยุติธรรมของทุกฝ่าย

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย มีแนวคิดร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม โดยรวมเอาคดี 112 ด้วย พรรคภูมิใจไทยมีความคิดเห็นอย่างไรว่า ยังไม่ได้ยินเรื่องนี้ จึงยังไม่ได้มีการหารือเรื่องนี้ หากพูดถึงมาตรา  112 พรรคภูมิใจไทยยังยืนหยัดเหมือนเดิม

"ไม่มีคำนิยามอะไร พรรคภูมิใจไทยเคยบอกแล้วว่าเราไม่ได้มีปัญหาใดในเรื่องมาตรา 112 และยังมีความมั่นคงในแนวคิดนี้อยู่ มันไม่ใช่คำนิยาม แต่มันอยู่ในเลือดแล้ว เรื่องมาตรา 112 ของภูมิใจไทย ไม่แตะ ไม่เปลี่ยน" นายอนุทินกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์  (Financial Times) เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกลว่า หากพวกเราในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับอนุญาตให้อภิปรายเรื่องหลักความได้สัดส่วนของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างมีวุฒิภาวะ โปร่งใส และด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองก็จะคลี่คลายลงไปได้ในระดับหนึ่ง โดยไม่ผลักเยาวชนหรือคนรุ่นใหม่ให้จนมุม

 “หากเรามีพื้นที่ในการพูดคุยถกเถียงเรื่องนี้กันได้ในรัฐสภา ก็จะไม่เกิดการกดดันให้ประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนหรือคนรุ่นใหม่ เลือกวิธีการประท้วงที่ทำร้ายตัวเอง รวมถึงคนที่พวกเขารักด้วย” นายพิธากล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง